ไม่เพียงแค่สร้าง "คุณอำนวย"


การพัฒนา  "คุณอำนวย"  (Knowledge Facilitator) คงจะมองเพียงให้ฝึกเทคนิค  ทักษะ  อย่างเดียวคงไม่พอแล้ว    ที่สำคัญคือ  คุณอำนวย  ของเรานีต้องกลับไปเจอเป้าเคลื่อนไหว  ไม่ใช่เป้านิ่งแบบตอนซ้อม         มันมักจะมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดโผล่มาแทรก แผลงฤทธิ์แบบไม่ทันตั้งตัวเสมอ     ดังนั้น   การเรียนรู้ที่ดีที่สุด   น่าจะอยู่บนการเรียนรู้บนของจริง  บนงานจริง  

แต่ที่ผ่านมา  เรามักคิดว่า  การเข้าไปนั่งในห้องสี่เหลี่ยม  มีคนมาบรรยายให้ฟัง  ถึงจะเป็นการเรียน     แต่การเอาเรื่องหน้างานมาตั้งเป็นแบบฝึกหัดในการคิด  วิเคราะห์  หรือเรียกแบบภาษาที่เขาฮิตติดปากว่า  "เรียนรู้"   ทำกันน้อย    รูปแบบของการเรียนรู้จากหน้างานจริง   จึงเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ควรให้ความสำคัญมากเป็นลำดับต้นๆ   เพราะมีความเป็น reality สูงมาก   ฝึกให้คนเรียนเข้าใจความซับซ้อนมากขึ้น   เรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัวมากขึ้น    รู้จักปรับประยุกต์มากขึ้น   เชื่อมโยงความรู้ที่กินได้  แทนความรู้ที่ขึ้นหิ้งมากขึ้น

แต่การเรียนรู้บนหน้างานจริงจำต้องอาศัยกลไกบางอย่าง  อาทิ

ผู้บริหารยอมรับ  วิธีการแบบนี้   ร่วมออกแบบกระบวนการ กับคุณอำนวย,  

กรณีองคกร์ราชการมักเจอปัญหาคนทำงาน  "ลนลาน"  ที่ต้องทำให้เสร็จตามใบสั่ง  ทำให้คนไม่มีเวลาใส่ความปราณีตในการออกแบบกระบวนการ   ผู้บริหารต้องช่วยจัด  "ช่องทางจราจร" ของการทำงาน (Working traffic) ให้แก่  "คุณอำนวย" ด้วย,  

เมื่อมีคุณอำนวยมือใหม่  เริ่มขยับ  ต้องเฝ้าจับตา  ดูพัฒนาการ  เรียนรู้ไปพร้อมๆกับเขา   ค่อยเติมสิ่งที่เขาขาด  โดยต้องไม่ใส่แบบเพิ่มภาระให้กับเขาอีก,  เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบ F2F  ในยุคปี 2006  หรือใกล้ปี พ.ศ.  2550 อย่างปัจจุบันนี้นั้น  ควรทบทวนเรื่องการสร้าง  E-Culture ทั้งของคุณอำนวย  และ "คุณเอื้อ"  (Chief Knowledge Officer) ว่าถึงเวลา   หรือสมควรแก่เวลาแล้วหรือยัง?    หรือว่าจะต้องนัดประชุมแบบเจอหน้าเจอตา  ในภาวะเวลาที่ยุ่งๆอย่างนี้ต่อไป  เพราะคำตอบที่แสนจะ classic    "ไม่มีจริตทางนี้!"    เวทีเสมือนจึงไม่เกิดสักที   แต่เวลาระดมสมองกันเมื่อไหร่  มักจะพูดถึงเสมอว่า  ICT คือทางออกของเรื่องนี้   กิจกรรมที่ทำก็สร้างเว็บไซต์   พอสร้างไปแล้วมันก็นิ่งไปเลย   จึงมีเว็บไซต์แบบนี้เยอะมาก  ที่น่าจะให้รางวัล   "ใยแมงมุม"  ไปแปะหน้าเว็บ  แสดงว่าไม่ค่อย update เลย   คำตอบจึงควรอยู่ที่ว่า   คนใช้ (User)  หรือ  เครื่องมือ (tools) กันแน่ที่มันไม่เวิร์ค,  

เนื่องจากแต่เดิมเราไม่ค่อยมีการทำ  "สารบัญความดี ความเก่งของคนเอาไว้"   ดังนั้น  การควานหาตัวบุคคลที่จะมาเป็น "คุณอำนวย"  จึงทำแบบส่งหนังสือทางการเวียนให้ทราบ  ใครว่างก็ให้ส่งมา     อัตรารอด(ตาย) ของคุณอำนวย  จึงมีต่ำมาก    แถมพอเริ่มต้นฉายแวว   เจอผู้บริหารดับดาวรุ่ง   ก็เลยตามหมดเล้าเลยครับ

เรื่องเหล่านี้   เป็นเรื่องที่ผมได้เรียนรู้จากหน้างาน  ซึ่งถือว่าเป็น ความท้าทาย  ที่ต้องข้ามผ่าน  ไม่เช่นนั้น  ยิ่งทำก็ยิ่งเหนื่อย  ยิ่งเหนื่อยก็ยิ่งท้อ    คงต้องหาวิธีการสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้กับหน่วยงานที่ต้องการพัฒนา หรือสร้าง "คุณอำนวย"   คงต้องออกแบบวิธีการร่วมกัน  เพื่อกันไม่ให้การพัฒนาคน  ตกร่องแบบเดิมๆ   อีกต่อไป

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #sharing#platform#คุณอำนวย
หมายเลขบันทึก: 12615เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2006 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ผมเห็นด้วยกับคุณธวัชครับ  ในความคิดของผมคิดว่าบางหน่วยงานควรเริ่มต้นที่ผู้บริหารก่อน  ผู้บริหารควรรับรู้สิ่งต่างๆเหล่านี้อย่างลึกซึ้งเพราะในบางครั้งสิ่งที่พวกผมเริ่มทำกลับมีมุมมองที่แตกต่างจากผู้บริหาร  เกิดการสั่งการขึ้นจนทำให้เราไม่กล้าทำหรือแม้แต่กล้าคิด  ถ้าระบบ(ของผม)เป็นแบบนี้"คุณอำนวย"ที่กำลังเติบโตหรือกำลังจะแตกหน่อขึ้นมาใหม่คงไม่พ้นโดนหนอนหรือแมลงกัดกินจนในที่สุดก็ตายไปแน่นอน
เขียนได้ดีมากคะ ถูกใจมาก ตรงประเด็นมากคะ
          เห็นด้วยครับว่า"คุณเอื้อ"มีความสำคัญ และน่าจะเป็นคนจุดประกาย เพราะจะส่งผลต่อความอยู่รอดขององค์กร แต่คงไม่เหมือนกันในทุกที่  ดังนั้นถ้าจะท้อก็ท้อได้แต่ไม่ควรถอยครับ ได้แค่ไหนเอาแค่นั้นก่อน หาจุดเล็กๆ ที่เริ่มต้นแล้วทำให้สำเร็จ(เล็กๆ ง่ายๆ ก่อน) หาพื้นที่และยืนระยะต่อไป  อย่าลืมหาทีม/สร้างทีมให้ได้จะได้มีพลัง  บางครั้งก็ต้องเริ่มที่ตัวเราแล้วย้อนกลับไปบริหาร/จัดการ(...ทุกเรื่อง) คุณอำนวยไม่ควรมีเหลี่ยม...แต่ให้ทำตัวเป็นลูกกลมๆ ครับ (ผมมีประสบการณ์มา ลปรร.ครับ http://gotoknow.org/archive/2005/12/22/17/28/51/e10120 )
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท