ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

สาบเสือ...กับการปรับปรุงดิน


ดิน...นับเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญต่อการปลูกพืช...แต่ถ้าหากดินเสื่อมหรือดินไม่ดีล่ะ ต้นสาบเสือจะช่วยได้อย่างไร...นี่ถือเป็นบทเรียนหนึ่งที่ถูกบรรจุไว้ในการทำเกษตรประณีต

อันชีวิตที่เกิดมากับความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหารของบรรพบุรุษ...นับเป็นเรื่องเล่าอิงประวัติศาสตร์ที่น่าจะเป็นความจริงที่พวกเราคนรุ่นหลังโอดครวญหา อยากจะเห็น อยากจะสัมผัส และอยากอยู่ท่ามกลางบรรยากาศเหล่านั้น...แต่ก็คงยากที่จะหวนกลับไปสู่บรรยากาศอย่างนั้นได้ เพราะทุกวันนี้สภาพแวดล้อมถูกทำลาย ป่าไม้ร่อยหรอเพราะมนุษย์แผ้วถางและทำลายอย่างไม่บัญญะบัญยัง ส่งผลให้ระบบนิเวศขาดความสมดุล ดิน...ที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์ มีธาตุอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช ปลูกอะไรก็ได้กินนั้น มันได้หมดไปเสียแล้ว เพราะว่าทุกวันนี้ ดินมันตาย เสียแล้ว...

                            

 แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ ? จึงเป็นคำถามที่ท้าทายสำหรับพี่น้องเกษตรกรที่ทำเกษตรประณีต ว่าทั้งหลายทั้งปวงนั้นเราจะปรับปรุงดินให้ฟื้นคืนชีพได้อย่างไร จากแนวทางในการปรับปรุงดินเพื่อให้ฟื้นคืนชีพ กลับคืนมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิมนั้น...ก็คงจะมีแนวทางในการทำได้หลากหลายวิธีทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสูตรของใครของเราพี่น้องกลุ่มอโศกก็จะบอกว่าใช้ใบไม้ วัชพืช หรือแม้กระทั่งฟางข้าวซิ ให้เอามาคลุมแปลงราดด้วยน้ำจุลินทรีย์ งดการใช้สารเคมีภายในปีเดียวเท่านั้นแหละดินก็จะเริ่มฟื้นคืนชีพ ปลูกอะไรก็จะเจริญงอกงาม 

ในขณะที่ปราชญ์ชาวบ้าน และพี่น้องเกษตรกรต้นแบบที่ทำเกษตรประณีตในจังหวัดบุรีรัมย์นั้นก็จะมีวิธีการในการปรับปรุงดินให้ฟื้นคืนชีพนั้นค่อนข้างจะมีเทคนิควิธีการทำที่ค่อนข้างหลากหลาย บ้างก็ทำตามวิธีการของชาวอโศก บ้างก็ใช้มูลสัตว์ ซึ่งก็จะมีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามปัจจัยความพร้อมของแต่ละบุคคล  

แต่มีอยู่ท่านหนึ่งครับที่มีวิธีการทำที่ไม่ค่อยเหมือนคนอื่นเท่าใดนักคือ... พ่อผาย   สร้อยสระกลาง ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ที่พยายามปรับปรุงดินโดยการนำต้นสาบเสือมาคลุมดินในแปลงที่ต้องการปรับปรุงและปลูกพืช... หลังจากที่ทำเช่นนี้ติดต่อกันสัก 3 รุ่นพบว่าดินจะมีความอุดมสมบูรณ์พืชที่ปลูกก็เจริญงอกงามดี และหากต้องการให้ดียิ่งขึ้นก็พยายามใส่ไปเรื่อยๆ 3 ปีดินจะดีอย่างแน่นอน 

คิดได้อย่างไร? เป็นคำถามของผมที่มีความสงสัย จึงได้รับคำตอบจากพ่อผายว่า เดิมทีเดียวดินที่นาของตนเองเป็นดินทราย ปลูกอะไรก็ไม่งอกงาม มีอยู่วันหนึ่งได้ไปเลี้ยงควายอยู่ที่ดอนหัวนา จึงพบว่าบริเวณที่มีต้นสาบเสือเกิดดินค่อนข้างเป็นสีดำ และต้นสาบเสือเจริญงอกงามดี จึงเกิดความคิดว่า...

เอ...ถ้าเราจะเอาต้นสาบเสือไปใส่ หรือไปคลุมแปลงปลูกพืชที่เราจะปลูก ต้นพืชน่าจะเจริญงอกงามดี พอวันต่อมาจึงได้ตัดเอาต้นสาบเสือมาคลุมแปลงในพื้นที่ปลูกพืชของตนเอง ครั้นเวลาผ่านไป1 เดือนกลับพบว่าต้นพืชผักที่เราปลูกเจริญงอกงามดี หลังจากนั้นจึงใส่เพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ ทุกครั้งของการปลูกพืช และเมื่อครบ 3 ปี เราอาจจะไม่ใส่แล้วก็ได้ โดยให้เอาพวกเศษวัชพืชมาทำปุ๋ยบำรุงดินแทน

Plate%25203-1 

สาบเสือมีอะไร?   จึงเกิดข้อสงสัยอีกเช่นเคยครับว่าสาบเสือมีดีอะไร เมื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยบำรุงดินแล้ว พืชจึงเจริญงอกงาม ให้ผลผลิตดี ผมจึงได้ตามไปสืบค้นและหาคำตอบก็พบว่าสาบเสือ หรือที่เรียกกันว่าหญ้าดงร้าง หญ้าดอกขาว หมาหลง หรือต้นบ้านร้าง มีชื่อสามัญ ว่า Bitter bush, Siam weed ชื่อวิทยาศาสตร์ Eupotorium odortum L.

ลักษณะทางชีววิทยา
สาบเสือเป็นวัชพืชอายุหลายปี ลำต้นและกิ่งก้านปกคลุม ด้วยขนอ่อนนุ่ม ก้านและใบเมื่อขยี้จะมีกลิ่นแรงคล้าย สาบเสือ สูง 1-2 เมตร ใบเดี่ยวออกจากลำต้น ที่ข้อ แบบตรงกันข้าม รูปรีค่อนข้างเป็นสามเหลี่ยมขอบใบ หยัก ปลายใบแหลม ฐานใบกว้าง เรียวสอบเข้าหากัน สีเขียวอ่อน เส้นใบเห็นชัดเจน 3 เส้น มีขนปกคลุม ผิวใบทั้งสองด้าน ดอกเป็นช่อ สีขาวหรือฟ้าอมม่วง ดอกย่อย 10-35 ดอก ดอกวงนอกบานก่อน กลีบดอก หลอมรวมกันเป็นหลอด ผลขนาดเล็ก รูปร่างเป็น ห้า เหลี่ยมสีน้ำตาลหรือดำ มีหนามแข็งบนเส้นของผล ส่วน ปลายผลมีขนสีขาว ช่วยพยุงให้ผลและเมล็ดปลิวตามลม

และที่แน่ๆ ในด้านคุณสมบัติอีกประการหนึ่งของต้นสาบเสือก็คือ...เป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้เร็ว เจริญเติบโตเร็ว ใบเยอะ นอกจากนั้นยังพบว่าทั้งลำต้น และใบ เน่าเปื่อย และย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้เร็ว จึงน่าจะเป็นสาเหตุให้การปรับปรุงโครงสร้างของดินให้กลับฟื้นคืนชีพได้เร็วในเวลาต่อมา

 เปรียบเทียบการใช้หญ้าแห้ง และต้นสาบเสือคลุมแปลง

อย่างไรก็ตามจากแนวคิด และการบอกเล่าจากการจัดการความรู้ในการปรับปรุงดินของพ่อผาย ก็ดี คงเป็นแนวทางที่น่าจะเป็นแบบอย่างในการนำไปปรับใช้ในการฟื้นคืนชีพดินของท่าน และจากประสบการณ์ตรงของผมเองก็มีความเห็นที่สอดคล้องกับพ่อผาย และเพื่อเป็นการยืนยันข้อมูลอีกครั้งหนึ่ง...หลังจากที่ได้รับทราบข้อมูลจากพ่อผายเมื่อเดือนที่แล้ว ผมก็ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาทดสอบในแปลงเกษตรประณีตของผมที่จังหวัดอุบลราชธานี ถึงแม้ระยะเวลาที่ผ่านไปไม่มากนักก็เริ่มเห็นผลอยู่บ้างเมื่อเปรียบเทียบกับหญ้าแห้ง และกาบมะพร้าว จึงอยากจะบอกต่อในสิ่งที่ดีๆ ครับ   

ขอบคุณมากครับ

อุทัย   อันพิมพ์

4 กันยายน 2550

หมายเลขบันทึก: 125100เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2007 23:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีครับอาจารย์

ที่ดงหลวงเราใช้ใบสาบเสือเป็นสารไล่แมลงครับ ใช้ได้ทั้งผสมในน้ำหมักชีวภาพร่วมกับพืชสมุนไพรอื่นๆ

ใบสาบเสือแห้งใช้มือขยี้เป็นผงได้ง่าย นำมาหมักแช่น้ำข้ามคืนคืน กรองเอาน้ำฉีดไล่เพลี้ย และหนอนบางชนิดได้ดีครับ

เห็ดที่อาจารย์มาช่วยปลูกในป่าที่ดงหลวงดูเหมือนจะได้ผลครับ 

ดี

ผมใด้ไปดูการเพาะเห็ดที่วัดใน จังหวัดสุรินทร์เห็ดเขามีการใช้เม็ดข้าวสารเเทนเม็ดข้าวฟ้างเป็นข้าวที่เขาใช้เลี้ยงนกจะมีราคาถูกกว่า

ต้องการทราบวิธีการกำจัดวัชพืช พวกหญ้าที่ขึ้นเยอะมาก ที่แปลงเกษตร ค่ะ

พอมีวิธีที่กำจัดโดยไม่ต้องใช้สารเคมี ค่ะ

ขอบคุณค่ะจะรอคำตอบนะค่ะ

ครับ ขอบคุณมากนะครับ ได้แนวคิดครับ มีประโยชน์ นะครับ

ยอดเยี่ยมมากเลยค่ะ

สวัสดีค่ะ

รบกวนสอบถามผู้รู้นิดหนึ่งค่ะ เนื่องจากมีที่แล้วดินไม่ดีปลูกอะไรก็ไม่ขึ้นเพราะอยู่ใกล้แหล่งระเบิดหินทำให้ปุ๋ยยูเรียนที่เขาใช้ระเบิดหินนั้นเวลาฝนตกน้ำฝนจะชะหน้าดินมาจากภูเขาที่เขาระเบิดหินทำให้ที่ดินดังกล่าวปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น นำดินบางส่วนไปสอบถามหมอดินแล้วเขาให้ทดลองปลูกต้นถั่วก็ไม่ขึ้นปลูกต้นโสหนก็ไม่ขึ้นจะทำอย่างไรดีค่ะเนื่องจากไม่มีความรู้ทางด้านนี้เลยค่ะและไม่ต้องลงทุนสูงด้วยมีวิธีใดบ้างค่ะ

ขอบคุณค่ะ

มะปรางค์ [email protected]

ไม่ทราบว่าที่ดินแถวนี้มีต้นอะไรที่ยังยืนต้นอยู่่บ้างครับ เช่น สัก เหียง ประดู่ หรือต้นไม้หญ่ๆ อย่างอื่น ที่ยังคงมีเหลืออยู่ หรือหากมีรูปถ่ายมาบ้าง จะช่วยวิเคราะห์ได้ง่ายขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท