Dialogue (2): กระบวนการพูดจาแบบ “ช้าเพื่อที่จะเร็ว”


เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลา ไม่สามารถทำแบบเร็วๆ ได้ เรียกได้ว่าเป็น “Slow Process” เป็นกระบวนการที่ใช้ฝึกการ “ตื่นรู้” ฝึกการ “ไตร่ตรอง” ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)

        ชีวิตทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นในที่ทำงานหรือที่บ้านก็ตาม เรามักจะเคยชินกันแต่การพูดคุยในเชิง Discussion เป็นส่วนใหญ่ คือพูดกันไปพูดกันมา บ้างก็เรียกว่าเป็นการปรึกษาหารือ (แม้บางครั้งจะลงเอยว่าเป็นการ หาเรื่อง ก็ตาม) ผมชอบที่อาจารย์มนต์ชัยกระตุ้นให้พวกเราเห็นว่า การพูดจาส่วนใหญ่ของเรานั้นมักจะตกอยู่ในวงจร ฟัง คิด พูด . . . ฟัง คิด พูด . . .  ฟัง คิด พูด . . .

        โลกปัจจุบันให้ความสำคัญกับการทำอะไรให้เร็วๆ  การฟัง การคิด การพูด ของเราจึงเข้าไปในวงจรนั้นโดยปริยาย คือเป็นการฟังแบบเร็วๆ  คิดแบบเร็วๆ พูดแบบเร็วๆ ถ้าหากพูดช้า ก็กลัวว่าจะเสียโอกาส อาจพลาดที่จะได้แสดงความคิดเห็น (หลายครั้งก็เป็นการแสดงตัวตน) หรือกลัวว่าถ้าช้าอาจจะต่อเรื่องนั้นๆ ไม่ติด  ในที่สุดชีวิตจึงติดอยู่กับการทำอะไรให้รวดเร็วเสมอไป จนกลายเป็นนิสัย ทำให้ฟังแบบไม่ทั่วถึง ฟังแค่เพียงบางท่อน ฟังแบบไม่ได้นำไปคิดไตร่ตรอง  ทำให้การคิดของเราไม่ เป็นปัจจุบัน เพราะยึดมั่นอยู่กับความคิดชุดเดิม (ของเก่า) ที่มีอยู่ แล้วก็ถ่ายทอดความคิดเหล่านั้นออกไปเป็นคำพูดอย่างรวดเร็ว Discussion จึงเป็นการให้ความสำคัญกับการพูดมากกว่าการฟัง และการคิด (ไตร่ตรอง)

        Dialogue เป็นสิ่งที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง แทนที่จะเป็นวงจร ฟัง คิด พูด ไปเรื่อยๆ Dialogue กลับเป็น ฟัง คิด (ไตร่ตรอง) . . . ฟัง ไตร่ตรอง . . . ฟัง ไตร่ตรอง . . . . จนกระทั่งเมื่อมีความคิดเกิดขึ้นแล้วต้องการจะสื่อ ก็ค่อยพูดออกไป จะเห็นได้ว่าเป็นวงจรที่ช้ากว่ามาก ไม่รวดเร็วเหมือนกับ Discussion แต่เป็นการช้าเพื่อที่ว่าจะเร็วได้ในภายหลัง ไม่เหมือนกับ Discussion ซึ่งเป็นกระบวนการที่ดูเหมือนเร็วเพราะหยิบเอาแต่ แก่น มาพูดกัน สามารถเข้าถึงปัญหาได้อย่างรวดเร็ว โดยหารู้ไม่ว่าความรวดเร็วนี้ได้สร้างปัญหา สร้างปม ขึ้นมามากมาย จนทำให้สิ่งทั้งหลาย ช้าไป โดยไม่รู้ตัว

        กระบวนการ Dialogue เป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม ไม่ได้นำมาเฉพาะ แก่น แต่เอามาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกิ่งก้าน ราก ใบ หรือลำต้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลา ไม่สามารถทำแบบเร็วๆ ได้ เรียกได้ว่าเป็น  “Slow Process” เป็นกระบวนการที่ใช้ฝึกการ ตื่นรู้ ฝึกการ ไตร่ตรอง ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) เป็นการฟังแบบ ทุ่มทั้งตัว คือได้ยินทั้งเสียง น้ำเสียง เห็นสีหน้า ท่าทาง เห็นสิ่งต่างๆ ที่ผู้สื่อต้องการจะสื่อออกมา แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่ได้อยู่ในคำพูดหรือถ้อยคำที่พูดออกมาก็ตาม . . . ถ้าสนใจอย่าลืมอ่านต่อตอนที่ 3 นะครับ

 
หมายเลขบันทึก: 123820เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2007 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 18:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ดิฉันค่อยๆอ่านทำความเข้าใจคำว่า Dialogue

ทำให้เริ่มเข้าใจความหมายตามที่อาจารย์บอกค่ะ

จะติดตามตอนต่อไปค่ะ

สวัสดีค่ะ

 เหมือนคิดทุกคำที่จะพูด แล้วก็ไม่ต้องพูดทุกคำที่คิดใช่ไหมคะ

เรียน ท่านอาจารย์ ดร.ประพนธ์

 ฟัง คิด ไตร่ตรอง แบบ ตติยัมปิ เลยครับ ใช้ U Theory ในการพัฒนา จริงๆ

ผมเป็นสมาชิกค่อนข้าใหม่ สวัสดีครับ ดร.ประพนธ์  ผาสุกยืด  ผมจำได้เพราะว่าผมใช้ตำราเรียนของ สคส.ในการเรียนวิชาKM กับ อ.ดร.ธวัชชัย  ปิยะวัฒน์ ในหลักสูตรMBA  มอ .ครับผม 

สวัสดีครับอาจารย์
   เรื่องช้า - เร็ว นี่ ผมเห็นด้วยว่าความเร็ว ความเร่ง  ที่มากไป ทำให้พลาดโอกาสที่จะได้เห็นความงาม ความเป็นทั้งหมดของสรรพสิ่ง และปรากฏการณ์  มีแต่แก่น ที่เป็นแกน บางทีก็แห้งแล้ง .. นำไปคิดขยายทำอะไรต่อไปก็มักจะแข็งทื่อ เป็น ศาสตร์ที่ปราศจากศิลป์ และห่างไกลกุศล เพราะมัวแต่แข่งกันเร็ว ต้องการชนะ  อยู่กับความวุ่นวายไม่สงบ .. ช้าๆได้พร้าเล่มงาม จึงยังมีความหมายอยู่เสมอครับ

สวัสดีค่ะ อ.ประพนธ์

  • ขอบคุณมากๆเลยค่ะ  สำหรับบันทึกดีๆเช่นนี้...ทำให้กลับมาทบทวนตัวเองค่ะ
  • เพราะเป็นคนคิดเร็วพูดเร็ว..กลัวไม่ทันกินจริงๆ...เลยทำให้ท่องประโยคคำถามไว้...จนชาวบ้านเขาฟังกันไปถึงไหนๆแล้ว...เราถึงถาม..เพราะเราไม่ฟังให้จบก่อน(ด้วยเคย...ที่พอฟังจบ  ลืมคำถาม  และก็ไม่มีคำตอบเลยก็มีค่ะ.....)
  • ขอบคุณค่ะสำหรับข้อคิดที่เป็นประโยชน์อย่างมากๆค่ะ...แล้วจะติดตาม(เป็นแม่ยกไปเรื่อยๆค่ะ)

                          คิดถึงเสมอค่ะ

 

เยี่ยมเลยครับ

ตาม ความคิด  ให้ทัน   นี่แหละ  มหาสติฯ  และ U theory  นั่นเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท