BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

การสวดมนต์แปล


การสวดมนต์แปล

ได้รับการร้องขอมาจากอาจารย์ ดร. แสวง รวยสูงเนิน ว่าช่วยให้ความเห็นเรื่องการสวดมนต์แปล...

ประเด็นว่า ควรจะสวดมนต์แปลหรือไม่ ? คำถามนี้แม้แต่ในวัดก็มีทั้งผู้เห็นชอบและไม่เห็นชอบ.... ฝ่ายที่เห็นชอบก็บอกว่า จะได้ทราบความหมายคำแปลไปพลาง... ฝ่ายที่ไม่เห็นชอบก็บอกว่า ใช้เวลานาน เมื่อย และได้จำนวนบทที่สวดน้อย ...

........

สำหรับญาติโยมที่มาร่วมทำวัตรสวดมนต์ในวัด ผู้เขียนเห็นด้วยในการสวดมนต์แปล โดยกางหนังสือแล้วท่องบ่นไปพร้อมๆ กัน... เพื่อจะได้ร่วมกิจกรรม คลายความเบื่อหน่ายจำเจของความเป็นอยู่ที่บ้าน... ทำให้จิตใจสงบ คลายความฟุ้งซ่านได้... การเข้าใจความหมายก็อาจฉุกคิดบางอย่างขึ้นในขณะนั้น ก่อให้เกิดปัญญาได้เช่นเดียวกัน...  

สำหรับพระ-เณร เวลาสวดมนต์ทำวัตร พระ-เณรจะนั่งคุกเข่า (ผู้ชายคุกเข่า ผู้หญิงพับเพียบ)... ถ้าเป็นบททำวัตร์เย็น การสวดมนต์แปลจะต้องนั่งคุกเข่าอยู่ประมาณ ๒๐-๓๐ นาที (ขึ้นอยู่ว่าจะสวดช้าหรือเร็ว) ดังนั้นจึงค่อนข้างจะทรมารเล็กน้อยถึงสุดๆ... ตอนผู้เขียนบวชใหม่ๆ รู้สึกได้ว่ากระดูกนิ้วเท้ากับกระดูกหลังเท้าเกือบแตก...

ปกติการสวดมนต์ อย่างมากที่สุดจะต้องไม่เกินชั่วโมงครึ่ง เพราะถ้าเกินกว่านี้จะไม่เป็นมงคลสำหรับพระเถระผู้เป็นประธาน... เพราะผู้น้อยบางรูปนั่งนานๆ ไม่ค่อยได้ บางรูปอาจมีกิจจำเป็นบางอย่าง บางรูปก็อาจครหาท่านประธานว่าชอบเอาหน้า โอ้อวด... ตามปกติก็มักจะสวดกันประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ส่วนผู้ใคร่ในการสวดมนต์ก็มักจะไปสวดต่อเอาเองที่กุฏิ... ประมาณนี้ 

โดยส่วนตัวผู้เขียนสามารถสวดมนต์แปลฉบับสวนโมกข์ฯ ได้เกือบทุกบท... เพียงแต่ว่าเมื่อไม่ได้สวดนานๆ ก็ไม่ค่อยแม่น เมื่อได้มาสวดทบทวนอีกระยะหนึ่งก็ค่อนข้างจะแม่น... และมิใช่เฉพาะผู้เขียนเท่านั้น พระ-เณรในวัดที่บวชนานๆ ซึ่งเคยฝึกสวดมนต์แปลก็มักจะสวดได้่พอๆ กับผู้เขียนนี้แหละ...

ผู้เขียนเคยอยู่สำนักปฏิบัติบางแห่ง ซึ่งท่านอาจารย์ชอบสวดมนต์ และสวดแปลบ้างไม่แปลบ้าง ผู้เขียนว่าน่าจะดีที่สุด เพราะทำให้ไม่เบื่อหน่ายจำเจ ได้ทั้งสมาธิและปัญญา...

............

สวดมนต์เป็นยาทา ภาวนาเป็นยากิน โบราณว่าไว้ นั่นคือ ถ้าเราสวดมนต์บ่อยๆ ก็จะทำให้จิตใจเกิดความสงบ พอที่จะคลายความฟุ้งซ่านได้นิดหน่อย... ส่วนการเจริญสมถะและวิปัสสนาภาวนา ถ้าเราทำบ่อยๆ นอกจากที่จะทำให้จิตใจเกิดความสงบแล้ว ก็จะทำให้เข้าใจสาเหตุของความฟุ้งซ่านได้ด้วย... ประมาณนี้

โดยส่วนตัวผู้เขียน พื้นฐานก็ชอบสวดมนต์ มีหลักฐานยืนยันได้ เพราะผู้เขียนสวดปาฏิโมกข์ได้ตั้งแต่บวชได้พรรษาสอง (ใครเคยฟังปาฏิโมกข์คงจะเข้าใจ)... แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ และพรรษาก็มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้เขียนขี้เกียจและปล่อยปละละเลยเรื่อยๆ... 

ปัจจุบันนี้ ถ้าอยู่ตามปกติผู้เขียนก็ไม่ค่อยทำวัตรสวดมนต์... ยกเว้นภายในพรรษาผู้เขียนมักจะนำพระใหม่-เณรลงทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็น (แต่พรรษานี้มีผู้อื่นสมัครใจทำแทน)...

ปกติก่อนจำวัด(นอน) ก็พนมมือตั้ง นโม ๓ จบ บทอิมัสมิง แผ่เมตตา แล้วจบด้วยพระบาลีว่า...

  • สมฺมาสมฺพุทฺเธหิ ทิฎฺฐธมฺมํ วิปสฺสามิ ขอข้าพเจ้าจงเห็นแจ้งธรรมอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเห็นแล้วนั่น...เทอญ   

โดยไม่ปกติ ผู้เขียนก็มักจะนอนท่องสวดมนต์แปลบ้างไม่แปลบ้าง ตามบทที่ชอบ...  บางครั้งก็เดินท่องเล่นในวัดยามดึกๆ  ตี ๒-๓ ... หรือบางครั้งก็อาจนึกสนุกจับหนังสือมาทบทวนทำนองขัดสนิม... ประมาณนั้น

ผู้เขียนเคยพูดกับเพื่อนสหธัมมิกเสมอว่า โดยส่วนตัว เทศน์ก็ไม่ชอบ สอนหนังสือก็ไม่ชอบ เป็นหมอดูก็ไม่ชอบ ยิ่งรับสังฆทานหรือไปกิจนิมนต์ก็ยิ่งไม่ชอบ... แต่ก็อาจทำสิ่งเหล่านี้ได้พอประมาณ...

ที่ชอบก็คือทำวัตรสวดมนต์ เรียนหนังสือ และท่องเที่ยวพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับใครบางคนเท่านั้น

แต่เดียวนี้ ทำวัตรสวดมนต์ก็ไม่ค่อยได้ทำ เรียนหนังสือก็เบื่อ... มาทำเรื่องที่ไม่ค่อยชอบทั้งนั้น...

คำสำคัญ (Tags): #การสวดมนต์แปล
หมายเลขบันทึก: 122623เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2007 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)
  • ผมเห็นด้วยกับท่าน ครับ
  • การสวดมนต์แปลหรือไม่แปลขึ้นอยู่กับ กาลเทศะ ขึ้นอยู่กับบุคคล ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และจุดมุ่งหมายของกิจกรรมหรือพิธีกรรม
  • ถ้าต้องการให้เข้าใจความหมายก็แปล
  • ถ้าต้องการประกอบพิธีการที่เวลาจำกัดก็ไม่ต้องแปล
  • บางพิธีการก็นิยมแปล เช่นถวายสังฆทาน
P

พิสูจน์

คุณโยมแยกประเด็นพร้อมตัวอย่างให้เห็นได้อย่างชัดเจน... ทำให้อาตมาคิดไปว่า คุณโยมคงจะจัดเป็น ผู้อ่านหนังสือแตก ตามสำนวนที่เค้าพูดกัน...

ส่วนอาตมาพาดพิงตัวเอง จึงต้องเล่าเรื่องตัวเองเสริมไปด้วย คงจะไม่ว่ากัน....

เจริญพร 

กราบนมัสการ

ขอประทานโทษ ที่ผมไม่ได้อ่านเพราะท่านมีหลายบล็อกมากจนเก็บได้ไม่หมดครับ

แต่ก็เชื่อม link ไว้แล้วครับ

ต่อไปคงจะพลาดน้อยลงครับ

ขอบพระคุณที่อธิบายแบบได้น้ำได้เนื้อครับ

P

ดร. แสวง รวยสูงเนิน

อันที่จริงก็คิดจะเพิ่มอีก แต่รู้สึกว่ามากเกินไปแล้ว จึงพักไว้เท่านี้... 

ประเด็นจับฉ่าย ถ้าไม่อยู่ที่ สนทนาธรรม  ก็มักจะอยู่ที่ เรื่องเล่าจากในวัด ...

เจริญพร 

นมัสการพระอาจารย์ครับ

  • เรื่องการสวดมนต์ สำหรับผม มันมีองค์ประกอบของสภาพแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยครับ ทุกครั้งที่สวดมนต์ เรามักจะอยู่ในบรรยากาศสงบ ผ่อนคลาย เช่น ในโบสถ์ วัด ห้องพระหรือแม้แต่เตียงนอนก่อนเข้านอน
  • การที่เราปฏิบัติซ้ำๆจนชิน พอนึกถึงบทสวดมนต์นั้น ก็จะทำให้เราระลึกถึงบรรยากาศเช่นนั้นไปด้วย 
  • พระคาถาที่เป็นบาลี เช่น อรหัง สัมมา บางครั้งถึงไม่เข้าใจความหมายทั้งหมด แต่ด้วยความที่เราสวดกันมาจนชิน ก็ทำให้เราฉุกคิดถึงบรรยากาศความสงบ ผ่อนคลาย กลับมาได้ เช่นเวลาที่เราตกใจ สับสน หรือเผชิญภาวะวิกฤติ เป็นการเรียกสติกลับมาวิธีหนึ่ง
  • สำหรับบทสวดมนต์แปล ผมชอบฟังมากกว่าสวด ฟังแล้วคิดตามเวลามีเวลาว่างๆ โดยเฉพาะช่วงเช้ามืด ตี ๔-๕ เป็นการสร้างบรรยากาศความสงบผ่อนคลายให้ตัวเอง  เตรียมเอาไว้ใช้ในอนาคต  แต่ก็ไม่ถึงขนาดกลางดึก ตี ๒-๓ อย่างท่านอาจารย์หรอกนะครับ
  • กราบ ๓ ครั้ง ก่อนนอน
P

นาย เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี

อาจารย์หมอน่าจะนอนไม่ดึกและตื่นตั้งแต่ยังไม่สว่าง.... อาตมาก็พยายามฝึกหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ สุดท้ายก็ยอมแพ้...

เมื่อก่อนอาตมาลมขึ้นเบื้องสูงทำให้ปวดศรีษะบ่อยและจะนอนไม่หลับ บางครั้งก็เป็น ๒-๓ วันติดต่อกัน... นโยบายนอนหัวค่ำตื่นอ่านหนังสือหัวรุ่งก็ต้องเลิกล้ม... ประมาณนี้

เดียวนี้ โรคลมขึ้นเบื้องสูงก็หายไป มีโรคใหม่เข้ามาคือ พอฝนตกอากาศชื้นจะนอนไม่หลับ (แปลกจริงๆ) ตามที่บ่นให้อาจารย์หมอฟังเล็กน้อย....

เจริญพร 

ผมมีความคิดขึ้นมาแว้วๆว่าถ้าฟังบาลีรู้เรื่องเลยคงจะดี. แต่ว่าก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดคือคงจะไม่ได้เรียนง่ายเท่าไหร่. โรงเรียนทั่วไปจะสอนบาลีหมดก็คงไม่ไหว คงต้องเป็นโรงเรียนศาสนาเฉพาะ.

แปลบ้างก็ดีเหมือนกันครับ. หรือว่ามีหนังสือที่มีคำแปลด้วยก็ดี.  ไม่ทราบว่าจะเป็นไปได้หรือเปล่าที่จะเรียนบาลี จากข้อความสองภาษาที่ขนานกันอยู่. 

P

वीर

บาลีกับไทยขนานกันอยู่ ?

ก็อาจพอมองออกบางคำ โดยเฉพาะคำที่มีใช้ในภาษาไทย.... ส่วนคำอื่นๆ ถ้าเจอบ่อยๆ เทียบคำแปลแล้ว ผู้รู้จักสังเกตก็อาจคาดเดาได้เพียงบางคำ.... แต่ถ้าให้เข้าใจส่วนใหญ่หรือทั้งหมดคงจะเป็นไปไม่ดี...

บาลี จัดเป็น ตันติภาษา (ภาษาที่มีระเบียบแบบแผน) ถ้าไม่จดจำไวยากรณ์พื้นฐานแล้ว ก็ไม่อาจจะแปลเป็นประโยคได้...

ตอนนี้หลวงพี่กำลังดู ภควัทคีตาฉบับไตรพากษ์  (เตรียมการสอนพรุ่งนี้) หน้าเดียวแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ สันสกฤต ไทย และอังกฤษ... แม้อังกฤษและสันสกฤตหลวงพี่เคยเรียนมาบ้าง แต่ก็ยังแกะไม่ค่อยถูกเลย...

อีกอย่างหนึ่ง แปลได้ก็ใช่ว่าจะเข้าใจ ดังเช่นเราอ่านพระไตรปิฏกฉบับภาษาไทยแต่ก็ไม่เข้าใจ เป็นต้น

แม้ภาษาและเรื่องราวจะยากอย่างไรก็ตาม แต่ยังมีผู้ที่แปลได้และเข้าใจได้เสมอมา....

เจริญพร 

กราบนมัสการครับพระอาจารย์ หลวงพี่ P BM.chaiwut

  • เข้ามาอ่านครับ เพื่อประดับความรู้ครับ

"ดังเช่นเราอ่านพระไตรปิฏกฉบับภาษาไทยแต่ก็ไม่เข้าใจ"

เห็นภาพขึ้นมาทันทีครับ T_T.

 

ผมคิดๆอยู่ครับว่าจะจัดข้อมูลทางไวยากรณ์ที่จำเป็นสำหรับการแปลแต่ละประโยคไว้ในข้อความสองภาษา (bitext) เลยได้หรือเปล่า. แล้วคนอ่านก็ค่อยๆเรียนกฎไวยากรณ์ไปพร้อมๆตัวอย่าง. ยกตัวอย่างเช่น สามารถ click เข้าไปดูคำที่สงสัยได้ว่า ธาตุคืออะไร. aspect ของคำนั้นคืออะไร. tense ของคำนั้นคืออะไร.  แต่ click มาเจอ tense กับ aspect ก็ท่าจะงงอยู่ดี. พอคิดมาถึงตรงนี้ผมก็ตันๆครับ. ยังคิดวิธีง่ายๆให้คนเข้าใจ tense กับ aspect ในเวลาสั้นๆไม่ออก.

P

สะ-มะ-นึ-กะ

ตอนหัวค่ำ ได้คุยกับศรีภรรยาของคุณโยมเล็กน้อย ก็นึกถึงคุณโยมอยู่ แต่ไม่ทันได้โอกาสถามข่าว คุณโยมก็มาเยี่ยมพอดี... (สงสัยว่าใจอาจสื่อถึงกัน)

.......

P

वीर

เคยฟังว่า นักศึกษาป.เอก ที่ต้องการทำวิจัยด้านพุทธปรัชญา แต่ไม่มีพื้นฐานทางบาลี โดนอาจารย์จับมาเรียนบาลีโดยเฉพาะก่อน ๑ ปี เพื่อเป็นพื้นฐาน ไม่อย่างนั้นก็จะไม่ให้ทำด้านนี้... สรุปว่า คงจะมีปัญหาด้านการเข้าใจภาษาบาลีอยู่พอสมควร...

........

เจริญพรคุณโยมทั้งสองท่าน 

 

นมัสการพระอาจารย์ตอนหัวรุ่ง

  • บ้านผมอยู่ในสวนยาง ก็เลยตื่นพร้อมชาวสวน แล้วติดใจบรรยากาศอย่างที่เล่าด้านบนนะครับ
  • โรคลมขึ้นเบื้องสูง นี่เป็นอย่างไรครับ
  • ฟังดูนอนไม่หลับเวลาอากาศเย็นหรือฝนตก น่าจะเข่าข่ายโรคภูมิแพ้นะครับ แต่พระอาจารย์ไม่มีอาการคัดจมูก หายใจขัด ก็เลยงง งง ต้องเรียนถามอีกทีว่า ระหว่างที่นอนไม่หลับนั้น มันมีอาการอื่นหรือไม่ครับ
P

นาย เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี

ลมขึ้นเบื้องสูงก็รู้สึกเครียด หนักหัว ปวดศรีษะ มีลมออกทางหู ... ประมาณนี้

ตอนเช้าก็มีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก ใจอ่อน หายใจติดขัด  เล็กน้อยถึงปานกลาง.....

จะเขียนเรื่องโรคประจำตัวให้อาจารย์หมอวินิจฉัย... คืนนี้

เจริญพร

กราบนมัสการค่ะ 

ทราบมาว่า บทสวดมนต์บางเล่มมีการแปลคำบาลีผิดไป ทำให้ความเข้าใจอาจผิดเพี้ยนไป ท่านอ.มีคำแนะนำอย่างไรบ้างคะ 

P

พัชรา

ตามที่เคยเห็น สวดมนต์แปลที่ท่านแปลผิดน้อยมาก แต่ที่นำมาพิมพ์ผิดนั่นมีเยอะ... อาตมาเคยช่วยจัดทำบทสวดมนต์ให้ญาติผู้ใหญ่มาแล้วครั้งหนึ่งก็มีที่ผิดอยู่บ้าง ๒-๓ จุด....

ประเด็นที่ว่าพิมพ์ผิดนั้น ก็ลองตรวจสอบกับฉบับอื่นๆ แล้วแก้ให้ถูก ก็น่าจะไม่มียุ่งยากนัก...

ส่วนประเด็นที่แปลผิดนั้น เป็นเรื่องรายละเอียดเกินไป บางครั้งก็อาจมีผู้อวดรู้บอกว่าแปลผิด... บางครั้งก็อาจแค่แปลคลาดเคลื่อน... และบางครั้งอาจไม่ผิดไม่ถูก เป็นเพียงการเลือกหาสำนวนไทยมาใช้ต่างกันเท่านั้น เช่น...

ในบทปัจเวกข์ตอนหนึ่ง มีคำว่า เนวะทะวายะ ซึ่งฉบับสวนโมกข์ของท่านอาจารย์พุทธทาสแปลว่า มิใช่เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน .... แต่ฉบับของอาจารย์มหาธนิต ป.๙ แปลว่า ไม่คนองกายเล่น

  • เนวะทะวายะ มิใช่เป็นไปเพื่อความสนุกสนาน
  • เนวะทะวายะ ไม่คนองกายเล่น

เมื่อพิจารณาตามสำนวนไทยก็คงจะเหมือนกัน แม้คำแปลจะต่างกัน...

การสวดมนต์แปลเพ่งความสงบแหละเพลิดเพลินในธรรมเป็นหลัก... ส่วนความเข้าใจนั้นต้องใช้การศึกษาค้นคว้าเป็นหลัก...

ดังนั้น ถ้าใครว่าตรงไหนแปลผิด ก็ลองไปตรวจสอบกับเล่มอื่นๆ เมื่อผิดจริงก็แกให้ถูก... ส่วนที่สำนวนต่างกันหรือคลาดเคลื่อนไปบ้างนั้น ไม่ว่ากัน... ชอบสำนวนของใครก็ใช้สำนวนของคนนั้นก็แล้วกัน....

เจริญพร 

 

ถ้าเราสวดมนต์แบบอ่านหนังสือสวดมนต์ ถือว่าไม่ผิดกฎิกาใช่ไหมค่ะ

ปัจจุบัน เรานั่งรถเมล์เป็นเวลานาน ดิฉันจังนำหนังสือสวดมนต์เล่มเล็กติดกระเป๋า

และสวดทั้งขาไป และขากลับ ได้บุญเหมือนกันหรือเปล่าค่ะ

(พาหุง+มหากา+ชินบัญชร+ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฏก แล้วอุทิศบุญ)

อลิสา ก.

ไม่มีรูป

อลิสา

 

การกระทำตามที่ว่า ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ผู้รู้พิจารณาแล้วยกย่องสรรเสริญ... แสดงว่าไม่ผิด

กระทำไปแล้ว เกิดความปลื้มใจ ก็จัดเป็นบุญ ... ถ้าเกิดความรู้ความเข้าใจยิ่งขึ้นในบทสวดเหล่านั้น ก็จัดเป็นกุศล

ถ้าอุทิศผลบุญผลกุศลนี้ไปให้ผู้อื่น ก็จัดเป็นบุญอีกแผนกหนึ่ง

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท