อึ้ง! "แซลมอน" เก๊–ปักเป้าย้อมสี คร่าชีวิตนักเปิบ 15 ราย ภายใน 3 ปี


แซลมอนเก๊
เผยมีขายเกลื่อนเมืองตั้งแต่ร้านหมูกระทะ ยันห้างสรรพสินค้าระดับบิ๊ก           

            การแสวงหาผลกำไรที่มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยต่อชีวิตของผู้บริโภคยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าบางรายที่นำปลาปักเป้ามีพิษออกมาแล่ขาย โดยหลอกลวงประชาชนให้เข้าใจผิดว่าเป็นเนื้อปลาชนิดอื่น ทั้งนี้ จากการกระทำที่ขาดความยั้งคิดในเรื่องดังกล่าว ล่าสุดมีผลวิจัยออกมาระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547-2550 มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการบริโภคปลาปักเป้าที่มีพิษแล้วถึง 15 ราย

ปลาปักเป้า,หมูกะทะ,อาหาร,พิษ,สุขภาพ,วิจัย,ปลอดภัย,เสียชีวิต,จุฬาฯ

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เปิดเผยถึงพิษภัยของปลาปักเป้า ในการจัดอภิปรายพิเศษ ฉลอง 60 ปีแพทย์จุฬาฯ เรื่อง พิษจากปลาปักเป้า : มหันตภัยใกล้ตัวในอาหาร  โดยระบุว่า ขณะนี้มีพ่อค้าหัวใสนำปลาปักเป้ามาแล่ขายโดยหลอกลวงเป็นปลาชนิดอื่น แถมบางร้านย้อมสีจนคล้ายปลาแซลมอน และพบมากตามร้านหมูกระทะทั่วไป ซึ่งปัจจุบันเนื้อปลาปักเป้าได้กลายเป็นส่วนผสมของอาหารหลายชนิด แม้กระทั่งเนื้อปลาในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ อาจมีปักเป้ารวมอยู่ด้วย ผู้บริโภคจึงควรใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ

 

            รศ.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2547-2550 มีผู้ป่วยโรคพิษปลาปักเป้าทะเล 95 ราย ปลาปักเป้าน้ำจืด 13 ราย ไม่ทราบอีก 7 ราย รวมทั้งสิ้น 115 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 15 คน จังหวัดที่มีผู้ได้รับโรคพิษจากปลาปักเป้ามากที่สุด คือ ชลบุรี 46 ราย เสียชีวิต 4 คน รองลงมาได้แก่ กรุงเทพมหานคร 35 ราย สตูล 10 ราย ขอนแก่น 9 ราย สมุทรปราการ 7 ราย สมุทรสงคราม 4 ราย ชัยภูมิ 2 ราย เชียงใหม่ 2 ราย และไม่ทราบจังหวัดอีก 7 ราย

 

            ส่วนอาหารที่นิยมนำปลาปักเป้ามาประกอบ ได้แก่ ไข่ปลาทอด/ต้ม ปลาทอด/ปิ้ง/ย่าง ต้มยำปลา ก๋วยเตี๋ยวปลา ต้มยำไข่ปลา ปลาผัดขึ้นฉ่าย เป็นต้น นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบว่า มีร้านค้าบางแห่งนำเนื้อปักเป้าไปย้อมให้มีลักษณะคล้ายปลาแซลมอน โดยจะใช้สีผสมอาหาร ทำให้สีของเนื้อปลาเป็นสีทองคล้ายเนื้อปลาแซลมอน ซึ่งจะพบมากในร้านอาหารหมูกระทะและจิ้มจุ่ม ดังนั้น จึงฝากเตือนประชาชนทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ชอบกินอาหารตามร้านหมูกระทะ ต้องดูให้แน่ชัดว่าเป็นปลาชนิดใดก่อนบริโภค

ปลาปักเป้า,หมูกะทะ,อาหาร,พิษ,สุขภาพ,วิจัย,ปลอดภัย,เสียชีวิต,จุฬาฯ            ผู้ที่รับพิษปลาปักเป้า จะเกิดอาการขึ้นหลังจากรับประทานไปแล้ว 10-45 นาที แต่บางรายอาจนานถึง 4 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1  ผู้ป่วยจะชาริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้า ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้ อาเจียน  ระยะที่ 2  จะมีอาการชามากขึ้น อ่อนเพลีย แขน-ขาไม่มีแรง เดินหรือยืนไม่ได้  ระยะที่ 3  กล้ามเนื้อผู้ป่วยจะกระตุกคล้ายชัก เดินเซ มึน พูดลำบากถึงพูดไม่ได้ เวียนศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง  

ระยะที่ 4  ม่านตาขยายไม่ตอบสนอง ความดันสูงชั่วคราว กล้ามเนื้อลูกตาอัมพาต หัวใจเต้นช้า หายใจไม่ออก หมดสติ หรือเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้จะดีขึ้นอย่างรวดเร็วหลังได้รับการดูแลรักษา

             ปัจจุบันยังไม่ปรากฏยาชนิดใดที่สามารถแก้พิษปลาปักเป้าได้ จึงต้องใช้วิธีการรักษาตามอาการของผู้ป่วย ซึ่งทางการแพทย์จะให้การดูแลรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง กระทั่งพิษถูกขับออกไปจากร่างกายทางไต ผู้ป่วยจึงมีอาการดีขึ้นเป็นปกติ ส่วนการป้องกันนั้นมี 2 วิธี คือ  1.ไม่รับประทานปลาปักเป้าทุกชนิด ทั้งนี้ ในกรณีปลาที่จะซื้อกินมีลักษณะที่น่าสงสัยว่าเป็นปลาปักเป้า คือ เนื้อขาวคล้ายเนื้อไก่ ไม่มีหนัง ราคาถูกประมาณ 30-70 บาทต่อกิโลกรัม หรือปลาที่ใช้ชื่อว่า ปลาเนื้อไก่ ปลาช่อนทะเล ก็ไม่ควรซื้อมารับประทาน เพราะพิษจากปลาปักเป้าไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน ดังนั้น แม้ผ่านการต้ม ทอด ย่างก็ไม่สามารถรับประทานได้   ปลาปักเป้า,หมูกะทะ,อาหาร,พิษ,สุขภาพ,วิจัย,ปลอดภัย,เสียชีวิต,จุฬาฯ2.ถ้ามีอาการที่สงสัยว่าได้รับพิษจากปลาปักเป้า ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อบำบัดรักษาทันที           

            สำหรับร้านค้าหรือร้านอาหารที่นำเนื้อปลาปักเป้าไปย้อมให้มีลักษณะคล้ายปลาแซลมอน จะใช้สีผสมอาหาร โดยสีของเนื้อปลาจะออกเป็นสีทองคล้ายเนื้อปลาแซลมอน ไม่มีลักษณะของสีขาวอมชมพูซึ่งเป็นลักษณะของปลาปักเป้าแท้ๆ อีกทั้งเมื่อดูผิวเผินแล้วจะเห็นได้ว่า ลักษณะไม่แตกต่างกันเลย จะพบมากในร้านอาหารหมูกระทะและจิ้มจุ่ม ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ชอบกินอาหารตามร้านหมูกระทะจึงควรดูให้แน่ชัดก่อนบริโภคว่าเป็นปลาชนิดใด

             บดินทร์ อิทธิพงษ์ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง บอกว่า ปลาปักเป้าที่นิยมนำมารับประทานนั้น ส่วนใหญ่เป็นปลาปักเป้าทะเล มีด้วยกัน 3 ชนิด คือ  1.ปลาปักเป้าที่มีลักษณะตอนหลังของปลาไม่มีตุ่มหนามเล็กๆ ผิวหนังเรียบ  2.ปลาปักเป้าที่มีตุ่มหนามเล็กบริเวณหัวไปจนถึงครึ่งตัว   3.ปลาปักเป้าที่มีแถบตุ่มตั้งแต่หัวไปจนถึงบริเวณครีบหลังของปลา  

ใน 3 ชนิดนี้มีเพียงชนิดที่ 3 เท่านั้นที่มีพิษ ทั้งนี้พิษในปลาปักเป้าจะมีมากในส่วนของไข่ ลำไส้ ผิวหนังและตับ ส่วนเนื้อปลาจะมีพิษน้อยมาก หรือไม่มีเลย และพิษจะมากในช่วงฤดูวางไข่ ซึ่งพิษปลาปักเป้าทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นเวลาไปซื้อปลาต้องสังเกตให้ดี และไม่ควรกินในปริมาณที่มากเกินไป

             รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย กล่าวว่า แนวทางป้องกันเรื่องของการนำเข้าปลาปักเป้ามาในประเทศไทยนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการปรับเปลี่ยน ดังนั้น การนำเข้าหรือจำหน่ายจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ผิด ส่วนอนาคตจะปรับเปลี่ยนหรือไม่คงต้องดูข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์ถึงการพิสูจน์ลักษณะของปลาปักเป้า อย่างไรก็ตามหากประชาชนไปซื้อปลาตามท้องตลาด หรือที่ไหนก็ตาม หากไม่เห็นลักษณะของตัวปลา หรือเป็นเนื้อปลาที่ไม่มีหนัง เพื่อความปลอดภัย ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นปลาปักเป้า  
หมายเลขบันทึก: 121636เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2007 00:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2012 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่ากลัวมากค่ะ จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเนื้อปลาปักเป้า น่าจะมีมาตรการในการตรวจสอบ จับกุมและลงโทษผู้ทำผิดกันอย่างจริงจัง และต้องหาทางให้ความรู้แก่ผู้บริโภครู้ถึงภัยและวิธีป้องกันไม่ให้ซื้อมากินด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท