ต้นอ้อ
อารีรัตน์ นิรันต์สิทธิรัชต์

ประเมินผลให้มีความสุข แค่ “คลิ๊ก” ที่คุณครู


การที่เขาตอบโจทย์ข้อสอบผิดหรือทำไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่า เขาโง่ แต่สิ่งที่ท้าทายเราในฐานะ ครู อาจารย์ คือ จะทำให้เขาเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นได้อย่างไร

ประเมินผลให้มีความสุข แค่ คลิ๊ก” ที่คุณครู        

         การสอบ หรือ การวัดประเมินผล เปรียบเสมือน ยาขม สำหรับผู้เรียนและผู้สอน ไม่ว่าจะเป็นการสอบระดับไหนๆก็ล้วนแต่สร้างความทุกข์ให้กับผู้เรียน และบุคคลแวดล้อมทั้งสิ้น โดยเฉพาะการสอบ เอนทรานซ์ ถือว่ามีกิตติศัพท์ ในการสร้างความทุกข์อันแสนสาหัสให้กับนักเรียน โดยมีหลักฐานที่เราต่างก็เห็นอยู่บ่อยครั้งว่าเด็กที่ผิดหวังจากการสอบ เปรียบเสมือนชีวิตถล่มทลาย นี่ยังไม่รวมถึง การสอบระดับอนุบาล ที่ต้องมีการติวทั้งลูก ทั้งพ่อแม่  เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการแข็งขันเข้าไปเรียนโรงเรียนที่คิดว่าดีที่สุด         

         ครั้นเมื่อผ่านสนามรบสนามสอบเข้ามาสู่รั้วโรงเรียน หรือในรั้วมหาวิทยาลัย การประเมินผลการเรียนหรือการสอบก็ไม่จบสิ้น เพราะนักเรียนต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่า ตัวเองได้ความรู้อะไรไปบ้าง และได้ไปมากกว่าหรือน้อยกว่าคนอื่นในชั้น เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการประเมินผล ถูกลดทอนให้เหลือเพียง การผ่านเลื่อนชั้น  หรือเรียนเพื่อที่จะอยู่ได้อยู่ในดับต้นๆของชั้นให้ได้  เราจึงมักได้ยินคำพูดที่ว่า "เรียนพอผ่าน"  "ต้องเรียนให้ได้เกรดดีๆ จะได้เรียนต่อ" หรือ "ฉันต้องเป็นที่หนึ่ง"            

            การสอบให้ผ่านเพื่อจะได้เลื่อนชั้น มีความหมายมากกว่า การแสวงหาคำตอบต่อคำถามที่ว่า เราได้เรียนรู้อะไรมาบ้าง  เราจะปรับปรุง แก้ไขความผิดพลาดได้อย่างไร เราจะทำความเข้าใจในสิ่งที่เราเข้าใจผิด หรือ ในสิ่งที่เราไม่รู้ได้อย่างไร  เราจะพัฒนาตัวเองต่อไปได้อย่างไร             

            คำถามสำคัญเหล่านี้ถูกละเลยไปนานแสนนาน  เพราะเราเชื่อมั่นในเครื่องมือวัดความรู้ความสามารถ (ข้อสอบ) ว่าสามารถประกันคุณภาพนักเรียน ของเราและสามารถแบ่งแยกเด็กนักเรียนของเราได้ (ว่าเก่งหรือไม่เก่ง ฉลาดหรือโง่)  แต่เราแทบจะไม่ได้นำผลของการประเมินผลที่ได้มาช่วยให้นักเรียนได้พัฒนาต่อยอดการเรียนรู้ของเขา (ย้ำว่าของเขา) ต่อไป         

          จากบทความในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค. อ.สรยุทธ รัตนพจนารถ ได้ตั้งข้อสังเกตได้อย่างน่าสนใจว่า ทำการสอบให้เป็นคำตอบของความสุข  เป็นคำถามที่ท้าทาย ครู อาจารย์อย่างยิ่งว่า เราจะลดความทุกข์ของการสอบได้อย่างไร เราจะทำให้เด็กนักเรียนของเราได้เรียนรู้ มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้นอีกได้อย่างไร ภายใต้เงื่อนไขการเรียนรู้อย่างมีความสุข        

          ง่ายนิดเดียวเองค่ะ แค่ คลิ๊ก ความคิดของเราเอง  หากเราตั้งโจทย์ในใจของเราว่า การประเมินผลของเราเป็นไปเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ไม่ใช่เพื่อการ วัด ตัดสิน แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น  วิธีการและกระบวนการประเมินผลจะเปลี่ยนไป  ยกตัวอย่างเช่น การได้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้รู้ว่า คำตอบที่เขาตอบมาในข้อสอบนั้น เขาตอบถูก มันถูกเพราะอะไร  หากเขาตอบผิด การได้รู้ว่า ทำไมเขาคิดเช่นนั้น จะนำไปสู่การพูดคุยต่อว่า  คำตอบที่ผิด ผิดเพราะอะไร เพียงง่ายๆ เท่านี้ นักเรียนก็จะได้เรียนรู้มากขึ้น   การที่เขาตอบโจทย์ข้อสอบผิดหรือทำไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่า เขาโง่ แต่สิ่งที่ท้าทายเราในฐานะ ครู อาจารย์ คือ  จะทำให้เขาเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นได้อย่างไร         

               น่าเสียดายที่หลายครั้ง นักเรียนเข้าใจว่าการตอบข้อสอบผิด การสอบตกหรือ การไม่ผ่านการฝึกปฏิบัติงานในคลินิก เป็นความล้มเหลวทางการศึกษา ครู อาจารย์ต่างหลงผิด เข้าใจไปว่า การประเมินผล คือ งานสุดท้ายของกระบวนการจัดเรียนการสอนในวิชาหรือเทอมนั้นๆ เราต่างรู้สึกโล่งใจว่า เมื่อฤดูการสอบมาถึง นั่นหมายความว่า เราจะได้สรุปจบงานเราในเทอมนี้เสียที  แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นจุดเริ่มต้นของก้าวต่อไปที่ท้าทาย ว่าเราจะทำหน้าที่ในการเอื้ออำนวยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร        

         จริงอยู่ที่การสอบเป็นการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนว่าสามารถเรียนรู้ไปได้มากหรือน้อย   แต่ไม่ใช่เอาไว้ตัดสินนักเรียนว่าผ่านหรือตก  เก่งหรือไม่เก่ง ฉลาดหรือโง่ การประเมินผลน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่า นักเรียนแต่ละคนมีความต่างกันอย่างไร และเราจะช่วยให้เขาได้เรียนรู้ได้มากขึ้นอย่างไร         

            หาก คลิ๊กความคิด ได้อย่างนี้แล้ว เราอาจจะไม่ต้องเจอกับปัญหา อาจารย์กดคะแนน หรือ เกรดเฟ้อ  เพราะเป้าหมายการเรียนได้เปลี่ยนจาก การสอบให้ได้ การสอบให้ผ่าน เป็นการเรียนรู้ให้ได้ และจะเรียนรู้ต่อไปอย่างไร  

 

หมายเลขบันทึก: 121511เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2007 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมว่ามันเป็นงานที่ท้าทายมากครับที่จะทำให้นักเรียนหรือผู้เรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราต้องการถ่ายทอดให้เขา  

เห็นด้วยว่าการสอบไม่ได้ตัดสินว่าใครเก่งหรือไม่เก่งอย่างแท้จริง เพราะคนเราไม่ได้เก่งเหมือนกันทุกด้าน  บางทีเขาเก่งด้านหนึ่งแต่เราไปวัดเขาอีกด้านหนึ่ง พอเขาทำไม่ได้ก็ว่าเขาโง่ ไม่เก่ง ซะงั้น เพราะงั้นผมถึงว่ามันเป็นการท้าทายของผู้ที่เป็นครูที่จะสอนให้เขาพัฒนาและเรียนรู้ให้มากขึ้นในด้านที่เขาไม่รู้ ไม่เก่งให้มีความรู้ ความสามารถ เป็นคนดีออกสู่สังคมของเราครับ

ผมก็เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์คนหนึ่งครับ

คิดถึงอาจารย์พี่อ้อครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท