มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

สังคมออนไลน์ ภายใต้พ.ร.บ.คอมพ์


"…อดีตนายกรัฐมนตรีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำลังยิ้มหวานโบกมือทักทาย…" อยู่บนหน้าจอเครื่องคอมพิวเตอร์ ขณะประชาชนทั่วไปกำลังใช้บริการเวบไซต์กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)

 เมื่อเวลาใกล้เที่ยงวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สร้างความตระหนกตกใจให้แก่ข้าราชการและประชาชนที่เข้ามาใช้บริการอย่างมาก

จู่ๆหน้าเวบเพจสีฟ้าอมเขียวที่คุ้นตาก็เปลี่ยนเป็นสีดำปรากฏรูปอดีตนายกรัฐมนตรีเด่นหราอยู่กลางจอ เมื่อเลื่อนเม้าท์ลงมาก็ยิ่งตะลึงงัน เพราะมีภาพ พล.อ.สนธิบุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อยู่ด้านหลังพร้อมกับข้อความที่ไม่เหมาะสมปรากฏอยู่อย่างท้าทาย

"ไม่เผาเผด็จการ!?!"

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้…เป็นฝีมือของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในโลกออนไลน์หรือเรียกกว้างๆ ว่า "แฮ็กเกอร์" นั่นเอง ช่างเป็นการกระทำที่ท้าทายกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่เพิ่งบังคับใช้หยกๆ เมื่อวันวาน!

จากวันที่ภาพอดีตผู้นำปรากฏบนหน้าเวบไอซีทีจนถึงวันนี้เกือบครึ่งเดือนแล้ว"แฮ็กเกอร์" ขี้เล่นชอบลองของรายนี้ยังลอยนวลอำพรางตัวยากแก่การตามหาตัวว่าอยู่ในไทยหรือต่างประเทศ แต่ก็ถูกตั้งโทษทัณฑ์ตามกฎหมายฉบับนี้แล้ว มีกำหนดโทษสูงสุดจำคุก 15 ปี และปรับ 3 แสนบาท โทษฐานที่กล้ากระตุกหนวดเสือ!!

"มองขำๆ นะ เหมือนช่วยประชาสัมพันธ์ พ.ร.บ.ฉบับนี้" สันติโภไคยอุดม ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวติดตลก เมื่อถามถึงความรู้สึกที่ถูกแฮ็กเกอร์เจาะระบบคอมพิวเตอร์ของกระทรวง แต่ไม่ปฏิเสธถึงความหละหลวมในระบบป้องกันภัยของเวบไซต์ เพราะถือเป็นเวบไซต์เผยแพร่ข้อมูลสาธารณะ จึงมีระดับความปลอดภัยต่ำ เพียงแค่ติดตั้งระบบไฟร์วอลล์ไว้เท่านั้น

จะเห็นได้ว่าความเสรีของโลกออนไลน์ทุกวันนี้ทุกคนมีสิทธิถูกล่วงละเมิดจากอาชญากรไซเบอร์ได้อย่างง่ายดาย หลากหลายรูปแบบ และตลอดเวลา โดยบางครั้งไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำว่าถูกกระทำเสียแล้ว!

ท่ามกลางชุมชนคนออนไลน์ที่มีความหลากหลายมีทั้งคนดีและไม่ดีเช่นเดียวกับโลกของความเป็นจริงนั้น รัฐบาลไทยจึงเห็นควรให้มีกฎหมายคอมพิวเตอร์มาควบคุมสังคมออนไลน์ ณ วินาทีที่ "กฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550" บังคับใช้เมื่อวันที่18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมจับโจรออนไลน์หรือยัง

"ขณะนี้เรามีเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคพร้อมแล้ว และกำลังบรรจุเพิ่มอีก 30-40 อัตรา ส่วนกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็รับปากว่าพร้อมแล้วที่จะบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้" สันติ ยืนยัน

ที่ปรึกษาด้านกฎหมายรมว.ไอซีที อธิบายถึงหลักการจับโจรออนไลน์ว่า ผู้เสียหายจากโลกออนไลน์สามารถไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดได้ จากนั้นตำรวจจะขอความร่วมมือมายังไอซีที เพื่อส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมพิสูจน์ เป็นการทำงานคล้ายกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์นั่นเอง

ขณะที่"ตำรวจ" ยังมีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้และกำลังรอดูว่า กฎกระทรวงจะออกมาอย่างไร จะให้ตำรวจหรือใครเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่

"กฎหมายฉบับนี้ ไม่ให้อำนาจพนักงานสอบสวนทำการสืบสวนสอบสวน ตรงกันข้ามกลับมีบทลงโทษหากข้อมูลรั่วไหล จะมีโทษจำคุก 3 ปี ตำรวจคงไม่มีใครอยากสมัครเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่หรอก" นายตำรวจคนหนึ่งในสายงานปราบปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ให้ความเห็น

นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดห้ามมิให้แลกเปลี่ยนข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์กับทางต่างประเทศ (แลกเปลี่ยนข้อมูล) อาจจะทำให้การทำงานประสานข้อมูลในโลกออนไลน์ยากยิ่งขึ้น เพราะถ้ามีคนไม่หวังดีใช้อินเทอร์เน็ตจากต่างประเทศสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนหรือประเทศไทยการประสานขอข้อมูลจากต่างประเทศก็จะได้มาด้วยความยากลำบาก

ขณะเดียวกันยังมีบทบังคับให้ผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ต้องเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ด้วยการเก็บไอพีแอดเดส หรือ "ล็อกไฟล์" ไว้90 วัน ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ส่วนผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตต้องบันทึกประวัติลูกค้าที่มาใช้บริการทุกรายด้วย

บัณฑิต ว่องวัฒนะสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์เนต โซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิส โพรวายเดอร์ จำกัด (ไอเอสเอสพี) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับบุคคลโดยตรงและองค์กรต่างๆมองว่า การจัดเก็บข้อมูลมหาศาลขนาดนี้ ต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ไอเอสพีรายย่อยไม่มีทุนพอจะดำเนินการตามกฎหมายได้ เข้าตำราปลาใหญ่กินปลาเล็กในแวดวงผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

"การจะจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ อาจจะทำได้แค่ระบุต้นทางถึงปลายทาง แต่ไม่สามารถระบุว่าเป็นใคร มีชื่อ-นามสกุลถูกต้องหรือไม่" บัณฑิต ระบุ

เช่นเดียวกับ ภูมิจิตศีระวงศ์ประเสริฐ อุปนายกสมาคมผู้ดูแลเวบไทย บอกว่า การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลไม่ใช่ทำกันได้ง่ายๆ เพราะผู้ใช้บริการอาจให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงทำให้ตรวจสอบไม่ได้ แต่ก็ต้องทำตามกฎหมาย ต้องเก็บข้อมูลไอพีแอดเดสเอาไว้ เพราะถ้าไม่ทำก็จะถูกปรับสูงถึง 5 แสนบาท

ทั้งนี้กลุ่มผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีความเห็นตรงกันว่าบางครั้งการจัดเก็บข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด อาจได้ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือมีการกลั่นแกล้งกัน และจะมีไม่กี่เวบไซต์ที่มีการเก็บบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด เช่น เวบไซด์พันทิป การจะทำอย่างพันทิปได้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเป็นเท่าตัว เพราะต้องจ้างคนมาดูแลระบบเพิ่ม

"กลุ่มผู้ให้บริการรายย่อยๆ จะลำบาก อย่างกรณีผู้เช่าเชิร์ฟเวอร์และจ้างคนมาทำโปรแกรมให้ โดยเจ้าของบริหารจัดการเพียงข้อมูลเอง การเก็บข้อมูลย้อนหลังไว้อีก 90 วัน ต้องจ้างคนมาดูแลระบบเพิ่มที่ผ่านมามีไอเอสพีรายใหญ่แห่งหนึ่งปิดร้านไปแล้ว เพราะไม่อยากรับภาระหรือผลักภาระให้ผู้บริโภค ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือเรื่องล็อกไฟล์ หรือการลดหย่อนภาษี ท้ายที่สุดภาระก็ตกมาอยู่ที่ผู้บริโภคนั่นเอง" ภูมิจิต แสดงความคิดเห็น

ด้านผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ก็เช่นกันต้องเก็บบันทึกข้อมูลการใช้บริการของลูกค้าทุกคน ซึ่งผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตกว่า 1.5 หมื่นแห่ง ต้องเตรียมปรับตัวกันยกใหญ่ เฉลิมศักดิ์เลิศลบธาตรี ประธานสมาคมผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ บอกว่า ถ้าต้องขอบัตรประชาชนลูกค้าเพื่อบันทึกประวัติก่อนใช้บริการคงเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควร เพราะธรรมชาติของผู้ใช้บริการมักจะเน้นความสะดวกสบาย ก็อาจจะเปลี่ยนไปใช้บริการร้านอื่นๆ ที่ไม่เคร่งครัดมากนักก็ได้

มาตรการต่างๆที่ถูกกำหนดออกมาควบคุมอาชญกรคอมพิวเตอร์ครั้งนี้ กลุ่มผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมองว่า ต้องใช้การลงทุนสูงเพื่อจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ เปรียบเหมือนการ "ขี่ช้างจับตั๊กแตน" และคงเป็น"ตักแตนผี" เสียมากกว่า เพราะนอกจากจะลงทุนเยอะแล้วอาจจะไม่ได้ผล เพราะโจรไซเบอร์มืออาชีพคงไม่หลงมาติดกับง่ายๆ จะจับได้ก็เพียงแค่ "โจรไซเบอร์กระจอกๆ" ซึ่งเป็นนักเรียน-นักศึกษาที่ริเป็นโจรออนไลน์ด้วยวิธี"แฮ็ก" หรือ "ปล่อยไวรัส" ลองวิชาเสียเป็นส่วนใหญ่!?!

ขณะที่กลุ่มผู้ใช้บริการทางเวบไซต์ ด้วยการโพสต์ข้อความ แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ได้ตั้งข้อสงสัยและหวั่นวิตกว่า จะมีการกลั่นแกล้งทางการเมืองเกิดขึ้นได้หรือไม่ ผู้บังคับใช้กฎหมายเป็นใคร มีคุณธรรม และจริยธรรมแค่ไหน

"หากการใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อป้องกันปราบปรามกลุ่มแฮ็กเกอร์ คนปล่อยไวรัส ที่สร้างความเสียหายแก่สาธารณะล่ะก็เห็นด้วย แต่กฎหมายฉบับนี้ยังครอบคลุมถึงเนื้อหาการใช้อินเทอร์เน็ต การส่งไฟล์ข้อมูล ถ้าตกเป็นผู้ต้องสงสัยเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ เจ้าหน้าที่สามารถขอข้อมูลจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) เพื่อตรวจค้นข้อมูลโดยไม่ต้องขออนุญาตเราก่อน ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล" สุภิญญากลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ตั้งข้อสังเกต

"กฎหมายฉบับนี้ ไม่มีการลิดรอนสิทธิของใคร การเข้าตรวจค้นจะขออำนาจศาลก่อนทุกครั้ง" ศ.ดร.สิทธิชัยรมว.ไอซีทีกล่าวยืนยัน

ในขณะที่รัฐพยายามกำหนดกรอบให้สุจริตชนดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมออนไลน์อย่างมีกฎเกณฑ์แต่ก็ดูเหมือนว่าทั้งตัวบทกฎหมายและกำลังพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ จะไม่อาจเข้าถึงตัวแฮ็กเกอร์มืออาชีพได้เลย ยกเว้นก็แต่เพียงปลาซิวปลาสร้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและทำไปด้วยความคึกคะนองเพียงเท่านั้น

เรื่อง: ทีมข่าวรายงานพิเศษ

—————–

Sidebar 1

คุณทำแบบนี้…ถูกจับแน่!

- เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ

- ล่วงรู้วิธีการเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นแล้วนำไปเผยแพร่ต่อ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ

- เข้าไปดูข้อมูลคอมพิวเตอร์ของคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ

- ดักรับข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ

- ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม หรือการแฮ็กข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น และทำให้ระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์ผู้อื่น ถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง รบกวน หรือส่งไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ สู่ระบคอมพิวเตอร์คนอื่นจนไม่สามารถทำงานได้ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ

หากเกิดความเสียหายแก่ประชาชนทันทีหรือภายหลังกระทำจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ถ้าเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐและเศรษฐกิจ ข้อมูลและระบบคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์สาธารณะ จำคุก 3-15 ปี ปรับ 6 หมื่น-3 แสนบาท และถ้ามีเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจากการกระทำดังกล่าว จำคุก 20-40 ปี

- ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล) รบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ผู้อื่น ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

- เผยแพร่ชุดคำสั่งหรือโปรแกรม เพื่อใช้กระทำผิดดังดังที่กล่าวข้างต้น จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ

- นำเข้าและเผยแพร่ข้อมูลเท็จผ่านระบบคอมพิวเตอร์ จนสร้างความเสียหายแก่ประชาชน ความมั่นคงของประเทศและการนำเข้าข้อมูลลามกผ่านระบบคอมพิวเตอร์ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ และผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตสนับสนุนการกระทำดังกล่าวจะได้รับโทษเช่นเดียวกัน

- นำเข้าภาพของผู้อื่น มาตัดต่อ เติม ดัดแปลง ผ่านระบบคอมพิวเตอร์จนทำให้เสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง และอับอาย จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ ถ้านำเข้าข้อมูลดังกล่าวโดยสุจริต ไม่มีความผิด อย่างไรก็ตามถ้าผู้เสียหายเสียชีวิตก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส บุตร ร้องทุกข์แทนได้

ที่มา : เรื่องเด่นวันอาทิตย์ http://www.komchadluek.net/2007/08/20/t006_129820.php?news_id=129820<hr width="100%" size="2" />

หมายเลขบันทึก: 120746เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2007 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท