น้ำขึ้น-น้ำลงทางการเงินไทย


หลัง subprime ลูกแรกประทุขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือการไหลคืนของดอลลาร์อย่างฉับพลัน ทำให้ค่าเงินภูมิภาคอ่อนยวบลงทันตาเห็น

อ่านจากข่าวคือกองทุนที่ลงทุนทั่วโลก ถูกไถ่ถอนหน่วยลงทุนคืน เพื่อการถือเป็นเงินสด จะด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ ไม่ว่าด้วยความกลัว เพื่อรักษาสภาพคล่อง หรือเพื่อลดหนี้ เพื่อเตรียมรับแรงกระแทกจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐแตก

ตอนเกิดเรื่องใหม่ ๆ คำฮิตของทุกฝ่ายคือ เรียกหา liquidity เพราะเกรงว่าหากทุกคนเก็บเงินสดไว้กับตัว ระบบเศรษฐกิจ คงล้มครืน

ธนาคารกลางชาติมหาอำนาจเองปฎิบัติการฉับไว อัดฉีด liquidity มหาศาลเข้าระบบ ทำให้คลื่นลมสงบได้ในที่สุด

แต่นี่คงเป็นเพียงสัญญาณนกหวีดว่า ฟองสบู่สหรัฐ ประกาศตัวอย่างเป็นทางการแล้ว ว่าจะเริ่มแตก แต่เมื่อไหร่ลูกใหญ่สุดแตก ยังไม่รู้

กองทุนข้ามชาติ ก็กริ่งเกรงข้อนี้ ที่ผ่านมา หนีไปไกล ๆ แต่ก็หนีไม่พ้น ไม่ว่าลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ทอง น้ำมัน โลหะ ยางพารา ฯลฯ จนราคาพุ่งทะยานกันหลายปีติดกัน 2-3 เท่า เป็นเรื่องธรรมดาไปเลย

หากทุกฝ่ายมองตรงกันว่า ฟองสบู่สหรัฐจะแตก จริง ๆ แล้ว น่าจะกลายเป็นการออกไปข้างนอกให้มากที่สุด ไม่ใช่กลับเข้าข้างในอย่างนี้

จนใจที่สหรัฐใหญ่เกินไป ต้องใช้คำว่า ยักษ์

กองทุนข้ามชาติเหล่านี้ ต่อให้อยากหนีไปอยู่ที่อื่นใจจะขาด แต่ถึงอย่างไร ก็ยังไม่สามารถหนีไปไกลถึงนอกโลก เหนือเฮ็ดจ์ฟันด์ ยังมีผู้ถือหน่วยลงทุนของเฮ็ดจ์ฟันด์ ต่อให้ผู้บริหารเฮ็ดจ์ฟันด์ประสาทแข็งเป็นเหล็กกล้า แต่ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ใช่ ยังเป็นเพียงกระต่ายขวัญอ่อนธรรมดา ดังนั้น เมื่อถูกไถ่ถอนหน่วยลงทุนคืน กองทุนเองก็จำใจขายทุกอย่างที่ตนเองถือออกมา (ทั้งที่อาจมองว่า กำลังน่าซื้อสุด ๆ) ไม่ว่าจะเป็นหุ้นโพ้นทะเล หรือสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อแปลงกลับเป็นเงินสดในรูปดอลลาร์ให้มากที่สุด รอรับการไถ่ถอนหน่วยลงทุน ทำให้ราคาหุ้น-โภคภัณฑ์ตกกันระเนนระนาด เกิด "วันแดงเดือด" ไปทั่วโลก

มีข้อเขียนในบลูมเบิร์ก

เปรียบเทียบขนาดเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ว่า

  • สหรัฐว่าใหญ่เป็นสามเท่าของญี่ปุ่น
  • ญี่ปุ่นใหญ่เป็นสองเท่าของจีน
  • จีนใหญ่เป็นสามเท่าของเกาหลีใต้

ความที่ตัวใหญ่เกินไปนี่เอง ที่เราจะเห็นความแปลกประหลาดเกิดขึ้นจากนี้ไป

 

เมื่อใดคลื่นลมสงบ กองทุนภายในที่ฉลาดจะพยายามหนีออกมาจากสหรัฐ เพราะคาดว่าค่าเงินสหรัฐจะอ่อน สินทรัพย์มูลค่าเสื่อม ก็จะทำให้เงินร้อนบ่าออก ทำให้เงินภูมิภาคแข็งค่าปุบปับ

ดูเหมือนว่า นี่ไม่เป็นเฉพาะกองทุนฝั่งยุโรป-สหรัฐ แต่รวมถึงกองทุนฝรั่งหัวดำด้วย

บังเอิญหรือไม่ ? ที่ประธานาธิบดีสหรัฐออกปาก ปรามจีน ทำนองว่า การโจมตีค่าเงินดอลลาร์ของจีน เป็นการกระทำที่ 'สิ้นคิด'

Forbes พาดหัวข่าวว่า

"China dollar attack would be 'foolhardy' - Bush"

ในข่าว บุชแถลงว่า 'If that's the ... position of the government, it would be foolhardy for them to do this.'

ถ้อยคำอันแข็งกร้าวนี้ ใช่หมายความโดยเจาะจงถึงการที่จีีนทยอยไถ่ถอนพันธบัตร คืนออกจากสหรัฐ มาตลอดหลายเดือนนี้หรือไม่ ?

(ครั้งแรก: จีนลดพันธบัตรมะกันครั้งแรกใน18 เดือน ชี้อาจส่งผลกระเทือนราคา-อัตราดอกเบี้ย , ครั้งที่สอง:  จีนลดพันธบัตรมะกันต่อเนื่องอีก 6,600 ล.US, ครั้งที่สาม: จีนลดพันธบัตรมะกันต่อเนื่องเดือนที่ 3)

่ผลจึงอาจเป็นมุมกลับ เพราะหากไม่รู้สึกหวั่นไหว ทำไมต้องใช้ท่าทีแข็งกร้าวผิดปรกติ ? ก่อนฟัง คนยังเชื่อมั่น แต่หลังฟัง อาจ 'ขวัญฝ่อ'

 

ในทางกลับกัน เมื่อใดผู้คนตื่นตระหนกว่าฟองสบู่ลูกใหม่อื่นประทุ ก็จะเกิดการไถ่ถอนคืนหน่วยลงทุนปุบปับ ก็จะเกิดการไหลบ่าคืนถิ่นเดิม แล้วทำให้เงินภูมิภาคอ่อนตัวอย่างฉับพลัน

ความกลัว-ความโลภของคน สลับกันมาราวกับเป็นคนละคนได้ เมื่อมองต่างเวลา จากนี้ไปเราอาจเห็นปรากฎการณ์น้ำขึ้น-น้ำลงทางการเงินระดับโลก ที่ค่าเงินเดี๋ยวบัดเดี๋ยวแข็ง บัดเดี๋ยวอ่อน ให้เวียนหัวเล่น ในสเกลที่อาจจะไม่ได้เจอกันบ่อย

คนนำเข้า-ส่งออก คงได้เมาคลื่นกันเป็นแถว 

องค์กรไหนไม่แข็งจริง ไม่เก่งจริง เจอคลื่นกระแทก ซัดหน้าซัดหลังแบบนี้ อาจถูกกวาดตกทะเล

 

หมายเลขบันทึก: 120538เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2007 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

P

           

ตอนแรกมีข่าวนี้ ดิฉันก็รีบโทรไปไถ่ถามข้อมูลจากลูกเหมือนกัน เพราะเขาทำด้านนี้อยู่ ได้รับคำตอบว่า กระเทือนอยู่บ้างแต่ไม่มาก เพราะ เขาทำทางด้าน investment มากกว่า

             แต่ปรากฎการณ์น้ำขึ้น-น้ำลงทางการเงินระดับโลก ที่ค่าเงินเดี๋ยวแข็ง เดี๋ยวอ่อน แบบนี้ มีให้เห็นอยู่เป็นครั้งคราวนะคะ  

            ประเทศเรา มีนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงน่ะดีที่สุดค่ะ

สวัสดีครับพี่
P

sasinanda

  • เห็นด้วยอย่างสูงครับ เรื่องความพอเพียง
  • ผมเชื่อว่า บ้านเรา ผลเฉลี่ย คงทรง ๆ
  • แต่ผมเกรงว่า เฉลี่ยคงที่ แต่รายละเอียดจะไม่คงที่ คืออาจจะเกิดการแยกขั้ว คือ กลุ่มที่ได้ประโยชน์เพราะความผันผวน กับกลุ่มที่เสียประโยชน์จากความผันผวน
  • กลุ่มหลังนี่..อาจเจ็บตัวหนักได้ หรือถึงขั้นล้มหายตายจากได้ หากไม่เตรียมรับมือให้เข้มแข็งรัดกุม
  • ...มีตัวอย่าง ข่าวผ่านตา (แต่ผมหาไม่เจอแล้ว) ว่าผลประกอบการไตรมาสสองของตลาดไทย ทรุดตัวลงระดับหนึ่ง แต่ข้อมูลออกมาประจวบกับข่าว subprime ตลาดก็เลยถือโอกาส "รับทราบ" ไปด้วยแบบตกกระไดพลอยโจน บูรณาการ "ตกตามน้ำ" ได้เนียนมาก
  • ใครอยู่กลุ่มแรก คงไม่เป็นไรมังครับ
วราภรณ์ ธนาภิวัฒน์

ไม่เข้าใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท