ข้อคิดที่ได้จากการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กอ่นแต่งตั้งให้มีหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญ (1)


การเรียนรู้โดยการสอนบุคคลอื่นสามารถเรียนรู้ได้ประมาณ 95%

ดิฉันเป็นหนึ่งในผู้เข้ารับการพัฒนาครั้งนี้ ระยะเวลาการอบรม 5 วัน เต็ม ๆ จริง ๆ เพราะนอกจากในชั่วโมงอบรมแล้ว หากท่านเป็นผู้มีความกระตือรือร้นหน่อย ท่านต้องกลับไปคิด เตรียมในสิ่งที่เป็นตัวท่านในการทำผลงาน 

วันแรก พวกเราเรียนรู้กันในเรื่องมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ แน่นอนความรู้เหล่านี้พวกเราหาอ่านได้ตามเอกสาร หรือ ค้นจาก Internet ได้ แต่สิ่งที่ได้ คือ การคิดวิเคราะห์ ดิฉันพอใจมากที่การพัฒนาครั้งนี้ คิดวิเคราะห์เยอะมาก มีสถานการณ์ให้เราคิด คิดกันหลายตลบ ความถูกต้องอยู่ที่ใครมีเหตุผลมาหักล้างกันมากกว่าเป็นผู้ชนะ   (มันพะยะค่ะ)

วันที่สอง วิทยากรอาวุโส นายสามารถ  หมวดมณี  ให้ความรู้เรื่อง การพัฒนาด้านวินัย คุรธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ  หลายท่านอาจคิดว่า เรื่องกล้วย ๆ ไม่น่าต้องอบรมให้เสียเวลา รู้ ๆ กันอยู่  แต่ ท่านรู้ไหมสิ่งที่เรารู้แล้วนั้น มันลึกแค่ไหน การได้ฟังเรื่องนี้อีกรอบมันเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกบางอย่างที่หลับไหลอยู่นานมาแล้วในสมองหรือในจิตของดิฉัน มันสร้างภาพด้านนี้ให้ชัดขึ้น มีเกร็ดเล็ก ๆ น่ารู้และดิฉันยอมรับเลยว่ามันใช่ และอยากบอกต่อคนอื่นรู้ด้วย ลองพิจารณาดูนะค่ะ

เรื่องแรก โครงสร้างชีวิต  ในวัยต่าง ๆ ท่านกล่าวว่า ช่วงอายุ 0-15 ปี เป็นวัยพึ่งพา  ช่วงอายุ 15-25 เป็นวัยค้นหา ค้นหาตนเอง  ช่วงอายุ  25-35 ปี เป็นช่วง เพื่อตนเอง ช่วงอายุ 35-60 ปีเป็นช่วงเพื่อส่วนร่วมหรือเพื่อสังคม  ช่วงอายุ 60-65 เป็นเพื่อตนเอง  ช่างอายุ 65-70 เป็นช่วงค้นหา (ความสำเร็จในอดีต)  ช่วงอายุ 70 ปีขึ้นไป เป็นช่วงพึ่งพา  พอฟังแบบนี้แล้วก็มานั่งวิเคราะห์และคิดเล่น ๆ  ตัวเราอยู่ในช่วงไหน กำลังทำอะไรเพื่ออะไร  แล้วพวกนักการเมืองอยู่ในช่วงไหน กำลังทำอะไรเพื่ออะไร แล้วมันสอดคคล้องกับโครงสร้างชีวิตนี้หรือเปล่าหนอ (โปรดใช้วิจารณาญาณในการคิดวิเคราะห์)

เรื่องที่สอง การเรียนรู้ของคน ท่านให้ข้อคิดไว้ คนเรียนรู้ได้ดีอย่างไร ดังนี้ การอ่าน เรียนรู้ได้ประมาณ 10%  การได้ยิน เรียนรู้ได้ 20% การได้เห็น  เรียนรู้ได้ 30% การเห็นและได้ยิน เรียนรู้ได้ 50%  ถ้ามีการถกความคิดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ 70%  เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เรียนรู้ได้ 80%  และการได้สอนคนอื่นเรียนรู้ได้ 95%  พอได้รับรู้เรื่องนี้ ท่านคิดต่อสิ การจัดการเรียนรุ้ในปัจจุบัน ในระดับมหาวิทยาลัยใช้การเรียนรู้โดยทำงานกลุ่มแล้วให้อภิปรายมากที่สุด ลองหันมามองในระดับต่ำกว่านั้น เทคนิควิธีการใดสนับสนุนให้เด็กหรือผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีที่สุด โครงงาน  คิดดูกว่าจะได้โครงงานมาเรื่อง 1  ผ่านขั้นตอนการเรียนรู้มากี่แบบ แน่นอน ต้องอ่าน ต้องฟัง ต้องดู ทดลอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน จากประสบการณ์ตรง และสุดท้ายจบลงที่การเผยแพร่ให้คนอื่นทราบ ดิฉันคิดว่า หากจะสอนให้เด็กเรียนรู้เรื่องใดได้ดี คงต้องให้ผู้เรียนทำโครงงานเรื่องนั้น ลองมาคิดอีกที่ แล้วมีไหมเรื่องที่ทำโครงงานไม่ได้  คำตอบคือ มี  ถ้าลองคิดกลับกัน ไม่ใช้โครงงานแต่เราใช้วิธีเรียนโดยสุดท้ายจบลงที่การให้ผู้เรียนได้ถ่ายทอดสิ่งที่เรียนรู้แก่บุคคลอื่น มันจะเป็นอย่างไร การเรียนที่จบลงด้วยผุ้เรียนถ่ายทอดสู่ผู้อื่นแน่นอนต้องใช้เวลามาก แล้วจะแก้ไขเรื่องเวลานี้อย่างไร เด็กหนอเด็ก ทุกอย่างต้องมีทางออก และทางออกนั้นก็คือ การบูรณาการ  คิดมาถึงตรงนี้แล้ว ถึงเวลาแล้วยังที่ครูเราต้องใช้หลักการมีส่วนร่วม ในการปรับวิธีคิดเปลี่ยนวิธีสอน เพื่อการเรียนรู้ของผู้เรียน การคิดก็ง่ายคิดได้ก็ง่าย แต่การลงมือทำมันยาก และหากใครที่คิดแผนการเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบได้ช่วยบอกที นี้แค่คิดวิธีสอน ยังไม่ได้คิดถึงตัวเด็กเลย ความแตกต่างระหว่างบุคคลอีก ผู้เรียนแตกต่างกันเรียนรู้ได้แต่ต้องใช้เวลาต่างกัน มันเป็นเรื่องน่าคิดและน่าหนักใจกับครูยุคใหม่ครูพันธ์ใหม่ คงต้องพึ่งอาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการแล้ว ช่วยคิดวิธีการพัฒนาผู้เรียนที่ไม่ใช่ทฤษฎีที่ปฏิบัติไม่ได้  แต่ต้องเป็นทฤษฎีที่ปฏิบัติได้จริงในสถานการณ์บ้านเราต่างหาก

สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก วิทยากรอาวุโส นายสามารถ  หมวดมณี  ยังมีอีกมาก คงต้องเจอกันในบทความต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 119863เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2007 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 01:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท