วิจัยท้องถิ่นกับจัดการความรู้ท้องถิ่น


วิจัยท้องถิ่นกับจัดการความรู้ท้องถิ่น


          สกว. สำนักงานภาค   ส่งหนังสือ “วิจัยท้องถิ่น...เฮ็ดจั๋งซี้”   เขียนโดย  ดร. พัฒนา  กิติอาษา  มาให้     เป็นหนังสือใหม่เอี่ยมตีพิมพ์เดือน มิ.ย.48 นี่เอง   แต่สาระในเชิงข้อมูลเก็บในช่วงปลายปี 46

                                                         


          อ่านแล้วเกิดภาพความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรม 4 ด้าน

                                           


          เป้าหมายที่สำคัญคือ    การเรียนรู้ของคนในท้องถิ่น/ชุมชน   และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของท้องถิ่น/ชุมชน


            ผมจะไม่สรุปหนังสือเล่มนี้เอามาเล่า   เพราะ ดร. พัฒนาเขียนในเชิงสรุปและอ่านง่ายมากอยู่แล้ว   ใครสนใจหาซื้อได้จากศูนย์หนังสือจุฬาฯ   ราคาเพียง 90 บาท   ผมจะตีความจากหนังสือเล่มนี้เปรียบเทียบระหว่างการวิจัยท้องถิ่นกับการจัดการความรู้ท้องถิ่น   ซึ่งมีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกันมากกว่าความต่าง


ส่วนที่เหมือน
1.      เริ่มจากประเด็นชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเหมือนกัน
2.      มีชาวบ้านหรือคนในชุมชน/ท้องถิ่นเป็น “นางเอก” หรือ “พระเอก” ในกิจกรรมเหมือนกัน
3.      ไม่เริ่มจากศูนย์/ไม่นับหนึ่งใหม่เหมือนกัน   คือใช้สมมติฐานว่าความรู้เพื่อการแก้ปัญหาในประเด็นวิจัยหรือจัดการความรู้ส่วนหนึ่งมีอยู่แล้วในชุมชน   โครงการวิจัยท้องถิ่นใช้วิธีค้นหา “ผู้รู้" ในชุมชน   ส่วน KM ใช้วิธีหา “ผลสำเร็จ” และกลุ่มคนที่ร่วมกันสร้างผลสำเร็จขึ้น
4.      เน้นการเล่าเรื่อง   เพื่อค้นหาความรู้จากเรื่องเล่านั้น
5.      มีการชวนกันไปดูงานภายนอก    เพื่อเก็บเอาความรู้ภายนอกมาปรับใช้   ในภาษา KM เรียกว่าไปดูดซับ (capture) ความรู้ภายนอกมาใช้
การค้นหาความรู้จากภายในชุมชนตามข้อ 3 ในภาษา KM เรียกว่าเป็นการค้นหา
(capture) ความรู้จากภายในชุมชนเอง
6.      มีผู้ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมของชาวบ้านหรือคนในท้องถิ่น   ในภาษาของการวิจัยท้องถิ่นเรียกว่า “พี่เลี้ยง”    ในภาษา KM เรียกว่า “คุณอำนวย” (Knowledge Facilitator)
7.      ผลลัพธ์ที่สำคัญคือ  “ความมั่นใจในศักยภาพของตนเอง” (self – confidence) ของชาวบ้านหรือคนในท้องถิ่น


ส่วนที่ต่าง
1.      การวิจัยท้องถิ่นรวบรวมความรู้จาก “ผู้รู้” โดยการสัมภาษณ์และ/หรือการจัดเวทีเสวนา
KM เน้นสกัดความรู้จากกลุ่มผู้สร้างความสำเร็จโดยใช้เทคนิค storytelling (เรื่องเล่าเร้า
พลัง) และสกัดความรู้โดย “คุณลิขิต” ร่วมกับสมาชิกกลุ่ม   แล้วสังเคราะห์เป็น “แก่นความรู้”
2.      การวิจัยท้องถิ่นเน้นการรวบรวมความรู้จาก “ผู้รู้” เป็นคน ๆ    แต่ KM เน้นสกัดความรู้จากกลุ่มผู้ร่วมกันสร้างความสำเร็จ   เน้นการมองความรู้เพื่อความสำเร็จจากหลากหลายมุมมอง
3.      “พี่เลี้ยง” ในงานวิจัยท้องถิ่นดูจะมีบทบาทมากกว่า “คุณอำนวย” ที่เน้นการจุดประกายและคอยช่วยอำนวยความสะดวกอยู่ห่างกว่า
4.      KM เน้นการจดบันทึกมากกว่า   และเน้นให้ชาวบ้านคือ “คุณกิจ” (Knowledge Practitioner) เป็นจดบันทึกกิจกรรมของตนเอง  
5.      การ “ถอดความรู้” ของงานวิจัยท้องถิ่นค่อนไปทาง “ถอด” ออกมาเป็นความรู้เชิงทฤษฎี (Explicit Knowledge) สำหรับสื่อสารกับคนภายนอก   แต่ใน KM เน้นการ “สกัด” ออกมาเป็นเกร็ดความรู้เล็ก ๆ จำนวนมากมายที่ยังเป็น “ความรู้ฝังลึก” หรือ “ความรู้ปฏิบัติ” (Tacit Knowledge) สำหรับให้ชาวบ้านเอาไปใช้งานแล้วร่วมกันตีความ “สกัด” ความรู้ร่วมกันอีก   หมุนเวียนเรื่อยไปไม่รู้จบ
6.      หากเป็นไปตามข้อ 5   ดูเสมือนว่า KM จะส่งผลต่อ “ความยั่งยืน” ของการพัฒนาท้องถิ่นมากกว่า
การตีความของผมอาจมีความลำเอียงอยู่ด้วย   และจริง ๆ แล้วการวิจัยท้องถิ่นที่ดีอาจก่อผลต่อ
ความยั่งยืนของการพัฒนาท้องถิ่นดีกว่า KM ที่ไม่ค่อยแข็งแรงก็ได้   เราไม่ได้เน้นที่การเปรียบเทียบว่าวิธีการไหนดีกว่ากัน   แต่เราเน้นทำความเข้าใจพลังของเครื่องมือทั้งสองนี้


          ผมมองว่าเครื่องมือทั้งสองนี้จะช่วยเสริมพลังซึ่งกันและกัน   และหากมองด้วยใจกว้าง   อาจเห็นว่าเป็น 2 ด้านของเหรียญเดียวกันก็ได้   และไม่ว่าจะเริ่มจากฐานวิจัยหรือฐาน KM ก็น่าจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน   และดูดซับวิธีการที่เป็นจุดแข็งของอีกฝ่ายหนึ่งไปใช้


          เพราะต่างก็มีเป้าหมายที่การทำให้สังคมท้องถิ่นเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ด้วยกัน


          
                                                                                                วิจารณ์  พานิช

          
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1198เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2005 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท