การปลูกป่าดอยวาวี


 

       เมื่อวันที่  26  กรกฎาคม  พ.ศ. 2550  ได้มีพิธีเปิดโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษามหาราชาภายใต้โครงการขยายผลโครงการหลวงวาวี   ที่บ้านดอยช้างอำเภอแม่สรวย  จังหวัดเชียงราย

    หม่อมเจ้าภีศเดช  รัชนี  ประธานมูลนิธิโครงการหลวง  เสด็จเป็นองค์ประธาน  พิธีเปิด   โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา มหาราชา  ภายใต้โครงการขยายผลโครงการหลวงวาวี  ณ บริเวณบ้านดอยช้าง  ตำบลวาวี  อำเภอแม่สรวย  จังหวัดเชียงราย เมื่อ วันที่ 26 กรกฎาคม 2550 เวลา 11.00 น.  โดยมีนายอมรพันธุ์  นิมานันท์  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย  ประธานคณะกรรมการโครงการขยายผลโครงการหลวงวาวี  เป็นผู้ถวาบการต้อนรับและกล่าวถวาย รายงาน

ความเป็นมาของโครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา โปรดเกล้าตั้งโครงการหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2512  เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา ลดการปลูกพืชเสพติด และฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำลำธาร จนปัจจุบันสถานการปลูกฝิ่นหมดไปจากพื้นที่โครงการ และเกษตรกรหันมาปลูกพืชเมืองหนาวมากกว่า 118 ชนิด พืชผัก 70 ชนิด ทำให้เกษตรกรมีรายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นถึงเฉลี่ยปีละ 68,596 บาท อัตราเกิดของประชากรชาวเขาในพื้นที่โครงการหลวงลดลงจาก  ร้อยละ 3.10 ในปี 2539 เป็นร้อยละ 0.55 ในปี 2548 นอกจากนั้นในพื้นที่โครงการหลวงยังมีระบบ การอนุรักษ์ดินและน้ำและการปลูกหญ้าแฝก รวมทั้งชุมชนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร  อย่างสม่ำเสมอ และร่วมมือในการปลูกป่าชาวบ้านมากว่า23,000 ไร่

 อย่างไรก็ตามจากสภาพของพื้นที่สูงทั่วประเทศที่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 65.22 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 53ของพื้นที่ 20 จังหวัด คือ  เชียงใหม่  เชียงราย  แม่ฮ่องสอน  พะเยา  ลำพูน  แพร่  น่าน  ลำปาง  ตาก  เพชรบูรณ์  พิษณุโลก  เลย  สุโขทัย  กำแพงเพชร  กาญจนบุรี  อุทัยธานี  สุพรรณบุรี  ราชบุรี  ประจวบคีรีขันธ์  และเพชรบุรี  ซึ่งที่ตั้งชุมชนบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารมีการคมนาคมยากลำบาก  ทำให้หน่วยงานของรัฐเข้าไปดำเนินงานบนพื้นที่สูงได้ไม่ทั่วถึง ประกอบกับประชากรบนพื้นที่สูงเป็นชาวเขาเผ่าต่างๆ มากกว่า 10 เผ่า มีหมู่บ้านทั้งหมด 4,192 หมู่บ้าน กระจัดกระจายอยู่บนพื้นที่สูง 20 จังหวัดดังกล่าวจึงทำให้มีสภาพยากจน มีรายได้เฉลี่ยปีละ 31,126 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยของรายได้ของเกษตรกรในภาคเหนือกว่าเท่าตัว (69,373บาทต่อครัวเรือน) นอกจากนั้นพื้นที่สูงเกือบทุกแห่งยังมีพื้นที่ดินทำกินเสื่อมโทรมเกิดการชะล้างพังทลายสูง ผลผลิตการเกษตรมีการปนเปื้อนจากการใช้สารเคมีการเกษตรที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ทั้งดินและน้ำ สาเหตุ  ส่วนใหญ่เกษตรกรไม่มีความรู้ และทักษะในการเพาะปลูกที่เหมาะสม มีการบุกรุกป่าเพื่อหาพื้นที่ทำกินใหม่เพิ่มมากขึ้น และมีความขัดแย้งของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น                 

จากความสำเร็จของโครงการหลวงดังกล่าว  จึงทำให้หน่วยงานต่างๆ และองค์กรชุมชนหลายแห่งได้ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือไปยังมูลนิธิโครงการหลวงให้เข้าไปช่วยพัฒนาพื้นที่ของตน  ซึ่งมูลนิธิโครงการหลวงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)  ดำเนินงานโดยมุ่งขยายผลจากความสำเร็จของโครงการหลวง ไปสู่ชุมชนบนพื้นที่สูง เพื่อแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ ตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดและของประเทศ โดยนำต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนจากโครงการหลวงไปปรับใช้อย่างเหมาะสม สร้างเศรษฐกิจของชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีความเหมาะสมกับศักยภาพของสังคม ท้องถิ่น และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการฟื้นฟูและป้องกันการชะล้างพังทลายของดินบนพื้นที่สง โดยปรับเปลี่ยนแนวคิดความเชื่อ และค่านิยมของชุมชนบนพื้นที่สูง ที่มุ่งการสร้างรายได้ของแต่ละบุคคลและเพาะปลูกตามกระแสของตลาดโดยขาดความรู้ความเข้าใจที่ดี มาเป็นการเพาะปลูกและประกอบอาชีพบนฐานของการเรียนรู้ และคำนึงถึงความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น กระตุ้นให้กิดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อเป็นกระบวนการหลัก ในการดำเนินงาน เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ทางด้านวิทยาการ กับหน่วยงาน องค์กรต่างๆ  เพื่อเป็นการเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อเข้าถึงองค์ความรู้ที่จะพัฒนาพื้นที่สูง ต่อไปสำหรับโครงการขยายผลโครงการหลวงวาวี  เริ่มดำเนินการจากการที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 5 (ปปส.ภาค 5) ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 19  กันยายน  2549  ขอให้มูลนิธิโครงการหลวงเข้ามาพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนในหมู่บ้านที่ในอดีตสำนักงานปปส.เคยดำเนินการพัฒนาส่งเสริมอาชีพทดแทนการปลูกพืชที่มีปัญหายาเสพติด โดยมีเป้าหมายในพื้นที่บ้านดอยช้าง  หมู่ที่ 3 บ้านดอยล้าน หมู่ที่ 4 และบ้านใหม่พัฒนา หมู่ที่ 25 ในตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย  จังหวัดเชียงราย  และมูลนิธิโครงการหลวงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง  เป็นผู้แทนของมูลนิธิโครงการหลวงเข้ามาประสานการทำงานในเชิงบูรณาการร่วมกับทางจังหวัดเชียงราย และหน่วยงานต่าง  โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นประธานคณะกรรมการโครงการขยายผลโครงการหลวงวาวี 

 สำหรับโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา มหาราชา ครั้งนี้  เกิดขึ้นเนื่องจากการที่คณะทำงานโครงการขยายผลโครงการหลวงวาวีได้เข้าศึกษาในพื้นที่แห่งนี้พบว่า มีปัญหาการบุกรุกป่า และตัดไม้ทำลายป่าเป็นบริเวณกว้าง เพื่อทำไร่กาแฟ ปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด และพืชหมุนเวียน โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านดอยช้าง หมู่ที่ 3 ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย  ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินงานของโครงการขยายผลโครงการหลวงวาวี  พบว่าสภาพของทรัพยากรป่าไม้ได้ถูกทำลายลงไปเป็นอย่างมาก โดยสังเกตได้จากภูเขาและป่าไม้              ในพื้นที่ร้อยละ 80  ถูกเข้าบุกรุกทำลาย กลายเป็นปัญหาวิกฤตของบ้านดอยช้าง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ต้นน้ำแห้งแล้ง และอาจทำให้เกิดภาวะน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มในช่วงฤดูฝนได้                  

คณะทำงานโครงการขยายผลโครงการหลวงวาวี อำเภอแม่สรวย โดยมีนายอำเภอแม่สรวย เป็นประธาน  จึงได้ดำเนินการตรวจสอบสภาพปัญหาในเบื้องต้นและเห็นว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะต้องเริ่มจากการปลูกป่าทดแทน โดยให้ราษฎรในพื้นที่มีส่วนร่วมในการปลูกป่าและเป็นกำลังหลักในการดูแลรักษาเพื่อสร้างจิตสำนึกในการหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ และป่าไม้  พันธุ์ไม้ในท้องถิ่นของตน  และเพื่อเป็นการริเริ่มหรือนำร่องให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป คณะทำงานฯ จึงได้พิจารณาเลือกพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในพื้นที่บ้านดอยช้าง ตำบลวาวี บริเวณพิกัด NB 6091 ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ในความดูแลของศูนย์บริการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงราย (วาวี)  กรมวิชาการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และเป็นพื้นที่ดำเนินงานของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ด้วย               

วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ คือ  เพื่อถวายเป็นราชสักการะเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  มีพระชนม์มายุครบ 80 พรรษา และเพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในพื้นที่   ดอยช้าง  มีความรักและหวงแหน พร้อมทั้งช่วยกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อย่างมีส่วนร่วม  รวมทั้งเพื่อส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในท้องถิ่น  ทั้งนี้โดยได้มีการฝึกอบรมชาวบ้านเรื่องการปลูกป่า และร่วมกันวางแผนการดูแลบำรุงรักษาป่า โดยชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง  การปลูกป่าครั้งนี้จะปลูกต้นไม้จำนวน 58,000 ต้น  ประกอบด้วยต้นไม้ 6 ชนิด คือ เสี้ยวป่า  มะเกี๋ยง  พญาสัตบรรณ  ประคำดีควาย  แคแสด  และแอปเปิ้ลป่า  สำหรับการจัดงาน ในวันนี้ได้มีพิธีกรรมบวชป่าของชนเผ่าอาข่า  และลีซู ด้วย

เมื่อหม่อมเจ้าภีศเดช   รัชนี  องค์ประธานของงานเสด็จมาถึงบริเวณพิธี  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้ทูลเชิญให้เสด็จขึ้นบนเวทีเพื่อเปิดกรวยถวายราชสักการะ  และรับฟังการกล่าวถวายรายงานจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย  หลังจากนั้นจึงมีพระดำรัสเปิดงาน ท่านกล่าวว่าดีใจที่เห็นคนบนดอยช้างเข้าใจปัญหาและมาช่วยกันปลูกป่าอย่างมากมายหลังจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทูลเชิญปลูกต้นเสี้ยวป่าไว้เพื่อเป็นศิริมงคลด้วย

ผู้เข้าร่วมในพิธีครั้งนี้ประกอบด้วย  ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงาน ปปส.  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง  ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย  ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย เชียงราย  ปลัดจังหวัด ผบ.ฉก.ม. 3  นายอำเภอและข้าราชการอำเภอแม่สรวยพร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งประชาชนชาวตำบลวาวี  และอำเภอแม่สรวย  จำนวนประมาณ 1,000  คนโดยเฉพาะประชาชนชาวลีซอและอาข่า มาในชุดชนเผ่าที่สวยงามน่าตื่นตาตื่นใจมาก

หมายเลขบันทึก: 118781เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2007 23:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ยินดีเป็นเครือข่ายร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ขอบคุณค่ะ มีข้อแนะนำหรือ แลกเปลี่ยนเชิญได้เลยค่ะ

ทัศนีย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท