Walailak KM model


การจัดการความรู้สึก ควรเป็นส่วนที่ต้องทำก่อนจึงจะทำให้การจัดการความรู้เป็นผลสำเร็จ

จากบันทึกก่อนหน้านี้ที่ผมได้ทิ้งท้ายไว้ว่าจะเล่าเกี่ยวกับ model ในการจัดการความรู้ของวลัยลักษณ์ เพื่อพวกเราชาววลัยลักษณ์ จะได้เข้าใจทิศทางหรือแนวทางในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ KM ในวลัยลักษณ์ และก้าวเดินไปสู่ความสำเร็จในการเป็นองค์กรคุณภาพ จากการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน นะครับ

รูปแบบ KM โดยทั่วไป

จากประสบการณ์ในการศึกษาวิธีการใช้ KM ในหน่วยงานต่าง ๆ ก่อนทีผมจะได้เริ่มนำ KM มาดำเนินการในวลัยลักษณ์ ผมพบว่ารูปแบบการทำ KM ส่วนใหญ่จะเริ่มจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อที่จะสกัดขุมความรู้ และสร้างคลังความรู้ ขึ้น ซึ่งการกำหนดรูปแบบในลักษณะนี้ผมคิดว่า อาจจะทำได้ผลดีสำหรับการค้นหาองค์ความรู้เฉพาะส่วน แต่ก็อาจจะไม่สามารถนำ KM ไปใช้ในเป็นเนื้อเดียวกับการปฏิบัติงาน ดังนั้นผมจงคิดว่าการที่จะทำให้ KM เป็นเนื้อเดียวกับการทำงานตามปกติ ผู้ปฏิบัติจะต้องมีค่านิยมในเรื่อง KM เสียก่อน จึงทำให้เป็นที่มาในการสร้าง model ในการจัดการความรู้ที่วลัยลักษณ์ขึ้น

รูปแบบ KM ที่ วลัยลักษณ์

อย่างที่ผมเคยเล่าไว้ในบันทึกที่ผ่านมาแล้วว่า การนำ KM มาใช้ในวลัยลักษณ์ จุดเริ่มต้นของเราไม่ได้มุ่งหวังหรือคาดหวังว่า เราจะทำ KM เพื่อให้ได้องค์ความรู้หรือสกัดขุมความรู้ แต่เป็นการใช้ เครื่องมือของ KM ในการสร้างความศรัทธาหรือความนับถือของผู้ปฏิบัตงานที่มีต่อตัวเอง ต่อเพื่อนร่วมงาน และต่อองค์กรในที่สุด ซึ่งจุดนี้จะช่วยสร้างค่านิยมหรือความเชื่อ(value) ทีมีต่อ KM ว่าจะสามารถหรือเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการทำงาน และตนเองได้ และเมื่อผู้ปฏิบัติมีค่านิยมใน KM แล้ว ในขั้นต่อไปจึงจะดำเนินการในเรื่อง  การกระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในกลุ่มผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้เกิดการสกัดขุมความรู้ เก็บสะสมองค์ความรู้ และเกิดการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในกระบวนการทั้งหมดนี้ก็จะต้องดำเนินการให้เนียนกับเนื้องานนั่นเอง และถ้าเป็นไปตามกระบวนการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องจริงจัง ก็จะทำให้เกิดการยกระดับความสามารถ(Competency) ของพนักงานในองค์กรใช่ใหมครับ

ดังนั้นผมจึงคิดว่า การจัดการความรู้สึก ควรเป็นส่วนที่ต้องทำก่อนจึงจะให้การจัดการความรู้ เป็นผลสำเร็จและสามารถที่จะเนียนเข้ากับเนื้องานได้ครับ

หมายเลขบันทึก: 11767เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2006 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ผมเป็นรองคณบดี ฝายการจัดการความรู้และสารสนเทศของคณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้รับคำแนะนำจากท่านอาจารย์ วิจารณ์ พานิช ให้ขอความรู้จากอาจารย์ จึงขอแนะนำตัว และขอแสดงความคิดเห็นเรื่อง KM ในมหาวิทยาลัยตามประสามือใหม่หัดขับนะครับ เพราะผมก็เพิ่งเริ่มทำ KM ในคณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์เมื่อเดือน ธ.ค. นี้เอง(เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรองคณบดี  15 ธ.ค. 2549)

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์เรื่องการเริ่มต้น KM ในมหาวิทยาลัย ไม่น่าจะเริ่มจากกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ จากองค์กรของผม เห็นได้ชัดว่าถ้าเริ่มจับบุคลากรของคณะฝ่ายต่างๆ เช่น การเงิน พัสดุ สารบรรณ การเจ้าหน้าที่ ฯลฯ มานั่งประชุม เพื่อให้เล่า Best practice แลกเปลี่ยนกัน สร้างธารปัญหา หรือขุมความรู้ อาจจะไม่มีคนพูดได้ หรือคนฟังก็ไม่รู้ว่าฟังไปทำไม ควรมีส่วนร่วมอย่างไร อาจจะไม่สนใจเพราะไม่เกี่ยวกับงานของตัวเอง

ดังนั้น กิจกรรม KM ที่จะเริ่มในคณะของผม จึงจะเป็นกิจกรรมเติมเต็มความรู้ เพื่อสร้าง core competency และวัฒนธรรมองค์กรแห่งการเรียนรู้เสียก่อน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 6 เดือน กว่าจะมาทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้

 

ลองทำกิจกรรมการจัดการความรักก่อนสิครับ ทำยังไงให้คนในหน่วยงานรักกันคุ้นเคยกัน เป็นกลุ่มเป็นก้อน อาจใช้กิจกรรมโอดีหรือกิจกรรมwalk rallyก็ได้ เป็นการสร้างทีม ได้ใจ แล้วจะนำไปสู่การจัดการความรู้ที่ง่ายขึ้น ความรักความคุ้นเคยของพนักงาน จะนำไปสู่วคามไว้วางใจ เห็นอกเห็นใจ อยากบอกเล่าพูดคุยกัน จัดเวทีแบบไม่เป็นทางการให้ กินข้าวกลางวันด้วยกัน การแลกเปลี่ยนความรู้ฝังลึกจะเกิดขึ้นได้เองแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ในกลุ่มทำงานเล็กๆ อาจไม่จำเป็นต้องสร้างธารปัญญาเพราะดูเป็นทางการไป สร้างธารน้ำใจก่อนครับ พอได้ธารน้ำใจ ธารน้ำคำ(พูด)ก็จะตามมา และที่สุดก็ไปสู่ธารปัญญาได้
สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์

ท่านอาจารย์วรรษาครับ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับท่านอาจารย์หมอพิเชฐนะครับ อย่างที่ผมได้เคยเขียนไว้ในบันทึกหลาย ๆ เรื่อง ว่า สำหรับแนวคิดของผมแล้ว การจัดการความรู้ จะสำเร็จได้เราต้องการจัดการความรู้สึก ของคนในองค์กรของเราก่อน และการจัดการความรู้ที่ว่านั้น จะต้องก่อให้เกิดความรักในตัวเอง ในเพื่อนร่วมงาน และในองค์กร ผมเองก็ยังเดินไม่เก่งเท่าไหร่หรอกในเรื่องของ KM แต่ก็พยายามที่จะหัดเดินไปเรื่อย  ๆ หากท่านอาจารย์มีอะไรให้ผมรับใช้ได้ก็ขอให้บอกมาได้เลยนะครับ ผมยินดีครับ โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท