เรียนรู้สู่การปรับปรุงตนเอง


แล้วทรงดลบันดาลแก่มัน (ให้มี) ทั้งความดื้อรั้นและความยำเกรงของมัน (ระคนกันไป) แน่แท้ผู้ใดขัดเกลาเขาย่อมประสบความสำเร็จและผู้ใดทำความหมักหมมแก่มัน เขาย่อมขาดทุน
การเปลี่ยนแปลงตนเองมีความสำคัญ ดังนี้ อัลกุรอานได้กล่าวถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงว่า “อัลลอฮ์จะไม่เปลี่ยนแปลงประชาชาติหนึ่งประชาชาติใด จนกว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงตัวของเขาเอง”  “ สูเจ้าทั้งหลายเป็นประชาชาติที่ดีเลิศกว่าประชาชาติอื่นๆ สูเจ้าทั้งหลายเชิญชวนสู่การกระทำความดี และ ยับยั้งการกระทำชั่ว และสูเจ้าทั้งหลายคือผู้ศรัทธา” “ และให้มีจากพวกเจ้าซึ่งประชาชาติกลุ่มหนึ่งที่ทำหน้าที่เชิญชวนสู่การกระทำความดีและยับยั้งความชั่ว พวกเขาเหล่านั้น คือผู้ที่ประสบชัยชนะ ”


ท่านรอซูลได้กล่าวว่า
“ ผู้ใดเห็นความชั่วดังนั้นจงรีบเร่งทำการเปลี่ยนแปลงมัน ด้วยมือ (อำนาจ) ของเขา หากเขาไม่มีความสามารถที่จะทำการเปลี่ยนแปลงได้ จงใช้ลิ้น (วาจา) ในการเปลี่ยนแปลงมัน หากเขาไม่มีความสามารถจงใช้จิตใจ (ให้รังเกียจการกระทำความชั่วนั้น) ดังกล่าวนั้นคือระดับอีหม่านที่อ่อนที่สุด”

เราขอเชิญชวนท่านสู่การเปลี่ยนแปลง...สู่ความโปรดปรานของอัลลอฮ์ ดังนี้

การพัฒนาตนเอง
อัลลอฮ์ทรงตรัสว่า“ แล้วทรงดลบันดาลแก่มัน (ให้มี) ทั้งความดื้อรั้นและความยำเกรงของมัน (ระคนกันไป) แน่แท้ผู้ใดขัดเกลาเขาย่อมประสบความสำเร็จและผู้ใดทำความหมักหมมแก่มัน เขาย่อมขาดทุน” (อัชชัมซิ : 8-10)“ แน่แท้ผู้ชำระมลทินตนเอง ย่อมประสบความสมหวัง” ( อัลอะลา : 14 )จากโองการข้างต้นอัลลอฮ์จะประทานความสำเร็จแก่บ่าวของพระองค์นั้นต้องมีเงื่อนไขประการหนึ่ง คือ การขัดเกลา / พัฒนาตนเอง กล่าวคือ- พัฒนาจิตวิญญาณ- ต้องพัฒนาสติปัญญา- ต้องพัฒนาร่างกาย- ต้องพัฒนาจริยธรรม ( อัคลาก )

การพัฒนาจิตวิญญาณ
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าศัตรูตัวสำคัญที่สุดสำหรับเรา คือ จิตใจ ของเรานั่นเอง เพราะโดยธรรมชาติของจิตใจของมนุษย์นั้นจะโน้นเอียงทางความชั่วร้าย เช่น อยากมีหน้ามีตา อยากได้รับการสรรเสริญเยินยอ โอ้อวด หยิ่งยะโสโอหัง รักดุนยา กลัวความตาย ละโมบ ตระหนี่ถี่เหนียว จมปลักอยู่ในห้วงกิเลสและตัณหา อิจฉาริษยา ฯลฯ ลักษณะดังกล่าวนี้เรียกว่า นัฟซุล
อัมมาเราะฮฺ เป็นสภาพจิตใจที่สกปรกโสมม สภาพจิตใจที่ยังไม่ได้รับการขัดเกลา ดังนั้นเราจำเป็นต้องต่อสู้กับจิตใจอย่างมากเพื่อยกระดับจิตใจของเราไปสู่สภาพที่เรียกว่า นัฟซุลเลาวามะฮฺ (นัฟซูที่ต่อสู้กับอารมณ์ไฝ่ต่ำ)ซึ่งเป็นสภาพจิตใจที่อัลลอฮฺให้การรับรอง แต่เราต้องหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้ร่วมกันยกระดับจิตใจของเราให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นคือ ระดับ นัฟซุลมุตมะอินนะฮฺ ซึ่งเป็นสภาพจิตใจที่สามารถปลดปล่อยจากความชั่วได้ทุกอย่าง เป็นสภาพจิตใจที่สงบนิ่ง ทั้งหมดนี้เรียกว่าการ ญิฮาดนัฟซู ซึ่งอัลกุรอ่านได้พูดถึงเรื่องนี้ดังนี้"และส่วนผู้ที่หวาดหวั่นต่อการยืนเบื้องหน้าพระเจ้าของเขา และได้หน่วงเหนี่ยวจิตใจจากกิเลสต่ำ"ดังนั้นสวนสวรรค์ก็จะเป็นที่พำนักของเขา (อัลนาซิอาต : 40 –41 )การพัฒนาจิตใจของเหล่าซอฮาบะฮฺและสลัฟุซซอและห์ชายหนุ่มคนหนึ่งถามท่านอุมัร อิบนุ อะซีซ ว่า ฉันควรพูดเมื่อใด ท่านอุมัร ตอบว่า เมื่อท่านต้องการสงบนิ่ง ชายคนนั้นถามต่อว่า ฉันควรสงบนิ่งเมื่อใด ท่านอุมัร ตอบว่า เมื่อท่านต้องการพูด มีคนกล่าวแก่ตนเองว่า “นัฟซูเปรียบเสมือนราชา เมื่อเราคล้อยตามมัน และนัฟซูเปรียบเสมือนทาส เมื่อเราสกัดกั้นหรือยับยั้งความต้องการของมัน”

วิธีพัฒนาจิตวิญญาน
1. อ่านอัลกุรอ่านพร้อมกับไคร่ครวญความหมาย
2. ทำให้ท้องว่างด้วยการถือศีลอด
3. ละหมาดกียามุลลัยล์
4. ดุอาอฺต่ออัลลอฮฺในเวลาก่อนตะวันขึ้น (ฟะญัร)
5. วิริดเช้า – เย็น
6. ซิกรุลลอฮฺ
7. คบค้าสมาคมกับคนดี
8. ทำซอดาเกาะฮฺ / เสียสละในหนทางของอัลลอฮฺด้วยวิธีที่หลากหลาย
9. จัดให้มีกลุ่มศึกษาอาทิตย์ละครั้ง
10. เยี่ยมกุบูร (สุสาน) เพื่อระลึกถึงความตาย

พัฒนาสติปัญญา
กระบวนการพัฒนาสติปัญญาคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า การศึกษา คือกระบวนการที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในการพัฒนาสติปัญญา เพราะว่าการศึกษาสามารถที่จะทำให้มนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ การศึกษาที่วางอยู่บนพื้นฐานแห่งปรัชญาวัตถุนิยม ย่อมนำพามนุษย์สู่หายนะได้  เพราะว่าต่างก็พากันแข่งขันเพื่อพัฒนาความสามารถทางสมองเพียงเพื่อแย่งชิงทรัพยากรในโลกนี้ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดอยู่แล้ว ใครเก่งกว่า ฉลาดกว่า เข้มแข็งกว่า ก็ชนะ จนทำให้โลกในทุกวันนี้อยู่ในสภาพที่โกลาหล เพราะมนุษย์ไม่มีคำว่า พอ การศึกษาที่วางอยู่บนพื้นฐานวัตถุนิยมดังกล่าว เป็นการศึกษาที่สร้างสรรค์เพื่อทำลายล้าง ซึ่งเป็นการศึกษาที่ครอบงำโดยชาติตะวันตกผู้ปฏิเสธพระเจ้า ผู้สร้างสรรค์วิทยาการและเทคโนโลยีเพื่อทำลายล้าง ตรงกันข้ามกับการศึกษาที่วางอยู่บนความพอพระทัยของอัลลอฮฺ (มัรฎอติลลาฮฺ) เขาจะศึกษา แสวงหาความรู้ในสิ่งที่อัลลอฮฺพอพระทัยเท่านั้น เขาจะไม่ศึกษาและไม่สร้างสรรค์ในสิ่งที่อัลลอฮฺไม่พอพระทัย ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า

"และจงแสวงหาสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ประทานแก่เจ้าเพื่อปรโลกและอย่าลืมส่วนของเจ้าแห่งโลกนี้และจงทำความดีเสมือนกับที่อัลลอฮ์ได้ทรงทำความดีแก่เจ้า และอย่าแสวงหาความเสียหายในแผ่นดินแท้จริง อัลลอฮ์ไม่ทรงโปรดบรรดาผู้บ่อนทำลาย" (อัลกอซอซ : 77)

ประวัติศาสตร์อิสลามและอารยธรรมอิสลามเป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดที่แสดงว่า มุสลิมคือผู้สร้างสรรค์อารยธรรมให้รุ่งโรจน์ อารยธรรมสมัยใหม่ที่ปรากฏในโลกทุกวันนี้ส่วนใหญ่เติบโตมาจากอารยธรรมที่มุสลิมเป็นผู้สร้างสรรค์ ในขณะที่ยุโรปอยู่ในยุคมืด เมืองบัศเราะฮฺ เมืองกูฟะฮฺในอิรัค และเมืองต่าง ๆ ในตะวันออกกลางล้วนแล้วแต่เป็นอู่แห่งอารยธรรม จึงกล่าวได้ว่าอารยธรรมยุคใหม่มาพร้อมกับแสงทองแห่งอิสลามอันเจิดจรัส เพราะอิสลามให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก ดังที่หะดิษ ซึ่งรายงานจากท่าน อบีอมามะฮฺ อัลบาฮิลีย์ (รฎ.) ว่า 
  ท่านรอซูลกล่าวว่า “ความประเสริฐของผู้รู้นั้นเหนือกว่าผู้อาบิด (ผู้ที่ทำอิบาดะฮฺโดยไม่มีความรู้) เปรียบเสมือนฉันเหนื่อกว่าผู้ที่ต่ำต้อยกว่าพวกท่าน หลังจากนั้นท่านกล่าวว่า แท้จริงแล้ว อัลลอฮฺ , บรรดามาลาอีกะฮฺ ,สิ่งที่อยู่ในฟากฟ้าและแผ่นดิน แม้กระทั่งมดที่อยู่ในรู และปลาทั้งหมดที่อยู่ในท้องทะเล ต่างสรรเสริญ (ศอลาวัติ) แก่ผู้ที่สอนให้ผู้อื่นทำความดี” (รายงานโดย : ติรมีซีย์ – หะดิษหะซัน)ท่านมูอาซ บิน ญะบัล กล่าวว่า“จงแสวงหาความรู้ เพราะว่าแท้จริงแล้วการแสวงหาความรู้เพื่ออัลลอฮฺนั้นทำให้เรารู้สึกเกรงกลัวพระองค์ , การแสวงหาความรู้เป็นอิบาดะฮฺ , การปรึกษาหารือ คือ ตัสบีห์ , ความพยามในการแสวงหาความรู้ คือ การต่อสู้ , การสอนให้ผู้ไม่รู้ คือ ซอดาเกาะฮฺ , และการให้ความรู้แก่ครอบครัว คือ การเสียสละอย่างหนึ่ง” มีคนกล่าวว่า “ความรู้ปกป้องรักษาท่าน แต่ท่านต้องปกป้องรักษาทรัพย์สิน”   
  ในสงครามบะดัรชาวกุเรชคนหนึ่งมีความสามารถในการเขียนถูกจับเป็นเชลย ท่านรอซูลได้ให้โอกาสแก่เชลยได้ไถ่ตัวให้ได้รับความเป็นไท โดยการให้เขาสอนหนังสือแก่บุตรหลานมุสลิม และท่านรอซูลได้สั่งเสียให้เหล่าบรรดาซอฮาบะฮฺศึกษาภาษาต่าง ๆ ให้หลากหลายเพื่อที่จะทำการนำสาน์สแห่งอิสลามไปเผยแพร่แก่ชนชาติเจ้าของภาษานั้น ๆ จึงมีซอฮาบะฮฺส่วนหนึ่งศึกษาภาษาเปอร์เซีย , โรมัน , หะบะชีย์ แต่ไม่มีใครศึกษาภาษาอิบรอนีย์ (ซึ่งเป็นภาษาของชนชาติยิว) ท่านรอซูลจึงส่งอาลักษ์ของท่าน คือ ซัยด์ บิบ ซาบิต ไปศึกษาภาษาอิบรอนีย์ จะเห็นว่าท่านรอซูลได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาจนท่านได้กำชับว่า

 “การแสวงหาความรู้เป็นฟัรดูสำหรับทุกคน” (รายงานโดยอิบนิมายะฮฺ , บัยฮากีย์และฏ็อบรอนีย์)

ความรู้ที่มุสลิมต้องศึกษา
เราต้องปลดตัวเองออกจากความคิดเซคคิวลาร์ลิซซึม / อิลมานียะฮฺ (ความคิดที่แยกศาสนาออกจากโลก) ฉนั้นความรู้ทุกสาขาจึงเป็นสิ่งที่อิสลามต้องศึกษา ซึ่งสามารถแยกได้ ดังนี้
1. ความรู้เกี่ยวกับอะกีดะฮฺที่นำเราไปสู่การรู้จักอัลลอฮ์ , มาลาอีกะฮฺ , คัมภีร์ , รอซูล , วันกียามะฮฺ และเป็นความรู้ที่นำพาเราไปสู่การตักวาต่ออัลลอฮฺ (เตาฮีด)
2. ความรู้ที่ทำให้เราสามารถประกอบอิบาดะฮฺได้ถูกต้อง (ฟิกฮฺ)
3. ความรู้ที่ชำระล้างจิตใจของเรา (ตะเซาวุฟ)
4. ความรู้ที่ช่วยให้เราดำรงชีวิตในโลกนี้ได้อย่างผาสุข

แนวทางในการพัฒนาสติปัญญา
1. อ่านตำราที่หลากหลาย โดยเฉพาะตำราที่ถ่ายทอดความคิดอิสลาม
2. ฟังบรรยาย
3. จัดให้มีมัจลิสอิลมีย์เดือนละครั้ง / สัปดาห์ละครั้ง
4. จัดให้มีกลุ่มศึกษา
5. ปรึกษาหารือจัดโครงการต่าง ๆ ที่ประเทืองปัญยา เช่น สถานการณืโลกมุสลิม
6. จัดค่ายอบรม

พัฒนาร่างกาย
สำหรับการพัฒนาด้านร่างกายนั้น มีสิ่งที่เราควรคำนึงถึง 3 ประการ คือ
1. การบริโภคอาหาร
2. การออกกำลังกาย
3. การรักษาความสะอาด

1. การบริโภคอาหาร อัลกุรอ่านกล่าวว่า“สูเจ้าจงกินและจงดื่มจากสิ่งที่เราประทานมาให้แก่พวกเจ้าในสิ่งที่หะลาลและมีประโยชน์ต่อร่างกาย”สรุป เงื่อไขในการบริโภคอาหารมี 2 ประการ- บริโภคสิ่งที่หะลาล- บริโภคในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
2. การออกกำลังกาย ท่านรอซูลกล่าว่า“สติปัญญาที่แหลมคมนั้นมาจากร่างกายที่เข้มแข็ง”ท่านรอซูลเคยวิ่งแข่งกับท่านหญิงอาอีฉ๊ะ และท่านแข่ขันงัดข้อกับชายผิวดำที่เข้มแข็งแล้วท่านก็ได้รับชัยชนะ
3. การรักษาความสะอาด ท่านรอซูลกล่าวว่า “ความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา”

แนวทางในการพัฒนาร่างกาย
1. ดูแลเรื่องอาหารที่รับประทานต้องหะลาล และมีประโยชน์ต่อร่างกาย มีคุณค่าทางโภชนาการ ควรบริโภคอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ สะอาดถูกหลักอนามัย
2. ดูแลความสะอาดร่างกาย , ที่อยู่อาศัย , เครื่องแต่งกาย , อาหาร ฯลฯ
3. ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 15 นาที
4. ควรตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง ตรวจระบบการทำงานของร่างการทุกระบบ โดยแพทย์ผู้ชำนาญงาน (โดยเฉพาะผู้หญิง)
5. เที่ยวชมธรรมชาติเพื่อความรื่นเริงของจิตใจ

พัฒนาจริยธรรม ( อัคลาก )
จริยธรรมที่เข้าใจกันโดยทั่วไป คือ คุณค่าเกี่ยวกับความประพฤติทางสังคม ว่า อะไรควรปฏิบัติและอะไรไม่ควรปฏิบัติ จริยธรรมตามความเข้าใจของอิสลาม คือ เอี๊ยะซาน : การอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺเสมือนกับว่าเราได้เห็นพระองค์ ถึงแม้ว่าเราจะไม่เห็นพระองค์ แต่พระองค์ทรงเห็นเรา

บ่อเกิด / ที่มาของจริยธรรมอิสลาม
ดังที่ท่านรอซูลกล่าวว่า“อีหม่าน (ความศรัทธา)ไม่ใช่ความหวังแบบลม ๆ แล้ง ๆ แต่มันต้องปลูกฝังในส่วนลึกของจิตใจ และปรากฏออกมาด้วยการกระทำ”(รายงานโดยดัยลามีย์) “แท้จริงแล้วฉันถูกแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อสถาปนาจริยธรรม (อัคลาค) ให้สมบูรณ์” (รายงานโดยอะหมัด)มีซอฮาบะฮฺคนหนึ่งถามท่านรอซูลว่า ศาสนาคืออะไร ? ท่านตอบว่า คือ การมีจริยธรรมที่ดีงาม และซอฮาบะฮฺท่านนั้นถามต่อว่า ความชั่วร้าย คืออะไร? ท่านตอบว่า คือการไม่มีจริยธรรมคำว่าความดีหรือจริยธรรมในภาษาอาหรับใช้คำว่า “มะอฺรูฟาต” : เป็นที่รู้จัก / เลื่องลือ ส่วนคำว่าความชั่วในภาษาอาหรับนั้นใช้คำว่า มุงกะรอต : สิ่งที่ถูกปฏิเสธ ดังนั้นจริยธรรมในมุมมองของศาสนาอิสลาม คือ ความดีทุกอย่างที่เป็นสากลที่มนุษย์สามารถยอมรับได้ในทุกยุคทุกสมัย และความชั่วในมุมมองของอิสลาม คือ ความชั่วทุกอย่างที่เป็นสากลที่มนุษย์ปฏิเสธในทุกยุคทุกสมัย

ผลของการไม่มีจริยธรรม
- ในโลกดุนยา จะทำให้โลกต้องประสบกับความหายนะ อัลลอฮฺทรงตรัสว่า "และจงแสวงหาสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ประทานแก่เจ้าเพื่อปรโลกและอย่าลืมส่วนของเจ้าแห่งโลกนี้และจงทำความดีเสมือนกับที่อัลลอฮ์ได้ทรงทำความดีแก่เจ้า และอย่าแสวงหาความเสียหายในแผ่นดินแท้จริง อัลลอฮ์ไม่ทรงโปรดบรรดาผู้บ่อนทำลาย" (อัลกอซอซ : 77)
การละเลยจริยธรรมจะทำให้โลกต้องประสบความหายนะ เช่น
- เกิดการส่ำส่อนทางเพศ ทำให้เกิดโรคร้ายที่ไม่มียารักษา- การเสพยาเสพติดแพร่ระบาดอย่างรุนแรง
- การทำลายสิ่งแวดล้อม
- การไม่มีจริยธรรมทางการเมือง ทำให้เกิดการฉ้อราษฎรบังหลวง ประเทศชาติต้องระส่ำระสาย
- การไม่มีจริยธรรมทางเศรษฐกิจ ต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ

ท่านอะบู หะสัน อัลนัดวี ได้สรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า .“วิกฤติที่น่าสยดสยองที่สุด คือ วิกฤติการทางจริยธรรม เพราะมันนำมาซึ่งวิกฤติในทุก ๆ ด้าน วิกฤติจริยธรรมเกิดจาก การไม่มีอะกีดะฮฺ ลืมอัลลอฮฺ ไม่รู้จัก รอซูล ละทิ้งกุรอ่าน จงหวนกลับมาสู่สิ่งเหล่านี้เถิด”
- ในโลกอาคีเราะฮฺ ท่านรอซูลกล่าวว่า“ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้ตาชั่งของบ่าวคนหนึ่งในวันกียามะฮฺ นอกจากการมีมารยาทที่ดี”

ปัจจัยที่ทำลายจริยธรรมมุสลิม มี 2 ปัจจัย
1. ปัจจัยภายใน- ตนเอง : การตกเป็นทาสของอารมณ์ไฝ่ต่ำ- ครอบครัว : ครอบครัวที่ไม่ได้รับการขัดเกลาด้วยอิสลาม และครอบครัวขาดความอบอุ่น
2. ปัจจัยภายนอก หมายถึง สังคมมุสลิมถูกกระทำ / ถูกครอบงำจากสังคมภายนอก โดยเฉพาะการครอบงำจากวัฒนธรรมตะวันตก เช่น 5 S ประกอบด้วย SONG , SPORT , SMOKE , STYLE , SEX

จริยธรรมที่มุสลิมควรยึดมั่น
1. เคร่งครัดในศาสนา : กระทำในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงใช้และหลีกห่างจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม
2. รักษาสายตาจากสิ่งต้องห้าม ดังที่ท่านรอซูลกล่าวว่า“การมองคือลูกศรดอกหนึ่งจากลูกศรหลาย ๆ ดอกของอิบลิศ”
3. รักษาลิ้น ท่านอิหม่ามนาวาวีย์ กล่าวว่า“ผู้ที่บรรลุนิติภาวะทุกคนจะต้องรักษาลิ้นของเขาจากการพูด ยกเว้น การพูดเพื่อนำไปสู่ความดีงาม หากว่าการพูดกับการนิ่งมีค่าเท่ากัน การทำตามซุนนะฮฺ คือ นิ่งจะดีกว่า เพราะการพูดในสิ่งที่ฮารุส (ศาสนายินยอม) บางทีอาจจะนำไปสู่สิ่งที่หะรอมหรือมักรูฮ์ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำและยากที่จะนำพาไปสู่ความปลอดภัย” ซึ่งสอดคล้องกับสุภาษิตไทยที่กล่าวว่า “พูดไปสองไผ่เบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง”
4. ละอาย ละอายที่จะทำบาป แต่ต้องกล้าหาญที่จจะทำในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงใช้ และกล้าเผชิญหน้ากับความชั่วร้ายทุกรูปแบบ ดังที่ท่านรอซูล ได้กล่าวว่า“อีหม่านมีมากกว่า 70 สาขา หรือ 60 สาขากว่า ๆ และดีที่สุดคือ การกล่าว ลาอีลาฮาอิลลัลเลาะฮฺ และสาขาที่ต่ำที่สุด คือ การนำสิ่งกีดขวางออกจากทางเดิน และการละอาย คือ สาขาหนึ่งของอีหม่าน”(รายงานโดย : มุตตะฟะกุลอะลัยฮฺ)
5. มีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ - การให้อภัยซึ่งกันและกัน- การยิ้มให้กัน- การพูดด้วยคำพูดที่อ่อนโยน- สุภาพเรียบร้อย การแต่งกาย วาจาการประพฤติ
6. มีความซอบัร (อดทน) มี 2 ลักษณะ ดังนี้- อดทนต่อการกระทำบาป / กระทำความผิด- อดทนต่อบททดสอบต่าง ๆ
7. พูดจริง การโกหก คือความชัวช้าที่สุดและเลวทราม และการโกหกเป็นการทำลายจิตวิญญานและบุคลิกภาพ
8. ถ่อมตน ท่านรอซูลกล่าวว่า “จะไม่ได้เข้าสวรรค์สำหรับผู้ที่ในจิตใจของเขามีการยะโสเพียงกรณีเดียว” (รายงานโดยมุสลิม)
9. ห่างไกลจากการระแวงสงสัย
10. ใจดี เอื้อเฝื่อเผื่อแผ่
11. มีจริยธรรมที่ดีต่อกลุ่มคน ดังนี้ พ่อ – แม่ , ครู-อาจารย์ , เพื่อน , ผู้อาวุโส , เด็ก
หมายเลขบันทึก: 115378เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2007 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 21:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท