วิธีสร้างความดี


ความดี
วิธีสร้างความดี
          วิธีสร้างความดีเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ในชีวิตของมนุษย์ ผู้ใดก็ตามที่รู้จักความดีความชั่วแล้วว่าคืออะไร แต่ถ้าไม่รู้จักวิธีสร้างความดี หลีกหนีความชั่วแล้วก็จะสร้างความดีไม่สำเร็จ

          เหมือนคนที่รู้ว่าตึกนั้นคืออะไร  ประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่ถ้าไม่รู้จักวิธีสร้างตึกให้สำเร็จได้ สร้างแล้วพัง ๆ ในที่สุดก็อ่อนใจเลิกสร้างไปเอง

         คนที่คิดจะสร้างความดีก็เช่นกัน ถ้าไม่รู้จักวิธีสร้าง สร้างแล้วล้ม ๆ ในที่สุดก็เลิกประกอบคุณงามความดี เห็นว่าไม่ได้ผลอะไร เมื่อเลิกสร้างคุณงามความดีเสียแล้ว ก็จะหันมาสร้างความชั่วแทน นำชีวิตไปสู่ความตกต่ำล่มจมในที่สุด

วิธีสร้างความดีนั้นมีหลักที่ควรยึดถืออยู่ ๒ ประการด้วยกันคือ

๑. ศึกษาให้รู้แจ้งว่า ความดีที่แท้จริงคืออะไร

          คนส่วนมากรู้จักความดีปลอมมากกว่าความดีแท้ ลักษณะของความดีแท้นั้นมีหลายอย่าง เช่น

          ก. ทำความดีเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น คือ เพื่อประโยชน์ของคนที่เราทำดีด้วยจริง ๆ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของเรา ถ้าเราจะได้ประโยชน์บ้างก็เป็นเพียงผลพลอยได้ หรือประโยชน์รอง ถ้ามีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ตน แม้ผู้อื่นจะพลอยได้รับด้วยก็ยังไม่เป็นความดีแท้

         ข. ทำดีด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือไม่บริสุทธิ์ใจ ถ้าบริสุทธิ์ใจก็เป็นความดีแท้ ถ้ามีเจตนาอันไม่บริสุทธิ์แฝงเร้นอยู่ด้วยก็เป็นความดีเทียม

         ค. ทำดีมีผู้รู้เห็นมากหรือมีผู้รู้เห็นน้อย คนส่วนมากชอบทำความดีให้มีผู้รู้เห็น ยิ่งรู้เห็นมากประกาศโฆษณามากยิ่งรู้สึกว่าดี แต่นักปราชญ์ที่แท้จริงกลับมองเห็นว่า การทำความดีแบบปิดทองหลังพระ เป็นความดีที่แท้จริง

          โบราณท่านว่า ความดีที่มนุษย์ไม่เห็นนั้น เทวดาท่านเห็นและฟ้าดินก็ประทานผลดีให้ ที่สำคัญก็คือตนของตนนั่นแหละรู้เห็นยิ่งกว่าผู้ใด ความเศร้าหมองและความผ่องแผ้วแห่งจิต อันเป็นบ่อเกิดอันแท้จริงแห่งทุกข์และสุขนั้น ใครเล่าจะมองเห็นได้ดียิ่งกว่าตัวเราเอง

          ง. ความดีนั้น ทำถูกหรือทำผิด คนตั้งใจจะทำความดีแต่ทำผิดก็มี ถ้าทำความดีผิด ๆ ก็ไม่เป็นผลดีแก่ตนและผู้อื่น ตัวอย่างเช่น ถ้าเศรษฐีคนหนึ่งมีเงินเป็นกระสอบ เช้าขึ้นก็ตั้งโต๊ะหน้าบ้านบริจาคเงินแก่ผู้ต้องการ เพราะเห็นว่าการบริจาคเป็นเรื่องดี

          คนทั้งหลายในเมืองนั้น ก็จะพากันเกียจคร้านไม่ทำงานและใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย สำมะเลเทเมา เมื่อหมดเงอนแล้วก็มาขอใหม่ การทำอย่างนี้ไม่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ผู้ให้และผู้รับ การทำความดีอย่างนี้เป็นการทำผิด

          อีกตัวอย่างหนึ่ง สมมติว่าผู้คุมนักโทษเกิดเมตตากรุณาในพวกนักโทษขึ้นมา เห็นว่าการติดคุกของพวกเขาลำบากนักจึงปล่อยนักโทษออกจากคุกทั้งหมด เห็นเป็นการให้อภัยเป็นคุณธรรม อันนี้ก็เป็นการทำความดีที่ผิด ฯลฯ การทำความดีที่ผิดนั้นไม่เป็นความดีแท้ แต่เป็นความดีปลอมหรือเทียม

          ส่วนการทำความดีที่ถูกนั้น จะต้องเป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งแก่ตน ผู้อื่นและสังคมเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ถ้าผู้อื่นทำอย่างนั้นบ้างก็เป็นประโยชน์แก่ผู้ทำตาม

         จ. ทำความดีอย่างยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม บางคนตั้งหน้าแต่จะทำความดี เช่นการให้อภัย เมตตา กรุณา โดยมิได้นึกถึงความยุติธรรมหรือผลเสียอันจะเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงภายหลัง แก่ผู้ได้รับอภัยและเมตตากรุณานั้น

          ตัวอย่างเช่น ข้าราชการฝ่ายปกครองไม่ลงโทษคนผิด หรือครูไม่ลงโทษนักเรียนที่ทำผิด พ่อแม่ทำตนเป็นคนใจดี ไม่หาวิธีลงโทษลูกที่เกเรกียจคร้านเสียแต่ต้น ๆ ปล่อยไว้จนผู้ทำผิดนั้นเคยชินกับความผิดพลาดบกพร่อง และทำมากขึ้นจนประสบความเสียหายใหญ่หลวง

          อย่างนี้เรียกว่าทำดีโดยไม่คำนึงถึงความยุติธรรม ลงท้ายก็เป็นโทษแก่คนที่ทำดีด้วยนั่นเอง ไม่เป็นความดีแท้ ถือเป็นความบกพร่องเสียด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นการทำความดีจะต้องประกอบด้วยความยุติธรรม ต้องลงโทษคนที่ควรได้รับโทษ ให้รางวัลคนที่ควรได้รับรางวัล

          ฉ. ความดีนั้นทำอย่างครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือทำอย่างสมบูรณ์ ข้อนี้หมายความว่า การทำความดีที่จะให้ได้ผลดีจริงเต็มเม็ดเต็มหน่วยและเป็นความดีที่แท้จริงนั้น จะต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ทำ ๆ หยุด ๆ หรือครึ่ง ๆ กลาง ๆ

          การสั่งสมความดีนั้นเหมือนหยาดน้ำหยดลงในภาชนะ ถ้าสั่งสมทุกวันก็จะเปี่ยมไปด้วยความดี ถ้าทำ ๆ หยุด ๆ บุญหรือความดีนั้นก็จะพร่องอยู่เสมอไม่เต็มบริบูรณ์

          ซ. ความดีนั้นใหญ่หรือเล็ก ข้อนี้ถือเอากุศลเจตนาและประโยชน์ที่ผู้อื่นจะพึงได้รับเป็นเกณฑ์ ถ้าจิตประกอบด้วยกุศลเจตนามาก ถือว่าเป็นความดีอันแท้จริงยิ่งใหญ่

          หรือหากว่าสิ่งที่ทำนั้นแม้เป็นเรื่องเล็กน้อย ในความรู้สึกของผู้กระทำ แต่เป็นประโยชน์แก่คนหมู่มากก็ถือว่าเป็นความดีอันแท้จริงยิ่งใหญ่เช่นกัน ตัวอย่างการช่วยเหลือราษฎรผู้ทุกข์ยากให้มีที่ทำกินหรือการลดภาษีอากรแก่ผู้มีรายได้น้อย

         การสั่งให้เอาใจใส่ทุกข์สุขของผู้เจ็บป่วย ไม่ให้ทอดทิ้งพวกเขา การสั่งสอนคนให้รู้จักความดีความชั่วให้กลับตัวจากทางชั่วมาดำเนินอยู่ในทางดีมีศีล มีธรรม มีความเข้าใจในชีวิตอย่างถูกต้อง เหล่านี้ล้วนเป็นความดีที่ยิ่งใหญ่ทั้งสิ้น

          ซ. ความดีนั้นทำยากหรือทำง่าย ความดีที่ทำยากเป็นความดีที่แท้จริง ในหนังสือโอวาทสี่ของท่านเหลี่ยวฝาน (ท่านเหลี่ยวฝานเป็นชาวจีนสมัยเมื่อ ๕๐๐ ปีเศษ มาแล้วเกิดราว พ.ศ. ๒๐๙๒ เขียนหนังสือนี้ไว้เมื่ออายุ ๘๙ ปี)  ได้กล่าวอธิบาย พร้อมทั้งยกตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องความดีที่ทำยากนี้ไว้ว่า

         "สมัยก่อน ท่านผู้คงแก่เรียนมากมักจะพูดว่า ถ้าจะเอาชนะใจตนเองให้ได้ ต้องเริ่มจากจุดที่ข่มใจได้ยากที่สุดเสียก่อน ถ้าสามารถเอาชนะได้ จุดอื่นๆก็ไม่สำคัญเสียแล้ว ย่อมจักเอาชนะได้โดยง่าย

          ลูกศิษย์ของท่านขงจื้อชื่อฝานฉือ ได้ถามท่านอาจารย์ว่า เมตตาธรรมนั้นเป็นอย่างไร ท่านขงจื้อตอบว่า การทำสิ่งที่ยากที่สุดให้ได้เสียก่อน จึงจะชนะใจตนเองได้ เมื่อเอาชนะใจตนเองได้แล้วความเห็นแก่ตัวก็หมดไป จึงบังเกิดเมตตาธรรม

          พ่อจะยกตัวอย่างให้ฟัง ลูกจะได้เข้าใจง่ายเข้า ที่มณฑลเจียงซีมีท่านผู้เฒ่าแซ่ซู ท่านยังชีพด้วยการสอนหนังสือตามบ้าน อยู่มาวันหนึ่ง มีชายคนหนึ่งเป็นหนี้ เพราะความยากจน เมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้เจ้าหนี้ก็ยึดภรรยาของชายผู้นี้ไปเป็นคนใช้

          ท่านผู้เฒ่าซูเกิดความสงสารสามีภรรยาคู่นี้ยิ่งนัก จึงยอมเสียสละเงินที่เก็บออมไว้จากการสอนหนังสือเป็นเวลาสองปี นำมาใช้หนี้แทนชายผู้นั้น ทำให้สามีภรรยาคู่นี้ไม่ต้องแยกจากกัน

          "อีกตัวอย่างหนึ่ง มีชายคนหนึ่งยากจนยิ่งนัก จึงนำบุตรชายและภรรยาไปจำนำไว้ ได้เงินมาพอประทังชีวิต เมื่อถึงกำหนดไม่มีเงินจะไปไถคืน ภรรยาเดือดร้อนคิดจะฆ่าตัวตาย บังเอิญท่านผู้เฒ่าจางรู้เรื่องเข้า ทั้งมีความสงสารยิ่งนัก จึงนำเงินที่ได้สะสมมาแล้วถึงสิบปีมาใช้หนี้แทนให้ พ่อแม่ลูกจึงมีโอกาสกลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง

           "ท่านผู้เฒ่าซู และท่านผู้เฒ่าจาง ล้วนแต่ได้ทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง เงินที่ท่านสะสมไว้คนละสองปีและสิบปีนั้น ท่านก็หวังว่าเมื่อทำมาหากินไม่ได้แล้ว ก็จะได้พึ่งเงินจำนวนนี้ประทังชีวิตต่อไป

        เป็นเงินที่ต้องใช้เวลาอันยาวนานสะสมไว้วันละเล็กละน้อย แต่ท่านทั้งสองก็สามารถตัดใจช่วยเหลือคนที่ไม่รู้จักกันเลยแม้แต่นิดเดียวได้ในพริบตาเดียว นี่คือการทำความดีที่ยากยิ่งจริง ๆ "

       หัวข้อสำคัญสำหรับพิจารณาความดีที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไรรวม ๘ ข้อ ตั้งแต่ ก.-ซ. นี้ ได้นำเฉพาะหัวข้อจากหนังสือ โอวาทสี่ของท่านเหลี่ยวฝาน ในโอวาทข้อที่ ๓ มา ส่วนคำอธิบายประกอบหัวข้อนั้นเป็นของผู้เขียนเอง ความจริงท่านเหลี่ยวฝานได้อธิบายประกอบไว้ดีมาก ขอให้ท่านผู้อ่านลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านดูจะได้ประโยชน์มิใช่น้อยทีเดียว

          ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ หน้า ๓๑ ได้กล่าวข้อความที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำความดีไว้อีกว่า

          การทำความดีต่อผู้อื่นนั้น ก็จะต้องแล้วแต่โอกาส จังหวะ เวลา ก็มีความสำคัญเช่นกัน การช่วยเหลือผู้อื่นนั้นมีวิธีการมากมายประมวลแล้ว ก็สามารถแยกออกได้ ๑๐ วิธีด้วยกัน คือ

๑. ช่วยเหลือผู้อื่นทำความดี
๒. รักและเคารพทุกคนอย่างเสมอหน้า
๓. สนับสนุนผู้อื่นให้เป็นผู้มีความดีพร้อม
๔. ชี้ทางให้ผู้อื่นทำความดี
๕. ช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในความคับขัน
๖. กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
๗. อย่าทำตนเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ต้องหมั่นบริจาค
๘. ธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม
๙. เคารพผู้อาวุโสกว่า
๑๐. รักชีวิตผู้อื่นดุจชีวิตของตน

          ทั้ง ๑๐ หัวข้อนี้ ท่านอธิบายขยายความไว้อย่างน่าสนใจมาก

         นี่คือรายละเอียดของวิธีสร้างความดีประการแรกที่ว่าต้องศึกษาให้รู้แจ้งว่าความดีที่แท้จริงคืออะไร

๒. ปูพื้นฐานแก่จิตใจของตนในการที่จะสร้างความดี คือน้อมจิตให้รักความดีอยู่เสมอ

          การสร้างความดีเป็นกิจอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ เป็นสิ่งที่จะต้องทำตลอดชีวิต หรือถ้าจะกล่าวให้หนักแน่นเข้าไปอีก ก็กล่าวได้ว่า ตลอดเวลาที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ ความดีเป็นสิ่งที่เลิกทำไม่ได้ คนเราจะทำอะไรหรือไม่ก็ตามแต่สิ่งหนึ่งซึ่งจะต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ สิ่งนั้น คือ

           "ความดี" แต่คนที่จะทำความดีได้มั่นคงยั่งยืนนั้นต้องมีพื้นฐานทางจิตใจดี มีพื้นฐานอันมั่นคงเหมือนการสร้างตึก หรืออาคารใหญ่ อาคารถาวรจะต้องลงรากตอกเข็มอย่างหนาแน่นมั่นคง

          อุปสรรคของการทำความดีนั้นมีมาก จึงทำให้คนจำนวนไม่น้อยท้อถอยในการทำความดี เห็นว่าการไม่ต้องทำอะไรแล้วอยู่ไปวันหนึ่ง ๆ สุขสบายกว่า จะทำให้เหนื่อยยากลำบากทำไมกัน

          เพราะฉะนั้น เพื่อให้มีพื้นฐานทางจิตใจที่ดี มั่นคง จึงควรน้อมจิตให้รักความดีอยู่เสมอเหมือนคนหนุ่มสาวที่รักสวยรักงาม รักความสะอาด การรักความดีก็เพื่อความดีนั่นเอง

          แม้เราจะทำความดีเพื่อความดี แต่เมื่อได้สั่งสมความดีบริบูรณ์ดีแล้ว ความดีนั่นเองจะย้อนกลับมาคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุข เหมือนคนปลูกต้นไม้ไว้ด้วยความรักต้นไม้ เมื่อมันเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ย่อมให้ร่มเงา ดอก ผล ความชุ่มเย็นเป็นสุขแก่เจ้าของผู้ปลูกนั่นเอง

          สมตามคำที่พระพุทธองค์ตรัสว่า "ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้".
หมายเลขบันทึก: 115083เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2007 15:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2015 01:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มีประโยชน์มากจริง ๆ ครับ การนำเรื่องดี ๆ มาเล่าสู่กันอ่านก็ถือได้ว่าเป็นการทำความดีอย่างหนึ่งนะครับก็ขอให้ทำต่อไปครับ

เห็น
P
หมูอ้วน
เมื่อ ศ. 27 ก.ค. 2550 @ 15:46 [ 332167 ] จาก 125.27.137.106 ลบ มีประโยชน์มากจริง ๆ ครับ การนำเรื่องดี ๆ มาเล่าสู่กันอ่านก็ถือได้ว่าเป็นการทำความดีอย่างหนึ่งนะครับก็ขอให้ทำต่อไปครับ
ขอบคุณมากครับที่เข้ามาเยี่ยมชมทให้กำลังใจ และแสดงความคิดเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท