การสัมมนาแนวทางการปฎิบัติงานส่งเสริมการเกษตรปี 2551


หัวหน้าที่ดีจะต้องไม่เอาหน้า ไม่เอาทุกอย่างเป็นผลงานของตนเอง หากทำเช่นนั้นผู้บริหารระดับสูงจะไม่ยอมรับเรา หากยกเครดิตให้ลูกน้องเพราะลูกน้องทำงานให้เรา จะได้รับการยอมรับที่ดีกว่า

     การสัมมนาแนวทางการปฎิบัติงานส่งเสริมการเกษตรปี 2551 เมื่อวันที่ 17 กรกฏาคม 2550 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ มีวัตถุประสงค์เพื่อวางแผนเตรียมการทำงานปีหน้า ผู้เข้าสัมมนาประกอบด้วยผู้อำนวยการกอง/สำนัก เกษตรจังหวัด ผู้อำนวยการศูนย์ฯต่าง ๆ รวมประมาณ 160 คน เนื้อหาการสัมมนาประกอบด้วย นโยบายกรมฯ ภาวะผู้นำของหัวหน้าหน่วยงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่มีผลต่อการเกษตรและดินเพื่อการเกษตร แนวทางการพัฒนาบุคคลากรและการปรับระบบการบริหารบุคคลของหน่วยงาน การมอบอำนาจหน้าที่เกษตรและสหกรณ์จังหวัด บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของเขต จังหวัด ศูนย์ กอง/สำนัก โครงการส่งเสริมการเกษตรปี 2551

เริ่มต้นโดยอธิบดีให้นโยบายว่า เนื่องจากกรมฯมีภารกิจหลายอย่างทำทุกเรื่อง มีงบประมาณ 10 โครงการหลัก งบได้รับประมาณ 4,300 ล้านบาทเศษ จึงต้องทำ action plan เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงาน ลดต้นทุนลง โดยท่านได้กล่าวถึงโครงการปลูกต้นไม้ใช้หนี้ เป็นวาระแห่งชาติเพื่อบรรเทาสภาวะโลกร้อนซึ่งมีผลต่อหลายสิ่งหลายอย่างเช่น เรื่องดิน ทำให้ดินแน่น น้ำท่วม  การเก็บกักน้ำและในอนาคตกรมฯต้องทำหน้าที่เป็น designer  ในการเพาะปลูกพืชแบบผสมผสาน ให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด ตัวอย่างเช่นไม้เทพทาโรปลูกแล้วขายเนื้อไม้หอม เป็นต้น ให้เราทำงานวิชาการเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น

ท่านรองอธิบดี ท่านรองไพโรจน์ ลิ้มจำรูญ บรรยายเรื่องภาวะผู้นำของหัวหน้าหน่วยงาน ท่านได้กล่าวว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก ผู้นำจำเป็นจะต้องสร้างให้ผู้คนยอมรับได้มี 4 เรื่อง

 1. คน      2. ตน     3. งาน    4. วิชาการ

1.คน  จากที่ไปสัมผัสเจ้าหน้าที่ระดับเขต/ศูนย์/จังหวัด เห็นได้ว่าคนของกรมฯมีศักยภาพสูง มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน  เราจะต้องเรียนรู้คน ใช้คนให้เป็น เอื้อประโยชน์ต่อการทำงาน จะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้นำเอง น้อยคนนักที่จะสังเกตุเพื่อนร่วมงาน ใช้คนไม่ถูก เราจะให้คนไหนทำงานประเภทใด ผู้นำต้องรู้ บางแห่งมีปัญหาความแตกแยกในหน่วยงานเพราะทำงานแล้วมีการเกี่ยงการทำงานกันด้วย เราจะเห็นได้ว่าคนมีอยู่ 4 ประเภทคือ(1)ดีกับทุกคน(2)ไม่ดีกับใคร(3)ดีกับทุกคนยกเว้นเราและ(4)ดีกับเราแต่ไม่ดีกับทุกคน เราต้องทำให้ประเภท (2)-(4)ให้เป็นประเภท (1)ให้ได้ เราเป็นหัวหน้า ถ้าแยกคำว่า "หัว" และ"หน้า" ออกจากกัน

"หัว" หมายถึงสมอง ให้คิดอย่างรอบคอบ คิดให้มาก คิดให้ไกล ตาต้องดูให้เห็น มีการคิดวิเคราะห์  ปาก พูดแต่สิ่งดี ๆ

"หน้า"หมายถึงหน้าตา รับทุกอย่างดีหรือไม่ดี หัวหน้าที่ดีจะต้องไม่เอาหน้า ไม่เอาทุกอย่างเป็นผลงานของตนเอง  หากทำเช่นนั้นผู้บริหารระดับสูงจะไม่ยอมรับเรา หากยกเครดิตให้ลูกน้องเพราะลูกน้องทำงานให้เรา จะได้รับการยอมรับที่ดีกว่า หากงานไม่ดียกความผิดให้ลูกน้อง ผู้อื่นก็จะไม่ยอมรับเรา

2.ตน เราต้องอย่าอยู่เฉยๆ เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หากเราอยู่เฉยเราจะไม่เข้าใจ เราต้องมีการพัฒนาตนเอง เราจึงจะพัฒนาต่อได้ สามารถตามโลกให้ทัน เราอย่ากลัวเพราะความอาย  เราอย่ากลัวเพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจ ลูกสอนเราเราภูมิใจ  ต้องยอมรับในสิ่งที่ไม่รู้ เราต้องใฝ่รู้และอยากที่จะรู้

3.งาน  การทำงานมีภาวะจำกัดหลายอย่างเช่นด้านงบประมาณ ด้านอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ที่มีน้อยลง งานเร่งด่วน มีเงินน้อย จึงจำเป็นต้องคิดอย่างบูรณาการ เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผู้นำต้องคิดว่าเงินไม่พอ ต้องทำงานให้สำเร็จ งานก็จะเกิดตามมามากมาย บางสิ่งบางอย่างไม่จำเป็นต้องซื้อ อาจยืมหน่วยงานอื่นภายในและภายนอกกรมฯก็ได้  หากไม่มีเครื่องมือหรือสิ่งอื่นใดมาสนับสนุน ก็อย่ามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาแล้วไม่ลงมือทำอะไร

           งานในสำนักงาน  ต้องมีความเข้าใจในระเบียบ กฎหมายที่มีอยู่ บางครั้งมีความรู้ความเข้าใจ แต่ไม่อยากทำ มีปัญหาไม่เอาใจใส่ ทำให้งานไม่เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด เจ้าหน้าที่เองก็ไม่เอาใจใส่ไม่มีการศึกษาระเบียบและไม่รู้ว่าตนเองต้องทำอะไร จำเป็นที่เราต้องสร้างกรอบการทำงานทุกเรื่อง งานจะไม่ช้า  มีแผนการทำงานที่ชัดเจนทั้งแผนประจำเดือนและแผนประจำวัน นอกจากนี้ยังต้องมีแผนการใช้จ่ายเงินที่สอดคล้องกับงาน ตลอดจนมีตัวชี้วัดเป็นรายบุคคล เช่น เกษตรตำบล เกษตรอำเภอ หัวหน้าฝ่าย/กลุ่ม จะทำอะไรบ้าง สอดคล้องกับเงิน มี output outcome  จะเห็นได้ว่าระบบแท่งปีหน้ามีตัวชี้วัดรายบุคคล ต้องเรียนรู้และศึกษา มีปฏิทินการทำงานรายบุคคล ทำอะไรบ้างเดือนนี้ มีผลอะไรเกิดขึ้น มีปัญหาอุปสรรคอย่างไรบ้าง อำเภอสามารถแก้ไขได้หรือไม่ หากไม่ได้ จังหวัด/เขต/กรมฯ จะแก้ได้อย่างไร

4.วิชาการที่เรียนมาทั้งหมด นำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ แต่เราต้องมองเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าด้วยโดยต้องมีการศึกษา เรียนรู้ เข้าใจอย่างถ่องแท้ ผู้นำต้องเรียนรู้การเปลี่ยนแปลง  แต่ไม่ต้องลงลึกเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนางาน พัฒนาคนต่อไป

        กรมฯจะมองการทำงานที่เป็นระบบ โดยในปี 2551-2554 จะมองว่ากรมฯจะไปในทิศทางใด ผู้บริหารของกรมฯเช่น เกษตรจังหวัด จะพัฒนาต่อไปอย่างไรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก 

        กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการเกษียณอายุจำนวนมากในปีนี้ เช่นระดับ 10 มีการเกษียณ 14 คน ระดับ 9  700กว่าคน จะมีตำแหน่งว่างมาก เราต้องสร้างคนรุ่นใหม่เข้ามาทดแทน เราต้องคิดว่า กรมส่งเสริมการเกษตรไม่ใช่ของเรา เราเป็นคนมาอาศํยกรมส่งเสริมการเกษตรอยู่  เรามารับใช้กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะที่เป็นข้าราชการ เพื่อสร้างให้กรมส่งเสริมการเกษตรอยู่ให้ได้  

         ข้า     หมายถึง  คนรับใช้

         ราช   หมายถึง   ราชา

        การ    หมายถึง   แผ่นดิน

เราต้องทำงานให้ประชาชน ถึงเวลาที่เราต้องพัฒนาตัวเราเอง พัฒนาคนภายใต้บังคับบัญชาของเรา คิดว่าผู้ใต้บังคับบัญชาเป็น ลูก เป็นน้อง เรารักลูกรักน้องอย่างไร ก็รักลูกน้องเช่นเดียวกัน อย่าให้เกิดปัญหาการสั่งอย่างเดียว แต่ไม่มีความรับผิดชอบ

การตลาดนำการผลิต

ต้องมีความเข้าใจว่า กรมส่งเสริมการเกษตรไม่ได้ทำการตลาด แต่เอาตลาดมาทำการผลิต หาความต้องการของตลาดทั้งจำนวน เท่าไร เมื่อไร อย่างไร ทั้งชนิด รสชาติ ระยะเวลาที่ต้องการ หยิบสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมาวางแผนการผลิต  การจำหน่ายเราจะไม่ทำ   การทำroadshow ต่างประเทศ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร มีวัตถุประสงค์คือเพื่อแสดงว่าเรามีสินค้าอะไรสู่ตลาดเท่านั้น ส่วนหน้าที่ด้านการตลาดกระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่นี้ในการกระจายผลผลิต

การเปิดร้าน Q shop เป็นการนำสินค้าที่มีคุณภาพมาจำหน่าย มีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างจังหวัด

ในเรื่องกระบวนการผลิต ต้องดูว่าอะไรเป็นปัจจัย เช่น ดิน น้ำ อุณหภูมิ แสงแดด  ต้องมีการศึกษาและทำความเข้าใจ บางเรื่องที่ดี ๆเราได้มีการส่งเสริมและได้ละเลยไปเช่น การปลูกพืชหมุนเวียนเป็นต้น

ลักษณะงานส่งเสริมการเกษตรมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนกรมฯอื่น ต้องทำความเข้าใจ ก.พ. และ ก.พ.ร. ไม่ใช่งานบริการทั้งหมด เป็นงานที่ผูกพันกับเกษตรกร กรมฯทำงานกับระดับรากแก้ว(รากหญ้า) การสร้างตึกสูงหากรากฐานแข็งแกร่ง ทำให้ตึกแข็งแรงมั่นคงฉันใด เกษตรตำบลก็ทำให้กรมฯมั่นคง แข็งแรงฉันนั้น ดังนั้นอะไรที่เป็นปัจจัยเอื้อให้แก่เกษตรตำบลเราต้องทำ เช่นการสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่เกษตรตำบล2,000 บาทต่อเดือน ปีนี้ขอไป 4,000 บาทต่อเดือน เพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำงาน

โครงสร้างของเขต/จังหวัดต้องมีความชัดเจน ให้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ ต้องมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทของตนเอง

การบูรณาการแผนส่งเสริมการเกษตร ทั้งแผน 5 ปีทั้งระดับจังหวัด/เขต/ศูนย์ มีความสอดคล้องกัน ในระดับพื้นที่ต้องมีการบูรณาการหน่วยงานเช่นเรื่องดินแจ้งกรมพัฒนาที่ดิน เรื่องน้ำ กรมชลประทานเป็นต้น ศูนย์ฯต้องสร้างความชัดเจนการสร้างรายได้และการทดสอบความเหมาะสมของพืชด้านวิชาการว่าเหมาะสมหรือไม่เช่นเงาะนาสารมีการนำไปปลูกอีก 12 จังหวัด บางพื้นที่ไม่มีความเหมาะสม ดังนั้นศูนย์ฯจึงต้องทำหน้าที่ในการทดลองเรื่องที่จะส่งเสริมในพื้นที่ว่ามีความเป็นได้หรือไม่ตามศักยภาพของพื้นที่ เช่นที่ศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยงที่บุรีรัมย์ทดลองเรื่องปาล์ม  ทำให้มีข้อมูลเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการทำงานโครงการ

การตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)

     ควรมีการกำหนดบทบาทที่ชัดเจนให้กรมส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่ inspector  กรมวิชาการเกษตรทำหน้าที่เป็น advisor การทำงานจะรวดเร็วขึ้น  อะไรที่ไม่ดีจะได้แยกแยะถูกและส่งกลับเป็นส่วน ๆ ไม่เหมารวมทั้ง lot   ขอให้จังหวัด/เขต ดูแลเรื่องนี้ต่อไป

ปัญหาคุณภาพผลผลิตพื  เมื่อก่อนเราเคยมีผลผลิตพืชที่ดีที่สุด แต่เดี๋ยวนี้คุณภาพด้อยลงไปเรื่อย ๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะสาเหตุใด ก็เนื่องจาก ดิน น้ำ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก และผู้คน สิ่งเหล่านี้เจ้าหน้าที่ต้องให้ความสนใจติดตามและสังเกตอยู่ตลอดเวลา

สำหรับประเด็นอื่น ๆ จะได้รายงานต่อไป

ธุวนันท์   พานิชโยทัย

24 กรกฎาคม 2550

 

 

หมายเลขบันทึก: 113805เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2007 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

      สวัสดีครับ  ผอ.

     *** ผมจะนำไปปิดประกาศให้เจ้าหน้าที้ได้รับทราบโดยทั่วกัน 

     **** ถ้าทุกคนนำไปฏิบัตืปฏิบัติกรมฯเราคงเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปมากขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท