GotoKnow

โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาของไทย

Conductor
เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2550 03:16 น. ()
แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2556 18:10 น. ()

คืนนี้ ระหว่างค้นข้อมูลบางอย่างให้คุณเม้ง พบเอกสารน่าอ่านสองอันครับ โดยคุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขอเอามาทดไว้ที่นี่ก่อน

เอกสารฉบับหลัง แสดงแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงมาก ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาหลอกตัวเองอีกแล้วว่าทุกอย่างโอเคไม่มีปัญหา แล้วปัญหาก็ไม่ใช่ว่าเพิ่งเกิดขึ้น 

ผมคิดว่าที่เมืองไทยแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ เพราะเราไม่มองสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง มองไม่เห็นต้นเหตุ ซึ่งถูกการสร้างภาพปิดบังอยู่หมด เรียกว่าไม่กล้าแม้แต่จะมอง พอจะทำอะไรก็มีแต่เงื่อนไข/ข้อแม้/ข้ออ้างทั้งนั้น แต่เรียกอุปสรรคเหล่านี้ว่าเหตุผล แก้อะไรไปก็ไม่โดน

ในเมื่อทำอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกมาหลายสิบปี ปัญหาก็หมักหมมมาเรื่อยจนซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ไขได้ในเร็ววัน ไม่ทันใจขาใหญ่และขาเล็ก -- ผสมกับการเมืองแบบมูมมามอย่างเป็นระบบ และการประเมินผลที่ไม่ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ระยะยาว ทำให้การแก้ปัญหาไม่มีความต่อเนื่อง ว่ากันตามจริงแล้ว แทบจะเป็นการกลับทิศทาง 180° ทุกครั้งที่เปลี่ยนหัว/เปลี่ยนขั้ว

ก็ไม่รู้จะบ่นไปทำไมเหมือนกันครับ!

กลับมาที่เอกสารทั้งสอง ผมคิดว่าท่านรองอาคม พูดถึงปัญหาไว้อย่างน่าสนใจ ในหลายตอน ท่านได้ identify key players สำคัญไว้หลายรายซึ่งผมเห็นด้วยเป็นอย่างมาก

แต่การปรุงอาหารนั้น แค่ส่วนผสมถูกต้องนั้น ไม่ได้แปลว่าอาหารจะอร่อย ยังขึ้นกับพ่อครัวแม่ครัวด้วยครับ

 



ความเห็น

เบิร์ด
เขียนเมื่อ

สวัสดีค่ะคุณ Conductor

เบิร์ดตามไปอ่านตามลิ้งค์แล้วใจหาย  ( ทั้งๆที่ไม่ค่อยเข้าใจศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์เท่าไหร่ ^ ^ )  ...ปัญหามีมากกว่าที่เราทราบและเป็นเหมือนดินพอกเกือบถึงหูหมูเลยนะคะ

เบิณืดชอบที่คูร Conductor พูด เลยยกมาทั้งหมดอีกครั้งเพราะ " โดน " จริงๆค่ะ

ผมคิดว่าที่เมืองไทยแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ เพราะเราไม่มองสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง มองไม่เห็นต้นเหตุ ซึ่งถูกการสร้างภาพปิดบังอยู่หมด เรียกว่าไม่กล้าแม้แต่จะมอง พอจะทำอะไรก็มีแต่เงื่อนไข/ข้อแม้/ข้ออ้างทั้งนั้น แต่เรียกอุปสรรคเหล่านี้ว่าเหตุผล แก้อะไรไปก็ไม่โดน

ในเมื่อทำอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกมาหลายสิบปี ปัญหาก็หมักหมมมาเรื่อยจนซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ไขได้ในเร็ววัน ไม่ทันใจขาใหญ่และขาเล็ก -- ผสมกับการเมืองแบบมูมมามอย่างเป็นระบบ และการประเมินผลที่ไม่ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ระยะยาว ทำให้การแก้ปัญหาไม่มีความต่อเนื่อง ว่ากันตามจริงแล้ว แทบจะเป็นการกลับทิศทาง 180° ทุกครั้งที่เปลี่ยนหัว/เปลี่ยนขั้ว

เราแก้ปัญหาแบบยกข้ออ้างมาปกป้องตัวเราเอง เพื่อบอกว่า " ทำไม่ได้ "  " ไม่ควรทำ " หรือ " สมควรอย่างยิ่ง " และ " ต้องทำ " มาโดยตลอด...การพัฒนาต่างๆ เป็นการพัฒนาแบบ " โครงการ " ที่เน้นเงินนำหน้าปัญญาตามหลัง  และที่สำคัญกว่านั้นคือไม่ค่อยมีปัญญาสักเท่าไหร่  ทำให้ทุกอย่างเหมือนอยู่ในวงวนที่กินลึกไปเรื่อยๆ

 เราไม่ยอมออกจากวังวนที่วนเวียนไม่รู้จบ หรือว่าเราไม่รู้ว่าจะออกไปได้ยังไงกันแน่คะ

เบิร์ดยิ้มกับการประชุมผู้ใหญ่บ้านของมหาดไทย  ที่ท่านลุกขึ้นพูดว่าชาวบ้านปัจจุบันไม่ได้ขาดเงิน (เพราะมีให้กู้เยอะแยะ ติดตามเสาไฟ  ตามข้างทาง ตามรั้วก็มี  อันนี้เบิร์ดเติมเองค่ะ ^ ^ ) แต่ขาดความรู้ ไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหน โครงการต่างๆที่เอาลงไปในหมู่บ้าน แต่ละฝ่ายก็ต่างคนต่างทำพอหมดเงินก็หายไป มีเงินก็เข้ามาใหม่ แต่ชาวบ้านยังต้องอยู่ อยู่กันไปแบบไม่รู้ว่าจะเดินทางไหนดี...ช่างเป็นวาทกรรมที่ลึกซึ้งเสียนี่กระไรเลยนะคะ

เราขาดความรู้ที่เป็นความรู้จากการปฏิบัติจริงจนเกิดปัญญาใช่มั้ยคะ..เบิร์ดจำไม่ได้ว่าอ่านวาทกรรมของใครแต่จำได้ว่า " ความรู้ที่แท้จริงคือสิ่งที่ยังอยู่หลังจากที่จบจากโรงเรียนแล้ว "  เพราะเบิร์ดเป็นอย่างนี้จริงๆค่ะ เรียนมามากมายแต่สิ่งที่จำได้และได้ใช้กลับไม่ใช่สิ่งที่ท่องๆๆๆๆ มาก่อนหน้านี้เลย  เป็นการประยุกต์ใช้ในหลายๆวิชาและนอกทฤษฎีก็มี ยิ่งตอนนี้ยิ่งต้องใช้ในสิ่งที่ไม่เคยเรียนมาก่อนต้องมาเรียนรู้เอาจากการคิดแล้วทำ  ทำแล้วคิด ทำให้เบิร์ดคิดว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นเมื่อได้ปฏิบัติจริงนะคะ และความรู้ที่แท้จริงคือสิ่งที่ยังคงอยู่เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว อิ อิ อิ

แล้วธรรมเนียมปฏิบัติที่เปลี่ยนหัวทีก็เปลี่ยนนโยบายที นี่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่คะ  และเกิดขึ้นเพราะอะไร...อำนาจทำให้เราไม่อยากเดินตามรอยของใครเหรอคะ หรือว่าเสียเกียรติ ?

ขอบคุณมากๆค่ะสำหรับบันทึกนี้ที่ทำให้เบิร์ดคิดซะยืดยาวเข้ารกเข้าพงไปหมดเลย  ตอนแรกเบิร์ดก็กะจะถามเหมือนพี่ศศินันท์ว่าเจ้าตัวกลม ขนฟูสุดหล่อนี่เป็นตัวที่รุ่งริ่งเพราะไปกัดคนอื่นในบันทึกของคุณ Conductor หรือเปล่า แต่ตอนนี้ได้คำตอบแล้วก็เลยเดินตามเค้ามาเรื่อยๆเพราะหล่อเหลือใจเลยค่ะ  ชอบจริงๆ ^ ^

Conductor
เขียนเมื่อ

เชื่อเค้าเลย บันทึกแบบนี้ยังจับประเด็นและให้ความเห็นได้อีก ขอบคุณคุณเบิร์ดมากนะครับ

การปกป้องตัวเองนั้น คุณเบิร์ดคงอธิบายได้ชัดกว่าผมนะครับ ผมคิดว่าเกิดจากการปล่อยให้ปัญหาหมักหมมมานานจนซับซ้อนในระดับที่หาคนเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดได้ยาก (บันทึกเก่า: บิล เกตส์ กับความไม่เท่าเทียม: สุนทรพจน์ที่ฮาร์วาร์ด)

การเลือกตั้งซึ่งเป็นรูปแบบของประชาธิปไตย ทำให้ผู้ที่ต้องการลงสมัครต้องพยายามทำในสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรม เลือกเสนอหรือทำในสิ่งที่เห็นผลเร็ว แต่แก่นของสิ่งที่ต้องทำกลับไม่มีใครแตะเลย เพราะว่ามันซับซ้อนและจะต้องใช้เวลาแก้ไขยาวนาน

กรณีอย่างนี้ เห็นในการประเมินหัวหน้ารัฐวิสาหกิจเช่นกัน ประเมินกันทุก 6 เดือน หมายความว่าถ้าจะทำอะไรให้โดนใจกรรมการผู้ประเมิน ก็ต้องเห็นผลใน 6 เดือนนะครับ -- ผมเห็นใจผู้ประเมินเหมือนกัน ถ้าผิดฝาผิดตัว ก็จะเสียหายมาก แต่บางทีเกณฑ์การประเมินก็ควรจะให้น้ำหนักกับการแก้ไขปัญหาระยะยาวมากขึ้นกว่านี้ คนดีในโลกนี้มีหลายแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นซุปเปอร์ฮีโร่แบบบู๊ล้างผลาญเท่านั้น

และกล่าวโดยรวม ถ้าสังคมไทยเห็นว่าเนื้อหาของประชาธิปไตยคือประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าเป็นเพียงเสียงส่วนใหญ่อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็จะทำให้ผู้บริหารที่เข้ามาตามกระบวนการเลือกตั้ง/สรรหา กล้าจัดการปัญหาโครงสร้างมากขึ้นครับ ตอนนี้ไม่กล้าแม้แต่จะมองหรือพูดถึง

หากเนื้อหาประชาธิปไตยเป็นประโยชน์ของส่วนรวม ผู้ที่ได้รับการเลือกสรรมาไม่ต้องเป็นซุปเปอร์แมนครับ (บันทึกเก่า:  กรณีของ "ซุปเปอร์แมน" ย่อหน้ารองสุดท้ายเรื่องปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ) ไม่ต้องทำเองทั้งหมดคนเดียวครับ คนอื่นก็อยากช่วยและเห็นประโยชน์ของส่วนรวมเช่นกัน

สังคมไทยไม่ได้ขาดทางออกหรอกนะครับ เพียงแต่ไม่กล้ามองหา ขาดความกล้าที่จะมองสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ขาดโอกาสแสดง ขาดความเชื่อมโยง (KM ลปรร. CoP และ R2R แบบที่ชุมชน GotoKnow พยายามทำอยู่จึงสำคัญมากครับ)

เราไม่พูดถึงเป้าหมาย ทำให้เกิดความเคว้งคว้าง-วังเวง งานเหล่านี้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูงในทุกองค์กรทั้งรัฐและเอกชนครับ

เมื่อเป้าหมายไม่ชัด ก็ไม่สามารถกำหนดทิศทางได้ รายละเอียดของการปฏิบัติเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น จะเกิดขึ้นได้อย่างไรครับ ในเมื่อไม่มีเป้าหมาย ทิศทาง » "ผลงาน" ก็เป็นการแก้ไขเฉพาะหน้าไปตามสถานการณ์ หรือไม่ก็เป็นการประชาสัมพันธ์รายวัน ที่เน้นที่ตัวบุคคลเพราะไม่มีเนื้องานที่ทำครับ

การสลับขั้วทุกครั้งที่เปลี่ยนหัวนั้น เกิดจากอัตตาของหัวอยู่เหนือกว่าประโยชน์ขององค์กรครับ; เห็นชัดในวงการเมือง เมื่อพรรคใหม่ดี แปลว่าพรรคเก่าเลว ดังนั้นสิ่งที่พรรคเก่าทำไว้ก็ต้องล้างให้หมด ทั้งแผน ทั้งงาน ทั้งคน เฮ้อ…


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย