BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เกจิ (อาจารย์)


เกจิ (อาจารย์)

ตอนนี้ข่าว เกจิอาจารย์ กำลังดัง... จึงขอนำคำนี้มาเล่า  เนื่องจากคำว่า อาจารย์ คนไทยทั่วไปเข้าใจ จึงไม่จำเป็นต้องขยายความ... จะขยายความเฉพาะคำว่า เกจิ เพราะคิดว่าคนทั่วไปน่าจะไม่ทราบที่มาของคำนี้ แม้จะคุ้นเคยก็ตาม....

เกจิอาจารย์ หรือบางครั้งเรียกสั้นๆ ว่า เกจิ ... ตามสำนวนไทย หมายถึง ผู้ที่มีความชำนาญในด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งเดิมที่มักจะใช้เฉพาะความชำนาญเกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนา และมักจะหมายถึงพระสงฆ์เท่านั้น...

แต่ด้วยการล้อเลียนศัพท์ ทำให้คำนี้ถูกใช้แพร่หลายออกไป เช่น ผู้รอบรู้ด้านฟุตบอลอังกฤษก็เรียกว่า เกจิอาจารย์ฟุตบอลอังกฤษ หรือบางคนที่เข้าใจระบบโทรศัพท์มือถือเกือบทุกชนิดก็อาจเรียกว่า เกจิมือถือ... เป็นต้น

........

ตามหลักภาษาบาลีนั้น คำว่า เกจิ เป็นคำสัพพนาม ใช้เรียกชื่อชื่อกลุ่มคนซึ่งไม่ระบุว่าเป็นใคร โดยแปลตามสำนวนไทยว่า บางพวก บางกลุ่ม ... และคำว่า เกจิ นี้เป็นคำพหูพจน์ โดยถ้าเป็นเอกพจน์จะใช้ว่า โกจิ แปลว่า บางคน ...

คำว่า เกจิ นี้ นอกจากจะใช้ในวรรณกรรมบาลีทั่วไปแล้ว... เฉพาะคัมภีร์อรรถกถาพระวินัยปิฏก มักจะนำมาอ้างถึงเสมอในกรณีที่จะต้องวินิจฉัยพระวินัยในประเด็นสำคัญ ซึ่งเมื่อเจอคำว่า เกจิ ก็ต้องแปลว่า อาจารย์บางพวกกล่าวไว้ว่า.....

และในกรณีที่มีมติแตกต่างกันหลายนัย นอกจากจะใช้ เกจิ ศัพท์นี้แล้วก็ยังมีศัพท์อื่นๆ อีก ๒-๓ ศัพท์ ได้แก่ ปเร (อาจารย์พวกอื่นกล่าวไว้ว่า.... ) อญฺเญ (อาจารย์พวกอื่นกล่าวไว้ว่า.... )  และ  เอเก (อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวไว้ว่า....

คำวินิจฉัยของอาจารย์เหล่านี้ คือ เกจิ ปเร อญฺเญ และ เอเก สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ แต่ผู้รจนาคำภีร์ก็มิได้บอกว่าความเห็นฝ่ายไหนถูก ซึ่งผู้แปลจะต้องใช้วิจารณญาณโดยตนเองว่าควรจะเชื่อถือความเห็นของฝ่ายใด...

ผู้เขียนก็ไม่ทราบที่มาว่า เหตุไฉน? คำว่า เกจิ จึงมาใช้ในความหมายแบบไทยๆ ที่เป็นอยู่ได้... ถ้าจะเดาก็คิดว่า โบราณาจารย์ของไทย คงจะบอกเป็นนัยว่า นั่น  ! เป็นเพียงความเห็นของคนบางกลุ่มเท่านั้น อย่าไปเชื่อถือให้มากนัก ควรตรวจสอบอีกครั้ง... ประมาณนี้

นั่นคือ เกจิอาจารย์ปัจจุบันที่กำลังทำอะไรๆ อยู่นั้น เราก็อย่าเชื่อถือให้มากนัก ....

...........

ขอเล่าเรื่องในคัมภีร์เพิ่มอีกนิด... ในประเด็นที่พร่ามัวไม่ชัดเจนจำต้องวินิจฉัยนั้น นอกจากผู้รจนาคัมภีร์จะอ้าง อาจารย์บางพวก (เกจิ) อาจารย์พวกหนึ่ง (เอเก) และอาจารย์พวกอื่น ( ปเร, อญฺเญ) แล้ว... บางครั้งก็อ้างชื่อโดยตรง ซึ่งก็มีหลายท่าน แต่ที่ปรากฎบ่อยที่สุดก็คือ มหาปทุมตฺเถโร และ มหาสุมตฺเถโร ... ส่วนท่านอื่นๆ เช่น กรวิกฺโก  พุทฺธรกฺขิโต ฯลฯ นานๆ จึงจะอ้างถึงสักครั้ง....

ตอนที่เรียนบาลีและแปลคัมภีร์นี้ ท่านอาจารย์เล่าเป็นเรื่องขำๆ ว่า ท่านมหาสุม (มหาสุมตฺเถโร) และท่านมหาบัว (มหาปทุมตฺเถโร -ปทุม แปลว่า บัว)... สองรูปนี้ ตอนเย็นๆ หรือค่ำๆ ท่านคงจะมานั่งฉันน้ำชาแล้วก็เถียงกันเป็นประจำ... ส่วนท่านอื่นๆ นั้น นานๆ จึงจะโผล่มาร่วมวงสักครั้ง... ประมาณนี้

ส่วนผู้รจนาคัมภีร์ ตอนนั้นคงจะเป็นสามเณร คอยรับใช้ ช่วยต้มน้ำร้อน ชงชา และช่วยจดช่วยจำในบางประเด็น เมื่อสามเณรรูปนี้เติบโตขึ้นมา จึงมาแต่งคัมภีร์ และนำความเห็นของท่านเหล่านี้มาบรรจุไว้ในคัมภีร์ให้พวกเราศึกษาสืบต่อมา...โดยประการฉะนี้         

หมายเลขบันทึก: 113375เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2007 02:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 10:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

นมัสการพระคุณเจ้า

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒

ให้ความหมายว่า

เกจิอาจารย์ : น. ''อาจารย์บางพวก'', อาจารย์ที่เชื่อกันว่ามีความรู้ความสามารถในด้านคาถาอาคมและการปลุกเสกเครื่องรางของขลัง

ก็ใกล้เคียงที่พระอาจารย์ว่าไว้  แต่ที่เห็นจะชัดเจนและน่าจะนำมาเตือนสติก็ตรงที่พระอาจารย์ว่า

"......คงจะบอกเป็นนัยว่า นั่น  ! เป็นเพียงความเห็นของคนบางกลุ่มเท่านั้น อย่าไปเชื่อถือให้มากนัก ควรตรวจสอบอีกครั้ง... ประมาณนี้..."

ชอบใจจริงๆครับ

  • นมัสการหลวงพี่
  • เหมือนผมอยู่วัดเลย
  • เกจิอาจารย์ในการแปลคำศัพท์บาลีคือหลวงพี่นี่เอง
  • ขอบพระคุณครับ
P
อาตมาก็สงสัยมาตั้งแต่แรกเรียนบาลี... เกจิอาจารย์ ตามสำนวนบาลีมีความหมายอย่างหนึ่ง พอนำมาใช้สำนวนไทยกลับมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง...
เมื่อมาแปลอรรถกถาพระวินัยปิฏก จึงได้คาดเดาว่า น่าจะเป็นทำนองนี้ ก็พอฟังได้ แต่จะจริงหรือไม่จริง พวกเราก็เกิดไม่ทัน....
..............
P
หลวงพี่ยังต่ำต้อยนัก ถ้าจะขึ้นชั้นเป็น เกจิบาลี ....
เกจิบาลีในเมืองไทยนั้นมีมาก เป็นพระสงฆ์ก็มี เป็นชาวบ้านก็มี ท่านเหล่านี้เปิดคัมภีร์ทุกวัน .... ส่วนหลวงพี่ มีคัมภีร์อยู่ไม่กิ่เล่ม และจะนำมาปัดฝุ่นเพียงบางครั้งเท่านั้น....
........
PP
เจริญพร 
เกจิอาจารย์  พบในคัมภีร์ทุกชั้น  ตั้งแต่ชั้นอรรถกถา   ฎีกา   อนุฏีกา   แต่ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในชั้นไหน  ตามลำดับชั้นคัมภีร์ทางพุทธศาสนามี 4 ชั้น คือ  ชั้นบาลี   ชั้นอรรถกถา   ชั้นฎีกา  ชั้นอนุฎีกา   ชั้นอรรถกถา  ผู้รจนา  เรียกว่า  อรรถกถาจารย์     ชั้่นฎีกา  ก็เรียกว่า  ฎีกาจารย์   ชั้นอนุฎีกา  ก็เรียกว่า  อนุฎีกาจารย์   เกจิ เป็นไปได้ไหม  คือท่านผู้รจนา  เรื่องนั้นนิดเรื่องนี้หน่อย  ไม่เป็นสูตร ๆ  ไป  บางทีเอานั่นนิดนี่หน่อยมาทำเป็นเรื่องเดียวกัน  แล้วก็ว่า ๆ ไป  อย่างเกจิปัจจุบันเอาโน่นนิดนี่หน่อยมาว่า  เติมโน่นใส่นีหน่อย  ก็เลยออกมาแปลก ๆ  
ไม่มีรูป
สุพจน์
อนุโมทนาที่ช่วยเพิ่มเติม....
อามันตา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท