สร้างการเรียนรู้เรื่อง การวิจัยชุมชน (ตอนที่ 2)


"นักส่งเสริมฯ" ทีมีฝีมือมักจะซ่อนเร้นและเก็บตัวอยู่เงียบ ๆ ตามที่ต่าง ๆ ฉะนั้น ถ้าอยากเจอตัวเราก็ต้องรู้จัก...ค้นหาให้เป็น

     PAR ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้เป็นคณะทำงานเกี่ยวกับการวิจัยชุมชน โดยใช้เนื้อหาสาระเรื่องวิสาหกิจชุมชนในการเดินเรื่องเพื่อพัฒนาเจ้าหน้าที่กับงานส่งเสริมการเกษตรที่ปฏิบัติอยู่ในพื้นที่  การทำงานที่เกิดขึ้นดิฉันมีเพื่อร่วมทีมงานของส่วนกลาง (กรมส่งเสริมการเกษตร)  เขต  จังหวัด  อำเภอ  และชาวบ้าน


     การรวมทีมงานจึงเริ่มตั้งแต่ให้ทุกคนในทีมงานได้ทำภารกิจของตนเองโดยเริ่มจากงานที่ต้องทำมีอะไรบ้าง  แล้วความรู้ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานเรื่องนี้มีอะไรบ้าง  แล้วตอนนี้มีอยู่เท่าไหร่ ต้องหาอะไรเพิ่มเติมบ้าง แล้วได้ข้อสรุปว่า  ส่วนกลางมีหน้าที่จัดกระบวนการสนับสนุนองค์ความรู้ที่พื้นที่ขาด  เขตทำหน้าที่ค้นหาองค์ความรู้ที่มาเสริมหนุนทีมงาน  จังหวัดทำหน้าที่ดูแลทีมงานและรวบรวมความต้องการ  และอำเภอทำหน้าที่จัดเก็บและประมวลข้อมูล ส่วนชาวบ้านต้องร่วมเป็นนักวิจัยชุมชน


     งานที่เกิดขึ้นจึงเริ่มจากการวางแผนงานบนโต๊ะ  แล้วลงไปรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับพื้นที่และชุมชน  แล้วนำมาปรับแก้การวางแผนการปฏิบัติ  คือ การค้นประเด็นปัญหา  นำมาแยกแยะ เชื่อมโยง และสรุป สิ่งที่ชุมชนและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรต้องการคำตอบ 

     ประเด็นข้อสงสัยจึงแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 

     1) ระดับชาวบ้านที่เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน "โจทย์ของชาวบ้าน"
มีความต้องการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง มีความต้องการลดต้นทุนการผลิตข้าวลง ประมาณ 250 บาทต่อไร่ จากการลดปุ๋ยเคมีและการลดสารเคมี มาเป็นสารอินทรีย์  

     2) ระดับกลุ่มเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร  "โจทย์เจ้าหน้าที่"  ที่มีความต้องการศึกษาสถานการณ์  ปัญหาอุปสรรค  และวางกลยุทธ์เพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชน
 

     การปฏิบัติงานที่เกิดขึ้น คือ


 1)  ไปจัดกระบวนการกลุ่มกับชุมชน ประมาณ 5 ครั้ง เพื่อค้นหาสิ่งที่กลุ่มมีอยู่/ ปัญหาอุปสรรค/ ความเป็นไปได้/ การเสริมหนุน โดยประเด็นที่ทำเป็นหลักคือ  การค้นหาจิตสำนึกและบทบาทหน้าที่ของกลุ่มที่เป็นวิสาหกิจชุมชนนั้นอยู่ตรงจุดไหนของภาระงานเรื่องนี้  ได้ใช้การสนทนากลุ่ม  และการสัมภาษณ์   ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลใช้การจัดหมวดหมู่  การแยกแยะ การเปรียบเทียบ  และการอธิบายความ  ซึ่งพบว่า  กลุ่มดังกล่าวยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิสาหกิจชุมชน แต่มีความรู้ความเข้าใจและมีการดำรงตนของความเป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง 
และยังไม่ทราบว่า ตนเองยืนอยู่ตรงจุดไหนของวิสาหกิจชุมชน
 2)  การจัดกระบวนการกลุ่มกับเจ้าหน้าที่ที่เป็นทีมงานวิจัย ประมาณ  5  ครั้ง  เพื่อค้นหาผลงานส่งเสริมการเกษตร องค์ความรู้ของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่มีอยู่  และความรู้ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานเรื่อง วิจัยชุมชน ได้ใช้การสนทนากลุ่ม  การสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ  ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลใช้การจัดหมวดหมู่  การแยกแยะ การเปรียบเทียบ  และการอธิบายความ  ซึ่งพบว่า เจ้าหน้าที่มีเครื่องมือในการชวนชาวบ้านคุย/ มีเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูลกับชาวบ้าน/ มีเทคนิคการทำงานกับชุมชน/ มีฐานของการเป็น Facilitator แต่ยังขาดการฝึกปฏิบัติที่ต่อเนื่อง  การสื่อสารระหว่างกลุ่มยังมีการคิดและปฏิบัติที่ต่างกัน  ดังนั้นจึงส่งผลให้การจัดการความรู้ที่นำไปใช้เสริมหนุนเพื่อนำวิจัยชุมชนไปใช้ในการทำงานวิสาหกิจชุมชนจึงยังไม่แข็งแรง
เป็นเพราะศักยภาพของทีมเสริมหนุนมีน้อยและการเรียนรู้มีค่อนข้างต่ำ จึงต้องใช้เวลาและเวทีที่มีความต่อเนื่อง  โดยเฉพาะเรื่องบทบาทของวิทยากรกระบวนการ/ องค์ความรู้เรื่องวิสาหกิจชุมชน/ เรื่องการวางแผนกลยุทธ์/ เรื่องวิจัยเชิงคุณภาพ/ เรื่องบทบาทนักส่งเสริมการเกษตร/ เรื่อง Facilitator  ผลที่เกิดขึ้นคือ เจ้าหน้าที่จะต้องมีการจัดระบบงานวิสาหกิจชุมชน  เจ้าหน้าที่จะต้องพัฒนารูปแบบและวิธีการถ่ายทอดความรู้เพื่อให้เกษตรกรมีสำนึกของความเป็นวิสาหกิจชุมชนและเข้าใจบทบาทของตนเอง  จะต้องวางกลยุทธ์เพื่อเสริมหนุนการทำงานข้องเจ้าหน้าที่ที่ตรงความต้องการ  สนับสนุนทรัพยากร/ปัจจัย/งบประมาณที่ทันเหตุการณ์ และมีการปฏิบัติงานที่ต่อเนื่อง


     ดังนั้น ความต่างกันของศักยภาพทีมงานจึงเป็นอุปสรรคต่อการ  สื่อสาร  ระยะเวลาที่ใช้ปฏิบัติงาน  ความรู้ความเข้าใจที่มีต่องาน เป็นต้น  แต่ได้มีการปรับแก้โดยการทดลองทำให้ดู แล้วให้ปฏิบัติ
ด้วยตนเอง  การเสริมความรู้ในเวทีการสนทนาเพื่อประมวลข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และสรุปข้อมูลในแต่ละเวทีย่อย แล้วให้แสดงความคิดเห็น เป็นผู้จัดเก็บข้อมูลและให้ข้อมูลที่ตนเองบันทึกในเวทีประชุมเจ้าหน้าที่การซักถามข้อมูล (ทำซ้ำ) / ทบทวนและให้เล่าข้อมูล และการให้มาทำหน้าที่เป็นผู้นำกระบวนการทั้งในเวทีชุมชนและเวทีประชุมเจ้าหน้าที่


     ฉะนั้น ในการทำงานชิ้นนี้จึงต้องฝึกเจ้าหน้าที่ให้เรียนรู้บทบาทนักส่งเสริมการเกษตรกับการเรียนรู้งานวิจัยชุมชน ที่ใช้สถานการณ์จริงควบคู่กับเนื้องานที่ได้รับมอบหมายพร้อมกัน
จึงทำให้ต้องใช้เวลาค่อนข้างมากในการปฏิบัติเสมือนกับทำซ้ำไปซ้ำมา เช่น  การสร้างโจทย์วิจัย ใช้เวลา จำนวน 3-4  ครั้ง,  การวางกรอบงานวิจัย ใช้เวลา จำนวน 3 ครั้ง,  การจัดเก็บข้อมูล พื้นฐานทั่วไปใช้เวลา จำนวน4-5 ครั้ง เป็นต้น
 

     ก็เป็นอีกเรื่องราวหนึ่งของประสบการณ์ในการเรียนรู้เรื่อง การทำวิจัยชุมชน ที่นำมาใช้พัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในการทำหน้าที่กับกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานส่งเสริมการเกษตรได้อย่างเท่าทัน.

หมายเลขบันทึก: 112036เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2007 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท