การประชุมผู้บริหารกรมฯครั้งที่ 33/2550


ควรสร้างงานเชิงรุกที่มีคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาขนและองค์กร

     ผู้บริหารกรมส่งเสริมการเกษตรมีการประชุมพบปะกันทุกวันอังคาร โดยมีการถ่ายทอดผ่าน VDO Conference ที่ระดับเขต 6 เขตด้วย สำหรับวันอังคารที่ 10 กรกฎาคม 2550  ก็มีการประชุมเช่นเดียวกัน ท่านรองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ท่านรองไพโรจน์ ลิ้มจำรูญ เป็นประธาน มีประเด็นสำคัญดังนี้คือ

1.การพัฒนา IT ของกรมฯ  ขณะนี้ศูนย์สารสนเทศได้อบรมความรู้ด้านคอมพิวเตอร์แก่เจ้าหน้าที่ในกรมฯ 50 คนที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ท่านรองไพโรจน์กล่าวว่าต่อไปการพัฒนา IT ของกรมฯ ต้องทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้ศูนย์รายงานความก้าวหน้าด้านนี้ให้ผู้บริหารกรมฯทราบทุกวันศุกร์ และควรมีการจ้างคนนอกมาประเมินความรู้ด้าน IT ของบุคคลากรในกรมฯโดยเฉพาะระดับตำบล จะได้ข้อมูลที่แท้จริงจะได้พัฒนาได้อย่างถูกต้อง สำหรับการอบรมควรส่งเสริมให้ใช้วิทยากรภายในกรมฯที่มีความรู้ความสามารถ ในระดับเขตและจังหวัดเราก็มีอยู่มากมาย  โดยกองแผนงานจัดสรรค่าวิทยากรให้ด้วย

2.การพัฒนาคลื่นลูกใหม่ของกรมส่งเสริมการเกษตร ท่านรองไพโรจน์กล่าวว่าควรให้ผู้อำนวยการกอง/สำนัก ไปเยี่ยมเยียน ให้คำแนะนำแก่ผู้เข้ารับการอบรมด้วยตนเอง โดยสำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยีจะเป็นผู้ประสานงานเรื่องวัน เวลาที่จะไปเยี่ยม ปีหน้าคาดว่าจะได้รับงบประมาณมาดำเนินงาน 5 ล้านบาท

3.การเตรียมการชี้แจงงบประมาณกรมส่งเสริมการเกษตรปี 2551 ขณะนี้งบประมาณผ่านวาระ 1 แล้ว จะเข้ากรรมาธิการประมาณ 5 สัปดาห์(9 กรกฎาคม - 8 สิงหาคม 2550) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเข้ารับการพิจารณาสัปดาห์หน้า(วันที่ 17 ก.ค.2550) โดยกรมส่งเสริมการเกษตรมียอดงบประมาณ 4,354.453 ล้านบาท เป็นรายจ่ายประจำ 3,162.5336 ล้านบาท รายจ่ายผูกพัน 251.36 ล้านบาท และงานตามภารกิจ 940.5577 ล้านบาท เห็นไหมคะว่างบทำงานน้อยมาก

4.งานเชิงรุกของกรมฯ ท่านรองไพโรจน์ให้ข้อคิดว่าขณะนี้งานที่กรมฯทำอยู่แทบจะไม่มีงานเชิงรุกเลย ควรสร้างงานเชิงรุกที่มีคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาขนและองค์กร โดยตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนเช่น รายได้ต่อประชากรภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไร มีการเพิ่มผลผลิตอะไร เท่าไร มีการลดรายจ่ายเท่าไร มีการแปรรูปอะไรบ้าง ฯลฯ นอกจากนี้ทุกหน่วยงานควรมีเป้าหมายของตนเอง ตั้งแต่ระดับกอง/สำนัก/เขต/จังหวัด และเป้าหมายเหล่านั้นต้องนำไปสู่เป้าหมายของกรมฯเป็นเป้าหมายเดียวกันทั้งประเทศ

ตัวอย่างเช่น

การสร้างศูนย์คัดแยกสินค้าเกษตรควรมีทุกอำเภอ เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าและทราบแหล่งผลิต

การพัฒนายุวเกษตรกร  ขณะนี้เกษตรกรมีอายุเฉลี่ย 55 ปี คนรุ่นใหม่ไม่เข้ามาสู่ภาคเกษตร เรียนเกษตรจริงแต่เข้ามาไม่ถึง 5 % ควรมีการพัฒนายุวเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง มีลำดับขั้นการพัฒนาหรือเส้นทางเดินที่ชัดเจน เช่น จากยุวเกษตรกร เป็นผู้นำกลุ่มยุวเกษตรกร  เป็นเกษตรกรผู้นำ นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จังหวัดขอนแก่นให้ข้อเสนอว่า ควรมีข้อมูลยุวเกษตรกรเดิมที่ผ่านการพัฒนา ไปสู่ผู้นำภาคอื่น ๆมีใคร จำนวนเท่าไรบ้างเช่น อบต. เกษตรกรดีเด่น ฯลฯ

การเพิ่มผลผลิตพืชเป็น 1 เท่าตัวภายใน 5 ปี

                       ฯลฯ

5.การเสนอของบประมาณนอกแผนให้จังหวัดและศูนย์เสนอผ่านเขต เพื่อให้เขตพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการ ก่อนนำเสนอกรมฯ

6.แผนพัฒนาการเกษตรในทศวรรษหน้า ให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติงานประจำปี ที่มีรายละเอียดกิจกรรม จะทำอะไร ทำอย่างไร ที่มีความสอดคล้องกับแผนฯ

     ในประเด็นของการพัฒนายุวเกษตรกร ดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะในอนาคตเยาวชนเหล่านี้จะเป็นอนาคตของการเกษตรไทย หลายประเทศได้ส่งเสริมเยาวชนภาคเกษตร เช่นญี่ปุ่นมีการสืบทอดอาชีพการเกษตร ในแง่การจัดการความรู้ มีเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านการเกษตรและมีอาชีพเกษตรกร บุคคลเหล่านี้ควรมาพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน อาจเริ่มต้นที่เยาวชนผ่านการฝึกอบรมที่ญี่ปุ่นหรือประเทศอื่น ๆ มาแล้ว หรือเริ่มที่เยาวชนที่ประสบความสำเร็จในอาชีพเกษตรกร หา best practice ให้เจอ แล้วสร้างชุมชนนักปฏิบัติให้เกิดขึ้น ให้เกิดการรวมตัวกันของยุวเกษตรกร ทั้งนี้เมื่อประมาณวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 ท่านยุกติ สาริกะภูติ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาคุยเรื่อง KM ในกลุ่มยุวเกษตรกร กับทีมงานเพิ่มเติมเนื่องจากได้รับทราบจาก ศจ.นพ.วิจารณ์ พานิช  ว่ามีการนำ KM มาใช้ในงานส่งเสริมการเกษตร จึงมาคุยในรายละเอียดกับทีมงานเพิ่มเติม ถ้างานนี้บังเกิดขึ้นเป็นผลการปฏิบัติในอนาคต คงจะมีคุณค่าและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมหาศาลทีเดียว

ธุวนันท์ พานิชโยทัย

16 มิถุนายน 2550

 

 

หมายเลขบันทึก: 111880เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2007 07:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 08:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • เห็นด้วยอย่างยิ่งครับกับกรณีของยุวเกษตรกร
  • KM เป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ในทุกที่ ทุกเวลา ทุกโอกาส ทุกเรื่องนะครับ
  • ขอบพระคุณมากครับที่นำมาแลกเปลี่ยน

เรียนคุณสิงห์ป่าสัก

  • ขอบคุณนะคะที่สอนวิทยายุทธ์เรื่องบล็อกให้เมื่อหลายวันก่อน
  • อยากลุ้นให้เกิดกรณียุวเกษตรกรเช่นเดียวกัน
ผมบอกว่าเราจะต้องเพิ่มรายได้จากผลผลิตอีก 1 เท่าต้ว ภายใน 5 ปี โดยเน้นรื่องคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะต้องมีศูนย์คัดแยกเอาแต่ของที่ดี มีคุณภาพเท่านั้นที่จะเข้ามาสู่ตลาด ที่ไม่มีคุณภาพนำไปแปรรูป และขายเป็นสินค้าคุณภาพตำไป เกษตรกรจะได้พัฒนาผลผลิตของตนเองด้วย

ขอบพระคุณท่านรองไพโรจน์มากคะที่กรุณาแก้ไขและอธิบายเพิ่มเติม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท