การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในจิระศาสตร์


จิระศาสตร์ฉลาดและมีคุณธรรม เลิศล้ำเศรษฐกิจพอเพียง

ในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคการศึกษานั้น โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาได้มีโอกาสส่งครูเข้ารับการอบรมร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการหลายครั้ง โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องมุ่งพัฒนาที่ตัวครูก่อนเป็นอันดับแรก เพราะครูถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการถ่ายทอดความรู้ และปลูกฝังสิ่งต่างๆ ให้แก่เด็ก

ดังนั้นจึงควรส่งเสริมครูให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้ก่อน เพราะเมื่อครูเข้าใจ ครูก็จะได้เป็นแบบอย่างทีดีให้แก่เด็กได้ ครูจะสอนให้เด็กรู้จักพอ ครูจะต้องรู้จักพอก่อน โดยอยู่อย่างพอเพียงและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องมีสติในการเลือกรับข้อมูลต่างๆ ที่เข้ามา รู้จักเลือกรับและรู้จักต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ หมั่นศึกษา เพิ่มพูนความรู้ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ก้าวกระโดด ในการเลือกรับข้อมูลนั้น ต้องรู้จักพิจารณารับอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รู้จักแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ประเมินความรู้และสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา   จะได้รู้จัก และเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสภาพ และผลจากการเปลี่ยนแปลงในมติต่างๆ ได้อย่างรอบคอบ และระมัดระวัง     

เป้าหมายสำคัญของการขับเคลื่อนที่โรงเรียนของเราได้ดำเนินการ คือ การทำให้เด็กรู้จักความพอเพียง ปลูกฝัง อบรม บ่มเพาะให้เด็กมีความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม โดยสอดแทรกแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร สาระเรียนรู้ต่างๆ เพื่อสอนให้เด็กรู้จักการใช้ชีวิตได้อย่างสมดุลตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เห็นคุณค่าของทรัพยากรต่างๆ รู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่น รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และแบ่งปัน มีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม และเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมค่านิยม ความเป็นไทย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รู้ว่าตนเองเป็นองค์ประกอบหนึ่งในสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของโลก การกระทำของตนย่อมมีผลและเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมในโลกที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ด้วย  ดังจะเห็นได้จากการจัดกิจกรรม คุณธรรมนำความรู้ มุ่งสู่เศรษฐกิจพอเพียง มีการบริจาคสิ่งของ แบ่งปัน แลกเปลี่ยนสิ่งของซึ่งกันและกันในกลุ่มนักเรียน และจะได้นำสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆนำไปมอบให้นักเรียนในโรงเรียนที่ขาดแคลนต่อไป  นอกจากนี้ยังได้พัฒนาพื้นที่ของโรงเรียนจำนวน ๑๖ ไร่เศษ บริเวณตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห่างจากที่ตั้งโรงเรียนประมาณ ๗ กิโลเมตร ใช้ชื่อว่า ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ สนองแนวพระราชดำริฯ เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมตามแนวทฤษฎีใหม่ ในพื้นที่ประกอบไปด้วย พื้นที่ที่เป็นแหล่งน้ำทำการเกษตร พื้นที่ปลูกสร้างอาคารเรือนไทย บ้านพักอาศัย โรงเรือนสำหรับจัดกิจกรรมต่างๆและที่ทำการเกษตร เพาะปลูกผัก ผลไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ  และปลูกไม้ยืนต้นจัดเป็นสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ศูนย์แห่งนี้ครูผู้สอนจะนำนักเรียนทุกระดับชั้นตั้งแต่อนุบาล ๑ ถึง ม.๓ ไปศึกษาเรียนรู้ในลักษณะบูรณาการ และเป็นที่ชื่นชอบของนักเรียนมาก             

การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น สำคัญคือครูจะต้องรู้จักบูรณาการการเรียนการสอนให้เด็กและเยาวชนเห็นถึงความเชื่อมโยงในมิติต่างๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งความเป็นองค์รวมนี้จะเกิดขึ้นได้ ครูต้องโดยใช้ความรู้และคุณธรรมเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน    

นอกจากนี้ ในการส่งเสริมให้นำหลักปรัชญาฯไปใช้ในสถานศึกษาต่างๆ นั้น อาจจะใช้วิธี เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ตามหลักการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า สำคัญที่สุดครูต้องเข้าใจเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงก่อน โดยเข้าใจว่าแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นแนวคิดที่สามารถเริ่มต้นและปลูกฝังได้ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียนเช่น กิจกรรมการรักษาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน   การกำจัดขยะในโรงเรียนตามโครงการจิระศาสตร์รักษ์สิ่งแวดล้อม  และโครงการธนาคารความดี เป็นต้น    

ก่อนอื่น ครูต้องเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี โดยกลับมาพิจารณาและวิเคราะห์ดูว่า ในตัวครูนั้นมีความไม่พอเพียงในด้านใดบ้าง เพราะการวิเคราะห์ปัญหาจะทำให้รู้และเข้าใจปัญหา ที่เกิดจากความไม่พอเพียง รวมทั้งควรให้เด็กมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหาด้วย โดยการวิเคราะห์นี้ต้องดำเนินไปบนพื้นฐานของความรู้และคุณธรรม โดยเฉพาะคุณธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังให้เกิดขึ้นในใจเด็กให้ได้ก่อน ผ่านกิจกรรมที่ครูเป็นผู้คิดขึ้นมา โดยครูในแต่ละโรงเรียนจะต้องมานั่งพิจารณาก่อนว่า จะเริ่มต้นปลูกฝังแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจากจุดไหน    ทุกคนควรมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ สามัคคีกันในกระบวนการหารือ    

หลังจากที่ครูได้ค้นหากิจกรรมที่จะปลูกฝังแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ครูควรจะต้องตั้งเป้าหมายการสอนก่อนว่าครูจะสอนเด็กให้รู้จักพัฒนาตนเองได้อย่างไร โดยอาจเริ่มต้นสอนจากกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถเริ่มต้นจากตัวเด็กแต่ละคนให้ได้ก่อน เช่น การเก็บขยะ  การประหยัดพลังงาน ฯลฯ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัย ที่ตนเองมีต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกในด้านต่างๆ     

ในส่วนของการเข้าถึงนั้น เมื่อครูเข้าใจแล้ว ครูต้องคิดหาวิธีที่จะเข้าถึงเด็ก พิจารณาดูก่อนว่าจะสอดแทรกกิจกรรมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เข้าไปในวิธีคิดและในวิชาการต่างๆ ได้อย่างไร ทั้งนี้ อาจจัดกิจกรรมกลุ่มให้นักเรียนได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ รู้จักแบ่งหน้าที่กันตามความสามารถของเด็กในแต่ละช่วงชั้น เช่น ในกิจกรรมการเก็บขยะเพื่อรักษาความสะอาดของโรงเรียนนั้น หากโรงเรียนใดสนใจอาจนำแนวทางเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้ เช่น ครูอาจจัดกิจกรรมสำหรับเด็กในแต่ละช่วงชั้น คือ

ช่วงชั้นที่ ๑ สร้างกิจกรรมที่สนับสนุนให้เด็กช่วยกันเก็บขยะ (ให้เด็กรู้หน้าที่ของตน ในระดับบุคคล)/    

ช่วงชั้นที่ ๒ สร้างกิจกรรมที่สนับสนุนให้เด็กช่วยกันเก็บขยะและนับขยะ   (ให้รู้จักการวิเคราะห์และรู้ถึงความเชื่อมโยงของตนเองกับสมาชิกคนอื่นๆ ในโรงเรียน) /  

ช่วงชั้นที่ ๓ สร้างกิจกรรมที่สอนให้เด็กรู้จักเชื่อมโยงกับชุมชนภายนอกรอบๆโรงเรียนเช่น สร้างกิจกรรมที่สอนให้เด็กรู้จักแบ่งแยกขยะ ร่วมมือกับชุมชนในการรักษาสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ที่โรงเรียนและชุมชนของเราตั้งอยู่ด้วย    

กิจกรรมทั้งหมดนี้สำคัญคือต้องเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยสถานศึกษาควรตั้งเป้าให้เกิดการจัดการศึกษาตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงสอดแทรกเข้าไปในกระบวนการเรียนรู้ สอนให้เด็กพึ่งตนเองให้ได้ก่อน จนสามารถเป็นที่พึ่งของคนอื่นๆ ในสังคมได้ต่อไป  

การจัดการศึกษาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง    

การจัดการศึกษาตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถดำเนินการได้ใน ๒ ส่วน ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสถานศึกษา และส่วนที่เป็นการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งส่วนที่ ๒ นี้ ประกอบด้วย การสอดแทรกสาระเศรษฐกิจพอเพียงในหลักสูตรและสาระเรียนรู้ในห้องเรียน และประยุกต์หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน     สำหรับมาตรฐานการเรียนรู้ มีวัตถุประสงค์ให้ทุกช่วงชั้นเข้าใจหลักเศรษฐกิจพอเพียงและสามารถประยุกต์ใช้ได้ แต่ถ้ามาตรฐานเรียนรู้ของทุกช่วงชั้นเหมือนกันหมดก็จะมีปัญหาทางปฏิบัติ จึงต้องกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนในการเรียนการสอนของแต่ละช่วงชั้น และแต่ละชั้นปี ดังนี้     

ช่วงชั้นที่ ๑ เน้นให้เด็กพึ่งตนเองได้ หรือใช้ชีวิตพอเพียงระดับบุคคลและครอบครัว เช่น ประถม ๑ ช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่ล้างจานชาม เก็บขยะไปทิ้ง กวาดบ้าน จัดหนังสือไปเรียนเอง แบ่งปันสิ่งของให้เพื่อน กินอาหารให้หมดจาน  ประถม ๒ วิเคราะห์รายจ่ายของครอบครัว จะมีเป็นตารางกรอกค่าใช้จ่ายต่างๆ ของครอบครัว คุณแม่ซื้ออะไรบ้าง คุณพ่อซื้ออะไรบ้าง เด็กจะได้รู้พ่อแม่หาเงินมายากแค่ไหน เช่น ยาสีฟันหลอดละ ๓๐ บาท จะต้องไม่เอามาบีบเล่น จะต้องสอนให้เด็กเห็นคุณค่าของสิ่งของ ให้เด็กตระหนักถึงคุณค่าของเงินทอง จะได้ฝึกนิสัยประหยัด ครอบครัวมีรายได้และรายจ่ายเท่าไร เด็กจะได้ฝึกจิตสำนึกและนิสัยพอเพียง ประถม ๓ สอนให้รู้จักช่วยเหลือครอบครัวอย่างพอเพียง และรู้จักแบ่งปัน ช่วยเหลือผู้อื่น มีส่วนร่วมสร้างครอบครัวพอเพียง     

ช่วงชั้นที่   ฝึกให้เด็กรู้จักประยุกต์ใช้หลักความพอเพียงในโรงเรียนสามารถวิเคราะห์วางแผนและจัดทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายของตนเองและครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วมในการสร้างความพอเพียงระดับโรงเรียน และชุมชนใกล้ตัว โดยเริ่มจากการสำรวจทรัพยากรต่างๆ ในโรงเรียนและชุมชน มีส่วนร่วมในการดูแลบำรุงรักษาทรัพยากรต่างๆ ทั้งด้านวัตถุ สิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ มาเป็นข้อมูลในการเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนและเห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง     

ช่วงชั้นที่ ๓ ประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงกับชุมชน มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน สามารถสำรวจและวิเคราะห์ความพอเพียงในระดับต่างๆ และในมิติต่างๆ ทั้งทางวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมในชุมชนใกล้ตัว เห็นคุณค่าของการใช้หลักพอเพียงในการจัดการชุมชน และในที่สุดแล้วสามารถนำหลักการพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของแต่ละคน จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่ความพอเพียงได้ในที่สุด    

ช่วงชั้นที่ ๔ เตรียมคนให้เป็นคนที่ดีต่อประเทศชาติสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้     ต้องเริ่มเข้าใจความพอเพียงระดับประเทศ และการพัฒนาประเทศภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ เช่น  การวิเคราะห์สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ หรือการศึกษาสถานการณ์สิ่งแวดล้อม สภาพปัญหาด้านสังคมเป็นอย่างไร แตกแยกหรือสามัคคี เป็นต้น     

ขณะนี้โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ได้พยายามดำเนินงานขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ

วิสัยทัศน์ของการขับเคลื่อน คือ สานเครือข่าย ขยายความรู้ ควบคู่ประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาฯ และให้บุคลากรด้านการศึกษา สามารถนำหลักคิดหลักปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการสู่การเรียนการสอนในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ของทุกระดับได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน และเป็นรูปธรรม ตลอดจนนักเรียนและผู้ปกครองสามารถนำหลักปรัชญาฯ ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตเพื่อให้เกิดประโยชน์และความสุขอย่างยั่งยืนสืบไปสมดังปณิธานของโรงเรียนที่ว่า...

"จิระศาสตร์ฉลาดและมีคุณธรรม เลิศล้ำเศรษฐกิจพอเพียง"
 
 
   

หมายเลขบันทึก: 111509เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2007 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้ไปชื่นชมบูธของโรงเรียนที่ตลาดนัดการจัดการความรู้ในวันนี้แล้วค่ะ   ขอชมเชย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท