สถานการณ์ปัจจุบันด้านการเมืองและเศรษฐกิจ


สถานการณ์ทางการเมืองรัสเซีย

การเมืองในรัสเซียค่อนข้างผันแปรและขาดเอกภาพในช่วงทศวรรษ ๑๙๙๐ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ค . ศ . ๑๙๙๑ ( พ . ศ . ๒๕๓๔) เนื่องจากการแก่งแย่งอำนาจระหว่างกลุ่มอำนาจต่างๆ ซึ่งเกิดจากความไม่ชัดเจนของระบอบการปกครอง ความปันป่วนทางการเมืองทวีความรุนแรงขึ้น จนกระทั่ง มีการก่อรัฐประหารในปี ค . ศ . ๑๙๙๓ ( พ . ศ . ๒๕๓๖) แต่นายบอริส เยลต์ซิน ประธานาธิบดีรัสเซียในขณะนั้น สามารถปราบปรามการก่อรัฐประหารได้สำเร็จ อันไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญรัสเซีย เพื่อให้ประธานาธิบดีสามารถกุมอำนาจได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน การเมืองรัสเซียมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยอำนาจในการบริหารประเทศส่วนใหญ่เป็นของประธานาธิบดี

เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๔๖ สหพันธรัฐรัสเซียได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาดูมา ซึ่งมีทั้ง สิ้น ๔๕๐ ที่นั่ง โดยมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบบเขตเลือกตั้ง โดยพรรค United Russia ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของพรรค Unity และ Fatherland-All Russia และเป็นพรรคที่ให้การสนับสนุนประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้ที่นั่งมากที่สุด คือ ๒๒๑ ที่นั่ง คิดเป็นร้อยละ ๔๙.๑ ผลการเลือกตั้งสภาดูมาในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่ลดน้อยลงของพรรคคอมมิวนิสต์ และ พรรคที่มีสายสัมพันธ์กับอดีตประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน ซึ่งประธานาธิบดีปูติน พยายามรักษาความสัมพันธ์ไว้ ในช่วงแรกที่รับตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากยังต้องพึ่งพาฐานอำนาจและการสนับสนุนการทำงานอยู่ แต่ในระยะหลังประธานาธิบดีปูตินมีท่าทีและการตัดสินใจในแนวทางของตนมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่ประธานาธิบดีปูติน สามารถสร้างฐานอำนาจของตนเองได้แล้ว นอกจากนี้ พรรค United Russia น่าจะสร้างพันธมิตรกับพรรคการเมืองอื่นๆ และผู้สมัครอิสระ เพื่อเพิ่มเสียงสนับสนุนในสภาดูมา ซึ่งจะช่วยให้ประธานาธิบดีปูตินดำเนินนโยบายและผ่านร่างกฎหมายต่างๆ ได้อย่างสะดวก รวมทั้งการลงคะแนนเสียงถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งคงไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ หากพรรค United Russia สามารถรวบรวมคะแนนเสียงได้เกิน ๒ ใน ๓ ของที่นั่งในสภาดูมา ก็จะมีเสียงสนับสนุนเพียงพอที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งจะเป็นการปูทางให้ประธานาธิบดีปูตินลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ ๓ ได้

เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๗ นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ได้ปลดคณะรัฐมนตรีรัสเซียทั้งคณะ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์การเมืองรัสเซีย ได้ให้ความเห็นว่า ในการประกาศปลดคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้นั้น ประธานาธิบดีปูตินมีจุด ประสงค์ที่จะปลดนายคาสยานอฟ แต่เพียงผู้เดียว แต่รัฐธรรมนูญรัสเซียไม่ให้ อำนาจแก่ประธานาธิบดีที่จะกระทำได้ โดยนายคาสยานอฟ มีความไม่ลงรอยกับประธานาธิบดีปูตินมา นานแล้ว โดยเฉพาะในด้านนโยบายเศรษฐกิจ นอกจากนี้ นายคาสยานอฟ ยังมาจากกลุ่มของอดีต ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน ซึ่งประธานาธิบดีปูตินพยายามที่จะสลายอิทธิพลให้หมดไป รวมทั้งมีความ เชื่อมโยงกับกลุ่มนักธุรกิจใหญ่ที่ได้รับประโยชน์จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในช่วงที่ประธานาธิบดีเยลต์ซิน อยู่ในอำนาจ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีปูตินได้กล่าวว่า การปลดคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมิได้สะท้อนถึงประสิทธิภาพ การทำงานของรัฐบาล ซึ่งโดยรวมถือว่าเป็นที่น่าพอใจ แต่เป็นการแสดงให้เห็น ถึงท่าทีของประธานาธิบดีปูตินต่อแนวทางของการเมืองรัสเซีย ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวัน ที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๗

เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๗ ประธานาธิบดีปูติน ได้แต่งตั้งนายมิคาเอล ฟรัดคอฟ ผู้ แทน พิเศษของประธานาธิบดีรัสเซียเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งสร้างความประหลาดใจ แก่ หลายฝ่าย เนื่องจากไม่มีผู้ใดคาดคิดมาก่อน และเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๗ ได้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ชุดใหม่ขึ้น ประกอบด้วยรัฐมนตรีทั้งสิ้น ๑๗ คน จากเดิมที่มี ๓๐ คน โดยมีวัตถุ ประสงค์ เพื่อให้การทำงานดำเนินได้อย่างคล่องตัวยิ่งขึ้น และเพื่อขจัดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ทั้งนี้ ตำแหน่งรัฐมนตรีที่สำคัญส่วนใหญ่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง นอกจากตำแหน่งรัฐ มนตรี ว่าการกระทรวงการต่าง ประเทศ นาย เซอร์เกย์ อิวานอฟ เอกอัครราชทูตหัวหน้าคณะผู้แทนถาวรของสหพันธรัฐรัสเซียประจำ สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทน นาย อิกอร์ อิวานอฟ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยประธานาธิบดีปูติน ได้ประกาศด้วยว่า หากตนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี คณะรัฐมนตรีชุดนี้จะได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานต่อไป

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๗ นั้น มีผู้สมัครทั้งสิ้น ๖ คน รวมทั้งประธานาธิบดีปูติน ซึ่งผลปรากฏว่า ประธานาธิบดีปูตินได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นถึงร้อยละ ๗๑.๒ ซึ่งชัยชนะของประธานาธิบดีปูตินในการเลือกตั้งครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความนิยมในตัวประธานาธิบดีฯ ที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่ประชาชนรัสเซีย เมื่อเทียบกับคะแนนสนับสนุน ร้อยละ ๕๒.๕ ที่ได้รับในการเลือกตั้งครั้งก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของรัสเซีย ในช่วง ๔ ปี ที่ผ่านมา นอกจากนี้ มีการวิเคราะห์ว่า ชาวรัสเซียมักจะชื่นชอบผู้นำที่เข้มแข็ง เนื่องจากเชื่อว่า จะสามารถปกครองประเทศที่มีขนาดใหญ่เช่นรัสเซียได้ ซึ่ง ประธานาธิบดีปูติน ได้แสดงออกถึงคุณลักษณะดังกล่าวมาโดยตลอด ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะ การใช้ นโยบายและมาตรการที่เด็ดขาดและจริงจังในการแก้ไขปัญหาเชชเนีย

เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ประธานาธิบดีปูตินได้ปรับคณะรัฐมนตรีบางตำแหน่ง โดยแต่งตั้งนาย ดมิทรี เมดเวเดฟ หัวหน้าสำนักงานประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และยังได้แต่งตั้งนาย เซอร์เกย์ อิวานอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่ง การปรับคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ประธานาธิบดีปูตินต้องการแสวงหาผู้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีปูตินแทนตนเอง โดยคาดคะเนว่า ประธานาธิบดีปูตินจะสนับสนุนนาย ดมิทรี เมดเวเดฟ สำหรับการสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซียที่จะมีขึ้นในปีค.ศ. ๒๐๐๘ ซึ่งรัฐธรรมนูญรัสเซียไม่อนุญาตให้ประธานาธิบดีลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ ๓ ทั้งนี้ นาย ดมิทรี เมดเวเดฟ ยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการของบริษัท Gazprom ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซียอีกด้วย

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจรัสเซีย

รัสเซียได้ดำเนินการปฏิรูประบบเศรษฐกิจจากระบบวางแผนส่วนกลางไปสู่ระบบเสรีนิยมตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๒ ( พ . ศ . ๒๕๓๕) โดยมีแนวทางที่สำคัญๆ ได้แก่ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การเปิดเสรีการค้า และการปฏิรูประบบการเงินการคลัง โดยมีจุดประสงค์ เพื่อนำรัสเซียให้พ้นจากสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความล้มเหลวของการบริหารเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางในสมัยสหภาพโซเวียต การปฏิรูปด้านการคลังภายหลังการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการ พึ่งพาการกู้ยืม เงินระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณ รวมทั้งวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย ได้ส่งผลให้รัสเซีย ต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในปี ค.ศ. ๑๙๙๘ (พ.ศ. ๒๕๔๑ ) และต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF อย่างไรก็ตาม รัสเซียสามารถดำเนินการให้รอดพ้นวิกฤต การณ์เศรษฐกิจได้ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพของเงินรูเบิล การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ จนสามารถชดใช้เงินต้นที่กู้ยืมจาก IMF ได้ ในช่วงปี ค.ศ. ๒๐๐๐-๒๐๐๑ (พ.ศ. ๒๕๔๓-๒๕๔๔) รวมทั้งมีเงินทุนสำรองและกระแสบัญชีเดินสะพัดเกินดุล นอก จากนี้ การปฏิรูปและเปิดเสรีทางการค้าทำให้รัสเซียได้รับการรับรองสถานะเศรษฐกิจแบบตลาดจากสหรัฐฯ และได้รับคำมั่นจากสหภาพยุโรปที่จะให้สถานะเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนการสมัครเป็นสมาชิก WTO ของรัสเซียด้วย ปัจจัยหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัสเซียคือ อุปสงค์การบริโภคในประเทศสูงขึ้น และ รายได้ประชาชนเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้รัสเซียสามารถนำรายได้ จากส่วนนี้ไปใช้หนี้ต่างประเทศและส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ รวมทั้งเงินรูเบิลที่มีเสถียรภาพ และ ความต่อเนื่องในการดำเนินมาตราการปฏิรูปทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ เช่น การดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การปฏิรูประบบภาษีเพื่อลดความซ้ำซ้อน การปฏิรูปที่ดินและการเงิน และการปรับเปลี่ยน ระเบียบขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคมให้คล่องตัวยิ่งขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลรัสเซียยังคงดำเนินนโยบายอื่นๆ เพื่อเปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะการลดบทบาทของรัฐบาลในภาคธุรกิจ การสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน และการลดอัตราภาษีศุลกากร นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญต่อการลงทุนของต่างประเทศเป็นอย่างมาก เพื่อให้เป็นเป็นปัจจัยกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมโดยรวม รวมทั้งการขยายธุรกิจ การเพิ่มการจ้างงาน การเพิ่มผลผลิต และการพัฒนาระบบธุรกิจของบริษัทภายในประเทศให้มีความทันสมัย ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่รัสเซียต้องเร่งแก้ไข คือ การเจริญเติบโตยังจำกัดอยู่ในภาคอุตสาหกรรมพลังงานและเชื้อเพลิง การขาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความล่าช้าในการปฏิรูปสาธารณูปโภค อสังหาริมทรัพย์ ระบบการธนาคารและภาคการเงิน การขาดการลงทุนของธุรกิจขนาดกลางและย่อมและธุรกิจรายใหม่ๆ ระบบการผลิตส่วนใหญ่ไม่สามารถเพิ่มผลผลิต ทำให้ประสบภาวะขาดทุน และช่องว่างของรายได้ระหว่างประชาชนในเมือง และชนบท.....

คำสำคัญ (Tags): #russian
หมายเลขบันทึก: 111508เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2007 15:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ต้องการรู้ว่าการส่งออกสินค้าไปรัสเซียนั้นมีกฎหรือเงื่อนไขอะไรบ้างที่รัสเซยกำหนดและสินค้าประเภทยางทุกชนิดที่ส่งออกไปรัสเซียมีอะไรบ้างสินค้าตัวใดที่ได้รับ มอก.

ตอนนี้อยากทราบว่าสถานการณ์ในรัสเซีย โดยเฉพาะกรุงมอสโกและกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กปลอดภัยหรือเปล่าค่ะ เห็นได้ข่าวว่ามีกลุ่มสกินเฮดเหยียดผิวคอยดักโจมตีทำร้ายร่างกายชาวต่างชาติอยู่ตลอด สักไม่ค่อยมั่นใจที่จะไปเที่ยวรัสเซียสักเท่าไหร่อ่ะค่ะ ขอบคุณสำหรับคำตอบล่วงหน้าน่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท