รู้จักกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย


สันนิบาตเทศบาล
 

                สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย หรือเรียกกันย่อๆ ว่า ส.ท.ท. มีฐานะเป็นสมาคม ที่เป็นนิติบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  สมาชิกของสมาคมนี้จะประกอบด้วย บรรดาเทศบาลทั้งหลายที่สมัครเข้ามาเป็นสมาชิก กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ซึ่งในระยะแรก เมื่อมีจำนวนเทศบาลไม่มากนัก สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ก็ยังอิงอยู่กับการบริหารงานของกรมการปกครอง และมีคณะกรรมาธิการบริหาร 1  ชุด ทำหน้าที่บริหารงานของสมาคม ต่อมาเมื่อมีการยกฐานะสุขาภิบาลทั่วประเทศจำนวน 980 แห่งขึ้นเป็นเทศบาล ทำให้จำนวนเทศบาลเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีอันเนื่องมาจากการยกฐานะ องค์การบริหารส่วนตำบลขึ้นเป็นเทศบาล ดังนั้นเพื่อให้การบริหารงานของสมาคมมีประสิทธิภาพ สนองตอบต่อความต้องการของสมาชิกสมาคมได้มากขึ้น จึงมีการแก้ไขข้อบังคับของสมาคมใหม่ โดยแบ่งการบริหารสมาคมในลักษณะของการกระจายอำนาจมากขึ้น โดยกำหนดให้มีกรรมการบริหารสมาคมเป็น 3 ระดับ คือ

                1.สันนิบาตเทศบาลจังหวัด... ให้จัดตั้งขึ้นทุกจังหวัด โดยมีสมาชิกประกอบด้วยเทศบาลในจังหวัดนั้นๆมีคณะกรรมการบริหารสันนิบาตเทศบาลจังหวัดดังนี้

                                1.1 ประธานจังหวัด (นายกเทศมนตรีในจังหวัดนั้นๆเลือกกันเองเป็นประธาน) 1 คน

                                1.2 คณะกรรมการสันนิบาตเทศบาลจังหวัด ประกอบด้วย

                                                (1) นายกเทศมนตรีทุกเทศบาลในจังหวัด เป็น กรรมการ

                                                (2) ปลัดเทศบาลทุกเทศบาลในจังหวัด เป็น กรรมการ

                                1.3 เลขานุการ (ให้ปลัดเทศบาลที่นายกเทศมนตรีได้รับเลือกเป็นประธานจังหวัด เป็นเลขานุการโดยตำแหน่ง)

                หน้าที่ของสันนิบาตเทศบาลจังหวัด กำหนดไว้สั้นๆว่า มีหน้าที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยในระดับจังหวัดและตามที่ได้รับมอบหมายจากสันนิบาตเทศบาลภาค

                2. สันนิบาตเทศบาลภาค มีทั้งหมด 5 ภาค ตามการแบ่งของสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาชิกประกอบด้วย เทศบาลที่อยู่ในภาคนั้นๆ มีคณะกรรมการบริหารประกอบด้วย

                                2.1 ประธานภาค (ประธานจังหวัด ในภาคนั้นๆคัดเลือกกันเอง)   1 คน

                                2.2 คณะกรรมการบริหารสันนิบาตเทศบาลภาค ประกอบด้วย

                                                (1) ผู้แทนซึ่งเป็นประธานจังหวัด จังหวัดละ 1 คน

                                                (2) ผู้แทนซึ่งเป็นนายกเทศมนตรี จังหวัดละ 1 คน

                                                (3) ผู้แทนซึ่งเป็นปละเทศบาล จังหวัดละ 1 คน

                                2.3 เลขานุการภาค (ปลัดเทศบาลในเทศบาลที่นายกเทศมนตรีได้รับเลือกเป็นประธานภาค)

                หน้าที่ของสันนิบาตเทศบาลภาค กำหนดไว้สั้นๆว่า มีหน้าที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยในระดับภาคและตามที่ได้รับมอบหมายจากสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย

                3.สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย มีเพียง 1 แห่ง มีคณะกรรมการบริหาร ซึ่งใช้ชื่อเรียกว่า คณะกรรมาธิการบริหาร ประกอบด้วย

                                3.1 นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ประธานจาก 5 ภาคคัดเลือกกันเอง) 1 คน

                                3.2 อุปนายกสมาคม (จากประธานภาคทั้ง 5 ภาค) จำนวน 5 คน

                                3.3 คณะกรรมาธิการบริหารที่เป็นสมาชิกสามัญ จำนวน 55 คน ประกอบด้วย

                                                (1) ผู้แทนซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีภาคละ 8 คน รวม 40 คน

                                                (2) ผู้แทนซึ่งเป็นปลัดเทศบาลภาคละ 3 คน รวม 15 คน

                                3.4 ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย จำนวน 1 คน

                                3.5 ผู้แทนกรุงเทพมหานคร จำนวน 1 คน

                                3.6 เลขาธิการ จำนวน 1 คน

                                เลขาธิการของสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย มาจากการสรรหาของคณะกรรมาธิการบริหาร  โดยทำสัญญาว่าจ้างครั้งหนึ่งไม่เกิน 4 ปี

            สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จะมีรายได้หลักๆ มาจาก

1.      ค่าธรรมเนียมการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย รายละ 1,000 บาท

2.      ค่าบำรุงสมาคม ซึ่งเทศบาลที่เป็นสมาชิก ต้องตั้งงบประมาณอุดหนุนสมาคมฯตามข้อบังคับกำหนดไว้ว่า ในอัตราร้อยละเศษหนึ่งส่วนหกของรายรับจริงในปีที่ผ่านมา โดยไม่รวมเงินกู้ เงินจ่ายขาดและเงินอุดหนุนทุกประเภท แต่สูงสุดไม่เกิน เจ็ดแสนห้าหมื่นบาท

หมายเลขบันทึก: 110959เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2007 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แล้วการส่งค่าบำรุงสทท มันขัดต่อระเบียบการทำงบประมาณมั้ย ถ้าทำได้มันเข้าหมวดไหน

สมัยก่อนๆการตั้งงบประมาณสนับสนุนสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ไม่เคยมีปัญหาโดยเฉพาะในสมัยที่องค์กรของเทศบาลยังสังดักอยู่กับกรมการปกครอง และมีอธิบดีหรือรองอธิบดีกรมการปกครอที่ได้รับมอบหมายทำหน้าที่เป็นเลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย โดยในสมัยนั้น จะมีหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท 0313.4/ว 3889 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งออกโดยกรมการปกครอง เรื่องซักซ้อมความเข้าใจหนังสือสั่งการ การตราเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่าย กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งงบประมาณรายจ่าย ในข้อ 1 การตั้งงบประมาณรายจ่ายงบกลาง

1.2 ค่าบำรุงสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ให้เทศบาลและเมืองพัทยาตั้งงบประมาณรายจ่ายเป็นค่าบำรุงสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยเป็นรายปี ในอัตราร้อยละเศษหนึ่งส่วนหกของรายรับจริงในปีที่ล่วงมาแล้ว (ไม่รวมเงินกู้ เงินจ่ายขาดเงินสะสม และเงินอุดหนุนทุกประเภท) แต่ทั้งนี้ไม่เกินห้าแสนบาท

และในหนังสือกรมการปกครอง ด่วนมากที่ มท 0313.4/ว 2787 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 เรื่อง การพิจารณาระบบงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จำแนกประเภทรายจ่ายตามงบประมาณ กำหนดไว้คือ รายจ่ายตามงบประมาณจำแนกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ รายจ่ายงบกลาง และรายจ่ายของแผนงาน

1.รายจ่ายงบกลาง หมายความว่า รายจ่ายที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีภาระผูกพันต้องจ่ายและเป็นรายจ่ายที่ตั้งไว้เพื่อจัดสรรให้หน่วยงานต่างๆเบิกจ่าย ได้แก่ รายจ่ายดังต่อไปนี้

(2) ประเภท รายจ่ายตามข้อผูกพัน รายละเอียด - เช่น ค่าบำรุงสันิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ตามข้อบังคับสมาคม ส.ท.ท. เป็นต้น

ครับที่มาที่ไปของการตั้งงบประมาณอุดหนุนสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ก็เป็นเช่นนี้ ส่วนช่วงหลังๆ เมื่อมีการจัดตั้งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และทางสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย ได้้มีการพัฒนาองค์กรใหม่ โดยใช้ระบบของการว่าจ้างเลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย มาทำหน้าที่ในการบริหารงานของสมาคม แทนข้าราชการประจำเดิม ทำให้ช่วงหลังๆหนังสือซักซ้อมแนวทางในการตั้งงบประมาณอุดหนุนสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ได้หายไปด้วย ยิ่งช่วงหลังเริ่มมีการจัดตั้งสมาคมหรือองค์กรต่างๆเพิ่มขึ้น ตามความคิดเห็นที่แตกต่าง ก็ยิ่งทำให้บทบาทและฐานะของสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยสั่นคลอนมากยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องของสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ที่จะต้องพิจารณาทบทวนบทบาท อำนาจหน้าที่ และกำหนดทิศทางเดินของตนว่า จะไปในมิศทางไหน และจะทำให้สมาชิกซึ่งเป็นเทศบาลเกือบทั่วประเทศเข้าใจและมั่นใจได้อย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท