นาฏลีลา...สู่ลูกพระมารดา


นาฏศิลป์

นาฏศิลป์มีประโยชน์และมีคุณค่าในฐานะที่เป็นศิลปะประจำชาติ  เป็นศิลปะแห่งการแสดงที่ให้ทั้งความบันเทิงและความรู้  มีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นพื้นฐานด้านจิตใจ  สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์  มีความซาบซึ้ง  และเข้าใจในศิลปะวัฒนธรรมของชาติ  สามารถสร้างผลงานการแสดงได้อย่างมีคุณค่า 

ทางกลุ่มวิชานาฏศิลป์  ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาของนักเรียนตามข้อความดังกล่าวและได้จากวิสัยทัศน์ของโรงเรียนที่กล่าวว่า  “...พัฒนาผู้เรียน ครบทุกมิติ จึงได้พยายามจัดการแสดงนาฏศิลป์ให้มีคุณค่าและมีคุณภาพ

การจัดการแสดงทุกครั้ง  ครูทุกท่านในชมรมนาฏศิลป์จะนึกถึง Concept ของงานที่ได้รับมอบหมาย  นำมาศึกษาว่าจะจัดการแสดงในรูปแบบใด  โดยการสรรหาบทเพลงที่มีอยู่แล้วมาเอื้อต่อการแสดง  หรือจัดแต่งบทกลอนใหม่ให้เป็นเหตุการณ์เฉพาะ  เช่น  งานวันแม่แห่งชาติ  งานวันพ่อแห่งชาติ  งานฉลองศาสนนาม  งานเฉลิมฉลองครบรอบ ๖๐ ปี แห่งการครองราช  งานวันครอบครัวพระมารดาฯ  งานแสดงต้อนรับคณะกรรมการมาตรวจเยี่ยมในโอกาสต่างๆ  เป็นต้น  แล้วนำมาบรรจุดนตรี  โดยครูชมรมดนตรีไทยจะศึกษา  กำหนดทำนองเพลง แล้วส่งวิทยาลัยนาฏศิลป์บรรจุเพลง

เมื่อได้รับเพลงที่บรรจุเนื้อร้องและท่วงทำนองเพลงแล้วครูในชมรมนาฏศิลป์  จะร่วมกันคิดประดิษฐ์ท่ารำ  การแปรแถว การแต่งกายประกอบการแสดงอย่างพิถีพิถัน  หลังจากนั้นจะร่วมกันฝึกซ้อมครูในชมรมก่อน  จึงจะถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียน

สำหรับนักเรียนที่แสดงนั้น  จะมีชื่ออยู่ในทะเบียนชมรมนาฏศิลป์  ครูผู้ฝึกซ้อมจะคัดนักเรียนตามความสามารถ  ตามความยากง่ายของบทเพลง  ของท่ารำแล้วฝึกซ้อมนอกชั่วโมงเรียน  หากมีนักเรียนคละชั้นกันมากไม่สามารถ  นัดแนะเวลาเดียวกันได้  ก็จะทำเรื่องขอชั่วโมงแนะแนวบ้าง  จริยะศึกษาบ้าง  เพื่อฝึกซ้อม

ครูชมรมนาฏศิลป์มีความมุ่งมั่นในการสรรค์สร้างผลงานแต่ละครั้งด้วยความพิถีพิถันประณีต  เพื่อให้เกิดความงดงาม  อ่อนช้อย  คิดประดิษฐ์ท่ารำ  การแปรแถวที่มีความหมาย  สวยงาม  ความพร้อมเพรียง  สิ่งสำคัญก็คือ  ครูทุกคนในชมรมมีความเคารพซึ่งกันและกัน  มีความรับผิดชอบต่อการแสดงอย่างสูงเมื่อมีการแสดงเมื่อใด  ครูชมรมนาฏศิลป์จะมาแต่เช้าเพื่อแต่งหน้า  แต่งกาย เตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียนโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย  ขอให้งานออกมาอย่างมีคุณภาพ  นี่คือ  จุดเน้นของครูนาฏศิลป์  โรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์

พรสิริ  พงษ์สิริ

หมายเลขบันทึก: 110484เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2007 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท