รำลึกถึงครูสุดบูชา ป๋วย อึ๊งภากรณ์


อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์จัดได้ว่าเป็นปูชนียาจารย์ของคนทำงานด้านอาสาสมัครของเมืองไทยคนหนึ่ง เรียกได้ว่าหากใครทำงานภาคสังคมในประเทศไทย แล้วเอ่ยชื่อ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นต้องรู้จัก เพราะท่านเป็นบุคคลที่ถือได้ว่าเป็นแบบอย่างในการทำงานภาคสังคม สอนด้วยการกระทำมากกว่าคำพูด ท่านทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง

รำลึกถึงครูสุดบูชา ป๋วย อึ๊งภากรณ์

        เดือนกรกฎาคม ของทุกปี เป็นช่วงที่ชาวอิสรชนให้ความสำคัญอย่างยิ่งช่วงหนึ่ง ด้วยเพราะในช่วงเดือนดังกล่าว มีวันสำคัญที่ควรค่าแก่ระลึกถึงอย่างยิ่ง นั่นคือ วันครบรอบวันคล้ายที่ท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครูสุดบูชา ถึงแก่อนิจกรรม ในวันที่ 28 กรกฎาคม 

       อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์จัดได้ว่าเป็นปูชนียาจารย์ของคนทำงานด้านอาสาสมัครของเมืองไทยคนหนึ่ง เรียกได้ว่าหากใครทำงานภาคสังคมในประเทศไทย แล้วเอ่ยชื่อ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นต้องรู้จัก เพราะท่านเป็นบุคคลที่ถือได้ว่าเป็นแบบอย่างในการทำงานภาคสังคม สอนด้วยการกระทำมากกว่าคำพูด ท่านทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง 

       อาจารย์ป๋วย เป็นคนที่ทำงานยึดหลักการในการทำงานอย่างแข็งขัน และเที่ยงตรงจนยากจะหาใครมาเทียบได้ทั้งในยุคเดียวกัน หรือแม้ในยุคต่อมาก็ตาม และตามธรรมชาติของคนที่ทำงานมุ่งหวังประโยชน์ส่วนรวมมากว่าตัวเองของอาจารย์นี่เองที่ทำให้ท่านเป็นที่ขัดหูขัดตาของฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกับท่าน โดยเฉพาะฝ่ายที่อยู่ในอำนาจการปกครอง จนทำให้ท้ายที่สุดท่านอาจารย์ป๋วย ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างแดน และถึงแก่อนิจกรรมในประเทศอังกฤษ 

       ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่อิสรชนก่อร่างสร้างองค์กรขึ้นมา พยายามใช้ปรัชญาการทำงานเพื่อสังคม โดยยึดหลักและแนวทาง สันติประชาธรรม ที่ท่านอาจารย์ได้ฝากไว้ให้กับสังคมไทยมากว่า 30 ปี ที่เน้นประโยชน์สุขของชาวประชาด้วยวิธีสันติและเกื้อกูลกันและกันให้มากที่สุด ทำงานเล็ก ๆ ที่สม่ำเสมอ ไม่เน้นการทำงานใหญ่ ๆ ทำในสิ่งที่ตัวเองรักและทำให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยไม่ต้องสนใจว่าใครจะมองเห็นหรือไม่ แต่ให้มองและพิจารณาว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นประชาชน หรือผู้ที่เดือดร้อนได้รับผลประโยชน์ ถือว่างานที่ทำนั้นประสบความสำเร็จแล้วในระดับปฏิบัติการที่ตนเองกำลังทำอยู่  

       อีกประการหนึ่งที่อิสรชนน้อมนำมายึดถือและปฏิบัติอย่างต่อเนื่องนั่นคือ การให้โอกาสคน เพราะถือว่าคนทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน และคนทุกคนเปลี่ยนแปลงได้ แม้ว่าหลายต่อหลายครั้ง การให้โอกาสคน ที่อิสรชนทำอยู่ จะส่งผลทำให้เกิดเรื่องราวที่ส่งผลกระทบในเชิงลบกับอิสรชนมากมายก็ตาม เราก็ถือว่าเราได้ทำดีที่สุดแล้ว ส่วนคนที่เขาได้รับโอกาสจากเราไป เขาจะมองเห็นหรือไม่ หรือ เขาจะใช้โอกาสนั้นกลับมาทำร้าย หรือทำลายเรา ก็เป็นเรื่องของเขา เราไม่สนใจ และไม่ถือเอามาเป็นเรื่องที่บั่นทอนกำลังใจในการทำงานแต่อย่างใด

       ตลอดระยะเวลาการทำงานบนเส้นทางที่มีขวากหนาม สลับกับกลีบดอกไม้ในบางเวลา มีทั้งรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ คราบน้ำตา คละเคล้าปะปนกันตามสมควร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละครั้งแต่ละคราวที่เราจะพบจะเจอเรื่องราวอะไรในช่วงนั้น ๆ แต่ทุกครั้งเมื่อเรา หันกลับไปมองรูปอาจารย์ป๋วย หรือนั่งดูประวัติของท่าน ทำให้เราเกิดกำลังใจและฮึดสู้ทุกครั้ง เพราะสิ่งที่เราเจออยู่นี้นั้น เป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับสิ่งที่ท่านอาจารย์ป๋วยประสบกับตัวท่านเอง อิสรชน ก็พร้อมที่จะพิสูจน์ตัวเอง พิสูจน์การทำงานเพื่อสังคม ให้รู้กันว่า ทองแท้ไม่กลัวไฟ และที่สำคัญในทุกรอบปี อย่างน้อยสองครั้ง คือในเดือนมีนาคม และเดือนกรกฎาคม เป็นช่วงเวลาที่ เราจะทบทวนและบอกกับคนทำงานของอิสรชนว่า เรื่องราวการทำงานของเราเพิ่งเริ่มต้น อย่าเพิ่งท้อแท้หมดกำลังใจ ตราบใดที่ปัญหาสังคม ความไม่เท่าเทียมกันยังคงอยู่ งานของเราก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป และเรายังคงต้องยึดแบบอย่างที่ดีที่สุดของเราไว้เป็นยาชูกำลังใจ นั่น คือ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครูสุดบูชาของพวกเรา ชาวอิสรชน 

หมายเลขบันทึก: 109812เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2007 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท