BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ฉันเพลบ้านโยม


ฉันเพลบ้านโยม

เมื่อวาน ผู้เขียนได้รับการนิมนต์จากเพื่อนสหธรรมิกเพื่อไปฉันเพลงานทำบุญวันเกิดที่บ้านน้องสาวของท่าน พร้อมด้วยเพื่อนอีกรูป ดังนั้นจึงไปกัน ๓ รูป เป็นการทำบุญส่วนตัว ไม่เน้นพิธีกรรม....

การทำบุญเลี้ยงพระที่บ้าน อาจจำแนกได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ เป็นพิธีกรรม และไม่เป็นพิธีกรรม... ที่เป็นพิธีกรรมก็เช่น นิมนต์พระ ๕ รูป หรือ ๙ รูป มาเจริญพุทธมนต์ตอนเพล (ใกล้เที่ยง) เพื่อเป็นสิริมงคลในโอกาสตามวาระ เช่น ขึ้นบ้านใหม่ เปิดห้างร้าน งานประจำปี หรือกรณีอื่นๆ...

การทำบุญที่เป็นพิธีกรรมทำนองนี้ จะมีรูปแบบหรือขนบจารีตตามศาสนพิธีชัดเจนตามท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งมักจะเริ่มต้นที่บูชาพระรัตนตรัย รับศีล ไปจนกระทั้งกรวดน้ำ และประพรมน้ำพระพุทธมนต์....

การทำบุญทำนองนี้ รายละเอียดแตกต่างกันไปตามประเภทของงานและท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งบางครั้ง ต่างหมู่บ้านในตำบลเดียวกันก็ยังไม่เหมือนกันนัก... หรือผู้นำพิธีรูปหนึ่ง (พระ) หรือคนหนึ่ง(โยม) ก็กำหนดแตกต่างกันออกไป.... แต่รูปแบบทั่วไปก็มักเหมือนๆ กัน

ส่วนการทำบุญเลี้ยงพระที่ไม่เป็นพิธีกรรม มักเป็นญาติใกล้ชิดหรือคุ้นเคยกับพระเป็นกรณีพิเศษ... ไม่มีการรับศีลหรือสวดอะไรเป็นกิจลักษณะ ไปถึงก็นั่งสนทนาถามข่าวคราวสุขทุกข์ซึ่งกันและกัน พอถึงเวลาก็จัดที่ให้พระฉัน... จำนวนพระก็มักจะมีเพียงรูปเดียว หรือสองสามรูปตามที่จะชักชวนหรือนิมนต์กันไป...

การทำบุญทำนองนี้ ถือว่าเป็นกันเอง เช่น ญาติใกล้ชิดนิมนต์ว่าให้ผ่านไปแถวบ้านฉันข้าวสักครั้ง ผู้เขียนก็อาจไปรูปเดียวหรือชวนเพื่อนบางรูปไปฉัน... ฉันเสร็จพระก็สัพพีฯ โยมก็กรวดน้ำ... หรือบางครั้งแม้การกรวดน้ำก็ไม่มี... ประมาณนี้

.......

เมื่อวานนี้ก็เช่นเดียวกัน คุณโยมผู้ชายซึ่งเป็นพ่อของน้องสาวเพื่อนพารถมารับไปจากวัดประมาณ ๑๐.๓๐ น. ไปถึงบ้านเวลาก็ใกล้เพลแล้ว (๑๑.๐๐ น ถือว่าเป็นเวลาเพล) ... นั่งพักนิดหนึ่งทางเจ้าบ้านก็จัดที่ยกข้าวปลาอาหารมาแล้วนิมนต์ผู้เขียนพร้อมกับเพื่อนอีกสองรูปเข้าประจำที่... อาหารมีสิบกว่าอย่าง เช่น สุกี้หม้อไฟ เป็ดย่าง หมูแดง คั่วกลิ้ง ปลาต้ม หมี่ซั่ว ข้าวผัด ฯลฯ

เมื่อเริ่มจะฉันหรือกำลังฉันนั้น เจ้าบ้านก็มาคอยบอกหรือกำกับว่าสิ่งนี้ต้องฉันกับสิ่งนั้น สิ่งนั่นต้องฉันกับสิ่งโน้น... ซึ่งมักจะเป็นไปทำนองนี้เหมือนๆ กันทุกบ้าน คล้ายๆ กับว่าพระเป็นเด็กไม่เคยเจอหรือไม่เคยฉันสิ่งนั้นๆ....

อันที่จริง ทางเจ้าภาพหรือเจ้าบ้าน มีน้ำใจต้องการให้พระคุณเจ้าฉันเยอะๆ หรือเกรงว่าพระคุณเจ้าจะผสมเครื่องปรุงต่างๆ ไม่ถูก... แต่ในฐานะที่ผู้เขียนบวชมานานและเจอเหตุการณ์ทำนองนี้มานับไม่ถ้วน... ใคร่จะบอกว่า พระคุณเจ้ารู้สึกเบื่อหรือค่อนข้างรำคาญเกือบทุกครั้ง ที่เจอทำนองนี้ แต่ด้วยความเกรงใจเจ้าภาพเจ้าบ้าน จึงมักจะไม่พูดให้เสียน้ำใจ....

เพื่อนผู้เขียนอีกรูป (มิใช่พี่ชายเจ้าของบ้าน) คงจะรู้สึกรำคาญ จึงตักสุกี้ในหม้อราดใส่จานกลายเป็นแกงจืดไปเลย แล้วก็ฉันโดยไม่ได้ใส่เครื่องปรุง... ผู้เขียนไม่ได้สักเกตว่าเจ้าของบ้านจะสังเกตเห็นหรือไม่... แต่ก็ไม่มีใครทักท้วงอะไร เพราะท่านก็คุ้นเคยกับเจ้าของบ้านมานานแล้วเช่นเดียวกัน...

อันที่จริง พระคุณเจ้าโดยมากมักต้องการความเป็นส่วนตัว ดังนั้น หลังจากประเคนเรียบร้อยแล้วก็ควรหลีกห่างออกมา ให้ท่านฉันตามอัธยาศัย ไม่ควรจะไปจำจี้จำไชว่าต้องฉันโน้นบ้างนี้บ้าง หรือต้องฉันสิ่งนั้นกับสิ่งนี้ เป็นต้น... แต่ก็ไม่ควรไปไกลเกินกว่าที่ท่านจะเรียกเบาๆ แล้วได้ยิน เผื่อว่าท่านต้องการอะไร จะได้ช่วยเป็นธุระให้...

เหตุที่บอกไว้ทำนองนี้ เพราะเคยเจอหลายครั้งแล้วเช่นเดียวกัน กล่าวคือ บางงานประเคนเสร็จแล้ว บรรดาเจ้าภาพเจ้าบ้านก็ถอยห่างออกไปคุยกันด้านอื่น หรือไปรับแขกไกลๆ โดยไม่มีใครช่วยมาเป็นธุระอยู่ใกล้ๆ... ปรากฎว่า บางครั้งขาดช้อนขาดจาน บางครั้งมีครบทุกอย่างยกเว้นข้าว... พระคุณเจ้าไม่รู้จะฉันอย่างไร จะตะโกนเรียกก็ไกลเกินไป หรือจะลุกขึ้นไปบอกก็ผิดธรรมเนียม...จึงต้องมองดูตากัน หันซ้ายหันขวาไปมา จนกระทั้งมีใครผ่านมาใกล้นั่นแหละ จึงได้บอกให้ไปเอาบางอย่างที่ขาดมาเสริม....

...........

ขนม ของหวาน หรือผลไม้ ก็อีกอย่างหนึ่ง... ถ้ามีพื้นที่กว้างและอาหารไม่มากนัก หากว่าจัดไว้พร้อมแล้วก็ควรจะประเคนให้เสร็จในครั้งเดียว... แต่ถ้าของมีเยอะแต่พื้นที่แคบ หรือยังไม่พร้อมก็ไม่ควรจะประเคนในขณะที่พระคุณเจ้ากำลังฉัน... บางงานพอพระคุณเจ้าฉันได้ ๒-๓ คำก็ยกของหวานมาประเคนถาดหนึ่ง... พอฉันได้อีก ๒-๓ คำ ก็ยกผลไม้มาประเคนอีกจานหนึ่ง.... ทำนองนี้ผู้เขียนก็เจอบ่อย ซึ่งบางครั้งก็รู้สึกรำคาญเลิกฉันไปเลยก็มี...

ดังนั้น การประเคนขนม ของหวาน หรือผลไม้ หากยังไม่พร้อมหรือมีพื้นที่น้อย ก็ค่อยประเคนเมื่อพระคุณเจ้าส่วนใหญ่ฉันข้าวเสร็จแล้ว จะได้ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญต่อพระคุณเจ้า... ญาติผู้ใหญ่ของผู้เขียนท่านหนึ่ง ชอบทำบุญเลี้ยงพระมาตั้งแต่ผู้เขียนไม่บวช แต่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ เมื่อผู้เขียนบวชอยู่ระยะหนึ่ง จึงได้แนะนำเรื่องนี้ต่อท่านเป็นการส่วนตัว....

ที่นำเรื่องนี้มาเล่า เพราะโดยมากญาติโยมมักจะไม่ค่อยสำเนียก... และพระคุณเจ้าก็มักจะไม่ค่อยบอก เพราะถึอว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย และต้องการรักษาศรัทธาญาติโยมมิให้เสียน้ำใจ... ประมาณนั้น  

หมายเลขบันทึก: 108186เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2007 00:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท