พุทธศาสนามองโลกในแง่ร้ายจริงหรือ?


"อยู่ในโลกแต่ไม่ยึดติดกับโลก ผู้มีปัญญามองเห็นสัจธรรมว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ ย่อมหาทางพ้นทุกข์ได้ตามแนวแห่งทางอริยมรรค"
 

 มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับพุทธศาสนาของเราว่าเป็นศาสนาที่มองโลกในแง่ร้ายจริงหรือไม่  อ่านแล้วก็ทำความเข้าใจ  หาเหตุและผลด้วยนะครับ  พอดีไปเจอมาขอนำเสนอให้ได้อ่านกัน  เผื่อจะได้ข้อคิดอะไรบ้าง  พูดเกี่ยวอริยสัจจ์  ๔  มีข้อความการถกเถียงกันระหว่างปราชญ์ชาวตะวันตกที่มีความคิดแตกต่างออกไป

อริยสัจจ์ 4 ข้อที่ 1 ทุกข์ (ทุกขฺอริยสจฺจ) โดยทั่วไป นักปราชญ์ส่วนมากแปลกันว่า "ความจริงอันประเสริฐแห่งทุกข์" และได้ตีความกันว่า ชีวิตตามหลักพุทธศาสนาไม่มีอะไรอื่นนอกจากความทุกข์ และความทรมาน ทั้งการแปล และการตีความเหล่านี้ไม่เป็นที่น่าพึงพอใจอย่างยิ่ง และนำไปสู่ความเข้าใจผิด เป็นเพราะการแปลที่จำกัดขาดหลักเกณฑ์ และเอาง่ายเข้าว่า ตลอดจนการตีความอย่างผิวเผินนี้เองที่ทำให้คนทั้งหลายเกิดการเข้าใจผิดไปว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภททุนิยม (มองโลกในแง่ร้าย)

ก่อนอื่น (ควรเข้าใจเสียก่อนว่า) พุทธศาสนาไม่เป็นทั้งทุนิยม (มองโลกในแง่ร้าย) หรือ สุนิยม (มองโลกในแง่ดี) ถ้าจะให้เป็นอะไรสักอย่างหนึ่งแล้ว พุทธศาสนาก็เป็นสัจจนิยม เพราะพุทธศาสนายึดชีวทัศน์ และโลกทัศน์ตามความเป็นจริง พุทธศาสนามองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง (ยถาภูตํ) ไม่ได้เกลี้ยกล่อมให้ท่านมีชีวิตอยู่อย่างผิดๆ ในลักษณะฝันถึงสวรรค์วิมานของคนโง่ ทั้งไม่ทำให้ท่านตกใจและเกิดความทุกข์ร้อนจากภัยบาปต่างๆที่นึกคิดเอาเอง พุทธศาสนาสอนท่านอย่างตรงไปตรงมา และตามความเป็นจริงที่ว่า ท่านเป็นอะไร และโลกรอบๆท่านคืออะไร และชี้หนทางสู่เสรีภาพ สันติภาพ ความสงบ และความสุขอันสมบูรณ์แก่ท่าน

        

เคยมีความเห็นจากนักเทววิทยาชาวตะวันตกบางคนวิจารณ์คำสอนเรื่องทุกข์ในอริยสัจจ์ ว่าพุทธศาสนาสอนให้มนุษย์ปฎิเสธโลก และสอนให้มองโลกในแง่ร้าย แต่สำหรับ เคลาด์ วิตไมเออร์ ผู้ซึ่งเคยศึกษาพุทธศาสนาไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่านี้ ดังบทความที่เขาแสดงเห็นไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งว่า "โดยความเป็นจริงแล้ว หากเรามาพิจารณากันให้ถ่องแท้ด้วยสัมมาทิฏฐิ เราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความทุกข์นั้นเป็นปัญหาที่มีอยู่จริงในโลก แม้จะมีหลายคนพยายามที่จะปฏิเสธ และไม่ยอมรับโดยปล่อยให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปตามรูปแบบแห่งโลกียวิสัย แต่หากพิจารณาให้ลึกซึ่ง ความทุกข์นั้นจะคงยังมีอยู่ ตราบที่มีการยึดมั่นถือมั่นในความมักได้ ใคร่อยากของผู้ที่ยังไม่สามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น อันเนื่องมาจากความเป็นอนิจจัง เว้นเสียแต่เมื่อเรามองเห็นสัจธรรมว่า สรรพสิ่งทั้งหลายมันเป็นเช่นนั้นเองแล้วเท่านั้น อุปาทานต่อสิ่งที่เราเคยหลงยึดติดอยู่ในโลกนี้จึงจะหมดไป เมื่ออุปาทานดับ ทุกข์ก็ดับ นี้คือคำสอนของพระพุทธองค์ตามแนวทางแห่งมัชฌิปฎิปทา(ทางสายกลาง)"

ทีเอฟ. เคลียรลี ผู้ซึ่งศึกษาพุทธศาสนาจนเกิดความรู้ความเข้าใจในแก่นคำสอน ได้แสดงความคิดเห็นโต้แย้งความเชื่อเดิมที่มีชาวตะวันตกบางคนวิจารณ์ว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนเจ้าทุกข์ มองโลกในแง่ร้ายไว้ดังนี้"อันเนื่องมาจากวัฒนธรรมทางความคิดของชาวตะวันตกที่แปลความในคำสอนทางพุทธศาสนาเกี่ยวกับ "ทุกข์" (ที่สอนไว้ในไตรลักษณ์ และอริยสัจจ์ 4) แบบด่วนสรุปเอาว่า ชีวิต คือความทุกข์ ซึ่งตามความจริง หากได้ทำความเข้าใจให้กระจ่าง พุทธศาสนาสอนว่าสรรพสิ่ง (ที่เป็นสังขตธรรม) ทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ผู้เห็นธรรม ข้อนี้แลเจริญตามรอยอริยมรรคย่อมพ้นทุกข์"

เคลียรลี แสดงข้อคิดเห็นเรื่องนี้ต่อไปว่า หากเราใช้ความคิดอย่างเป็นอิสระ ไม่ปล่อยให้ตนเองเป็นเพียงหุ่นยนต์ตกเป็นทาสของความเชื่อเดิมๆ ที่มีต่อธรรมชาติแล้ว เราจะบอกกับตัวเองได้ว่า พุทธศาสนาโดยแน้แท้แล้ว เป็นศาสนาที่สอนให้มองโลกในแง่ดี พุทธศาสนาเชื่อว่า มนุษย์ทุกผู้ทุกนามมีความสามารถที่จะเอาชนะเหนือ ความเขลา ความขลาด และความรุนแรงได้ ชีวิตไม่ใช่สิ่งที่นำไปเปรียบเทียบกับความทุกข์ นิพพานไม่ใช่ทางตันในโลกวิญญาณ แต่เป็นที่พักพิงทางใจได้อย่างอิสระ เพราะนิพพานนั้นโดยแท้จริงแล้วก็คือ สภาวะของการดับทุกข์ นั้นคือ หลุดพ้นจาก "ธรรมที่มัดไว้กับทุกข์" สังโยชน์ เช่น โลภ โกรธ หลง สงสัย ลังเล (วิจิกิจฉา) ความเย่อหยิ่งถือตัว และความใจแคบไม่รับฟังความคิดเห็นผู้อื่น (ทิฐิ) เป็นต้น พุทธศาสนาสอนให้เรา "อยู่ในโลกแต่ไม่ยึดติดกับโลก ผู้มีปัญญามองเห็นสัจธรรมว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ ย่อมหาทางพ้นทุกข์ได้ตามแนวแห่งทางอริยมรรค" 
หมายเลขบันทึก: 107309เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2007 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท