สวมรองเท้าใส่บาตร...


พระสงฆ์ที่ดีนั้น ท่านจัดว่าเป็น "เนื้อนาบุญ" ของชาวพุทธ เมื่อเราจะทำบุญทำทานแก่ท่าน เราก็ต้องทำด้วยความเคารพทั้งกาย วาจา และ ใจ

    

 
 
          
     เรื่องสวมรองเท้าใส่บาตร เป็นเรื่องที่ควรต้องทำความเข้าใจกัน บางคนใส่บาตรไม่ถอดรองเท้า บางคนถอดรองเท้าออกแล้วแต่ยังยืนบนรองเท้าอีก มีเหตุผลอย่างไร และควรปฎิบัติอย่างไร


 
 
     ก่อนอื่น ขอได้โปรดรับทราบว่า การทำบุญทำทานโดยทั่วไปมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆคือ ให้เพื่อสงเคราะห์ หรืออนุเคราะห์ กับให้เพื่อบูชาคุณ

     ให้เพื่อสงเคราะห์หรือให้เพื่ออนุเคราะห์นั้นได้แก่ การให้กับคนที่ต่ำกว่าเรา(ทางฐานะ) เช่นขอทาน คนพิการ คนชรา คนประสบภัย เป็นต้น คนรับทานพวกนี้เราถือว่าเขาอยู่ในฐานะต่ำกว่าเรา เมื่อเราให้เขาแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเคารพ หรือกราบไหว้ตรงกันข้าม ผู้รับควรจะเคารพหรือกราบไหว้เราเสียอีก

     ให้เพื่อบูชาคุณ ได้แก่ การให้แก่ พระ เณร พ่อแม่ ครู อาจารย์ ตลอดจนผู้มีพระคุณต่างๆ ท่านเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ทรงคุณค่าต่างๆ เราให้ท่านก็เพื่อบูชาคุณของท่าน จึงถือว่าท่านอยู่ในคุณธรรมสูงกว่าเรา เราจึงต้องเคารพท่าน ทั้งก่อนให้ กำลังให้ หรือให้แล้วก็ตาม

     ในการตักบาตรให้พระนั้น เราต้องถือว่า พระที่แท้จริงนั้น ท่านต้องสูงทั้งศีลและธรรมกว่าเรา เราจึงต้องเคารพท่าน จะให้อย่างขอทานไม่ได้ เพราะขอทานไม่ใช่เนื้อนาบุญของเรา แต่พระสงฆ์ที่ดีนั้น ท่านจัดว่าเป็น "เนื้อนาบุญ" ของชาวพุทธ เมื่อเราจะทำบุญทำทานแก่ท่าน เราก็ต้องทำด้วยความเคารพทั้งกาย วาจา และ ใจ

     การแสดงความเคารพพระสงฆ์นั้น เราจะต้องจัดที่ให้ท่านสูงกว่าเราเสมอ หรืออย่างน้อยก็ต้องเสมอกันจึงจะถือว่า เป็นการให้ความเคารพท่านอย่างถูกต้อง ในการใส่บาตรนั้น พระท่านมาเท้าเปล่า ถ้าผู้ใส่บาตรสวมรองเท้าอยู่ ไม่ว่ารองเท้าประเภทใด ก็ถือว่าเราสูงกว่าพระ จึงจัดว่าขาดความเคารพในพระสงฆ์ผู้รับทาน

     แม้การถอดรองเท้า แต่ยังยืนบนรองเท้าก็จะยิ่งถือว่าสูงกว่าใส่รองเท้าเสียอีก เพราะได้เหยียบบนหูรองเท้าอีกทีหนึ่ง ถ้าไม่มีความจำเป็นอย่างอื่นก็ควรจะถอดออก และไม่ควรยืนบนรองเท้าอีก

     ข้อยกเว้น ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ ในบางครั้งบางโอกาสเช่นเท้าเจ็บ หรือใส่รองเท้าหุ้มส้นถอดยาก เรื่องมาก ไม่สะดวก และรีบร้อนจะไปธุระ ก็ไม่ถือว่าขาดความเคารพ หรือจะสวมรองเท้าก็ได้แต่ควรจัดสถานที่พระยืนรับบาตรให้อยู่เสมอเรา หรืออยู่สูงกว่าเรา เช่นหาแผ่นกระดานมารองเท้าพระ ให้ยืนสูงกว่าเราก็ไม่ถือว่าขาดความเคารพ

     แต่ว่าก็ว่าเถอะ ไหนๆเราจะทำบุญใส่บาตรทั้งที ชั่วเวลาไม่กี่นาที จะกลัวอะไรกับการเปื้อน พระท่านย่ำเท้ามาไกลกว่าเรา และนานกว่าเราด้วย ท่านยังทำได้ ควรจะกลัวกิเลสเปื้อนใจ มากกว่าที่จะกลัวโคลนเปื้อนเท้ามิใช่หรือ

     สำหรับบุคคลในเครื่องแบบ ใส่บาตรโดยไม่ถอดรองเท้าก็ไม่ถือว่าขาดความเคารพค่ะ อนุโลมได้..

     

คัดลอกจากหนังสือ วิถีแห่งความสุข
ขออนุญาตเผยแพร่เป็นธรรมทาน..
 
 
คำสำคัญ (Tags): #การทำบุญ
หมายเลขบันทึก: 107302เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2007 16:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท