หิ่งห้อย


แมลงพิเศษ

     จากการสอนนักเรียนในระดับชั้น ม.1  เรื่องพหุบาทสัตวาภิธาน  คำว่าหิ่งห้อย เป็นชื่อแมลงชนิดหนึ่งที่มีความพิเศษอยู่ในตัวมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น คือเป็นสัตว์ที่มีแสงเรือง ๆ ที่ก้น  สว่างวูบวาบเห็นเป็นแสงเขียว ๆ  และด้วยเหตุที่หิ่งห้อยมีแสงนี่เองทำให้ เด็ก ๆ สนใจ ว่าแสงนี้มาจากไหน

     คนโบราณสนใจเรื่องหิ่งห้อยกันมากแต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าทำไมจึงมีแสง  จึงต้องแต่งนิทานขึ้นประกอบประวัติของหิ่งห้อยว่า  ก่อนนี้ไม่มีหิ่งห้อยแต่มีเด็กคนหนึ่งทำอีแปะตกหาย  ด้วยความเสียดายหรือกลัวถูกทำโทษจึงเพียรหาอยู่จนมืดค่ำ  พอค่ำลงก็จุดตะเกียงหาแต่ไม่พบ  ต่อมาเด็กคนนั้นตายด้วยความผูกพันที่จะหาอีแปะนั้นให้ได้จึงไปเกิดเป็นหิ่งห้อย.......คำตอบอาจไม่ตรงแต่ก็เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน....ในการหาคำตอบ 

     สุนทรภู่แลเห็นแสงหิ่งห้อยก็นำไปเปรียบว่าเหมือนเพชรพลอยซึ่งดูมีค่าขึ้น  จากนิราศเมืองสุพรรณตอนหนึ่งว่า

    ลำพูดูหิ่งห้อย                   พรอยพราย

เหมือนเม็ดเพชรรัตน์ราย        รอบก้อย

วับวับจับเนตรสาย                 สวาทสบ  เนตรเอย

วับเช่นเห็นหิ่งห้อย                 หับหม้านนานเห็น

นี่คงจะอยู่ในอารมณ์รักหิ่งห้อยจึงดูสวยและมีคุณค่า  แต่พอโกรธหิ่งห้อยก็ถูกเปรียบว่า 

มึงดั่งหิ่งห้อยน้อยแสง    ฤๅจะแข่งกับดวงสุริยฉัน  จากเรื่องรามเกียรติ์ตอนศึกไมยราพ   

   แสงของหิ่งห้อยเกิดขึ้นได้อย่างไร  นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเหมือนกันหากใครมีคำตอบดี ๆ ก็ลองตอบมาบ้างนะคะ

       

หมายเลขบันทึก: 107298เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2007 16:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
       ขอร่วมสนทนาด้วยคนนะคะ  เพราะเป็นคนที่ชอบหิ่งห้อยมาก  แสงของหิ่งห้อยเกิดจากกระบวนการทางเคมี  โดยในปล้องแสงของหิ่งห้อยมีสารลูซิเฟอริน (Luciferin)  รวมทั้งได้รับพลังงาน เอทีพี (ATP:  Adenosine  Triphoshate)  ซึ่งเป็นโปรตีนให้พลังงานในเซลล์  ทำให้เกิดแสงที่เรามองเห็นได้ในเวลากลางคืน  หิ่งห้อยกระพริบแสงเพื่อเป็นสื่อให้คู่ของมันมาผสมพันธุ์  (รู้แล้วห้ามแอบดูนะจ๊ะ)

ขอบคุณมากสำหรับคำตอบ  เป็นความรู้ที่ดีมากเลยค่ะ

ปฎิกิริยาของสารเคมีในตัวหิ่งห้อยทำให้เปล่งแสงออกมาได้ เพื่อหาคู่ผสมพันธุ์ ...เป็นพฤติกรรมเกี้ยวพาราสีอย่างหนึ่ง ในสัตว์อื่นๆ พืช จุลินทรีย์ คน อยู่ได้เพราะปฎิกิริยาทางเคมี จริงๆแล้วปฎิกิริยาเคมีเกิดขึ้น ในทุกกลไกของการมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะเป็นย่อยอาหาร รับรู้-ตอบสนอง เคลื่อนไหว สลาย โมเลกุลสารอาหาร ฯลฯ ก็แล้วแต่ว่า จะมองหิ่งห้อยในลักษณะอย่างไร ข้อเท็จจริงคือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฎนั้น ย่อมมีดีและมีเลวเคล้ากันเสมอ มีประโยชน์และโทษ น่าสนใจ-ไม่น่าสนใจ มองว่ากระจอก มองว่ายิ่งใหญ่ ได้ทั้งนั้น แล้วแต่ประสบการณ์..กระมัง

ขอขอบคุณสำหรับความคิดเห็นที่ดีๆ  เคยได้ยินมาว่าหิ่งห้อยตัวเมียไม่มีปีกจะเกาะอยู่ตามต้นไม้และมีแสงสว่างมากกว่าตัวผู้  จะส่องแสงวับๆ  เพื่อเป็นสัญญาณให้ตัวผู้รู้ว่าตนเองอยู่ไหน  ข้อนี้จริงหรือเปล่าไม่แน่ใจ.... 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท