constructive


หลักการข้อที่ห้าคือ  เราสามารถปรับความรู้สึกของเราได้ทางอ้อมโดยผ่านทางพฤติกรรมการกระทำ    เราสามารถใช้พฤติกรรมการกระทำของเราเพื่อส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่ต้องการหรือลดความรู้สึกที่ไม่ต้องการได้   โปรดสังเกตว่าเราใช้คำว่า ส่งผล มิใช่ ควบคุมบังคับ  ทั้งนี้  เนื่องจากความรู้สึกที่รุนแรงนั้นมักจะเปลี่ยนแปลงยาก ต้องใช้เวลาบ้างกว่าจะเบาบางลง  อย่างไรก็ตาม การทำอะไรบ้างเพื่อช่วยส่งผลย่อมจะดีกว่าที่จะเพียงแต่รออยู่เฉย ๆ                   แดงรู้สึกอับอายที่เพื่อน ๆ ล้อว่าเธออ้วน รู้สึกแย่ที่ตัวเองอ้วน  การแก้ปัญหานั้นดูจะไม่ยาก เพียงแค่กินอาหารให้น้อยลง ออกกำลังกายให้มากขึ้น แต่เธอมักจะบอกว่าไม่มีอารมณ์ที่จะออกกำลังกาย  นอกจากนั้นยังชอบกินจุกกินจิกตามใจตัวเอง  จะเห็นว่าปัญหาอยู่ที่แดงปล่อยให้อารมณ์  อยู่เหนือพฤติกรรมของตัวเอง  ทำให้เธอยิ่งรู้สึกผิดและยิ่งอับอายในเรื่องความอ้วนของตัวเองมากขึ้น   การแก้ไขที่ตรงจุดก็คือ แดงจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองใหม่  ในขณะที่ยอมรับความจริงว่าเธอไม่ชอบออกกำลังกาย และชอบกินจุกกินจิก    แดงจะต้องควบคุมตัวเองให้มากขึ้นในเรื่องของอาหาร  และการออกกำลังกาย  นั่นคือถึงแม้เธอจะควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ แต่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้

 หลักการข้อสุดท้ายคือ เราเท่านั้นที่เป็นผู้ซึ่งรับผิดชอบต่อการกระทำของเรา ไม่ว่าจะมีความรู้สึกอย่างไรในขณะนั้น    ความรับผิดชอบ คือการยอมรับว่าตนเองเป็นผู้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไป และเต็มใจรับผลของการกระทำนั้น เรามักได้ยินการใช้ความรู้สึกเป็นข้อแก้ตัวต่อการกระทำของตัวเองอยู่บ่อย ๆ เช่น "ฉันตีลูก เพราะตอนนั้นฉันรู้สึกโกรธ" "ผมไม่กล้าบอกอาจารย์ เพราะผมอาย"   หรือ "ฉันขับรถไม่ได้ เพราะฉันกลัว" เราไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของเรา โดยการหวังจะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ แต่ไม่ว่าเราจะรู้สึกอย่างไรก็ตาม เราสามารถควบคุมการกระทำของเราได้ ถ้าจะทำ   เราเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำตามความรู้สึกของเราที่มีในขณะนั้น  ผลที่ตามมาย่อมเป็นจากการกระทำของตัวเราเอง    คนส่วนมากมักจะปล่อยตัวเอง  ใช้อารมณ์ความรู้สึกในการตัดสินใจหรือการกระทำ   ซึ่งผลที่ติดตามมามักจะเป็นความล้มเหลว และบ่อยครั้งที่เราจะกล่าวโทษสถานการณ์หรือผู้อื่น  โดยที่ไม่ได้มองเข้าด้านใน ค้นหาข้อบกพร่องของตนเอง                         เราสามารถรู้ถึงความโกรธเกลียดที่มีอยู่มากในตัวเรา เพราะเราแน่ใจว่า เราจะไม่ไปทำอะไรเขาเข้า การคุมพฤติกรรมส่งผลให้เรามีอิสระที่จะรู้สึก  มีผู้กล่าวไว้ว่าเราจะเข้าใจถึงความรู้สึกที่มีอย่างแจ่มชัด ก็ต่อเมื่อเราแข็งขืนต่อมันซ้ำแล้วซ้ำเล่า    การคุมการกระทำนั้นทำให้เราต้องหันมาให้ความใส่ใจต่อความรู้สึกที่มี อาจจะในมุมมองใหม่ ๆ ที่ไม่เคยตระหนักมาก่อน   ซึ่งถ้าเราปล่อยให้ความรู้สึกอยู่เหนือตนเอง  ก็อาจจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย                   นอกจากนั้น พฤติกรรมที่ผ่านการควบคุมของเรา ยังจะส่งผลถึงอารมณ์ความรู้สึกอีกโสดหนึ่งด้วยเช่นกัน  เราสามารถสร้างความรู้สึกที่เบิกบานได้ โดยการเล่นกีฬา ฟังเพลงที่ชอบ หรือพูดคุยกับเพื่อนที่ถูกใจ  ในทำนองเดียวกันถ้าเราต้องการความรู้สึกที่สงบเยือกเย็น ก็อาจจะนั่งสบาย ๆ  ฟังเพลงเบา ๆ  ไปพักผ่อนชายทะเล หรือเข้าวัด                    ยังมีอีกหลาย ๆ วิธีที่จะส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่ดีกับเรา  คนที่ชอบเขียนหนังสือก็จะรู้สึกชื่นชม พอใจ เมื่อเห็นสิ่งที่เราเขียนได้รับการตีพิมพ์ คนที่ชอบเล่นกล้วยไม้ก็จะรู้สึกเบิกบานที่ได้  เห็นการผลิดอกของมัน การที่ได้เห็นความพยายาม การกระทำของเราส่งผลที่ดีติดตามมา ย่อมจะทำให้  เกิดความชื่นใจ ความพึงพอใจ อันจะเป็นแรงเสริมให้มีกำลังใจที่จะกระทำต่อไป

หมายเลขบันทึก: 106894เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2007 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท