ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล
ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล

จะปฏิรูปการเมืองได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการรับรู้ข่าวสารและการตื่นตัวของประชาชน


เราต้องช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนฉลาดขึ้น ตื่นตัวขึ้น สนใจการจัดตั้งองค์กร เรียกร้องผลักดันการมีส่วนร่วมในการปฎิรูปทางการเมือง

จะปฏิรูปการเมืองได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการรับรู้ข่าวสารและการตื่นตัวของประชาชน 

วิทยากร เชียงกูล

 6. ร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมและมีผลบังคับใช้ได้จริง     

 ประชาชนไม่จำเป็นต้องนั่งรอให้คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญร่างจนเสร็จ แล้วมาเสนอให้ประชาชนไปหย่อนบัตรลงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เพราะถ้าเกิดประชาชนส่วนใหญ่ไปหย่อนบัตรไม่เห็นชอบ คมช. และรัฐบาลก็จะหยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับแก้ไข แล้วประกาศใช้อยู่ดี ซึ่งอาจจะไม่ค่อยสวยนัก ทางที่ดี คือ ประชาชนต้องช่วยกันคิดค้นและเสนอแนะว่า

     รัฐธรรมนูญที่เหมาะสมสำหรับประชาชนไทยควรจะเป็นแบบไหน และรณรงค์ผลักดันให้คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องนำไปพิจารณา และร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนยอมรับได้      ถึงหลายคนจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ดีที่สุด แต่รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็มีช่องโหว่ให้รัฐบาลทักษิณ เข้ามาครองอำนาจผูกขาดและสร้างปัญหามากมายได้ การพูดว่า รัฐธรรมนูญดี แต่คนใช้ไม่ดี ไม่มีผลอะไร เราต้องคิดค้นและผลักดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์คนส่วนใหญ่และใช้บังคับตามเจตนารมณ์ได้ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้      

             รัฐธรรมนูญคือกติกา เพื่อการจัดสรรอำนาจ ทรัพยากร สิทธิ บทบาทหน้าที่ของประชาชนทั้งประเทศ จึงต้องการมุมมองจากประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างหลากหลาย เช่น ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง สังคมวิทยา วัฒนธรรม ระบบนิเวศ ฯลฯ ที่มองปัญหาประเทศไทยอย่างเป็นระบบองค์รวมได้ด้วย รัฐธรรมนูญไม่ใช่แค่ปัญหาเทคนิคการร่างกฏหมาย เราต้องช่วยกันศึกษาค้นคว้าอภิปรายระดมสมองประชาชนและนักวิชาการทุกสาขามาวิเคราะห์วิจัย ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจทางการเมืองและวัฒนธรรมการเมืองไทยอย่างวิเคราะห์เพื่อจะได้รัฐธรรมนูญที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยที่มีลักษณะเฉพาะ      

             แนวคิดชนชั้นนำส่วนใหญ่ที่มักมองว่ารัฐธรรมนูญควรร่างโดยผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายและนักรัฐศาสตร์เท่านั้น เป็นแนวคิดที่คับแคบ ที่ทำให้เราได้รัฐธรรมนูญหลายฉบับที่มีข้อจำกัดมาแล้ว เราต้องใช้นักกฎหมายเป็นคนเขียนตัวมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญก็จริง แต่ใช้เพียงจำนวนหนึ่งก็พอ ที่เหลือควรพึ่งนักวิชาการสาขาอื่นๆ และประชาชนที่มีภูมิหลังประสบการณ์ ที่แตกต่างหลากหลายที่จะช่วยให้คณะกรรมการยกร่างฯ เข้าใจปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง และวัฒนธรรมการเมืองไทยได้ดีขึ้น     

          ที่ผ่านมานักร่างรัฐธรรมนูญชอบหาตัวอย่างที่ดีของรัฐธรรมนูญประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมมาเป็นแม่บทในการร่างรัฐธรรมนูญไทย ถึงจะเขียนได้สวยหรู แต่ก็ไม่มีผลบังคับใช้ เพราะพวกเขาไม่ได้เข้าใจเศรษฐศาสตร์การเมืองหรือสังคมวิทยาของการเมืองไทยมากพอ      โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยเป็นทุนนิยมผูกขาดแบบบริวาร และโครงสร้างการเมืองแบบเจ้าขุนมูลนาย และระบบอุปถัมภ์ รัฐธรรมนูญใหม่ควรเน้นการให้สิทธิเสรีภาพ โอกาสของประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนจนและการศึกษาน้อยเพิ่มขึ้น รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เขียนสวยหรูแบบลอยๆ ว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่จริงๆ แล้วประชาชนไม่มีโอกาส เพราะมาตราในหมวดสิทธิประชาชนมักต่อท้ายว่าทั้งนี้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยไม่มีการกำหนดระยะเวลาออกกฎหมายประกอบที่ก้าวหน้ามาสนับสนุน ไม่มีบทลงโทษว่าถ้ารัฐเพิกเฉยไม่ทำตามแล้วจะเป็นอย่างไร ไม่มีช่องทางที่ประชาชนจะฟ้ององค์กรอิสระที่เป็นกลางอย่างแท้จริงได้ เพราะองค์กรอิสระเช่นศาลรัฐธรรมนูญ ก็ถูกแทรกแซงครอบงำโดยนักการเมือง และส่วนหนึ่งก็มาจากกลุ่มข้าราชการระดับสูง ที่มีแนวคิดจารีตนิยมไม่สนใจและไม่เข้าใจเรื่องสิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว      

              ปัญหาหลัก คือ โครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองที่คนส่วนน้อยมีอำนาจ ฐานะ และความรู้มากกว่าคนส่วนใหญ่ ทำให้ นักธุรกิจการเมืองและขุนนางที่เป็นฝ่ายบริหารครอบงำ, บิดเบือน หาประโยชน์จากรัฐธรรมนูญได้มากกว่าคนส่วนใหญ่ รวมทั้งการแทรกแซง ครอบงำองค์กรอิสระด้วย ดังนั้นเราจึงต้องหาทางปฏิรูปทางเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา สื่อสารมวลชน ฯลฯ ควบคู่ไปกับปฏิรูปแก้ไขข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540     

            การปฏิรูปทางการเมืองต้องทำมากกว่าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่      ปัญหาที่นักธุรกิจการเมืองเข้ามาเป็นฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ โดยการซื้อเสียง ซื้อบุญคุณจากระบอบอุปถัมภ์และเข้ามาแล้วก็มุ่งหาประโยชน์ส่วนตัว ต้องหาทางแก้ด้วยการทำให้ประชาชนฉลาดรู้เท่าทันนักธุรกิจการเมือง        จัดตั้งองค์กร และมีอำนาจต่อรองขึ้น รัฐธรรมนูญใหม่ควรเน้นการเพิ่มสิทธิอำนาจประชาชน และลดอำนาและโอกาสหาผลประโยชน์ของนักการเมือง โดยเพิ่มการตรวจสอบถ่วงดุล และมีมาตรการลงโทษคนโกงอย่างเข้มงวด ทำให้อาชีพนักการเมืองเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง และผลตอบแทนต่ำสำหรับคนที่จะเล่นการเมืองเพื่อการหาประโยชน์ส่วนตัว       

            การจะเพิ่มอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้ ต้องทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ องค์กรอิสระ และภาคประชาชน เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร และเข้มแข็งขึ้น เช่น สส.ไม่ต้องสังกัดพรรคหรือตั้งพรรคใหม่ได้ง่าย ออกเสียงในเรื่องสำคัญที่ต่างจากมติพรรคได้ โดยไม่ถูกไล่ออกและพรรคเล็กมีโอกาสเติบโต ทำให้ สว. เป็นกลางและถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้เพิ่มขึ้น ปฏิรูปวิธีการได้มาซึ่งองค์กรอิสระ ปฏิรูประบบศาลและกระบวนการยุติธรรม รัฐควรให้เงินอุดหนุนองค์กรประชาชน ฯลฯ      

               รัฐธรรมนูญใหม่ ควรคำนึงถึงการเปิดทางนำไปสู่ ปฏิรูประบบพรรคการเมืองและกระบวนการเลือกตั้ง ปฏิรูประบบยุติธรรม ปฏิรูประบบตำรวจ ทหาร และข้าราชการ ปฎิรูปทางเศรษฐกิจ เช่น การปฎิรูประบอบภาษีอากรและการจัดสรรงบประมาณ ,ปฎิรูปที่ดินและปฎิรูปการเกษตร,ปฏิรูปการธนาคาร และสหกรณ์ และปฎิรูปทางสังคม เช่น การปฎิรูปการศึกษา สื่อสารมวลชน การเลี้ยงดูลูกและการสร้างค่านิยมให้คนนับถือสิทธิเสมอภาคเสรีภาพ แทนค่านิยมแบบอำนาจนิยม และระบบอุปถัมภ์ ฯลฯ แม้รัฐธรรมนูญ อาจจะไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้โดยตรง เพราะความจริงคือ ประชาชนต้องต่อสู้ทางการเมืองด้วยตนเอง แต่รัฐธรรมนูญต้องเปิดช่องทางให้ภาคประชาชนเติบโตเข้มแข็งได้      

            ประชาชนอาจจะสนใจเรื่องปัญหาเศรษฐกิจหรือปากท้องของพวกเขามากกว่าเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเราอธิบายให้ประชาชนเข้าใจง่ายๆ ว่ารัฐธรรมนูญ คือ กติกาของการอยู่ร่วมกันของคนไทย ถ้ากติกาเป็นธรรมและปฏิบัติได้ ประชาชนย่อมมีสิทธิเพิ่มขึ้น รวมทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจด้วย ประชาชนจะมีทางผลักดันนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจให้ไปในทางเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจที่เป็นธรรม และยั่งยืนที่เป็นประโยชน์สำหรับประชาชนส่วนใหญ่ ได้มากเศรษฐกิจเสรีแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา      

              ถึงประชาชนระดับล่างส่วนใหญ่อาจยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญ และอาจบอกไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญแบบไหนจะดีสำหรับพวกเขา แต่พวกเขาบอกได้ว่า พวกเขามีปัญหาอะไร และต้องการการแก้ไขอย่างไร จึงเป็นหน้าที่ของนักวิชาการ นักวิชาชีพ และผู้มีการศึกษาสูงที่ตื่นตัวทางการเมือง ที่จะต้องไปสำรวจปัญหาพูดคุยกับประชาชน และเชื่อมโยงให้ได้ว่า ปัญหาที่ประชาชนประสบอยู่จะหาทางแก้ไขได้ด้วยรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมืองแบบไหน      

              ปัญหาการร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมืองควรถือเป็นวาระแห่งชาติ คนที่มีการตื่นตัวจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ สื่อมวลชน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรประชาชน สมาชิกสภานิติบัญญัติ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ต้องร่วมมือกันค้นคว้า และทำกิจกรรมที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ และการปฎิรูปทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กับผู้มีสิทธิออกเสียง 30 กว่าล้านคน อย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งโดยการจัดประชุมเวทีย่อย เวทีใหญ่ต่างๆ และโดยการแลกเปลี่ยนผ่านรายการเช่น วิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต แฟกซ์ ไปรษณีย์ ฯลฯ เพื่อสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขนานใหญ่ที่จะทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและตื่นตัวทางการเมืองเพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดภูมิปัญญาแบบรวมหมู่ที่ลึกซึ้งกว้างขวาง       

              นี่คือหัวใจของประชาธิปไตย ประชาชนจะรู้จักเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ดีขึ้น และทำหน้าที่ตรวจสอบดูแลสิทธิประโยชน์ของพวกเขาได้ดีขึ้น ก็ต่อเมื่อประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ และตื่นตัวทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น            

              เราต้องช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนฉลาดขึ้น ตื่นตัวขึ้น สนใจการจัดตั้งองค์กร เรียกร้องผลักดันการมีส่วนร่วมในการปฎิรูปทางการเมือง ซึ่งถ้ามองให้กว้างแล้ว ต้องรวมทั้งการปฎิรูปทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย  เพราะถ้าประชาชนยังยากจน การศึกษา การรับรู้ข่าวสารต่ำ และมีความคิดค่านิยมที่ชอบฝากความหวังไว้กับคนมีอำนาจ ถึงจะร่างรัฐธรรมนูญให้ดีแค่ไหน ก็คงมีผลบังคับใช้ได้น้อย       

             ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ การช่วยกันเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนเข้าใจว่า 1. งบประมาณรัฐ รวมทั้งเงินกู้ที่รัฐบาลค้ำประกัน คือ เงินจากภาษีประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม 2. ประชาชนเป็นเจ้าของสาธารณะสมบัติ รวมทั้งคลื่นวิทยุโทรทัศน์ โทรศัพท์ 3. ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา การสาธารณสุขและบริการทางสังคมอื่นๆ จากรัฐบาล 4. ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคทางกฎหมาย ไม่ได้เป็นลูกน้องใคร ไม่ได้เป็นหนี้บุญคุณนักการเมืองคนใดหรือพรรคไหน แม้คนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็ต้องถือว่าตนเป็นเจ้าของพรรค มีสิทธิมีเสียงเท่ากันกับสมาชิกคนอื่นๆ 5. รัฐบาลซึ่งเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งมาและกินเงินเดือนจากภาษีประชาชน มีหน้าที่ต้องบริหารประเทศอย่างซื่อตรง เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ ถ้ารัฐบาลไหนคดโกงและหาผลประโยชน์ส่วนตัว ประชาชนก็สามารถคัดค้านเข้าลงชื่อเพื่อถอดถอนพวกเขาได้ ฯลฯ      

           ความรู้เช่นนี้คือ สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังถูกปิดบังหรือมอมเมาไม่ให้รับรู้ ทำให้ประชาชนที่ยากจน การศึกษาและการรับรู้ข่าวสารต่ำกลายเป็นผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ของนักการเมือง แทนที่จะเป็นพลเมืองที่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศ นี่เป็นเรื่องที่คนมีการศึกษาที่ตื่นตัวทุกคนจะต้องช่วยกันเผยแพร่ให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจและจัดตั้งกลุ่มสมาคม องค์กรต่างๆ ของตนเองขึ้นมา เพื่อสร้างสังคมพลเมืองที่ถ่วงดุลกับพวกนักการเมืองและขุนนางได้     

             ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้งสส. สว. เท่านั้น ระบอบประชาธิปไตย คือ ระบอบที่ต้องกระจายการศึกษา ข้อมูลข่าวสาร ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมให้ประชาชนมีความรู้ และมีสิทธิและอำนาจต่อรอง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม มากพอ ที่จะไม่ถูกนักการเมืองและชนชั้นนำครอบงำหลอกลวง พัฒนาประเทศแบบเติบโตฉาบฉวยที่นายทุนส่วนน้อยได้ประโยชน์ แต่ประชาชนเป็นหนี้เพิ่ม ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ถูกกอบโกยล้างผลาญ อย่างที่ผ่านๆ มา       

              ระบอบประชาธิปไตย คือ ระบอบที่ประชาชนทุกคนจะต้องมีสิทธิเสมอภาค และเสรีภาพทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ไม่ใช่ระบอบอภิสิทธิชน ที่คนส่วนน้อยมีสิทธิและเสรีภาพเหนือคนส่วนใหญ่อย่างที่แล้วๆ มา และที่ยังเป็นอยู่ 

หมายเลขบันทึก: 106475เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2007 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท