คำหลายๆคำ กับความหมายหลายๆอย่าง ภายใต้โลกหนึ่งใบ


ช่วงนี้ผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์เยอะมากครับ ทั้ง Freedomnomics, More sex is safer sex, Naked economics, และอื่นๆอีกมากมาย เยอะมากจนทำให้ผมคิดว่า ผมน่าจะหาคำตอบกับตัวเองว่าผมสนับสนุนแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบไหนกันแน่

แต่ผมตอบไม่ได้ครับ เพราะผมไม่ทราบว่า เศรษฐศาสตร์นั้นมีกี่แบบกันแน่ ผมไม่แน่ใจว่า คอมมิวนิสต์ถือว่าเป็นปรัชญาหรือว่าเป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ หรือจริงๆแล้ว คำว่าปรัชญากับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์นั้นเป็นคำเดียวกัน

แล้วคำว่า สังคมนิยม สวัสดิการนิยม ประชานิยม รัฐนิยม แล้วก็อะไรๆอีกหลายๆนิยม มันคืออะไรกันแน่ มันคือรูปแบบหนึ่งของการจัดสวัสดิการของรัฐต่อประชาชน หรือว่ามันคือรูปแบบหนึ่งของการจัดการเศรษฐกิจของรัฐ มันคืออะไรกันแน่ ผมสงสัยนะครับ ถ้าจะมีใครสามารถตอบให้ความกระจ่างกับผมได้ ผมจะขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งครับ (หรือผมอาจจะเข้าใจผิดหมดเลยก็เป็นได้)

แต่แล้วทำไม ผมถึงอยากหาคำตอบให้กับตัวเองว่า ผมสนับสนุนแนวคิดไหนกันแน่ ไม่ใช่อะไรหรอกครับ ที่ผมคิดหาคำตอบให้กับตัวเอง อาจจะเป็นเพราะว่าผมต้องการทำอะไรต่อไปในอนาคตก็ได้

ผมคิดว่าอาจจะเป็นเพราะว่าบรรดาพรรคการเมืองไม่รู้ว่า ตนเองเชื่อมั่นในแนวคิดเศรษฐกิจ และวิถีการปกครองแบบไหน ทำให้นโยบายพรรคแต่ละพรรค ก็เหมือนๆกัน ไม่ต่างอะไรกัน ทำให้พรรคการเมืองจึงเป็นรูปแบบการรวมตัวเพื่อบรรลุถึงผลประโยชน์สูงสุดของตัวเองมากกว่าการเมือง และผลประโยชน์สูงสุดของชาติ แล้วคนไทยก็ไปฝากความหวังไว้กับคนไม่กี่คน ที่ได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง หรือเปล่า ผมเองก็ตอบไม่ได้เหมือนกันครับ

ดังนั้นเวลาเลือกตั้ง (ทั้งคนกรุงเทพและคนต่างจังหวัด) ก็ตัดสินใจกับคำว่า ใครคือคนที่สมัครผู้แทน ลงพรรคอะไร ใครเป็นหัวหน้าพรรค ก็ในเมื่อพรรคการเมืองก็มีนโยบายคล้ายๆกัน ใครจะไปตัดสินใจจากนโยบายพรรคกันได้ล่ะครับ ดังนั้นก็ไม่น่าแปลกใจ ที่เวลาเลือกตั้ง การได้รับคะแนนเสียงข้างมากก็จะเป็นสมบัติผลัดกันชมของหัวหน้าพรรคไม่กี่คน  

เท่าที่ผมสัมผัส ผมคิดว่าคนที่เขียนบันทึกใน gotoknow นั้นอาจจะเป็นพวก utopian socialist หรือเปล่า (จากการอ่านบันทึกของคุณเบิร์ดเรื่องบะหมี่นะครับ) มันทำให้ผมสนใจว่าแล้วผมล่ะ ผมเชื่อในเรื่องไหนกันแน่

ผมอยากเห็นสังคมที่เท่ากัน ผมอยากเห็นจำนวนคนจนที่น้อยลง ผมอยากเห็นสังคมที่ดีขึ้น ไม่มีการดูถูกเหยีดหยาม การศึกษาที่เท่ากัน และอื่นๆที่จรรโลงให้ประเทศดีขึ้น 

หรือว่าผมเป็น socialist เหมือนกัน แต่ปัญหาของผมก็คือว่า ผมไม่เชื่อว่ามันเป็นไปได้นะสิครับ (หรือถ้ามันจะเป็นไปได้ มันก็คงจะเป็นไปไม่ได้ตอนที่ผมยังมีชีวิตอยู่) ในเมื่อผมไม่เชื่อว่ามันเป็นไปได้ ผมจะถือว่าตัวเองเป็น socialist ได้ไหมครับ เพราะในเมื่อผมเชื่อว่ามันเป็นไปไม่ได้ ผมจะมีแนวคิดนี้ได้ยังไง จริงไหมครับ

หรือว่าผมเป็นพวกเสรีนิยม ที่เชื่อว่าคนทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ ตราบเท่าที่สิทธิ เสรีภาพของเราไม่ไปกระทบคนอื่นจนเกินไป ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของคำว่า การค้าเสรี และ คำว่ากลไกตลาด เมื่อคุณมีสิทธิทำอะไรก็ได้ตามใจ ซึ่งผมก็เชื่อนะครับว่าทุกๆอย่างมันมีกลไกตลาดของมัน แต่มันก็ไม่จริงอีกนั่นแหละ เพราะถ้าทุนคุณหนาเพียงพอ คุณก็สามารถที่จะบิดกลไกตลาดได้ หรือคุณอาจจะมีปัญหาด้านศีลธรรมที่ทำให้คุณตบแต่งบัญชี แล้วก็เป็นเรื่องอื้อฉาว ฮือฮา กันเมื่อไม่นานมานี้

ซึ่งนั่นก็เป็นอะไรที่คนออกมาต่อต้านทุนนิยม แล้วก็การค้าเสรี เพราะระบบนี้เห็นกำไรมากกว่าอย่างอื่น อันนี้เพราะเราคิดกันเอง หรือเพราะมันเป็นแบบนั้นจริงๆครับ ที่เรามองว่าพวกห้างโลตัสนี่แย่มาก ขายของถูก ทำให้ร้านโชว์ห่วยตายเจ๊งกะบ๊งกันไปเป็นแถบ แต่แล้วเราเคยหันกลับมามองถึงคนที่ได้เงินเดือนน้อย แล้วการซื้อของจากร้านโลตัสเหล่านี้ ทำให้เขามีเงินเหลือเก็บขึ้นมาอีกนิด กันบ้างหรือเปล่า หรือว่าเราเต้นไปตามจังหวะแทงโก้ที่เขาเต้นไปด้วย หรือว่าเพราะว่าโลตัสเป็นของอังกฤษ คาร์ฟูเป็นของฝรั่งเศส แล้วเขาขนเงินออกไป อันนี้ผมไม่ทราบครับ  

หรือว่าผมเป็น Keynesian ที่คาดหวังว่ารัฐบาลต้องเข้ามามีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ แต่แล้วรัฐบาลไทยมีครั้งไหนไหมครับ ที่ทำอะไรล้ำหน้ากว่าเอกชน แล้วถ้าเป็นแบบนั้นจริง รัฐบาลจะมีส่วนในการผลักดันได้มากขนาดไหนกันแน่  

หรือว่าผมเป็นเศรษฐศาสตร์พอเพียง หรือเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ผมเองก็ไม่เคยศึกษามากพอที่จะบอกได้ว่า นั่นแหละใช่ผม เพราะสำหรับผม ผมเรียนแต่ด้านวิศวะกับเลขครับ ดังนั้นผมเลยนิยามคำว่าเศรษฐศาสตร์พอเพียงเป็น optimization problem ไปซะงั้น เพราะผมนิยามคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงไว้ว่า

  1. จำไว้ว่าทรัพยากรมีจำกัด
  2. เมื่อมันมีจำกัด ใช้มันให้เหมาะสมที่สุด
  3. ในเมื่อโลกไม่แน่นอน กระจายความเสี่ยงต่อการใช้ทรัพยากรนั้นไปด้วย

เพราะงั้นมันก็คงไม่ต่างอะไรกับปัญหาคณิตศาสตร์ที่บอกว่า

Minimize: Risk

Subject to: Resources Available

ที่ผมนิยามไว้แบบนี้ก็เพราะว่าอย่างน้อยมันก็จับต้องได้ อย่างน้อยตามหลักทฤษฏี global optimum solution ถึงแม้จะมีหลายตัว แต่ก็ให้ค่า objective function ที่เท่ากัน อย่างน้อยเราก็จะได้ไม่ต้องมาเถียงกันในนิยามคำว่า พอเพียง เพียงพอ (บ่อยครั้งผมคิดว่าเราเถียงกันเพราะนิยามต่างกันนะครับ)

ในเมื่อไม่มีแนวคิดไหนดีสุด ในเมื่อไม่มีการประยุกต์แนวคิดใดๆที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง มันก็มีแนวคิดเป็ดขึ้นมา ซึ่งก็รวมข้อดีของวิธีนู้นวิธีนี้เข้าด้วยกัน แต่ปัญหาก็มีอีกนั่นแหละครับ ปัญหาก็คือ ก็มันผสมกันไปหมดไงครับ มันก็เลยดูมั่วๆ แล้วก็ไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวัง  

อ่านถึงตรงนี้ผมว่าผมคงต้องขอบพระคุณท่านที่อดทนอ่านมาถึงตรงนี้ได้ครับ เพราะบันทึกนี้เป็นบันทึกที่ไร้ทิศทาง ไร้หัว ไร้หาง มากที่สุดที่ผมเคยเขียนมา (มันเหมือนบันทึกระบาย ยังไงชอบกล) แล้วอ่านมาถึงตรงนี้ ผมก็ไม่แน่ใจว่าทุกท่านจะสับสนเหมือนผมหรือเปล่า แล้วก็อาจจะถามผมกลับมาว่า แล้วผมสนับสนุนแนวคิดไหน ซึ่งผมก็คงจะบอกได้ว่า ผมมีแนวคิดที่ผมเชื่อว่าผมจะสนับสนุนไว้ในใจแล้ว แต่ขอไปหาตัวเองอีกนิดจะดีกว่าครับ (แต่แน่นอนครับ มันก็มีข้อสมมติฐานบางประการติดก้นไว้ด้วยครับ)

แต่แล้วทำไมผมถึงคิดว่ามันจำเป็น ผมคิดว่ามันจำเป็นครับ อย่างน้อยมันก็จำเป็น เพราะเราจะได้สร้างพรรคการเมืองที่มีความแตกต่างออกมาได้ อย่างน้อยเราก็รู้ว่านโยบายพรรคการเมืองจะเป็นแบบไหน อย่างน้อยเราก็รู้ว่า ถ้าพรรคการเมืองไหนก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาลหลัก นโยบายเศรษฐกิจหลักจะเป็นอย่างไร แล้วอย่างน้อยเราก็จะได้รู้ว่านักการเมืองที่ย้ายพรรคบ่อยๆ พวกนี้เป็นพวกที่ไม่มีอุดมการณ์อย่างแท้จริง (อย่างน้อยมันก็จะเป็นการสกรีน หรือคัดเลือกคนได้ดีขึ้นมานิดหนึ่ง) เพราะเขาจะไม่สามารถอ้างได้อีกต่อไปว่า เพราะอุดมการณ์ตรงกัน

และอย่างน้อยที่สุด มันคงทำให้เราหันกลับมาถามตัวเองว่า แล้วเราสนับสนุนแนวคิดไหนกันแน่ (หรือเปล่า)

ปล ผมทราบครับว่ายังมีระบบเศรษฐกิจ การปกครองและสังคม อีกหลายๆอย่างที่ผมไม่ได้เขียนถึงครับ เพราะที่ผมเขียนถึงเป็นแค่ไม่กี่ระบบที่เห็นอยู่ในปัจจุบันครับ ถ้าผู้รู้ท่านใด้ จะช่วยกรุณาส่งเสริมความรู้ ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ  

 

หมายเลขบันทึก: 106229เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2007 15:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2023 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ไปอ่านหนังสือ.................

อ่านจบแล้ว.... 

ขณะนี้ น้องต้นน่าจะจัดอยู่ในกลุ่ม Scepticism (วิมตินิยม) ... นักคิดในกลุ่มนี้รู้มาก แม้จะอธิบายแนวคิดลัทธิต่างๆ ได้ แต่ก็ไม่ปักใจในลัทธิหนึ่งลัทธิใด.........

ส่วนความคิดเห็นที่น้องต้นลังเลสงสัยตามที่บรรยายมา อาจจัดเป็นกลุ่มย่อยได้ว่า ecopolitical scepticism หรือจะบัญญัติศัพท์ไทยๆ ว่า วิมตินิยมเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง ... ประมาณนี้

ทั้งหมดนี้ หลวงพี่มั่วเองทั้งหมด 5 5 5

เจริญพร

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

ผมว่าพระคุณเจ้าได้กรุณาให้เกียรติผมเกินไปอีกแล้วครับ ผมนั้นรู้น้อยมากครับ ดังนั้นคงจะเป็นพวกวิมตนิยมไม่ได้ครับ

จริงๆแล้ว ผมก็มีความเชื่ออยู่อันหนึ่งเหมือนกันครับ เพียงแต่ว่าความเชื่อที่ผมเชื่ออยู่นี้ ผมบอกไม่ได้ว่ามันอยู่ในระบบไหนครับ

ผมเชื่อว่า ในโลกนี้นั้น จะมีราคาสำหรับสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ซึ่งเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อ ผู้ผลิต พ่อค้าปลีก พ่อค้าส่ง ผมเชื่อว่าในโลกนี้มีราคานี้ครับ

เพียงแต่ที่ตอนนี้ยังไม่มีราคานี้เกิดขึ้น เพราะว่าโลกนั้นยังโลกาภิวัฒน์ไม่ถึงขีดสุดครับ ผมเชื่อว่าถ้าโลกเรานั้นโลกาภิวัฒน์ไปถึงขีดสุด (นั่นหมายความว่า ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้เท่ากันหมด) ผมว่ามันก็น่าจะเป็นไปได้ครับ

ที่ผมเชื่อแบบนั้นเพราะว่า วอลมาร์ท โลตัส ยังสามารถหาสินค้าเดียวกัน แต่ผลิตโดยประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า ทำให้ได้ราคาดีกว่า แต่ถ้าโลกโลกาภิวัฒน์ไปถึงขีดสุด การผลิตราคาสินค้านั้น ได้ราคาที่ต่ำที่สุดแล้ว ผมก็เชื่อว่า เราก็คงจะเห็นราคาที่สมดุลย์ที่คนทุกฝ่ายพอใจที่สุดครับ

ถึงตรงนี้ จะมีคนพอเห็นเค้าลางไหมครับว่าผมเชื่อแบบไหน :D

กราบนมัสการมาด้วยความเคารพยิ่งครับ

ต้น

 

  • อ่านแล้วสนุกน่าติดตามค่ะ อ่านแล้วก็ทำให้คิดตามไปด้วย พร้อมทั้งยังทำให้ย้อนกลับมาดูตัวเองว่า การอ่านสำคัญจริงๆ ตอนนี้ความรู้แคบลง เรื่อยๆ .....ขอบคุณที่ทำให้เกิดแรงกระตุ้นค่ะ
  • ว่าแต่เราจะเป็นต้องมีแนวทางที่ชัดเจนสำหรับเศรษฐศาสตร์ด้วยหรือค่ะ เพราะท้ายที่สุดแล้วเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด ก็มีวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายเหมือนๆ กัน คือ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพียงแต่มีวิธีการที่ต่างกัน แต่สุดท้ายแล้ว เราก็ต้องการการกินดีอยู่ดี เท่าเทียมกัน เศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ....

สวัสดีครับอาจารย์ รวมมิตร V9

ผมนึกว่าอาจารย์จะมาไขความกระจ่างให้กับผมซะอีกนะครับว่าผมสนับสนุนแนวคิดไหน

อาจารย์ถามว่าจำเป็นไหมที่จะต้องสนับสนุนแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง

ผมว่าตอบยากครับว่าจำเป็นขนาดนั้นไหม แต่โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า ถ้าอาจารย์เป็นนักการเมือง มันจำเป็นครับ จำเป็นมากซะด้วย เพราะมันเป็นเรื่องของการเขียนนโยบายให้สอดคล้องกับแนวคิด เหมือน democrat กับ republican ในการเมืองอเมริกา หรือ conservative vs labour ในการเมืองอังกฤษ

แต่สำหรับการเป็นอาจารย์จำเป็นไหม

ส่วนตัวลึกๆผมคิดว่ามันก็จำเป็นนะครับ อย่างน้อยเราก็ต้องมีหลักหนึ่งหลักไว้ติดตัวนะครับ

ผมคงไม่บังอาจเป็นเด็กวัดที่ไปสอนหนังสือสังฆราช หรือคนที่ไปสอนจรเข้ให้ว่ายน้ำ ผมเชื่อว่าอาจารย์ทราบดีอยู่แล้วว่า ก่อนที่เศรษฐศาสตร์จะเกิดขึ้น เศรษฐศาสตร์คือส่วนหนึ่งของปรัชญา จนกระทั่ง Adam Smith นั้นเขียนเรื่อง The wealth of the nation ขึ้นมา

ตั้งแต่ Adam Smith ถึง Milton Friedman มีนักคิดเศรษฐศาสตร์เกิดขึ้นมาเยอะมาก โดยที่แต่ละคนนั้นก็มีแนวคิดของตัวเองต่างกันไป และแต่ละคนก็มีสาวกหรือแฟนเหนียวแน่นของตัวเองอยู่ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจใช่ไหมครับว่า ทำไมเราจะเห็นการโต้เถียงหรือวิพากษ์ นโยบายเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างที่เรียกว่า ฉีกออกมาเป็นชิ้นๆ กระชากออกมาเป็นข้อๆ แล้วก็วิจารณ์ออกมาให้เห็นภาพ และเห็นทุกมุมอย่างชัดๆ

ผมไม่ค่อยเห็นภาพนี้เท่าไรที่เมืองไทย ซึ่งเป็นภาพที่ผมอยากจะเห็นมากภาพหนึ่ง เนื่องจากผมไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์ที่เมืองไทย ดังนั้นผมตอบไม่ได้ครับว่า เพราะอะไร แต่ในเมื่ออาจารย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์โดยตรง อาจารย์ก็น่าจะทราบว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ก็มี school of thought ในด้านเศรษฐศาสตร์ฝังอยู่กับนักศึกษาที่จบมาจากแต่ละที่เหมือนกัน เช่น คนที่จบมาจาก university of chicago กับ harvard ก็คิดไม่เหมือนกันเท่าไรครับ

ซึ่งจากส่วนนี้ ทำให้ผมไม่แน่ใจว่านักเรียนเศรษฐศาสตร์ในเมืองไทยนั้น ไม่ค่อยได้เรียนปรัชญาด้านเศรษฐศาสตร์มากหรือเปล่า (หรือเรียนแต่ค่อยตั้งใจ) ทำให้ภาพการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาต่างๆของประเทศนั้น ไม่ครอบคลุมไปทุกเรื่อง

ที่อาจารย์บอกว่าเศรษฐศาสตร์คือเรื่องเดียวกันหมด ไม่ว่าแนวคิดไหนนั้น

ใช่ครับ เพียงแต่ว่าอาจารย์จะเป็น the end justifies the means, หรือว่า the means justifies the end. สองส่วนนี้แตกต่างกันมากครับ 

จากคำตอบของอาจารย์ ถ้าเป็นพวก the end justifies the means  เพราะปรัชญาและแนวคิดอาจจะไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่อาจารย์อยากให้เห็น เช่นสมมติว่าอาจารย์อยากทำให้ GDP ประเทศขึ้น อาจารย์ก็อาจจะเก็บภาษีเพิ่ม สร้างประชานิยม ก็ได้

แต่ถ้าเป็นพวก the means justifies the end ก็ต้องทำตามแนวคิดตัวเองแหละครับ

โดยส่วนตัว ผมคิดว่าความแตกต่างนั้นอยู่ที่ว่า ถ้าเป็นพวก the means justifies the end นั้นน่าจะ (ขอย้ำคำว่า น่าจะ นะครับ) ทำให้เราสามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่า เนื่องจากว่า การแก้ปัญหาของอาจารย์นั้น มาจากแนวคิดเดียว แล้วใช้กับทุกๆปัญหาที่เกิด ทำให้มีระบบมากกว่า

แต่ถ้าเป็นพวก the end justifies the means บางครั้ง มันอาจจะเหมือนกับ optimization ของปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกันหลายๆปัญหา ซึ่งน้อยครั้งมากนะครับที่เราจะได้ global optimal solution จากการแก้ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกัน หลายๆปัญหา เพื่อที่จะหวังว่าภาพรวมของปัญหา ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ "การกินดีอยู่ดี เท่าเทียมกัน เศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน" ครับ

ขอบพระคุณครับ

ต้น

 

 

 

อ่านจบแว้วจร้า

ขอบคุงมากนะคร้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท