หลวงพ่อบ้านแหลม


มีตำนานเล่าถึงความเป็นมาของหลวงพ่อไว้ว่า หลวงพ่อวัดบ้านแหลมองค์นี้ท่านลอยน้ำมาจากเมืองเหนือ เดิมทีมีพี่น้อง ๕ คนอยู่ในเมืองเหนือ มีวิชาความรู้มาก เมื่อสิ้นชีพแล้วได้อธิษฐานขอให้ไปสิงสู่อยู่ในพระพุทธรูป ๕ องค์ แล้วชวนกันลอยน้ำลงมายังเมืองใต้คือภาคกลาง

                                                               

            หลวงพ่อบ้านแหลม   เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร สูง ๒.๗๖ เมตร หล่อด้วยทองเหลืองปิดทอง ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดเพชรสมุทรวรวิหาร หรือเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า วัดบ้านแหลม ตั้งอยู่ใจกลางตลาดแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม
            หลวงพ่อบ้านแหลมนับถือกันว่า มีอภินิหารศักดิ์สิทธิ์นานาประการ เป็นที่เคารพสักการะของชาวแม่กลองและต่างจังหวัด เช่นเดียวกับหลวงพ่อโสธร เมืองแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา
            มีตำนานเล่าถึงความเป็นมาของหลวงพ่อไว้ว่า หลวงพ่อวัดบ้านแหลมองค์นี้ท่านลอยน้ำมาจากเมืองเหนือ เดิมทีมีพี่น้อง ๕ คนอยู่ในเมืองเหนือ มีวิชาความรู้มาก เมื่อสิ้นชีพแล้วได้อธิษฐานขอให้ไปสิงสู่อยู่ในพระพุทธรูป ๕ องค์ แล้วชวนกันลอยน้ำลงมายังเมืองใต้คือภาคกลาง
           พระพุทธรูปที่ลอยน้ำลงมา ๕ องค์นั้น ได้แยกย้ายกันไปประดิษฐานอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ รวม ๕ จังหวัด คือ..
            พระพุทธรูปองค์พี่ใหญ่ ลอยไปตามลำน้ำบางปะกง ขึ้นประดิษฐานที่วัดโสธร คือ หลวงพ่อโสธร
            องค์ที่ ๒ ลอยไปตามน้ำนครชัยศรี ขึ้นประดิษฐานที่วัดไร่ขิง เรียกว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิง จ.นครปฐม
            องค์ที่ ๓ ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นประดิษฐานที่วัดบางพลี ปากคลองบางพลี เรียกว่า หลวงพ่อวัดบางพลี อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
            องค์ที่ ๔ ลอยมาตามแม่น้ำแม่กลอง ขึ้นประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม เรียกว่า พลวงพ่อวัดบ้านแหลม จ.สมุทรสงคราม
            องค์ที่ ๕ ลอยไปตามแม่น้ำเพชรบุรี ขึ้นประดิษฐานที่วัดเขาตะเครา เรียกว่า หลวงพ่อเขาตะเครา จ.เพชรบุรี
            ก่อนที่หลวงพ่อวัดบ้านแหลมจะขึ้นมาประดิษฐานที่วัดบ้านแหลมนี้นั้น ตำนานเล่าไว้ละเอียดว่า ชาวบ้านแหลมเดิมทีเดียวอยู่ที่บ้านแหลมเมืองเพชรบุรี หนีภัยสงครามจากทหารพม่าที่ยกมาตีเพชรบุรี เมื่อ พ.ศ.๒๓๐๗ ส่วนใหญ่ชาวบ้านเหล่านี้จะเป็นชาวประมง วันหนึ่งออกไปลากอวนหาปลาตามอาชีพดั้งเดิมที่ปากอ่าวแม่กลอง ก็ปรากฎว่าวันนั้นติดพระพุทธรูปขึ้นมาสององค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืน อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง จึงแบ่งองค์หลังให้ญาติพี่น้องนำปไปประดิษฐานที่วัดเขาตะเครา เรียกว่า หลวงพ่อเขาตะเครา  ส่วนอีกองค์หนึ่งที่เป็นพระพุทธรูปยืนนำมาประดิษฐานที่วัดศรีจำปา อันเป็นวัดเก่าแก่มีมานานแล้วที่แม่กลอง
            ชาวบ้านที่ได้พระมา พื้นเพดั้งเดิมคือชาวบ้านแหลม เพชรบุรี จึงเรียกกันติดปากว่าหลวงพ่อบ้านแหลม และเมื่อนานไปหลวงพ่อมีอภินิหาร มีความศักดิ์สิทธิ์จนเป็นที่เลื่องลือ มีผู้เดินทางไปนมัสการกันมากมาย เป็นผลให้วัดศรีจำปา ซึ่งเดิมเป็นวัดเล็ก ๆ ที่ทรุดโทรมก็กลับเจริญรุ่งเรือง เป็นวัดใหญ่และชื่อก็เปลี่ยนไปเป็น "วัดบ้านแหลม" เรียกว่าเปลี่ยนไปโดยอัตโนมัติ นานไปจึงได้รับการยกย่องฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ได้รับพระราชทานนามว่า วัดเพชรสมุทรวรวิหาร
            พระพุทธรูปหลวงพ่อบ้านแหลมองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร เมื่อชาวประมงลากอวนได้มาจากทะเลนั้นบาตรได้หายไปแล้ว บาตรแก้วสีน้ำเงินที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่ใช่บาตรดั้งเดิมเป็นบาตรที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ถวายใหม่เมื่อคราวเสด็จมานมัสการหลวงพ่อ

              น่าอัศจรรย์ไหมครับ ตำนานหลวงพ่อในสัปดาห์ที่แล้ว กับในสัปดาห์นี้ องค์ท่านอยู่คนละที่ แต่สัมพันธ์เชื่อมโยง เพราะตามประวัติลอยน้ำมาเหมือนกันครับ

 

คำสำคัญ (Tags): #พระ
หมายเลขบันทึก: 105788เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2007 02:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท