ผลประเมินด้านความสอดคล้องของแนวคิดโรงเรียนชาวนา


1. ความสอดคล้องกับบริบทด้านการเรียนรู้หรือการศึกษาทางเลือกในสังคมไทย
การที่ มขข. โดยการสนับสนุนของ สคส. จัดการศึกษาในกระแสทางเลือกเช่นนี้ สอดคล้องกับสภาพสังคมและปัญหาของชาวนาเป็นอย่างยิ่ง   แท้จริงแล้วองค์กรภาคเอกชน หรือองค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน ได้พยายามจัดการศึกษาหรือสร้างกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาองค์กรและเครือข่าย รวมทั้งเผยแพร่ความรู้แก่เกษตรกรมาบ้างแล้วในอดีต แต่การดำเนินการก็เกิดขึ้นได้เป็นจุดๆ บางพื้นที่ บางช่วงเวลา   ยังมีข้อจำกัดในเรื่องความยั่งยืนและการขยายผล ทำให้การพัฒนาฐานด้านองค์กรชุมชน ระบบการผลิต ฐานทรัพยากร และที่สำคัญยิ่งคือฐานด้านทุน ด้านภูมิปัญญายังมีข้อจำกัดอยู่มาก กล่าวได้ว่าความพยายามขับเคลื่อนสร้างการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน หรือหากเน้นกล่าวจำเพาะเรื่องโรงเรียนชาวนาก็มีบทเรียน-ข้อสรุปที่คล้ายคลึงกันคือ ความพยายามสร้างการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมยั่งยืนมิได้เกิดขึ้นลอยๆ หากแต่เกิดขึ้นโดยผ่านกระบวนการต่อสู้ทางความคิดที่สืบทอดมาเป็นระยะ
โรงเรียนชาวนาในแนวทางของ มขข. มีขบวนการ กระบวนการ และระบบที่พัฒนามากขึ้นไปกว่าความพยายามสร้างการเรียนรู้แก่กลุ่มชาวนาในอดีต   มีลักษณะนวัตกรรมที่มั่นคงในฐานความคิด มิได้มองการศึกษาของชาวนาเพียงเรื่องรูปแบบการจัดและเนื้อหาสาระที่นำมาเรียนรู้เท่านั้น หากแต่มองลึกลงไปถึงระดับปรัชญาฐานคิดที่มุ่งสู่การเรียนรู้ระบบคิด ระบบคุณค่า การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ด้านสร้างสรรค์ผ่านรูปธรรมที่จับต้องได้จริง โดยเฉพาะได้เน้นใช้แนวทางการจัดการความรู้มาดำเนินงาน ซึ่งช่วยให้เกิดผลลัพธ์การดำเนินงานที่ดี ทำให้สถานะเรื่องการเรียนรู้หรือการศึกษาทางเลือกในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสมีความชัดเจน มั่นคง สร้างความมั่นใจกับผู้เกี่ยวข้องได้มาก   นับว่ามีความสอดคล้องกับบริบทสังคมไทยเป็นอย่างมาก
อนึ่ง หากพิจารณาในเชิงทฤษฎีวิพากษ์ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชาวนาในแนวทางที่กล่าวมาข้างต้น เป็นความพยายามของกลุ่มผู้เสียเปรียบในการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (power relations) พยายามสร้างอำนาจการต่อรองกับระบบการศึกษาและระบบสังคมกระแสหลัก เรียกร้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาหรือกำหนดวิถีชีวิตตนเองด้วยการสร้างและจัดการความรู้ นับว่าเป็นการสร้างอัตลักษณ์และเสริมพลังชุมชน (community empowerment ของภาคประชาสังคม) ซึ่งเป็นแนวทางที่มีความสอดคล้องกับการพัฒนาความเข้มแข็งของการเมืองภาคประชาชน (People’s politics) ในแนวทางหนึ่ง
2. ความสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง
การดำเนินการโรงเรียนชาวนาตามแนวทางของ มขข. มีความสอดคล้องกับแนวทางเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นหลักการด้านภูมิคุ้มกัน ความมีเหตุผล และความพอดี โดยเฉพาะการผลิตข้าวในแนวทางดังกล่าว จะช่วยเสริมหลักการด้านการสร้างภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี เป็นการช่วยป้องกันการครอบงำ การครอบครองกิจการทางการเกษตรจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปุ๋ยหรือเมล็ดพันธุ์ข้าว ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงในชีวิต (food security, Life security) มุ่งส่งเสริมการมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์ เกื้อกูลกับธรรมชาติ และสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นการร่วมมือกันของบุคคล ชุมชน บนพื้นฐานระบบความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust) ที่มีต่อกัน    แม้ว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานหรือความรุนแรงเชิงโครงสร้างบางอย่าง เช่น เรื่องที่ดินทำกิน หรือปัญหาราคาผลผลิตได้ก็ตาม
3. ความสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องสุขภาวะ (wellness)
นักเรียนโรงเรียนชาวนาของ มขข. มิได้มีทัศนะต่อข้าวแต่เพียงมิติทางเศรษฐกิจ แต่เป็นวิถีชีวิต คุณค่าที่สังคมถ่ายทอด คัดสรร ปรับเปลี่ยนเป็นระบบวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา
ข้าวที่ผลิตขึ้นในปฏิบัติการของนักเรียนชาวนา สอดคล้องกับแนวคิดที่ขับเคลื่อนในระดับนานาชาติเรื่องอาหารปลอดภัย เรื่องการบริโภคที่ยั่งยืน (sustainable consumption) และมีส่วนช่วยทางตรงและทางอ้อมในการลดปัญหาสุขภาวะที่เกิดจากโรคอันเนื่องมาจากสารเคมีทางการเกษตร
นอกจากนี้ปฏิบัติการในโรงเรียนชาวนายังมีส่วนช่วยฟื้นฟูภาวะแวดล้อม ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาวิกฤตที่สุดปัญหาหนึ่งในสังคมไทยและสังคมโลก
4. ความสอดคล้องกับกระแสการแสวงหากระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนาสังคม
เป็นที่ยอมรับกันในกลุ่มนักคิด นักปฏิรูปสังคมในปัจจุบันว่าสังคมกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต มนุษย์จะอยู่รอดได้การปรับระบบคิด ระบบคุณค่า พฤติกรรมและกระบวนทัศน์เป็นเรื่องจำเป็นมาก   มขข. ซึ่งขับเคลื่อนโรงเรียนชาวนาในครั้งนี้ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับเรื่องการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของชาวนาโดยอาศัยกระบวนการกลุ่มและการปฏิบัติจริง เนื่องจากมีบทเรียนที่ผ่านมานับสิบปีว่า แม้มีเทคนิคที่ดีและมีความสำเร็จเป็นรูปธรรมปรากฏเห็นชัด แต่ชาวนาจะยังไม่นำตัวอย่างที่เห็นไปปฏิบัติเนื่องจากมีอุปสรรคขวางกั้นการปรับเปลี่ยน (Re-conceptualization) อยู่เป็นอันมาก   แนวทางปรับกระบวนทัศน์ใหม่ของ มขข. ใช้แนวทางของพุทธศาสนาที่ใช้มรรค 8 เป็นแนวปฏิบัติ มุ่งเสริมสร้างสัมมาทัศนะ โดยเน้นระบบคิด ระบบคุณค่าที่เชื่อกันในกลุ่มชุมชนนักปฏิบัติชาวนาโดยผ่านการเรียนรู้ที่แท้จากปฏิบัติการจริง
การดำเนินการที่เน้นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์นับว่ามีความสอดคล้องกับทิศทางของสังคมขณะนี้ หากดำเนินการได้จริงจะเป็นการปรับเปลี่ยนในเชิงรุก (Proactive) ซึ่งมีนัยยะมากกว่าการปรับเปลี่ยนเนื่องจากการเลียนแบบหรือเพียงทำตามกันไป (Reactive)
โดยสรุป กล่าวได้ว่าแนวคิดโรงเรียนชาวนาโดยรวมแล้วมีความสอดคล้องกับบริบทสังคมในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสอดคล้องในการจัดการศึกษาภาคประชาชนที่เน้นเรียนรู้จากสภาพจริง สร้างความมั่นใจว่าเราสามารถเรียนรู้ได้จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายมากมายไร้ข้อจำกัด ผ่านการตั้งโจทย์ที่สอดคล้องเกี่ยวเนื่องกับปัญหาชีวิตที่มีอยู่ และท้ายสุดสามารถยกระดับความสามารถของชุมชนในการแก้ปัญหาที่ยากและซับซ้อนกว่าเดิมได้มากขึ้น ดังนั้น จึงน่าจะพออนุมานได้ว่าคุณภาพการจัดการและคุณภาพผลงานโรงเรียนชาวนาของ มขข. ที่ผ่านมาและที่กำลังดำเนินการต่อเนื่องอยู่มีความสอดคล้องกับบริบทสังคมโดยรวมเป็นอย่างมาก
ที่มา : รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการการติดตามประเมินผลภายในและการถอดบทเรียนกระบวนการจัดการความรู้เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนฯ (พฤษภาคม 2550)
อ้อม สคส.
หมายเลขบันทึก: 105352เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2007 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับหญิง อ้อ อ้อมครับ ขอบคุณครับที่นำสิ่งที่ดีฯมาแบ่งปัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท