ดอกไม้ในความผูกพัน


แต่กลิ่นหอมในเพลาเช้านี้ คือหอมกลิ่นดอกปีบ..

   กลิ่นหอมของเวลาเช้า กรุ่นข้าวสุกพร้อมดอกบัวตูมบนบาตรพระ หลวงพ่อจากวัดอุโมงค์ไม่ได้ทิ้งรอยเท้าไว้บนพื้นยางมะตอย สักครู่เห็นน้องเณรเดินเร็วเหมือนเกือบวิ่งตามหลังมา และตามด้วยน้องหมาสีขาว สีดำ สองสามตัว ออกจากซอยไปก็ถึงหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เลี้ยวขวาและเดินตรงไป ข้ามคลองไปอีกฝั่ง ที่ตรงนั้นคนไม่เคยหุงข้าวหลายคนไปรอใส่บาตร บางวันที่ตื่นเช้ากว่านี้ผมก็ไปซื้ออาหารสำเร็จรูป รอใส่บาตรอยู่ตรงนั้นแหละ               

   แต่กลิ่นหอมในเพลาเช้านี้ คือหอมกลิ่นดอกปีบ..               

   ต้นปีบเป็นไม้ดอกขนาดใหญ่ ออกดอกขาวสะพรั่งเหมือนหมู่ดาวที่เตรียมร่วงสู่ดิน คนที่นี่เขาเรียกปีบว่า “กาสะลอง” เวลาคนเหนือไปไหน ถ้าได้กลิ่นกาสะลอง เพื่อนบอกว่ามักจะทำให้คิดถึงบ้าน               

   คนอยู่ไกลบ้านเสมออย่างตัวผมเอง ออกจะตื่นเต้นตั้งแต่แรกมาถึงเชียงใหม่ที่ได้เห็นว่าที่นี่เป็นเมืองแห่งดอกไม้ ที่ริมน้ำปิงติดกับตลาดวโรรส ที่ตรงนั้นเขาเรียกกันว่ากาดดอกไม้ มีดอกไม้สวยราคาไม่แพงขายอยู่หลายชนิด อาทิ กุหลาบ ฮอลี่ฮ็อก เฮลิโกเนีย ฮายเดรนเยีย แอสเตอร์ เยอบีร่า แคธลียา และบัตเตอร์ฟลาย เป็นต้น เคยครั้งหนึ่งตอนที่พี่ชายแต่งงาน ผมซื้อกุหลาบช่อใหญ่มากจากที่นี่ไปแสดงความยินดี ทุกคนที่เห็นคิดว่าต้องราคาหลายพันแน่ๆ แต่ที่จริงแล้วซื้อมาในราคาร้อยเดียวเท่านั้น ราคาถูกสมเป็นเมืองแห่งดอกไม้               

   หากพออยู่เชียงใหม่ได้ครบทุกฤดูกาลผมก็มีความสุขกับการชื่นชมดอกไม้ยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะในฤดูหนาวช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม นั้น ดอกไม้ชนิดที่เป็นต้นใหญ่ๆ จะพร้อมใจกันบานและทิ้งใบลงมาจนเหลือแต่ดอกสวยๆ กลีบอ่อน สีหวาน หอมกรุ่นเหมือนแตกเนื้อสาวเต็มต้น ทั้งดอกเอื้อง พวงแสด และโดยเฉพาะทองกวาว ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจะบานรับพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในเดือนมกราคมของทุกปี               

   เวลาที่เห็นดอกทองกวาวบาน ผมก็มักจะคิดไปถึงดอกศรีตรัง เมื่อตอนเด็กๆ ผมเรียกดอกศรีตรังว่าดอกคอหงส์ เพราะขั้วดอกที่ปลิวร่วงลงมาพร่างพรมผืนหญ้าสีเขียว ดูไปแล้วมันเหมือนอย่างกับเป็นปากและคอของหงส์จริงๆ ต่อมาเมื่อไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดอกคอหงส์ หรือดอกศรีตรังนี้ก็คือดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย และเช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดอกศรีตรังจะบานสะพรั่งเต็มต้นในเดือนกันยายนของทุกปี เพื่อรับขวัญพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของที่นั่น               

   ผมรู้ว่าทุกมหาวิทยาลัยมีดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย แต่ไม่แน่ใจว่าทุกที่หรือเปล่าที่ดอกไม้นั้นจะบานสะพรั่งรับขวัญในวันรับพระราชทานปริญญา ทว่าในสถานอุดมศึกษาทั้งสองแห่งที่ผมเล่าเรียน ปรากฏการณ์เป็นเช่นนั้น               

   นอกจากดอกทองกวาวจะเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว ดอกไม้นี้ยังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย ที่จังหวัดบ้านเกิดของผม ดอกไม้ประจำจังหวัดคือดอกพะยอม ผมชอบไม้ต้นนี้ เพราะแม้มันจะสูงใหญ่ แต่กลับให้ดอกที่มีกลิ่นหอม มีอำเภอหนึ่งอยู่ติดกับจังหวัดนครศรีธรรมราชชื่ออำเภอป่าพะยอม ร่ำลือกันว่าคนอำเภอนี้ดุ เป็นที่อยู่ของโจรพัทลุงรุ่นสุดท้ายในเครือตระกูลของโจร “ไข่หมูก” แต่หลายปีมาแล้วที่พ่อไปซื้อที่ดินแปลงเล็กๆ ไว้ที่อำเภอนี้ ถ้าจะปลูกบ้านขึ้นที่นี่ในสักวันหนึ่ง ผมเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข เราไม่เคยเชื่อในเรื่องว่าที่ไหนคนดุแล้วเราจะอยู่ไม่ได้ ผมค่อนข้างเห็นด้วย เพราะที่ผ่านมาได้รู้จักแต่กับคนที่รักพ่อ               

    ผมจากบ้านมานาน ที่จริงแล้วที่บ้านก็ปลูกดอกไม้ไว้หลายชนิด ทั้งบัวสวรรค์ การเวก โป๋ยเซียน ขิงแดง หน้าวัว และคงมีอีกมากที่ผมยังนึกชื่อไม่ออก แต่มีดอกไม้ต้นหนึ่งยืนต้นตายไปจากการกดทับของต้นการเวกที่เลื้อยไปรอบทิศทาง และตอนนี้ได้อาศัยซากของต้นที่ตายเป็นที่แขวนกล้วยไม้-รองเท้านารี ดอกไม้ที่ตายไปแล้วต้นนั้นคือไม้ดอกที่ผมผูกพันมาตั้งแต่เล็ก และรู้สึกสดชื่นเสมอเมื่อได้กลิ่นที่มักจะชื่นโชยมาในยามเช้าหลังคืนฝนตก ก่อนจะทิ้งดอกร่วงกราวลงทั้งต้นจนพื้นขาวโพลนในเย็นวันเดียวกัน               

   “ดอกแก้ว”               

   ผมตื่นมาเช้านี้ กลิ่นดอกปีบพาใจหวนคะนึงไปถึงไม้หอมอีกหลายๆ ดอกได้อย่างไรก็ไม่ทราบ กับเพื่อนสาวบางคนที่เคยเย้ากันเล่นๆ แบบแซวกัน เขาบอกว่าอย่างผมน่าจะชอบดอกอุตพิษ รู้จักไหมครับดอกไม้นี้ มันเป็นดอกไม้ที่มีรูปทรงแปลกแหวกแนว ภายในมีเกสรคล้ายดอกหน้าวัว แต่จะบานและส่งกลิ่นเหม็นในตอนกลางคืน เดี๋ยวนี้ดอกอุตพิษหายากแล้ว และผมมีความลับจะบอกเกี่ยวกับดอกอุตพิษนี้               

   สมัยที่ยังเด็กผมเคยกินดอกอุตพิษครับ ตอนนั้นไม่สบาย ย่าทวดเป็นคนฝานดอกเอายำกับมะม่วงและกุ้งแห้งให้กิน ผมจำไม่ได้เพราะยังเล็กมากว่าตอนนั้นตัวเองเป็นไข้ธรรมดาหรือเป็นโรคอะไร แต่ผมปรากฏว่าหลังจากที่ได้กินยำอุตพิษแล้วผมก็หายป่วย ถ้าใครว่าดอกไม้เหม็นๆ นี้ไร้ค่า ผมคนหนึ่งย่อมไม่เห็นด้วย

   เพราะนอกจากดอกอุตพิษจะเป็นยาช่วยให้ผมหายป่วย เห็นดอกนี้เมื่อไร ก็ยังทำให้ผมคิดถึงย่าทวด ซึ่งจากผมไปตั้งแต่ผมอายุได้เพียง 6 ขวบ ย่าทวดคนที่สอนให้ผมเห็นคุณค่าของดอกไม้เหม็นๆ ที่บานเรี่ยดินดอกนี้

คำสำคัญ (Tags): #ดอกไม้
หมายเลขบันทึก: 104154เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2007 07:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 23:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

กาสะลองร่อนกลิ่นฟุ้ง    กระจาย

หวลคิดอดีตหาย           ห่อนลี้

พิกุลร่วงเดียวดาย         มิต่าง กันแล

หอมกลิ่นดอกแก้วนี้        ไม่สิ้นโรยรา

 แหะ แหะ มั่วนิ่มต้องขออภัยนะคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท