วัฒนธรรมไทย.. "อุปสรรค"ของการ"คิดเป็น"


จึงทำให้นำไปสู่ข้อครหาของสังคมว่า ครูเองก็คิดไม่ได้ คิดไม่เป็นแล้วจะไปสอนให้นักเรียนคิดเป็นได้อย่างไร?

พูดกันมานานแล้วว่าครูต้องสอนให้นักเรียนคิด แต่เดิมหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เน้นให้นักเรียนคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น จนถึงวันนี้ ศธ.ยังต้องเน้นครูว่าการจัดการเรียนการสอนต้องนำกระบวนการคิดไปสู่นักเรียน เนื่องจากหลายปรากฏการณ์ฟ้องว่านักเรียนคิดไม่เป็น อาทิ การใช้โทรศัพท์อย่างฟุ่มเฟือย พฤติกรรมการแต่งกาย ก่อการทะเลาะวิวาท เสพสารเสพติด มั่วสุม หรือสำส่อนทางเพศ จนถึงขั้นก่ออาชญากรรมต่างๆ แสดงให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมของสังคมเรา โดยเฉพาะครูไม่อาจสร้างกระบวนการคิดให้กับนักเรียนได้ ถึงแม้ว่าเราจะตระหนักในเรื่องนี้มานานแล้วก็ตาม

การสอนให้นักเรียนคิดต้องอาศัยเวลา เพราะต้องวางแผน ต้องรอ ครูจะใจร้อนรีบบอกคำตอบก่อนไม่ได้ ที่สำคัญคือครูต้องคิด เพื่อวางแผนให้นักเรียนได้ฝึกคิด ถ้าเน้นให้คิด ครูต้องทำหลายอย่าง ก่อนอื่นครูต้องคิดว่าจะต้องใช้วิธีสอนแบบใด อาจจะสอนโดยการตั้งคำถาม ครูก็ต้องมาคิดอีกว่าจะใช้คำถามอะไร อย่างไรบ้าง นักเรียนจึงจะได้คิด ไม่ใช่จำเอามาตอบ หรืออาจจะสอนแบบโครงงาน ครูยิ่งต้องใช้เวลา เพราะกว่านักเรียนจะรู้ นักเรียนต้องคิด ออกแบบ วางแผน เพื่อทดลองด้วยตนเอง ระหว่างนั้นต้องรอสังเกตผลต่อไปอีกระยะหนึ่ง จึงสามารถบันทึก และเขียนรายงานสรุปเป็นองค์ความรู้ได้ ดังนั้น อาจจะไม่ทันการณ์ เพราะครูต้องสอนเนื้อหาสาระมากมายให้ครบตามหลักสูตรกำหนด หรือ ครูอาจจะเป็นห่วงศิษย์ว่ายังรู้เนื้อหาสาระน้อย ไม่พอที่จะใช้สอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย

ปัญหาในชั้นเรียนเอง ที่อาจทำให้ครูละเลยการปลูกฝังกระบวนการคิดให้กับนักเรียน ได้แก่ จำนวนนักเรียนต่อห้องมากเกินไป บางโรงเรียนอาจสูงถึง 50-60 คน ไม่ต้องอะไรมาก แค่จะทำให้นักเรียนสงบ มีสมาธิ พร้อมจะเรียนได้ สำหรับนักเรียนห้องละมากๆ อย่างนี้ก็ยากแล้วสำหรับครู ยังจะเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลอีก นักเรียนแต่ละคนต่างกันทั้งการรับรู้ และความต้องการ ครูต้องคิด และใช้หลายวิธีพร้อมๆ กัน จึงจะทำให้นักเรียนจำนวนมากซึ่งต่างกัน เกิดกระบวนการคิด นอกจากนั้นแล้ว ความขาดแคลนสื่อวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้จัดการเรียนการสอน หรือเพื่อฝึกปฏิบัติในการทำโครงงานก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งของการสอนให้นักเรียนคิด

โดยสรุปไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการสอนที่ต้องอาศัยเวลา ปัญหาจากจำนวนนักเรียนต่อห้องมากเกินไป ปัญหาจากความแตกต่างระหว่างบุคคลของนักเรียน หรือปัญหาการขาดแคลนสื่อวัสดุอุปกรณ์ ก็นับว่าเป็นอุปสรรคจนอาจเป็นเหตุให้ครูละเลยต่อการสอนให้นักเรียนคิดได้ทั้งสิ้น เมื่อผนวกเข้ากับความซ้ำซากของข่าวครูซึ่งปรากฏบนสื่อต่างๆ อาทิ ครูข่มขืนนักเรียน ครูค้ายาบ้า ครูลงโทษนักเรียนด้วยการใช้ไม้เรียว หรือความรุนแรง ครูคัดลอก หรือจ้างให้คนอื่นทำผลงานแทน ตลอดจนภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวของครู ฯลฯ จึงทำให้นำไปสู่ข้อครหาของสังคมว่า ครูเองก็คิดไม่ได้ คิดไม่เป็นแล้วจะไปสอนให้นักเรียนคิดเป็นได้อย่างไร?

มุมมองของสังคมต่อครู โดยเฉพาะการสอนให้นักเรียนคิดเป็น มีส่วนถูก และจริงอยู่บ้าง ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันน่าจะรู้ซึ้งในปัญหา จึงได้ปฏิบัติการแก้ไขอย่างที่เรารู้เห็นกัน อาทิ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติกำหนดให้จัดการศึกษาโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นให้ครูนำกระบวนการคิดไปสู่นักเรียน การศึกษาต้องใช้คุณธรรมนำความรู้ เตรียมการอบรมครูให้เลิกใช้ไม้เรียว ปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือกเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนให้พอต่อการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ ควบคุมให้สถานศึกษาลดจำนวนการรับนักเรียนต่อห้องในปีการศึกษา 2550 ที่จะมาถึง หรือล่าสุดรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งก็ถูกมอบหมายให้แก้ไขภาวะหนี้สินของครูเป็นการเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการสอนให้นักเรียนคิดเป็น ยังมีวัฒนธรรมของสังคมไทยเราเป็นอุปสรรคที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสังคมมิได้กล่าวถึงบ่อยนัก เพราะขาดความตระหนัก หรืออาจเพราะหยิกเล็บแล้วจะเจ็บเนื้อทำให้สาเหตุสำคัญของปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา

วัฒนธรรมของสังคมไทยเรา ไม่ยอมรับในความหลากหลาย หรือความแตกต่าง นิยมแต่ความเหมือน เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นน้อย ครั้นมีโอกาสบ้าง บางคราวก็ไม่รับฟัง ฟังแต่ไม่ได้ยิน หรือทำเอาหูทวนลมเสีย ความคิดเห็นในสังคมเรา จึงมักรวมศูนย์อยู่ที่ผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจ ผู้มีอิทธิพลหรือผู้ที่ร่ำรวยเงินทองคนเหล่านี้เสียงดังกว่าเสมอ

ตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย จะเห็นว่าคำนึงถึงเรื่องอาวุโสมากกว่ามุมมอง หรือแนวคิด เด็กแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาต่อผู้ใหญ่ ถ้าเป็นความเห็นแตกต่าง แม้จะมีเหตุผลดีก็ตาม ส่วนใหญ่มักจะถูกมองว่าก้าวร้าวไว้ก่อน เด็กจึงไม่กล้าเถียงผู้ใหญ่ ไม่กล้าแสดงความเห็น ผู้น้อยไม่กล้าออกความคิดเห็นขัดแย้ง ทั้งๆ ที่รู้กันว่าข้อถกเถียงอย่างมีเหตุผลจะทำให้เกิดปัญญาจะนำไปสู่ทางออก และทั้งที่ยอมรับว่าความแตกต่าง หรือความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้สิ่งมีชีวิตสามารถอยู่รอดคงเผ่าพันธุ์ ถ้าไม่มีความต่าง ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เราจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างไร ความรู้ และเทคโนโลยีจึงเกิดขึ้นในบ้านเราน้อย เรามักเป็นได้แค่ผู้เรียนรู้ผู้ซื้อหรือผู้คัดลอกเท่านั้น

หากวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์แบบไทยๆ จะพบความสัมพันธ์ซ้อนกันอยู่ 2 สถานภาพ สถานภาพแรก ครูเป็นครู เป็นผู้มีพระคุณ สถานภาพที่สองครูเป็นผู้ใหญ่ อาวุโสกว่า ดังนั้น นักเรียนจึงมักไม่กล้าเป็นทวีคูณ ที่จะแสดงความคิดเห็นอันอาจขัดแย้งกับครูของตนเอง เพราะครูเป็นทั้งผู้มีพระคุณ และอาวุโสกว่า ด้วยเหตุผลเดียวกัน แต่ในมุมมองของครู หากความคิดเห็นของศิษย์ไม่ตรงกับใจของตนเองอยู่บ่อยๆ น่าจะเป็นธรรมดา ถ้าครูจะรู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจศิษย์คนนั้นขึ้นมาบ้าง จนอาจจะปรากฏในการแสดงออก ตัวศิษย์เองก็คงจะสังเกตได้ในที่สุด

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้บังคับบัญชาอาจซ้อนกันมากกว่า 2 สถานภาพด้วยซ้ำ อาทิ อาวุโส อำนาจ บารมี โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการให้คุณให้โทษ ครูจึงไม่กล้าคิดแตกต่าง ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่นักเรียนไม่กล้าคิด ทั้งนี้ เพราะอาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับผู้บังคับบัญชาจนอาจตามมาด้วยบทลงโทษได้ เมื่อทั้งศิษย์ และครูต่างก็รับเอาค่านิยมวัฒนธรรมไทยมาด้วยกันอย่างฝังรากลึก โดยเฉพาะครูผู้ซึ่งมีหน้าที่คิด วางแผน ปลูกฝังกระบวนการคิดให้กับนักเรียนยังต้องตกอยู่ในภาวะเยี่ยงนี้แล้วเราจะได้นักเรียนกี่คนที่คิดเป็น

คล้ายว่ารัฐตระหนักในเรื่องนี้ เพราะ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ ศธ.ได้กำหนดให้องค์กรต่างๆ รวมถึงสถานศึกษาบริหารราชการในรูปของคณะกรรมการ แต่ในทางปฏิบัติอำนาจการพิจารณา และการตัดสินใจแทบจะทุกเรื่องก็ยังมาจากผู้บริหารเพียงคนเดียวเช่นเดิม รัฐควรเร่งติดตามดูแลแก้ไข เพื่อให้การบริหารราชการในรูปคณะกรรมการมีผลบังคับใช้จริงในทางปฏิบัติตามที่กฎหมายได้ระบุไว้ สถานภาพความสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้บังคับบัญชาจะยืดหยุ่นขึ้น ครูจะกล้าคิด และสอนให้นักเรียนคิดมากขึ้น

นอกจากนั้น ควรเร่งสร้างความตระหนัก ด้วยการรณรงค์ให้สังคมเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง คำนึงถึงเหตุ และผลเป็นลำดับแรก เพราะจะเป็นแรงผลักสำคัญในการแก้ไขความไม่กล้าคิด อีกทั้ง เป็นการพัฒนาความคิดตามระบอบประชาธิปไตย แถมยังสอดคล้องกับแนวทางของการสมานฉันท์อีกด้วย

ทั้งหมดเป็นผลที่ครูไม่สามารถจะสอนให้นักเรียนคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น แม้จะตระหนัก และลงมือปฏิบัติมานานแล้วก็ตาม มีเหตุอยู่อย่างหลากหลาย ทั้งในเรื่องของเวลา ปัญหาในชั้นเรียน ที่สำคัญคือครู และนักเรียนไม่กล้าคิด จนถึงวันนี้ ศธ.ก็ยังต้องเน้นครูว่าการจัดการเรียนการสอนต้องนำกระบวนการคิดไปสู่นักเรียน

วัฒนธรรมในการแสดงความคิดเห็นของสังคมไทย นับว่าเป็นอุปสรรคที่สำคัญ

(พิมพ์ในมติชนรายวัน , 4 มีนาคม 2550) 

หมายเลขบันทึก: 103654เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2007 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

วัฒนธรรมของสังคมไทยเรา ไม่ยอมรับในความหลากหลาย หรือความแตกต่าง นิยมแต่ความเหมือน เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นน้อย ครั้นมีโอกาสบ้าง บางคราวก็ไม่รับฟัง ฟังแต่ไม่ได้ยิน หรือทำเอาหูทวนลมเสีย ความคิดเห็นในสังคมเรา จึงมักรวมศูนย์อยู่ที่ผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจ ผู้มีอิทธิพลหรือผู้ที่ร่ำรวยเงินทองคนเหล่านี้เสียงดังกว่าเสมอ

       เป็นรากแก้วของปัญหาการศึกษาเลยครับ

                    ขอบคุณครับ

ได้อ่าน"นิเทศแบบเปิดใจ เพื่อแก้ไขและพัฒนา"แล้ว สะดุดทันที เพราะตรงใจมาก แถมคนคิดเป็นผู้บริหาร มิใช่ครูอย่างเราๆ..จึงหวังเสมอว่าต่อๆไป คงหนีแนวทางนี้ไม่พ้น เพราะเป็นสังคมการศึกษา จะมาใช้อำนาจมากๆคงไม่ได้แล้ว เพราะไม่เกิดปัญญา อาจารย์หมอประเวศเคยบอกทำนองว่า "คนที่ชอบใช้อำนาจมักไม่ใช้ปัญญา"ซึ่งน่าจะจริงมากทีเดียว

ขอบคุณเช่นกันครับ..

ครูธนิตย์ลองเขียนบันทึกเล่าวิธีตั้งคำถามต่อนักเรียน ให้เป็นคำถามที่ท้าทาย ทำให้นักเรียนสนุก และกระตุกต่อมคิดของนักเรียน และทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามหลักสูตรด้วย น่าจะเป็นการ ลปรร. ที่น่าสนใจสำหรับครูนะครับ

วิจารณ์

เรียน นพ.วิจารณ์ ครับ

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูง ผมจะลองเขียนเล่าตามที่อาจารย์ชี้แนะ และนำมาเผยแพร่ในโอกาสต่อไป

ธนิตย์ สุวรรณเจริญ

  • ที่ท่านรองพูดมาผมเห็นสมควรเลยว่าเป็นปัญหารากแก้วจริงๆครับ โอกาสในการแสดงความคิดเห็นของเด็กไทยถูกปิดกั้น
  • ไม่เหมือนเด็กต่างชาติที่มีอิสระในการแสดงออกทางความคิด
  • การจะยอมรับเอาวัฒนธรรมต่างๆเข้ามาเลยมีน้อยครับ
  • แต่ดีที่เด็กรุ่นใหม่มีโอกาสได้เปิดกว้างในการใช้เทคโนโลยี เพื่อการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียน การเมือง หรือด้านอื่นๆ
  • แต่ก็ยังจำกัดอยู่ในวงแคบๆเฉพาะในเมืองใหญ่ๆที่เทคโนโลยีเข้าถึง
  • เด็กสมัยก่อนรู้ทั้งการคิดเป็นและคิดได้ครับ ชื่นชมจริงๆ
  • สมัยนี้คิดได้แต่ไม่เป็น
  • เลยทำอะไรก็ได้แต่ไม่เป็นไปด้วย
  • ทฤษฎีที่ผมสนใจคือ ทฤษฎีเอ๊ะ ที่เคบบูมอยู่พักหนึ่งแล้วก็เงียบ
  • เป็นการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นต่อมสงสัยของนักเรียน
  • ที่จริงอยากรู้รายละเอียดมากขึ้นด้วยครับ จะได้ศึกษาไว้
  • สวัสดีครับ

ทีแรก คิดว่าเป็นบทความของ อ. ธนิต ปลื้มใจว่ามีครูที่เป็นคนคอเดียวกัน ทั้งสาระ ลีลาในการเขียน เยี่ยมจริง แต่เหนือสิ่งอื่นใด ข้อมูลที่เป็น fact นั้นซิ ยิ่งสุดยอด นี่เป็นเหตุผลจริง ในจุดด้อยของการบริหารการศึกษาของเรา

เรียน คุณธีรัชภัทร

เรารับเอาวัฒนธรรมเขามา เฉพาะที่ทำง่ายๆ เท่ห์ๆ ดูศิวิไลซ์ มิรู้ว่าเบื้องหลังนั้น เขาต้องลงทุนลงแรง คิด ค้น และลงมือทำอย่างหนัก จึงจะเป็นอย่างนั้นได้ ประการหลังนี้แหละที่เรามิได้รับเอาของเขามา อย่าว่าเด็กเลย ผู้ใหญ่อย่างเราๆนี้แหละ เป็นตัวอย่างให้เขาได้มั๊ย

ทำไมจึงคิดเช่นนั้น เพราะเด็กมาจากผู้ใหญ่ มาจากพ่อแม่ มาจากครูบาอาจารย์ มาจากสังคม

เด็กรุ่นใหม่ อะไรๆก็สำเร็จรูป สะดวก เร็วเข้าว่า เนื้อใน กระบวนการจึงไม่เห็นต้องสนใจ บางมุมของเทคโนโลยีล้ำสมัยจึงไม่กระตุ้นให้คิด เพราะเทคโนโลยีทำให้สะดวก..

ครอบครัวฝรั่งเลี้ยงลูก อบรมลูก คนละอย่างกับครอบครัวไทย วัฒนธรรมเขาก็ต่างจากเรามากในเรื่อง ให้โอกาสคิด พอมาถึงโงเรียน ก็อีกนั่นแหละ ระบบใหญ่ที่ครอบงำอยู่ มันกำหนดให้ครูอย่าคิดมาก เดี๋ยวจะเจ็บตัว แล้วเด็กล่ะจะไปไงต่อไป ก็วนเวียนอย่างว่า..

"ต่อมเอ๊ะ"อะไรอย่างว่าต้องช่วยกันครับ บ้าน โรงเรียน โดยเฉพาะสังคม

ขอบคุณในข้อคิดเห็นครับ

เรียน อ.มาลัย บึงสว่าง

"ปลื้มใจ ครูคอเดียวกัน ทั้งสาระ และลีลาเขียน เยี่ยมจริง" ขอบคุณครับ..

ประสบการณ์ครู สิ่งที่เราเห็น(fact)กว่า 20 ปี สอนเรามาอย่างนั้น จึงน่าจะสอนครูคนอื่นๆ ด้วย อาชีพครูเหมือนกัน จึงน่าจะคอเดียวกันจริง

เคยอ่านหนังสือ"คู่มือชีวิต"ของท่านพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต)ถูกใจมาก ท่านว่าทำนองนี้ "งานอย่างหนึ่ง ก็มีจุดประสงค์ของงาน คนทำงานก็มีจุดประสงค์ของคนทำงาน ทำงานหลายคนแต่ละคนก็มีจุดประสงค์ของตนเอง ที่สำคัญ ที่ทำให้งานไม่ประสบผลสำเร็จ เราต้องทำซ้ำทำซาก เพราะจุดประสงค์ของงาน จุดประสงค์ของคนทำงาน ของแต่ละคน ลึกๆแล้วไม่ใช่จุดประสงค์เดียวกัน"

โอ!ท่านพูด ท่านคิดทะลุเลยครับ เพราะเมื่อนำมาไตร่ตรองแล้ว งานสอนของเรา..จุดประสงค์ของการศึกษา ของนักเรียน ของผู้ปกครอง ของครู ของผู้บริหาร ของนักการเมือง ลึกๆแล้วไม่ตรงกันเลยนี่เอง ใครๆก็พูดว่าการศึกษาสำคัญ แต่...

ขอบคุณข้อคิดเห็นอาจารย์อีกครั้ง

เป้นบทความที่ มองเห็นปัญหา และเป็นประโยชน์จริงๆ หากยิ่งถูกนำไปพิจารณา และนำไปสู่ภาคปฏิบัติ คงช่วยเด็กไทยได้มาก

ให้กำลังใจครูค่ะ

เคยตั้งข้อสังเกตุว่า..ทำไม..ลูกหมอส่วนใหญ่ได้เป็นหมอ??

(เพราะหมอ KM ลูก ??)..

ตัวแปรอยู่ที่ครู..หรือครอบครัว..?

และถ้ายกเลิกการศึกษาที่เป็นระบบปัจจุบัน..อะไรจะเกิดขึ้นคะ?

krutoi เห็นด้วย นะคะ เวลาสอนเด็กๆไม่กล้าพูด ยิ่งเป็นชั่วโมงภาษาอังกฤษงี๊ เงียบกริ๊บเลย บอกเด็กๆว่า คิดไม่เสียสตางค์นะลูก พูดมาเถอะครูให้ 50 สตางค์ ค่อยเฮหน่อย ท่าน นพ.วิจารณ์ กล่าวให้ได้คิด ยั่วให้คิดดีไหมคะ

ต่อมสงสัยของคนพลัดถิ่นอยู๋ตรงไหนน้า....เอแล้วถ้าเราเจอเราจะเอาอะไรกระตุ้นมันดี เราจะกระตุ้นให้มันคิดเหรอ แล้วมันจะคิดเป็นไหม แล้วถ้ามันคิดเป็นเราจะตอบมันอย่างไร แล้วถ้าตอบแล้วมันไม่พอใจมันจะโกรธคนกระตุ้นมั๊ยเนี๊ยะ... ล้อเล่นนะอาจารย์...

เรียน คุณลดา

"ยกเลิกการศึกษาระบบปัจจุบันซะเลย อะไรจะเกิดขึ้น" น่าคิดครับ เพราะไม่เคยคิดอย่างนี้เลย แต่ปัญหาการจัดการศึกษาในปัจุบัน มีหลายเรื่องที่เป็นปัญหา เช่น กวดวิชา คุณธรรมจริยธรรม นร.ไม่เอาใจใส่ต่อการเรียน เกรดเฟ้อ ...ฯลฯ

ขอบคุณในข้อคิดเห็นครับ

เรียน krutoi

ครูที่ไม่ได้สอนเด็กห้องคิง ห้องควีน.. ครูในโรงเรียนที่ต้องขวนขวายชวนเด็กให้มาเรียน มักมีประสบการณ์กับเด็กดังกล่าว

อ่านมาถึง"แล้วถ้า นร.คิด เราจะตอบเขาอย่างไร" ฮา ๆ ๆ ๆ ๆ ใช่สินะ เพราะเราก็ไม่คิดว่าเขาจะคิด ครูเลยตกใจ!หมดเลย (ฮา..อีกที)

ขอบคุณในข้อคิดเห็นครับ

สวัสดีค่ะ คุณครูธนิตย์..ตามมาศึกษาการวิพากษ์เรื่องการคิด..ตามที่ท่าน small man ลิงค์มาค่ะ...ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆ ให้แง่คิด

  • ความคิดเรื่องนี้ไปตรงกับท่านรองฯวิชชาพอดีครับ
  • ขอบคุณอ.noktalayครับ

สวัสดีค่ะคุณครูธนิตย์....

"ทั้งหมดเป็นผลที่ครูไม่สามารถจะสอนให้นักเรียนคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น แม้จะตระหนัก และลงมือปฏิบัติมานานแล้วก็ตาม มีเหตุอยู่อย่างหลากหลาย ทั้งในเรื่องของเวลา ปัญหาในชั้นเรียน ที่สำคัญคือครู และนักเรียนไม่กล้าคิด จนถึงวันนี้ ศธ.ก็ยังต้องเน้นครูว่าการจัดการเรียนการสอนต้องนำกระบวนการคิดไปสู่นักเรียน

วัฒนธรรมในการแสดงความคิดเห็นของสังคมไทย นับว่าเป็นอุปสรรคที่สำคัญ"

 ...เราเน้นวิพากย์กันแต่การจัดการเรียนการสอน  ผู้ทำหน้าที่สอน      ส่วนที่เข้ามาเป็น

ผู้บริหาร เห็นเยอะค่ะที่เข้ามาสู่ สายบริหาร คิดไม่เป็น พูดไม่เป็น แสดงความคิดเห็นไม่

เป็น...กล้าไม่เป็น ... หน่วยงานที่รับผิดชอบผลิตผู้บริหารต้องทบทวน วิธีคิด วิธีคัด

บ้างก็น่าจะดีนะคะ เพราะ " การตัดสินใจแทบจะทุกเรื่องก็ยังมาจากผู้บริหารเพียงคน

เดียวเช่นเดิม " ............

 

 

 

 

  • ลืมนึกข้อนี้ไปครับ ผู้บริหารก็มาจากวัฒนธรรม มาจากสังคมไทย ฉะนั้น คงไม่ต่างอะไรนักกับครูหรือนักเรียน ที่สำคัญการได้มาซึ่งตำแหน่ง ก็มีอะไรที่มากกว่าการสอบได้ เราจึงมีคนลักษณะอย่างที่อาจารย์ว่าปนมาเยอะจริงๆครับ
  • ขอบคุณอ.จอมใจมากครับ

ครูเราบางทีอะไรก็ต้องเตรียมทำไปหมด เดี๋ยวประเมิน เดี๋ยวงานวัด งานอำเภอ ส่งเด็กเข้าประกวด ดูแลความสะอาด ดูแลพฤติกรรมนักเรียน เยี่ยมบ้านนักเรียน ทำ Sdq ประเมิน EQ ทำโรงเรียนดี โรงเรียนต้นแบบ คิดวิสัยทัศน์ ทำแผนปฏิบัติการ ฯลฯ ครูถูกสั่งให้ปฏิบัติสารพัดอย่าง แม้แต่เครื่องแต่งกายยังบังคับกันว่าวันไหนใส่สีอะไร (ผมว่าเอาธงชาติมาตัดทำเสือให้รัฐมนตรีใส่กันท่าจะดีจะได้รักชาติกันมากๆ) ลืมเตรียมสอน ใช้ข้อสอบเก่า ส่งเกรดไม่ทันเหมือนเดิม

**** รัฐบาลก็หาเรื่องละลายงบการศึกษาไป ไม่ใส่ใจเรื่องปัญหานักเรียนอย่างแท้จริง ผมเสียดายเงินมากจริง ๆ ที่เราใช้เงินกันอย่างฟุ่มเฟือยและต้องรีบใช้กันให้หมดไปด้วย ขณะที่เราต้องไปกู้เงินเขามา พอดูคุณภาพของนักเรียน ไม่ได้ไม่ดีก็ลงมาที่ครู ไม่คิดว่าจะทำอย่างไรจะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ ให้นักเรียนเรียนให้น้อยลงหน่อยได้ไหม ผมสงสารนักเรียนจริงๆ ไม่รู้จะเรียนจะสอบอะไรกันนักกันหนา ลองมาดูเรื่องประเมินเถอะครับ เอกสารมากมายไปหมด จะผลักภาระให้ครูทั้งหมดถูกหรือครับ เรารื้อระบบกันจริง ๆ จัง ๆ สักทีดีไหม ให้สอดรับกันทั้งระบบ ประถม มัธยม อาชีวะ มหาวิทยาลัย ผมว่าเด็กไทยเก่งนะครับ แต่เก่งต่างกัน ทำอย่างไรเราจึงจะสนับสนุนความเก่งของเขาให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ และเขาอยู่อย่างมีความสุข ในหลักสูตร ในการสอบเข้า มหวิทยาลัย มันทำให้เด็กเก่ง ดี มีความสุข จริงหรือเปล่า

  • เห็นด้วยทุกประการกับครูปือครับ
  • หันมาดูเรื่องการเรียนการสอนอย่างจริงๆจังๆเถอะ งบประมาณมากมาย บางครั้งอาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นก็ได้..
  • ขอบคุณมากๆครับ

ขอมองในเชิงวิพากษ์นะครับ

ผมเห็นทุกท่านคิดว่า วิถึวัฒนธรรมคือรากแก้วของปัญหา แต่ผมว่าไม่ใช่!!!

รากแก้วของปัญหาคือ"เราไม่รู้จักตนเอง" ไม่รุ้จักบริบทบทบาทวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเอง หลายคนบอกว่ารู้ แต่ผมเถียงว่า รู้แบบไม่จริง ในความหมายของผมคือ ถ้ารู้จริงๆ จะภูมิใจที่เป็นเราด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมุ่งพัฒนาการศึกษาตามประเทศตะวันตก ที่มีบริบทบทบาทต่างจากตัวเองมาก การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมนั้นยากมาก การยกมาสวม การไม่รู้ตนเอง จึงไม่เห็นจุดเด่น มองแต่จุดด้อย เลยดูถูกวัฒนธรรมตนเอง

เราเด่นเรื่องความเหมือน ความเคารพเชื่อฟังผู่้ใหญ่ เรามุ่งเปลี่ยนคนเดินตาม แต่กลับลืมไปว่า วิธีที่ง่ายกว่านั้นคือ ควบคุมและดูแลให้ผู้ใหญ่เป็นคนดี เก่ง และมีคุณธรรม ซึ่งเรื่องนี้ ในหลวงมีพระราชดำรัสมานานจนผมเกิดมาอ่านหนังสือออก ผมก็ได้ยินแล้วว่า หลักการปกครองคือ "ทำให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง ป้องกันคนไม่ดีไม่ไห้ได้ปกครอง" หากเราสนใจเรื่องนี้และส่งเสริมวัฒนธรรมการคัดเลือกและควบคุมคนดีมาตั้งแต่แรก เราคงไม่มีผู้แทนที่เถียง แสดงความคิดเห็น ยึดมั่นในความคิดของตน แบบที่เห็นในปัจจุบัน

อีกวัฒนธรรมหนึ่งคือเรื่อง การอุปถัมภ์ คำว่าระบบอุปถัมภ์ กลายเป็นคำ "ลบ" แต่ความจริงมันเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม ที่ผู้ใหญ่ (ที่มีคุณธรรม) ช่วยเหลือ ดูแล ตักเตือนเมื่อเห็นว่้าทำผิด และคอยสอนสั่งเสมอมา .......

ยังมีอีกหลายอย่างที่ผมคิดว่า ตนเหตุคือ เราไม่รู้จัก ไม่พยายามรู้จัก ไม่ภูมิใจ ไม่ใส่ใจ ตนเอง.......

ท่านอาจารย์ว่าไหมครับ.....

อาจารย์ครับ ผมพึ่งเข้่ามาอ่าน อ่านจบแล้ว เห็นว่า ยังมีอีกหลายอย่างที่เราลืมไปว่า ยังมีอะไรดีๆในสังคมไทย ที่คนยุคใหม่หลงลืม "ความรู้เปลี่ยนแปลงได้ แต่..ความจริงเปลี่ยนแปลงยาก...."

  1. ธรรมชาติมันสร้างทุกอย่างขึ้นมาเพื่อให้เกิดวิวัฒนาการที่สมบูรณ์ยิ่งๆขึ้นไป.

มนุษย์ต้องการความปลอดภัยและปัจจัย4เป็นพื้นฐาน ความนับถือคือสิ่งสูงกว่า และความเข้าถึงตนเองคือสิ่งสูงสุด

ระบบอุปถัมป์คือพื้นฐาน แต่การเข้าถึงตนเองคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ และสิ่งนี้เกี่ยวโยงดยตรงกับนวัตกรรมและR&D

วัฒนธรรมไทยได้สร้างข้อจำกัดการเข้าถึงตนเองของมนุษย์

..ดั้งเดิมถูกรักษาพัฒนาการถูกกำจัด. แต่! ในเมื่อมนุษย์ทุกคนแสวงหาสิ่งสูงสุด. จึงน่าสงสัยว่าลึกๆแล้วเราทุกคนยอมรับสิ่งที่เป็นอยู่เหรอ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท