ไข้เลือดออก บ้าน แม่บ้าน


กล่าวได้แน่นอนว่า การใส่ใจเรื่องความสะอาดจำเป็นมาก ๆ สำหรับบ้านทุกหลัง

          หลายท่านอาจเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกมาแล้ว อาจจะเคยเป็นโรคนี้  เคยมีลูกมีหลาน มีญาติที่ป่วยด้วยโรคนี้  บางคนเป็นหมอ พยาบาล อาจจะเคยรักษาดูแลผู้ป่วยด้วยโรคนี้  บางคนได้รับรู้จากข่าว จากเพื่อนบ้าน ว่าโรคนี้อันตรายถึงตายได้หากรักษาช้า 

           โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อเดงกี่ ( Dengue virus ) ที่มียุงลายบ้านเป็นตัวนำเชื้อโดยการกัดดูดเลือดจากผู้ป่วย เชื้อไข้เลือดออกจะเข้าไปอยู่ที่ต่อมน้ำลายของยุงแล้วแพร่สู่คนปกติในทุกครั้งที่กัด  เชื้อจะเข้าไปฟักตัวในคนปกติ 7 - 1 4 วัน มีอาการป่วย ไข้สูง ตาแดง หน้าแดง ปวดศีรษะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการไอหรือมีน้ำมูก  อาจตรวจพบจุดเลือดออกตามผิดหนัง ได้ตั้งแต่วันที่ 2 - 3 หลังจากมีไข้

            อันตรายจากโรคนี้คือภาวะช็อก เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปช่องปอดและช่องท้อง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นพร้อมกับที่มีไข้ลดลง ( ผู้ปกครองจึงอาจเข้าใจผิดได้ว่าเด็กอาการดีขึ้นแล้ว )

             โรคนี้อันตรายมาก และต้องเสียค่าใช้จ่ายรักษาที่สูงมากด้วย  แต่ทุกคนสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ง่ายมาก  เพียงแค่ลดปริมาณยุงลายบ้านลงให้ได้โดยการไม่ปล่อยให้บ้านเราเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

            ยุงลายชอบอาศัยอยู่ในบ้านแม้จะมียุงลายอีกประเภทที่อยู่ในสวนในป่า  แต่ยุงลายบ้านนำโรคนี้สู่คนได้มากที่สุด แหล่งเพาะพันธุ์ของพวกยุงก็เช่น  อ่างน้ำในห้องน้ำ โอ่งน้ำ แจกัน จานรองขาตู้กับข้าว ภายในบริเวณบ้านก็เช่นกระถางต้นไม้ จานรองกระถางที่มีน้ำขัง เศษภาชนะวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเช่น ยางรถยนต์ ( ยุงลายชอบมาก )

            ที่พบเห็นโดยทั่วไปบ้านเรือนไม่ว่าหลังใหญ่หลังเล็ก หลังสวยงามหรือหลังที่รกรุงรัง เกะกะไร้ระเบียบ ทุกที่ทุกหลังล้วนเป็นที่เพาะพันธุ์ยุงได้ทั้งนั้น บางครั้งลูกหลานของข้าราชการ ดูดีมีฐานะ หรือแม้กระทั่งลูกหมอ พยาบาล กระทั่งหมอหรือพยาบาลก็ตาม เคยมีข้อมูลการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้มาแล้ว

            การที่มียุงลายตัวเล็ก ๆ บินเร็ว ๆ ในบ้านเป็นตัวชี้วัดได้ว่าบ้านหลังนั้นไม่ค่อยใส่ใจดูแลบ้านช่องนัก รวมทั้งบริเวณบ้านภายนอก บางหลังมีโอ่งน้ำเต็มไปหมดแต่ไม่มีฝาปิดป้องกันสิ่งสกปรกใด ๆ  ก็กลายเป็นที่อาศัยของยุงของลูกน้ำเต็มไปหมด

            เคยมีงานวิจัยหนึ่งถามคำถามว่า สมาชิกในบ้านใครคือผู้ดูแลถ่ายน้ำ ขัดภาชนะ  ใครคือผู้ที่เก็บกวาดขยะกำจัดขยะรอบบริเวณบ้าน คำตอบคือ "แม่บ้าน"  ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ มีพ่อบ้านเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ แต่บรรดาแม่บ้านเหล่านั้นก็มีเพียง 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่หมั่นตรวจสอบภาชนะว่ามีลูกน้ำอยู่หรือไม่ อีก 70 ไม่ค่อยได้ใส่ใจนัก

           กล่าวได้แน่นอนว่า การใส่ใจเรื่องความสะอาดจำเป็นมาก ๆ สำหรับบ้านทุกหลัง และในหน้าฝนด้วยแล้ว สิ่งหนึ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาคือต้องหมั่นดูแหล่งน้ำขังโดยรอบบริเวณบ้านอีกด้วย  หน้าที่หนักคงต้องอยู่ที่แม่บ้านตามระเบียบ  แต่พ่อบ้านก็ต้องช่วยแม่บ้านด้วยนะครับ ลูก ๆ ด้วย  ทุกคนต้องช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงภายในบ้าน ในห้อง ในคอนโด ในแมนชั่น ใน ฯลฯ ทุกที่ทุกแห่งที่เป็นแหล่งพักแหล่งอาศัยของพวกเราครับ  หากไม่อยากให้โรคร้ายมาเยือนท่านและคนที่ท่านรัก

คำสำคัญ (Tags): #ไข้เลือดออก
หมายเลขบันทึก: 103038เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2007 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)
  • สวัสดีคะคุณสุมิตรชัย
  • ดูข่าวในทีวีทราบว่าที่จังหวัดร้อยเอ็ดมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกถึง 500 คน ฟังแล้วน่ากลัวมาก
  • ขอบคุณข้อมูลดี ๆ ในบันทึกนี้ค่ะ

ครับผมคุณอ้อ

         โรคนี้ระบาดมากในประเทศไทยขณะนี้รวมถึงประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

         โรคนี้เกี่ยวกับระดับอิมมูลหรือภูมิคุ้มกันของคนเรา จึงมีการระบาดเป็นรอบ อาจจะปีเว้นปี หรือเว้น 2 ปีครับ

          ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ แค่กำจัดลูกน้ำในบ้านและบริเวณบ้านก็แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้เลย

             ขอบคุณและยินดีครับ

  • โชคดีที่ไม่เคยเป็นโรคนี้ครับ
  • ตอนเด็กขโมยแม่เลี้ยงปลากัดในโอ่งน้ำ
  • เมื่อมันออกลูกก็เอาลูกมันไปเลี้ยงตามโอ่งเล็กโอ่งน้อย
  • ความจริงอยากเลี้ยงให้มันโต
  • แต่ผลพลอยได้คือมันกินลูกน้ำ
  • เพื่อน ๆคนอื่นมาขอไปเลี้ยงประจำ
  • มาถึงตอนนี้อยากทำธนาคารปลากินยุงจัง จะได้เอาไปแจกเด็ก ๆ บ้าง
  • หมอลองชวนเด็ก ๆ ที่ชุมชนมาเลี้ยงปลากินยุงกันนะครับ
  • มีเวลาจะพาเพื่อน ๆ ผู้ใหญ่ใจดีไปดูธนาคารและไปเล่านิทานเรื่องปลากินยุงให้เด็ก ๆฟัง
  • ไอเดียเสนอเท่านั้นนะครับ

        สวัสดีครับคุณออต          

            เรื่องธนาคารปลากินลูกน้ำ เคยมีนโยบายนำนวตกรรมนี้ไปใช้ในกลุ่ม อสม. นะครับ แต่ก็ล้มเหลวไป

         ส่วนในเด็กนักเรียนยังไม่แพร่หลายนัก เคยมีกลุ่มน้องๆ สารวัตลูกน้ำ คอยตรวจค้นหาทำลายลูกน้ำแต่ ก็ไม่ใช่บทบาทจริงในชีวิตประจำวันเด็ก ๆ ขาดแรงจูงใจที่ต่อเนื่องก็เลยทำไปไม่นาน

         แต่ผมเห็นด้วยที่จะเริ่มปลูกฝังค่านิยมการกำจัดทำลายลูกน้ำตั้งแต่เด็ก ๆ นะครับ

         ปัจจุบันผมเขียนหลักสูตรการเรียนเน้นการปฏิบัติทดลองในเรื่องการป้องกันโรคไข้เลือดออกและการกำจัดลูกน้ำ

         เรื่องการเล่านิทานก็ดีเยี่ยมเลยครับ เป็นกุศโลบายที่ไม่ได้บอกตรง ๆ แต่เน้นจินตนาการให้เห็นคุณค่าและคิดต่อ

         ขอบคุณที่แนะนำนะครับ ผมจะนำไปปรับใช้ดูด้วย

ที่บ้านก็มีที่รองขาโต๊ะ ป้งอกันมดตอมกับข้าวอ่ะค่ะ

ถ้าใส่เกลือคงไม่เป็นไรใช่ไหม?

ครับผมคุณครู

P

        ใส่เกลือแกง น้ำส้มสายชู  ผงซักฟอก หรืออะไรก็ได้ครับที่ทำให้คุณสมบัติของน้ำมันเปลี่ยนไป บางที่เขาใส่ปูนแดงที่คนแก่ใช้เคี้ยวหมากก็ได้ครับ  บางพื้นที่ใช้สารส้ม ยุงก็ไม่วางไข่เหมือนกัน หรืออาจจะวางแต่ว่าไข่ไม่สามารถเพาะเป็นตัวได้ครับ

         ขอบคุณครับ

สวัสดีครับพี่สุมิตรชัย.....P

วันก่อนดูรายการทีวี มีโครงการของเด็กนักเรียนในกรุงเทพฯ ร่วมด้วยช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายในชุมชน และช่วยกันไปแนะนำตามบ้านในชุมชนต่างๆ เป็นกิจกรรมที่น่าชื่นชมนะครับ ไม่ทราบว่าพี่ได้ดูหรือเปล่า

ไม่ได้ดูน่ะครับคุณข้ามสีทันดร

        แต่กิจกรรมควบคุมโรคไข้เลือดออกทีไรเราก็มักจะใช้เด็กทำทุกที   ในแง่ของการปลูกฝังพฤติกรรมก็ไม่ผิดหรอกครับ

         แต่หากมองในแง่บทบาทหน้าที่รับผิดชอบแล้ว 

          1. พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กนั่นล่ะต้องทำ

           2. เจ้าของบ้าน ไม่ว่าจะเป็น แม่บ้าน พ่อบ้าน หรือตัวลูก ๆ เด็ก ๆ ในบ้านนั้น

          รณรงค์ทีไร สร้างภาพทุกที  ความเป็นจริง เด็กไม่มีความสามารถไปจัดการเรื่องระดับใหญ่ในสังคมได้หรอกครับ

           ผู้ใหญ่ขาดความรับผิดชอบมากกว่า

           ขอบคุณที่แวะมาครับ

     วันหนึ่งได้ทำหน้าที่วิทยากรร่วมกับ ดร.ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ รอง ผอ.สปสช.สาขาเขตพื้นที่ (สงขลา) ท่านพูดถึงเรื่องการจัดการกับปัญหาว่าใช้มาตรการ 4 E และหากทำได้ถึง E (1) ไม่ใช่ใช้เพียงแต่ E (4) จะแก้ปัญหาได้ดี และยั่งยืนมาก และ E ทั้ง 4 พร้อมตัวอย่างเล็ก ๆ ที่ผมพยายามเสนอประกอบ (แต่อาจจะยังไม่ทราบหนทางทำให้ได้นะ) เช่น คือ 1) Engineering เช่น การจัดการ DNA ของยุงลาย ให้ขยายพันธ์ต่อไปไม่ได้แล้ว วางไข่แล้วไข่ลีบหมดเลย ไม่เป็นตัว เป็นต้น 2) Enforcement สร้างสถานการณ์ให้ทำโดยไม่รู้ตัว เช่นการให้เด็กหาลูกน้ำุัยุงลายจากที่บ้านเพื่อน มาส่งครู หักคะแนนเด็กบ้านที่มีลูกน้ำ มาให้คะแนนเด็กที่พบลูกน้ำบ้านเพื่อน 3) Economic incentive เช่นบ้านไหนไม่มีลูกน้ำยุงลาย ลดดอกเบี้ยเงินกู้จากกองทุนชุมชน และ 4) Education อันนี้ไม่ต้องยกตัวอย่างก็ได้เพราะทำกันบ่อย ๆ

     ขอร่วมแจม ลปรร.ด้วยนะครับ ผมไม่ได้ทำงานงาเกี่ยวกับไข้เลือดออกโดยตรงนานแล้ว อาจจะมีผิดพลาดบ้าง เติมเต็มกันด้วยนะครับ 

ขอบคุณคุณชายขอบนะครับP

          ชอบมากเลย 4 E ที่จริงการทำงานก็คงต้องไปพร้อม ๆ กันน่ะครับ แต่ผมอยากจะเพิ่มเป็นอีก E คือ Empower ในกลุ่มแม่บ้านครับ เพราะแม่บ้านคือผู้จัดการบ้าน ต้องให้ผู้จัดการเห็นความสำคัญตรงนี้ให้มาก

         ฝันว่าหากเราจะนำองค์ความรู้เรื่องการกำจัดทำลายลูกน้ำไว้ในตำราสำหรับประถมปีที่ 6 น่าจะดีนะครับ

         ฝันว่าหากเรานำองค์ความรู้เรื่องนี้ไว้ในสมุดคู่มือฝากครรภ์สำหรับแม่ที่จะเป็นผู้ดูแลเด็กและครอบครัวต่อไป ก็น่าจะดีนะครับ

           ขอบคุณครับ

เมื่อสองวันก่อน ผมลงสอบสวนโรคผู้ป่วยไข้เลือดออก ร่วมกับเจ้าหน้าที่ pcu เดิมทีไม่ค่อยได้เคยทำมาก่อน ไม่ค่อยชำนาญแต่อยากลองทำดู   ส่วนมากงานในโรงพยาบาล ก็เป็นงานรักษา

คราวนี้ลงไปเอง เดินดูแหล่งลูกน้ำ ที่บ้าน   สำรวจบ้าน ทำแผนที่เดินดิน   กลับไปดูคนไข้ใน ward  คุยกับคนไข้ คุยกับแม่  ทำ tracer กระบวนการติดเชื้อผู้ป่วย  ว่าเส้นทางเดินการติดเชื้อ มันมา และไปยังไง   รู้สึกครบวงจรดีมาก สนุกดีครับ

แต่ปัญหาที่รู้สึกยังคาใจ หลายอย่างเกี่ยวกับกระบวนการ ที่เราทำกันอยู่ อยากถามคุณสุมิตรชัย นะครับ

1. ปัญหาจากประสพการณ์ที่พบ ในการปฏิบัติจริงในการปราบลูกนำยุงลาย ที่ผ่านมามีอะไรบ้างครับ

2. ผลสำเร็จของการปราบลูกน้ำ และการควบคุมไข้เลือดออกดูตรงไหน บ้างครับ

3. มีตัวอย่างกระบวนการที่ดี และได้ผล อย่างไรบ้างครับ ( ไม่ใช่วิธีการ เช่น ควำพาชนะ พ่นหมอกควัน  ใส่ทรายอะเบส ใส่ผงซักฟอก ปล่อยปลาหางนกยูง นะครับ )   อยากทราบกระบวนการที่ทำได้ผลมาแล้ว ในการ ทำให้ชาวบ้าน สามารถทำวิธีการดังกล่าวได้ต่อเนื่อง

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณหมอจิ้น

          ขอบคุณและยินดีมากครับที่สอบถามมา ในฐานนะที่ผมทำอยู่ในพื้นที่มัญจาคีรีและเคยอยู่ในพื้นที่อ.ปากพลี นครนายกนะครับ

          1. ปัญหาจากการทำงานที่ผ่านมาในเรื่องของการควบคุมโรคไข้เลือดออกนะครับ ผมเน้นไปที่การกำจัดลูกน้ำในบ้านเรือนและบริเวณบ้านเลยก็แล้วกันครับ

                 1.1 เรื่องความรู้ ทัศนคติ การปฏิบัตินี่ไม่ต้องอธิบายแล้วครับ ปัจจุบันยอมรับกันแล้วว่า สามอย่างนี่อาจไม่สัมพันธ์กันซะแล้ว  เช่น รู้ว่าเหล้าบุหรี่มันอันตรายแต่ก็ยังเสพมัน  ดังนั้นปัจจุบันความรู้เรื่องไข้เลือดออกของชาวบ้านดีขึ้นนะครับ แต่สำหรับความรู้เรื่องการกำจัดลูกน้ำแล้วก็ยังเป็นปัญหาอยู่บ้างเหมือนกันเช่น วงจรชีวิตของยุงลาย แหล่งเพาะพันธุ์ยุง เป็นต้น บางส่วนบอกว่ายุงลายมาจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

                  อย่างไรก็ตามแม้ในกลุ่มที่มีความรู้เรื่องการกำจัดลูกน้ำที่ดีขึ้นแล้วอย่าง อสม. ก็ยังมีการปฏิบัติในการกำจัดลูกน้ำที่ไม่ดี

                  1.2 เรื่องการพึ่งพาการดำเนินการจากภาครัฐ เช่น หมออนามัย อสม. อบต.  เรื่องนี้ชาวบ้านบางส่วนยังมีความคิดเห็นว่าหน้าที่กำจัดลูกน้ำ กำจัดยุงควรเป็นของภาครัฐ คือไม่เห็นว่าปัญหาอยู่ในบ้านเรือนตนเอง หรือเห็น แต่ก็ชินกับการที่มี อสม.นำทรายกำจัดลูกน้ำมาให้

                    เรื่องนี้มีคนพยายามหาสาเหตุของการให้ความร่วมมือหรือการมีส่วนร่วมในการกำจัดลูกน้ำควบคุมโรค  ซึ่งคำตอบก็ประกอบด้วยหลายส่วน สรุปว่าก็ต้องมีบทบาทของหลายฝ่าย (เจ้าหน้าที่ อสม. ผู้นำชุมชน  นโยบาย ข่าวสาร ) ที่ต้องร่วมมือกัน การมีส่วนร่วมจึงจะเกิดได้

                    1.3 สภาพสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ด้านน้ำดื่มน้ำใช้ การกำจัดน้ำเสีย การกำจัดขยะ และการกำจัดสิ่งปฏิกูล    อาจกล่าวได้ว่าปัญหาลูกน้ำยุงลายเป็นผลพวงของการพัฒนาสิ่งเหล่านี้ เพราะสมัยก่อนเราทำโครงการโอ่งน้ำร้อยเปอร์เซนต์ ส้วมร้อยเปอร์เซนต์  ซึ่งทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำตามมาด้วย

                     โดยที่ผู้คนยังไม่มีมาตรฐานดำรงชีวิตด้านสุขาภิบาล ความสะอาดที่ดีพอ ภาชนะเก็บน้ำจึงมีมีสิ่งปกปิดป้องกันยุงวางไข่หรือสิ่งสกปรกอื่นๆ  ห้องน้ำจึงเป็นเพียงสถานที่ขับถ่าย แต่ไม่เข้าใจว่าเป็นสถานที่เก็บกักทำลายเชื้อโรค

                     ปัญหานี้เป็นต้นเหตุของปัญหาอื่น ๆ แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ละเลยออกไป เพราะภาระกิจส่วนหนึ่ง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบจัดการ แต่ปัญหาใหม่ก็คือ ท้องถิ่นไม่พร้อมด้านวิชาการและบุคลากร   อย่างไรก็ตามบางท้องถิ่นทำเรื่องการกำจัดน้ำเสียและขยะได้ดีมาก ก็ช่วยลดปัญหาลูกน้ำยุงลายได้ดี

                   1.4 ปัญหาด้านพฤติกรรมของประชาชน ซึ่งเป็นต้นเหตุของอะไรทั้งหมดที่กล่าวมา แล้วก็มีแค่คำว่า วินัย และการรักความสะอาดเท่านั้น ที่เราขาดไป 2 เรื่องแต่ก็ยากมาก ๆ ที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันใหม่  ผมอยากจะใช้คำว่าปลูกฝังกันใหม่ดีกว่า 

                   ผมเชื่อและคิดว่าต้องเริ่มจากครอบครัว หากสาธารณสุขจะแก้ ก็ต้องมองที่ระบบครอบครัว ผมได้ศึกษาในพื้นที่พบว่า คนที่ทำหน้าที่ดูแลบ้าน เรื่องความสะอาด และการกำจัดลูกน้ำนั้นก็คือแม่บ้าน ซึ่งครึ่งหนึ่งในขณะนี้ไม่ค่อยสนใจและให้เป็นหน้าที่ของ อสม.ที่ทำหน้าที่สำรวจและกำจัดลูกน้ำ                     

                  หมายถึงว่า ระบบหน้าที่ในครอบครัวกำลังเสียไปอย่างมาก    สมัยก่อนจะมีคำบอกสอนกันเสมอว่า หากตักน้ำแล้วเห็นตัวลูกน้ำอยู่ก็เป็นอันว่าต้องถ่ายน้ำทันที เพราะน้ำนั้นสกปรกแล้ว  แต่ปัจจุบันไปดูโอ่งน้ำในแต่ละบ้าน มีตะกอนเกาะโอ่งหนามากแล้วแต่ก็ไม่มีการถ่ายน้ำ 

                 ผมคิดว่าปลูกพฤติกรรมส่วนนี้ใหม่ผนวกกับการแก้สุขาภิบาล โดยใช้กฎหมาย พรบ.สาธารณสุขเข้ามาบังคับโดยท้องถิ่นอย่างจริงจังมากขึ้น

          เดี๋ยวต่อเรื่องผลสำเร็จของการกำจัดลูกน้ำครับ

มาต่อเรื่องความสำเร็จของการปราบลูกน้ำนะครับ และต้องขอโทษคุณหมอจิ้นด้วยที่ผมเข้ามาช้า ครับ

             1. ถ้าเป็นความสำเร็จของผลการปราบลูกน้ำน่าจะดูจากผลการสำรวจดัชนีความชุกของลูกน้ำ HI หรือ BI หรือ CI  แต่ต้องดูที่มาของข้อมูลและความน่าเชื่อถือของข้อมูลนะครับ

             2. การใช้สารเคมีในการกำจัดลูกน้ำ ต้องระวังการใช้ที่ขาดประสิทธิภาพในเรื่องของปริมาณที่เหมาะสม เพราะบางทีหากไม่ควบคุมการใช้ อสม.อาจจะนำไปฝากให้เจ้าของบ้านใส่เอง หรือไม่ก็ใส่ไม่ได้ขนาดที่เหมาะสม ความสำเร็จส่วนนี้จะต้องควบคุมการดำเนินการอย่างใกล้ชิดมาก ๆ  เพราะอาจเป็นการสิ้นเปลืองทรายโดยเปล่าประโยชน์ และไม่สามารถใช้ควบคุมลูกน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

             3. ความสำเร็จส่วนหนึ่งนั้นคงต้องมอบให้กับ อสม.ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขจัดปัญหาช่วยได้ทันท่วงที แต่ก็ต้องมีที่มาจากการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่ในการดูแลและเพิ่มศักยภาพของอาสาสมัครกลุ่มนี้อยู่ตลอดเวลาด้วย

              4. ส่วนความสำเร็จของการควบคุมโรคนั้นก็คงต้องดูจากจำนวนผู้ป่วย และ การเกิดการระบาดในเจนเนอเรชั่นที่ 2 ,3 .....หากไม่พบก็ถือว่าควบคุมโรคได้   แต่อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยมากมายที่ช่วยในการควบคุมโรคได้อยู่  ทั้งองค์ประกอบของการเกิดโรค ที่กลุ่มเด็ก 5 - 14 ปี ด้วย หากในชุมชนนั้นหรือในคุ้มที่มีการป่วยเกิดขึ้นและไม่มีเด็กกลุ่มนี้มากนัก โอกาสระบาดของโรคก็น้อย   ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ เชื้อโรคไข้เลือดออก Type ต่าง ๆ ด้วย หากเป็นการระบาดของ type ใหม่ในชุมชนนั้นก็อาจทำให้รุนแรง และมีผู้ป่วยจำนวนมากได้ เพราะชุมชนนั้นไม่เคยมีภูมิคุ้มกันชนิดใหม่

            3.

ขอบคุณมากครับ สำหรับคำตอบที่ ละเอียด ชัดเจนมาก ช่วงนี้ผม กำลังเรียนรู้อย่างสนุก กับการทำงานในชุมชน ต้องใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แยอะ ๆ

ขอบคุณ คุณหมออีกครั้งครับที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้

        ตอบคำถามที่ 3 ครับ เรื่องรูปแบบที่ อาจจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้

              1. การดำเนินงานของ อสม.ที่มีระบบชัดเจนในเรื่องการป้องกันและควบคุมโรค อาจกำหนดรอบระยะเวลาที่ชัดเจน และเน้นในช่วงเวลาการระบาดของโรค ( พ.ค - ส.ค) โดยการจัดการต้องมีงบประมาณ ซึ่งสามารถใช้จาก กองทุนใน ศสมช.ที่รัฐอุดหนุนให้ปีละ 1 หมื่นบาท  

               ซึ่งกรณีนี้เป็นความเข้มแข็งต่อเนื่องของ องค์กร อสม.เท่านั้น แต่ยังไม่คาดหวังว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมได้  แต่ก็อาจเป็นผลพลอยได้เพราะว่าหาก อสม.มีรอบเวลาดำเนินการที่แน่นอน ส่วนหนึ่งประชาชนต้องมีการปรับพฤติกรรมตามได้

               2. การสนับสนุนโดยองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จะเป็นความต่อเนื่องทางการบริหารงบประมาณและกฎหมายในชุมชนได้  ซึ่งต้องเกิดจากการเรียนรู้ร่วมกันและร่วมมือกันวางแผนดำเนินงาน

               3. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชน

                     3.1 ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ต้องพยายามกำหนดหลักสูตรร่วมกับโรงเรียนเป็นหลักสูตรท้องถิ่น และมุ่งให้เด็กมีพฤติกรรมการกำจัดลูกน้ำในบ้านเรือนของตนเอง

                     3.2 ในกลุ่มประชาชนทั่วไป อาจนำแรงจูงใจ หรือ แรงบังคับ เข้ามาเป็นตัวเร่ง เช่น กำหนดการดำเนินงานบ้านตัวอย่าง ห้องน้ำสะอาด ยกย่อง ประกวดและให้รางวัล   หรือ มีมาตรการบังคับหรือตัดสิทธิบางอย่างในกรณีที่ชุมชนนั้นสามารถประชาคมและลงประชามติกำหนดระเบียบในชุมชนได้

              4. การบังคับใช้กฎหมายหรือระเบียบในชุมชน  บางแห่งใช้คณะกรรมการป้องกันควบคุมโรค ในการตรวจประเมินผล และให้คุณหรือโทษบางอย่าง หรือเพียงแต่เป็นการสร้างระบบและกระแสในสังคมเพื่อสร้างค่านิยมในชุมชนใหม่

             หลายมาตรการแต่ละชุมชนอาจหาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ยั่งยืน ได้มาตรการใดหนึ่ง หรือหลาย ๆ แบบมาผสานกัน

            แต่ระยะเวลาในการเข้าสู่จุดยั่งยืนนั้นต้องดำเนินการต่อเนื่องและเป็นระบบที่ดีพอ

            สำหรับในพื้นที่ของผมทำงาน ผมใช้ ข้อ 1 - 3 และกำลังมุ่งไปที่กลุ่มแม่บ้าน เพราะจากการศึกษาพบว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่รับบทบาทในการดูแลบ้านโดยตรง

           ขอบคุณครับ

อยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับปูนแดง คุณสมบัติของปูนแดงที่สามารถกินได้  การใช้  และสรรพคุณในการกำจัดยุงลายโดยละเอียดนะค่ะ

ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

ถ้าไม่ลำบากฝากส่งมาที่ [email protected]

             ขอโทษด้วยครับคุณตุ๊กตา ผมไม่ได้เข้ามาดูบันทึกนี้เลย ก็เลยตอบช้ามาก ๆ 

           สำหรับเรื่องปูนแดงนั้นความจริงผมไม่มีรายละเอียดเลยเพียงแค่เคยคุยกับคนที่ทำวิจัยเรื่องนี้พอได้ข้อมูลประมาณว่า มันเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของน้ำให้เป็นด่างมากขึ้นก็เลยมีผลต่อการเจริญเติบโตของไข่ยุง อาจทำให้ไม่สามารถออกมาเป็นตัวได้

          ส่วนคนที่ทำเรื่องนี้คือคุณอิม [email protected]  ลองถามเธอดูน่ะครับบอกว่าผมแนะนำมาก็ได้ครับ

ศศินันท์ วงษ์สวัสดิ์

อยากได้งานวิจัยที่เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานของกลุ่ม อสม.เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก

สวัสดีค่ะดิฉันอยากทราบวิธีการควบคุมโรคไข้เลือดออก ตอนนี้ระบาดในช่วงเจเนอเรชั่นที่ 2 แล้วค่ะ

สวัสดีครับคุณนิตยา

ขอโทษที่มาช้า ไม่ทันสถานการณ์เลยครับ

เจน 2 ซะแล้ว ไม่เป็นไรครับ ความจริงเรื่องช่วงเวลาก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เราให้ช่วงเวลาแต่ละช่วงก็คือรอบของอายุยุง แต่เวลาเราเริ่มควบคุมโรค ยุงที่ยังไม่เกิดเป็นตัวก็เตรียมพร้อมที่จะเกิดขึ้นเป็น ยุงมีเชื้อได้ทุกขณะอยู่แล้ว

1. เมื่อขณะที่เริ่มควบคุมยุง มียุงที่เต็มไปด้วยเชื้อโรคและบินได้ เราแน่ใจแค่ไหนที่จะทำให้ยุงเหล่านั้นตายได้หมด คำตอบคือมียุงที่รอดตายจะการไล่ล่าอย่างแน่นอนแต่น่าจะมีปริมาณที่ลดลงมากจนไม่สามารถแพร่เพิ่มปริมาณเชื้อไข้เลือดออกได้

2. มียุงตัวโม่งที่เตรียมพร้อมเป็นยุงลายบิน กัดแพร่เชื้อ ไม่สามารถฆ่าด้วยสารเคมีทรายทีมีฟอส เป็นเหตุให้การพ่นสารเคมีหมอกควัน ต้องพ่นรอบที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 1 สัปดาห์ คือกะว่าจะฆ่ายุงชุดที่เล็ดลอดจากการพ่นฆ่ารอบแรก และรอให้ยุงชุดที่เป็นตัวโม่งในขณะนั้น หรือเป็นลูกน้ำในขณะนั้น เป็นยุงลายเต็มวัย บินออกมาเจอหมอกควันเคมีพอดี

3. เรามั่นใจแค่ไหนว่าได้จัดการลูกน้ำ ให้เหลือน้อยที่สุด เนื่องจากว่าการควบคุมโดยสารเคมีนั้น มีข้อจำกัดและมีปัจจัยที่กระทบประสิทธิภาพของการดำเนินงาน เช่น ปริมาณเคมีที่ไม่เหมาะสม ไม่พอ หรืออาจจะขาดประสิทธิผลอยู่ในตัวของมันเอง และคนที่จะดำเนินการทำได้ครอบคลุมหรือไม่ ความร่วมมือของประชาชนมีระดับไหน หากประเมินแล้ว ลูกน้ำยังมีอยู่ ก็ไม่มีทางจะสกัดการระบาดอย่างต่อเนื่อง

4. เรื่อง เจนที่ 2 ผมจึงคิดว่าน่าจะให้เวลาการควบคุมในรอบแรก บวกกับอายุของยุงตัวสุดท้ายที่เกิดขึ้นก่อนการควบคุมรอบแรกสมบูรณ์ คือน่าจะเป็น 28 วัน บวกกับเวลาที่คิดว่าน่าจะคุมลูกน้ำได้ชัวร์ ๆ ซึ่งอาจจะใช้เวลาเคลียร์ลูกน้ำซักประมาณ 1 สัปดาห์

ลูกน้ำ 7 วัน -เป็น- ยุงลาย 28 วัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท