Roadshow(ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. ....
คำถาม : มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติอยู่แล้ว ทำไมต้องมี (ร่าง) พระราชบัญญัตินี้อีก
คำตอบ : พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติวางหลักการจัดการศึกษาไว้ว่าเป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน และเน้นกระบวนการจัดการศึกษาที่ยึดหลักการมีส่วนร่วมของสถาบันสังคมทุกภาคส่วน แต่หลักการดังกล่าวนี้ขาดมาตรการเชิงกฎหมายที่จะผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการบริหารและการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (ร่าง) พระราชบัญญัตินี้จึงบัญญัติขึ้นเพื่อหนุนเสริมให้หลักการดังกล่าวนำไปสู่การปฎิบัติที่มีความชัดเจน และหวังผลได้ว่าประชาชนได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตจริง
คำถาม : ประชาชนและรัฐจะได้ประโยชน์อะไรจาก (ร่าง) พระราชบัญญัตินี้
คำตอบ: ประชาชนจะมีโอกาสและทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นในการรับบริการการศึกษาที่สอดคล้องกับ ความต้องการ ศักยภาพ และวิถีชีวิตของแต่ละบุคคล เนื่องจากสถาบันสังคมต่างๆ จะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นการจัดการศึกษาอย่างกว้างขวางตามแนวทางที่ (ร่าง) พระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้ รัฐจะประหยัดทรัพยากรการลงทุนต่อหน่วยประชากรอย่างสมเหตุสมผล สามารถบรรลุเป้าหมายการยกระดับการศึกษา/ การเพิ่มจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศรวมทั้งการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ซึ่งจะบรรลุเป้าหมายในระยะเวลาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากการมีส่วนร่วมของสถาบันสังคมต่างๆ อย่างกว้างขวางตามแนวทางที่ (ร่าง) พระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้ (สถาบันสังคมต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมย่อมมีทรัพยากรในลักษณะต่างๆ อยู่แล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งโดยความน่าจะเป็นแล้ว (ในภาพรวม) ย่อมจะมีมากกว่าส่วนที่รัฐให้การสนับสนุน)
คำถาม:การบริหารและการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ (ร่าง) พระราชบัญญัตินี้เป็นอย่างไร จะขัดแย้งกับการบริหารในรูปแบบของเขตพื้นที่การศึกษาและหลักการกระจายอำนาจหรือไม่ อย่างไร
คำตอบ: - ในระบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ กำหนดให้มีผู้เกี่ยวข้องโดยมีบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน ประกอบด้วยผู้เรียน ผู้จัดการเรียนรู้ และผู้ส่งเสริมสนับสนุน - ระบบการบริหารจัดการองค์กรเพื่อบริหารจัดการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยได้กำหนดโครงสร้างองค์กรที่เน้นความมีเอกภาพด้านนโยบาย การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ และความมีประสิทธิภาพในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติโดยสวมทับลงบนโครงสร้างองค์กรที่มีอยู่เดิมทั้ง 3 ระดับ (ส่วนกลาง ระดับจังหวัด และระดับสถานศึกษา) ประกอบด้วย คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (มีเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นกรรมการและเลขานุการ) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด และสถานศึกษา (ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) - ไม่ขัดแย้งกับการบริหารในรูปแบบของเขตพื้นที่การศึกษา แต่ยิ่งกลับส่งเสริมสนับสนุน เพราะโดยบทบาทหลักของเขตพื้นที่การศึกษาคือการดูแลจัดการที่เน้นหนักที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะรูปแบบการศึกษาในระบบตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายหากแต่ว่าการให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายที่อยู่นอกระบบโรงเรียน ยังมีความจำเป็นและความต้องการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จัดในรูปแบบการศึกษานอกระบบ และการจัดการศึกษาทางไกล ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่ให้บริการในหลายเขตพื้นที่การศึกษา ที่ปรากฏอยู่จริงในปัจจุบันเป็นการดำเนินการโดยสถานศึกษาการศึกษานอกโรงเรียนเป็นหลัก ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเสริมการบริหารและการจัดการของเขตพื้นที่การศึกษาตามมาตรา 37 (2) และ (4) ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 นอกจากนี้สถานศึกษาการศึกษานอกโรงเรียนไม่ได้จัดการศึกษาเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังจัดการศึกษาในลักษณะอื่นๆ ด้วย ในลักษณะของการฝึกอบรมหรือที่เรียกว่า“การศึกษาต่อเนื่อง”ซึ่งจัดในรูปแบบการศึกษานอกระบบที่ไม่ได้ แบ่งระดับชั้น และการศึกษาตามอัธยาศัยอีกด้วย รวมทั้งจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐานในรูปแบบที่หลากหลายและบูรณาการด้วย - ไม่ขัดแย้งกับหลักการกระจายอำนาจ แต่ยิ่งส่งเสริมสนับสนุนการกระจายอำนาจเพราะมีบทบัญญัติที่ชัดเจนในการให้สถาบันสังคมทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม มีสิทธิ และหน้าที่ในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้แก่กลุ่มเป้าหมายของตน ไม่ผูกขาดอยู่เฉพาะสถานศึกษาเท่านั้น เพื่อเป็นการสร้างเจตนารมณ์ที่ชัดเจน (ร่าง) พระราชบัญญัตินี้ได้บัญญัติให้ “หลักการกระจายอำนาจแก่สถานศึกษา” เป็นหลักการที่ต้องยึดถือปฏิบัติในการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ประการหนึ่งด้วย
คำถาม: การมี (ร่าง) พระราชบัญญัตินี้จะก่อให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบที่สำคัญอย่างไร
คำตอบ: ผลลัพธ์
- ผู้เรียน ในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้และสามารถเลือกรับบริการได้หลากหลายตามความต้องการของแต่ละบุคคล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนทุกเพศ ทุกวัยจะได้รับบริการการศึกษา (โดยเฉพาะการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) ในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมาก (โดยปรกติแล้วเฉพาะที่สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนจัดเองเป็นหลัก สามารถจัดบริการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยได้รวมกันปีงบประมาณละประมาณ 18-19 ล้านคน : การศึกษานอกระบบประมาณ 4.9 ล้านคน และการศึกษาตามอัธยาศัยประมาณ 13.8 ล้านคน) ซึ่งเป็นการสร้างความเสมอภาค/ความเป็นธรรมในการได้รับโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชาชนได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น
- ผู้จัดการเรียนรู้ จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยกระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และมีหลากหลายภาคส่วน นอกเหนือจากสถาบันการศึกษาแล้ว ภาครัฐ ภาคเอกชนและชุมชนก็มีส่วนร่วมมากขึ้นซึ่งจะส่งผลให้สังคมมีความตื่นตัวในการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากยิ่งขึ้น
- ผู้ส่งเสริมสนับสนุน โดยเฉพาะสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนจะมีความคล่องตัวและศักยภาพในการปฏิบัติภารกิจการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการยกฐานะขององค์กรจาก “สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน” เป็น “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย”
- สังคม จะพัฒนาไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ที่กว้างขวางและเป็นไปในอัตราที่รวดเร็วยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากประชาชนมีโอกาสได้รับการศึกษากว้างขวางทั่วถึงมากขึ้น และผู้จัดการเรียนรู้ (ผู้จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างกว้างขวางทุกภาคส่วนของสังคม
- ประเทศ จะประกอบไปด้วยประชากรที่มีคุณภาพ (มีการศึกษา มีศักยภาพในการผลิตในเชิงเศรษฐกิจและมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะประชากรของประเทศได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและต่อเนื่องตลอดชีวิต ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศมีศักยภาพ/ขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาโดยรวมเพิ่มมากขึ้น
ผลกระทบ
- รัฐ อาจจะต้องลงทุนทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการจัดสรรทรัพยากรและสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กล่าวคือ
ผู้เรียนจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อการศึกษา ได้รับการสนับสนุนสื่อและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ และสำหรับผู้พ้นวัยการศึกษาภาคบังคับแล้วแต่ยังไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานจะได้รับการสนับสนุนเป็นค่าใช้รายบุคคล
ผู้จัดการเรียนรู้จะได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนในการจัดการศึกษา การพัฒนาวิชาการ การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ ภาคีเครือข่ายที่มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยทุกภาคส่วนจะได้รับการจัดสรรทรัพยากรและเข้าถึงแหล่งเงินทุน และ
ผู้ส่งเสริมสนับสนุนจะได้รับการจัดสรรทรัพยากรเพิ่มขึ้นบางส่วนอันเนื่องจากการยกฐานะขององค์กรจากสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนเป็น “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย” - การปรับโครงสร้างองค์กรสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการและเป้าหมาย และการบริหารและการจัดการที่กำหนดไว้