โรค Attention Deficit Trait


โรค Attention Deficit Trait  

 

โดย ผศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ 

  [email protected] 

                  ท่านผู้อ่านเป็นผู้หนึ่งที่ชอบทำงานในลักษณะของ  Multitasking หรือไม่ครับ? คนกลุ่มนี้จะเป็นพวกที่ สามารถหรือชอบที่จะทำงานหลาย ๆ อย่างไปในขณะเดียวกัน เช่นในขณะที่กำลังเช็คอีเมลทางคอมพิวเตอร์ ก็กำลังคุยโทรศัพท์สั่งงานกับลูกน้อง พร้อมทั้งดื่มกาแฟไปพร้อมกัน หรือในขณะที่กำลังนั่งประชุม ก็สั่งงานพร้อมทั้งหาข้อมูล และตัดสินใจผ่านทางเครื่องโน้ตบุ๊คที่ตั้งอยู่ข้างหน้า

 

            ในอดีตผมก็เคยชื่นชมคนพวกนี้นะครับว่า มีความสามารถมาก สามารถทำงานได้หลายอย่างในขณะเดียวกัน สามารถทำงานได้ออกมาเยอะ และดูยังสงบไม่ตื่นเต้นโวยวายเท่าใด  แต่ท่านผู้อ่านทราบไหมครับ ว่า การทำงานในลักษณะ Multitasking นั้น กลับเป็นสาเหตุประการหนึ่งของโรคร้ายใหม่ในที่ทำงาน ที่เราเรียก Attention Deficit Trait หรือ ADT โรคนี้เป็นโรคที่เราจะเจอมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะแวดล้อมที่บังคับให้คนทำงานจะต้องทำงานด้วยความรวดเร็วมากขึ้น  ทำงานหลายอย่างพร้อมๆ กัน จะต้องตื่นตัวตลอดเวลา ไม่มีเวลาหรือโอกาสได้สงบพัก  ท่านผู้อ่านลองพิจารณาตัวท่านเองหรือบุคคลรอบข้างนะครับว่า เป็นโรคนี้หรือไม่? 

              ผมอ่านพบเจอโรคนี้จากวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมกราคม 2548 ในบทความชื่อ  Why Smart People Underperform เขียนโดย Edward M. Hallowell ซึ่งเป็นจิตแพทย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในโรคที่เกี่ยวกับสมองและสมาธิทั้งหลาย            คุณหมอท่านนี้ทำการรักษาอาการ Attention Deficit Disorder หรือ ADD มากว่า 25 ปี และ โรค ADD นี้เราเริ่มรู้จักกันมากขึ้นในเมืองไทย โดยเฉพาะผู้ที่มีลูกอยู่ในวัยเรียน เรามักจะเรียกโรคนี้ว่าเป็นโรคสมาธิสั้น  ผู้เขียนบทความนี้เขาพบว่า  ในช่วงหลังๆ เริ่มมีผู้ใหญ่เข้ามารับการรักษาในอาการที่คล้ายกับโรคสมาธิสั้นกันมากขึ้น แต่เมื่อวินิจฉัยดูก็ไม่ได้เป็นโรคสมาธิสั้น แต่เป็นโรคอีกชนิดหนึ่งที่มีอาการคล้ายกับโรคสมาธิสั้น

คุณหมอท่านนี้เลยตั้งชื่อใหม่ว่าเป็น Attention Deficit Trait หรือ ADT โดยสาเหตุของ ADT จะต่างจากโรคสมาธิสั้น เนื่องจากโรคสมาธิสั้นจะมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมและสภาวะแวดล้อม แต่ ADT นั้น จะมาจากสภาวะแวดล้อมเป็นหลักผู้ที่เป็นโรค ADT นั้น มักจะมีอาการสมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานใดงานหนึ่งได้นานๆ ก็จะถูกดึงดูดด้วยงานอย่างอื่น   มีความวุ่นวายอยู่ข้างใน (แต่มักจะไม่แสดงออกมาให้ผู้อื่นเห็น) ไม่ค่อยอดทน มีปัญหาในการจัดระบบต่างๆ (Unorganized) การจัดลำดับความสำคัญ และการบริหารเวลา

 

               โรค ADT นี้ มักจะเริ่มก่อเกิดขึ้นเมื่อเราก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ การที่มีความรู้สึกว่ามีงานด่วน หรือสิ่งที่จำเป็นและเร่งด่วนที่จะต้องทำเข้ามาเรื่อยๆ และท่านพยายามที่จะจัดการกับงานด่วนเหล่านั้นให้สำเร็จ จะเป็นบ่อเกิดที่สำคัญของโรค ADT เพราะเมื่อเรามีงานที่เร่งด่วน หรือจำเป็นเข้ามาเรื่อยๆ เราก็มักจะรับภาระความรับผิดชอบต่องานเหล่านั้น อีกทั้งไม่บ่นไม่โวยวายต่อภาระงานที่เพิ่มขึ้น เราจะก้มหน้าก้มตาพยายามทำให้งานสำเร็จ  ทั้งๆ ที่กำลังความสามารถ  และเวลาของเราไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณของงานที่เข้ามา  ดังนั้น เมื่อเจอกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นและเร่งด่วนขึ้น เราก็มักจะอยู่ในอาการของความรีบร้อน ตลอดเวลา พยายามทำงานให้เสร็จโดยเร็ว  

                   การทำงานหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน และขาดสมาธิต่อการทำงานๆ หนึ่ง (Unfocused) แต่ในขณะเดียวกัน บุคคลเหล่านี้ก็จะไม่บ่นไม่โวยวาย ดูจากภายนอกแล้วเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น  ทีนี้ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยครับว่าโรค ADT จะก่อให้เกิดปัญหาอะไรขึ้น? ง่ายๆ ก็คือ ทำให้สมองเราสูญเสียความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และทำงานอย่างละเอียดลึกซึ้ง จะส่งผลให้งานที่ออกมาเป็นงานที่เร็วแต่ไม่ลึก

จะทำให้ความสามารถในการทำงานของเราลดน้อยลง การที่สมองเราจะต้องรับ วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ความสามารถในการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ก็ลดลง อีกทั้งความผิดพลาดก็เกิดขึ้นได้มากขึ้น

 

            โรคนี้ถือเป็นโรคใหม่ในที่ทำงานอย่างหนึ่งครับ เกิดขึ้นเนื่องจากสภาวะแวดล้อมในการทำงาน ที่ต้องการความรวดเร็ว และมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น สมองเราจะต้องรับและประมวลผลข้อมูลต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิม วัฒนธรรมในการทำงานในปัจจุบัน ก็เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเกิดโรคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญของความเร็วในการทำสิ่งต่างๆ ในปัจจุบันดูเหมือนว่าเราต้องการความเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ (เรามักจะคิดว่าในเมื่อคนทุกคนมีเวลาเท่ากัน ดังนั้น ผู้ที่มีความเร็วมากกว่าจะทำงานได้มากกว่า)  ท่านผู้อ่านลองสังเกตซิครับเวลาท่านขึ้นลิฟต์  ปุ่มไหนที่ท่านจะกดบ่อยที่สุด ปุ่มนั้นก็คือปุ่ม "ปิดประตู" เนื่องเพราะทุกคนเป็นทาสของความเร็ว ไม่สามารถรอให้ลิฟต์ปิดได้เอง ***ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านเป็นโรค ADT กันบ้างไหมครับ

                ผมลองสังเกตตัวเองก็รู้สึกว่าเป็นเหมือนกันครับ ทั้งสาเหตุและอาการก็เหมือนกับที่คุณหมอเขาเขียนไว้ในบทความของเขาเลยครับ เพียงแต่ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งตกใจนะครับ  ถ้ารู้สึกว่าตนเองเป็น ADT เนื่องจากคนแต่ละคนจะมีวิธีการในการบริหารและจัดการกับโรค ADT ที่ต่างกัน (เนื่องจากสมองของคนแต่ละคนต่างกัน)***
คำสำคัญ (Tags): #ส่งเสริมสุขภาพ
หมายเลขบันทึก: 101854เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2007 20:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท