เตรียมตัวจัดเวทีประชาคม


เวทีประชาคม

           การจัดเวทีประชาคมเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญมากในการทำงานในชุมชน  ครูพยาบาลชุมชนจะเตรียมนักศึกษาพยาบาลอย่างไร  จึงจะประสบความสำเร็จ   การจัดเวทีประชาคมไม่ใช่เพียงแค่การเชิญชาวบ้านมาประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของเรา  หรือมาฟังว่าปัญหาของคุณมีอะไรบ้าง (จากการที่เราไปค้นหามา)  แล้วถามว่าจะให้เราแก้ไขปัญหาใดก่อน  แต่การจัดเวทีประชาคมโดยทั่วไปแล้ว  หมายถึงการประชุมชาวบ้าน  เพื่อวัตถุประสงค์หลากหลายเช่น  ปลุกจิตสำนึกให้รักชุมชน ค้นหาผู้มีจิตสาธารณะ  ช่วยให้ชุมชนค้นหาเป้าหมายและมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน และเพื่อร่วมกันคิดแก้ปัญหาของชุมชน  ฯลฯ 

        หลังจากที่นักศึกษาทำความรู้จักชุมชน รู้ว่าชุมชนมีศักยภาพหรือจุดเด่นและจุดอ่อนอย่างไรบ้าง  และประเมินปัญหาหรือความต้องการของชุมชนตามหลักการที่ได้เรียนมาแล้ว  นศ. จะมาอภิปรายร่วมกับครู เพื่อวิเคราะห์ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราควรดำเนินการก่อน อะไรคือสาเหตุของปัญหานั้น  และเราควรดำเนินการอย่างไรบ้างเพื่อแก้ไขหรือบรรเทาปัญหานั้น ในเวลาและความสามารถที่เรามี   ขั้นตอนนี้จะฝึกให้นศ. รู้จักคิด วิเคราะห์ปัญหา สาเหตุของปัญหา และรู้จักวิธีการนำความรู้ที่สั่งสมมาเกือบ 4 ปี มาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์จริง   บทบาทของครูเป็น facilitator ที่คอยกระตุ้นให้นศ. ได้มีอิสระในการคิดวิเคราะห์  อย่างมีเหตุผล (critical thinking)  นศ.จะถูกฝึกให้คิดแบบรอบด้าน  ไม่มองแต่ตัวปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ต้องมองให้ลึกและกว้าง  คิดเป็นว่าปัญหานั้นเกิดจากอะไร  และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ตัวอย่างเช่น ชุมชนแห่งหนึ่งมีขยะกระจายอยู่ตามทางเดิน และบริเวณทั่วๆไปของชุมชน และชาวบ้านบ่นว่ายุงชุม   เมื่อได้พูดคุยต่อไป ชุมชนบอกว่าไม่มีส่วนราชการมาเหลียวแล ไม่มีใครมาเก็บขยะ  ไม่มีใครมาฉีดพ่นยาฆ่ายุง  เมื่อพูดคุยต่อไปอีกจึงพบว่าชุมชนอยู่กันแบบต่างคนต่างอยู่  ไม่มีผู้นำชุมชนหรือคณะกรรมการชุมชนที่ชัดเจน  ทำให้ไม่มีผู้ทำหน้าที่เป็นแกนนำ หรือผู้แทนชุมชนที่จะเป็นปากเป็นเสียง  ชุมชนนี้จึงมีลักษณะของชุมชนที่อ่อนแอหรือไม่เข้มแข็ง   ดังนั้นการช่วยเหลือชุมชนนี้คงไม่ใช่เพียงแค่พยาบาลไปช่วยประสานหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องให้มาฉีดยาฆ่ายุงหรือให้มาเก็บขยะ  แต่จะต้องลึกไปถึงว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น สามารถดูแลกันเองได้เมื่อไม่มีเราหรือนศ.พยาบาล 

       ครูต้องกระตุ้นให้นศ.คิด ท้าทายความสามารถ เปิดโอกาสให้คิดนอกกรอบ  ชื่นชมความกล้าคิด กล้าถาม กล้าแย้ง กล้าทดลอง  บอก นศ. ว่าทุกอย่างเป็นไปได้  แต่อาจยังไม่เกิดเวลานี้  อาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี หรือเป็นหลายๆปี   แม้ยังไม่สำเร็จก็ถือว่าเป็นความภูมิใจที่เราได้คิดเป็น กล้าทำ กล้าลอง  เป็นประสบการณ์ที่มีประโยชน์ต่อชีวิตของนศ.

       เมื่อวางแผนแล้วว่าจะช่วยชุมชนอย่างไรบ้าง  เราควรเตรียมไว้สัก2 ทางเลือก  เผื่อว่าในเวทีประชาคม ชาวบ้านอาจมองเห็นต่างจากเรา เราจะได้มีแผนสองไว้ให้ประชาชน  จากประสบการณ์  ครูสามารถเดาได้ว่าชุมชนจะพูดอย่างไร  ชุมชนต้องการอะไร  ดังนั้นเราควรเตรียมตัวอย่างไรให้พร้อมในการประชุมในวันนั้น  เช่น เตรียมข้อมูลอะไร เตรียมสถิติอะไร  เตรียมคำพูดอย่างไรจึงจะจูงใจให้ชุมชนเข้าใจ  คล้อยตามและเต็มใจร่วมมือทำงานกับเรา  นอกจากนั้นครูจะบอกนศ. เสมอว่าเรากับชุมชนจะต้องทำงานแบบเป็นหุ้นส่วนกัน  กล่าวคือไม่ใช่เราทำให้หมดตั้งแต่เดินสำรวจ  เตรียมข้าวของ  บริการตรวจสุขภาพ ให้คำแนะนำรวมทั้งเตรียมน้ำดื่ม อาหารว่าง ยกโต๊ะเก้าอี้เอง  แต่เราจะทำงานร่วมกัน  ชุมชนก็ต้องลงทุน ต้องมีหน้าที่หรือจัดเตรียมบางอย่างให้เรา  จากประสบการณ์ที่ผ่านมา  ชุมชนจะรู้สึกดีใจ  ตื้นตันใจที่เราเข้าไปช่วยเหลือและมักจะจัดหาอาหารและน้ำดื่มมาเลี้ยงเรา

     เทคนิคทั้งหมดนี้เป็นศาสตร์และศิลป์  ขณะพูดคุยกับนศ. ครูมองเห็นแววตาและความรู้สึกของความกระตือรือล้น ความท้าทายและความสนุกของนศ.   เมื่อนศ. อยากทำแล้วได้ทำ  นศ. จะมีความสุข  สนุกกับการเรียนวิชาการพยาบาลชุมชน  ครูก็มีความสุขกับการสอนด้วย

  

    

คำสำคัญ (Tags): #เวทีประชาคม
หมายเลขบันทึก: 101681เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2007 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับท่านP
ดร. อาภา ยังประดิษฐ
ผมขออนุญาติคัดนำเอาข้อความดีๆไปรวมใน

http://gotoknow.org/blog/mrschuai/99502

ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท