การทำงานเบาหวานของ รพ.กะพ้อ


มุ่งเน้นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แก้ไขปัญหาสุขภาพ ส่งเสริมผู้ป่วยและญาติมีส่วนร่วมในการดูแลตัวเอง

ภก.นิอายุบ นิเง๊าะ จาก รพ.กะพ้อ ปัตตานี ส่งเรื่องเล่าการทำงานของทีมเบาหวานมาให้ทาง e-mail เมื่อ ๒ วันก่อน ดิฉันเอามาฝากสมาชิกต่อและขอส่งกำลังใจไปให้ทีมเบาหวานและทีมอื่นๆ ของ รพ.กะพ้อทุกคนนะคะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๐ 

เรื่อง  ความหวานที่ต้องค้นหา


ทีมนำทางคลีนิก (PCT) ได้ทบทวนการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่ผ่านมา    พบว่ามีผู้ป่วยเบาหวานหลายรายเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรค   จึงร่วมดำเนินการจัดทำ GAP ANALYSIS ในผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งจัดทำโดยโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  โดยมีการตรวจร่างกายอย่างละเอียด  ตรวจทางห้องห้องปฏิบัติการ ติดตามและประเมินผลการรักษา  เพื่อค้นหาภาวะแทรกซ้อนและได้รับการดูแลรักษาได้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น   ตลอดจนใช้  GAP ANALYSIS เป็นจุดเริ่มของการทำงานเป็นทีมและการติดตามผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพ

การดำเนินงาน GAP ANALYSIS ของโรงพยาบาลกะพ้อครั้งแรกในปี พ.ศ. 2546  ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาล  โดยนำระบบ Mapping มาใช้  แบ่งกลุ่มผู้ป่วยเป็น 4 กลุ่ม จากนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายเวชปฏิบัติชุมชนนำคนขับรถไปรับผู้ป่วยผู้ป่วย ณ.จุดนัดในแต่ละกลุ่ม  จนครบทุกกลุ่ม  สัปดาห์ละ 1 กลุ่ม  เพื่อให้แพทย์ตรวจร่างกายอย่างละเอียด  ตรวจทางห้องปฏิบัติการและตามแบบฟอร์มที่จัดทำ  และนำผู้ป่วยไปตรวจตาที่โรงพยาบาลปัตตานีสัปดาห์ละ 1 กลุ่ม   

หลังจากนั้นมีการติดตามประเมินผลการรักษาในระยะต่อไปทุก 1 เดือน   การทำ GAP ANALYSIS ขยายผลไปถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานนอกเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาล  โดยแบ่งเป็น 4  กลุ่มและนัดผู้ป่วยเป็นกลุ่มในเขต สอ. เดียวกัน   จะมีผู้นำทีมในแต่ละกลุ่มและเจ้าที่ สอ. ช่วยดูแลติดตาม   มีการรับ-ส่งผู้ป่วยทุกครั้งที่มาตรวจที่โรงพยาบาล

ในปี พ.ศ. 2548 - 2549 ได้จัดตั้งทีมเวชปฏิบัติครอบครัว ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการดูแลติดตามผู้ป่วยโรคเรื้อรังให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง มีการจัดกิจกรรม DM Class  ดำเนินกิจกรรม Self help group และออกกำลังกายโดยรำไม้พลอง  เดินกะลา    การดูแลเท้าโดยจะมีอสม.มาร่วมกิจกรรมด้วย  ก่อนแพทย์ตรวจให้ความรู้เกี่ยวกับการรับประทานยาและการควบคุมอาหารในเดือนถือศีลอด  

ผลการดำเนินกิจกรรมค้นพบภาวะแทรกซ้อนและให้คำปรึกษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว  อัตราการขาดนัดมีแนวโน้มลดลง  สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้เพิ่มขึ้น  และมีการดำเนินกิจกรรมนี้ไปอย่างต่อเนื่อง    มีการประชุมสรุปผลการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานในระดับจังหวัดทุกเดือน 

บุคลากรในทีมผู้ดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานได้มีการพัฒนาความรู้   ค้นหาวิธีการและเข้าฝึกอบรมผู้จัดกิจกรรมค่ายเบาหวาน ณ.โรงพยาบาลเทพธารินทร์  และศึกษาดูงานเพิ่มเติมในส่วนของการจัดกิจกรรมค่ายเบาหวานที่โรงพยาบาลสุไหงโกลก  ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในกิจกรรมค่ายเบาหวานเพิ่มขึ้น  และได้เล็งเห็นความสำคัญของกิจกรรมค่ายเบาหวาน จึงได้จัดทำแผนการดำเนินงานค่ายเบาหวานและจัดทำเป็นโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แก่ผู้ป่วยเบาหวานขึ้นเป็นครั้งแรก  ซึ่งโครงการจะแบ่งเป็น 2 กิจกรรม
-   กิจกรรมที่1 โปรแกรมให้ความรู้
-   กิจกรรมที่2   การเข้าค่ายเบาหวานครั้งที่ 1 (one day camp)

กิจกรรมที่ 1  กำหนดเนื้อหาที่จะให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายดังนี้ 
- โรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อน
- โภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ป่วยเบาหวาน
- การดูแลเท้าและการบริหารที่ถูกต้อง
- การออกกำลังกายที่เหมาะสมและถูกต้องในผู้ป่วยเบาหวาน/การใช้ยาเบาหวานและการฉีดอินซูลิน
- ตรวจตาและเจาะเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน (GAP ANALYSIS)

ในการดำเนินงานกิจกรรมที่ 1 จัดขึ้นที่โรงพยาบาลกะพ้อ  ทีมงาน DM TEAM  มีการประสานงานกับเจ้าที่สถานีอนามัยในการทำกลุ่ม  โดยจะทำกลุ่มทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง  จะมีการรับ – ส่ง ผู้ป่วยทุกครั้งหลังทำกิจกรรม กำหนดวันนัดในการทำกลุ่มครั้งต่อไปก่อนที่ผู้ป่วยจะกลับบ้านและลงในสมุดประจำตัวผู้ป่วยด้วย เพื่อป้องกันการลืมวันนัด 

ระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรมครั้งนี้  ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2549 – กรกฎาคม 2550  ผลการดำเนินงานอัตราการควบคุมระดับน้ำตาลมีแนวโน้มดีขึ้น  และกิจกรรมค่ายเบาหวานจะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม  2550   ในรูปแบบ One day camp  โดยคัดเลือกผู้ป่วยเบาหวานสถานีอนามัยละ 3 คน  ที่มีลักษณะเป็นผู้นำ หรือ อสม. 


การดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ มุ่งเน้นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  แก้ไขปัญหาสุขภาพ  ส่งเสริมผู้ป่วยและญาติมีส่วนร่วมในการดูแลตัวเอง      ผู้ป่วยมีความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน ภาวะแทรกซ้อน  สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และมีพฤติกรรมการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง


DM TEAM รพ.กะพ้อ

หมายเลขบันทึก: 101625เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2007 05:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท