ว่าด้วยคดียุบพรรค


ตุลาการวิวัฒน์หรือพลเมืองวิวัฒน์??????

ยุบพรรค??? 

หายหน้าหายตาไปหลายวันครับผม เพราะหน้าแตกหมอไม่รับเย็บครับว่าด้วยการทำนายผิดพลาดในคดียุบพรรคของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในยุดของ คมช.วันนี้ผมขออนุญาตนำความบางส่วนจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐมาฝากท่านผู้อ่านให้พิจารณาครับ

เหตุผลที่ 5 คณาจารย์นิติมธ.
++ ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินเว้นวรรค 111 ทรท.

หมายเหตุ-คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ รศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ดร. ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล ปิยบุตร แสงกนกกุล และธีระ สุธีวรางกูร เสนอบทวิเคราะห์ คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญกรณีการยุบพรรคการเมืองเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย สยามรัฐตัดตอนมานำเสนอดังนี้

ประการแรก ที่มาและการบังคับใช้ของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือคปค.ฉบับที่ 27ควรตั้งข้อสังเกตก่อนว่า ประกาศ คปค. ฉบับนี้ ซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้นำมาบังคับใช้กับคดี มีที่มาจากคณะรัฐประหารซึ่งได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลซึ่งผู้ถูกร้องที่ 1 จัดตั้งขึ้น มิใช่เป็นกฎหมายที่ได้ออกมาบังคับใช้ก่อนหน้านี้ในช่วงระยะเวลาที่ประเทศอยู่ในสภาวะปกติ นอกจากนั้น การนำประกาศ คปค. ฉบับนี้มาใช้บังคับกับคดีของคณะตุลาการฯ ก็เป็นการบังคับใช้ในระหว่างระยะเวลาที่คณะรัฐประหารยังกุมอำนาจในการปกครองประเทศอยู่

ประการที่สอง ความมุ่งหมายในการออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 แม้ประกาศ คปค. ฉบับนี้จะแสดงเหตุผลในการออกประกาศว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการมีผลใช้บังคับของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 รวมทั้งกำหนดเรื่องการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำการต้องห้ามตามกฎหมายนั้นแต่เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์แวดล้อมจากการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนต่างกรรมต่างวาระของหัวหน้า คปค. ซึ่งเป็นผู้ลงนามให้ประกาศใช้ประกาศ คปค. ฉบับดังกล่าว อาจมีข้อสงสัยต่อมูลเหตุจูงใจในการประกาศใช้ประกาศ คปค.ดังกล่าวได้ เช่น เมื่อมีคำถามว่าการออกประกาศ คปค .ฉบับนี้มีเป้าหมายอยู่ที่พรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งหรือไม่ หัวหน้า คปค. กล่าวว่า ผมทำเพื่อชาติ ในอีกคราวหนึ่ง เมื่อต้องให้สัมภาษณ์กับผู้บริหารในเครือเนชัน ต่อคำถามที่ว่า ให้ยุบพรรคไทยรักไทย คงจะสลายตัวกันหมด หัวหน้า คปค. ตอบว่า กำลังศึกษาอยู่ ให้คณะกฤษฎีกาไปดำเนินการ พฤติการณ์แวดล้อมเหล่านี้สมควรยิ่งที่คณะตุลาการฯจะต้องนำมาพิจารณาว่าประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 โดยเฉพาะในข้อ 3 นั้นถูกประกาศใช้โดยมีความมุ่งหมายเพื่อ ประโยชน์สาธารณะอันเป็นความมุ่งหมายในการออกกฎหมายของประเทศที่ยึดถือหลักนิติรัฐ หรือเพื่อ ประโยชน์อย่างอื่นอันมิชอบ

ประการที่สาม ลักษณะของประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ควรทราบว่าตามหลักการออกกฎหมายของนานาอารยะประเทศ ตามหลักทางนิติศาสตร์ และหลักการที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กฎหมายที่จะออกมาเพื่อบังคับใช้กับราษฎร โดยเฉพาะ กฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ จะต้องเป็นกฎเกณฑ์ที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับกับกรณีหนึ่งกรณีใด หรือกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

เมื่อพิจารณาถึงประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 โดยเฉพาะเนื้อความตามข้อ 3 แล้ว หากพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงอันเป็นพฤติการณ์แวดล้อมที่ปรากฏทั้งโดยแจ้งชัดและโดยปริยายมีข้อที่ต้องตั้งไว้ให้สังเกตว่าประกาศ คปค. ฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่มีลักษณะเพื่อให้เกิดผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป หรือมุ่งประสงค์จะให้ใช้บังคับกับกรณีหนึ่งกรณีใด หรือกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นการเฉพาะ อันถือเป็นกฎหมายที่มีลักษณะมิชอบทั้งตามหลักการในการตรากฎหมายของนานาอารยะประเทศ และหลักรัฐธรรมนูญทั่วไป ซึ่งได้รับการยืนยันไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวกับประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ในฐานะของกฎหมายซึ่งได้ถูกนำไปบังคับใช้กับคดี แม้ทั้งผู้ถูกร้องหรือคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะไม่ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาต่อสู้หรือวินิจฉัย แต่โดยสภาพทั้งปวงของประกาศ คปค. ฉบับดังกล่าว ก็พอจะตั้งข้อสังเกตให้เห็นได้ว่า มีหรือไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยหลักรัฐธรรมนูญทั่วไปและหลักนิติรัฐ

การวินิจฉัยให้ใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายต่อบุคคลของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ

หลักในทางตำราความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป กำหนดการบังคับใช้กฎหมายในแง่ของเวลาว่า กฎหมายจะเริ่มต้นมีผลบังคับเมื่อใดนั้น ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายฉบับนั้นกำหนดไว้ หากไม่มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น กฎหมายดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศกฎหมายฉบับนั้น

ในกรณีที่กฎหมายฉบับนั้นกำหนดให้ใช้บังคับย้อนหลัง ย่อมต้องพิเคราะห์ต่อไปว่าการกำหนดเช่นนั้นขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญทั่วไปที่ห้ามตรากฎหมายย้อนหลังเป็นผลร้ายต่อบุคคลหรือไม่ เมื่อประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 ได้รับการประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 และไม่มีความข้อใดบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในแง่ของเวลา จึงต้องถือว่าประกาศฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2549 เป็นต้นไป คณะตุลาการฯไม่ได้พิจารณาประเด็นนี้ซึ่งเป็นเรื่องเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้กฎหมาย แต่ข้ามขั้นตอนไปพิจารณาประเด็นที่ว่าจะใช้ประกาศ คปค. ฉบับนี้ย้อนหลังได้หรือไม่ ทั้งๆ ที่ประกาศคปค.ดังกล่าวไม่ได้บัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้ ซึ่งหากถือว่าประกาศ คปค.ดังกล่าวใช้บังคับได้

ประกาศ คปค.ดังกล่าวย่อมเริ่มมีผลใช้บังคับกับการกระทำตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2549 เป็นต้นไปเท่านั้น

ภายใต้หลักการปกครองโดยกฎหมายบนพื้นฐานแห่งความยุติธรรม หรืออีกนัยหนึ่งคือ หลักนิติรัฐ เป็นที่ยอมรับกันว่า เพื่อให้บุคคลผู้ตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเกิดความไว้วางใจและเกิดความเชื่อถือของต่อการใช้อำนาจของรัฐ โดยหลักแล้ว รัฐมีหน้าที่ต้องยอมตนให้ตกอยู่ภายใต้บังคับของหลักการห้ามมิให้มีการตราและใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายกับบุคคล ดังนั้นหากการกระทำของบุคคลในวันนี้ไม่ผิดกฎหมาย รัฐย่อมไม่อาจตรากฎหมายในวันรุ่งขึ้นกำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิด และนำมาใช้บังคับย้อนหลังให้เป็นผลร้ายกับผู้กระทำได้ ในทำนองเดียวกันหาก การกระทำของบุคคลในวันนี้มีโทษที่มีความรุนแรงระดับหนึ่ง รัฐก็ย่อมไม่อาจตรากฎหมายในวันรุ่งขึ้นกำหนดโทษสำหรับการกระทำนั้นให้รุนแรงขึ้นและใช้บังคับย้อนหลังให้เป็นผลร้ายแก่บุคคลได้

หลักการห้ามใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายกับบุคคลเช่นว่านี้ ย่อมถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้ความเคารพ หากรัฐวางตนละเลยหรือเพิกเฉยต่อหลักการดังกล่าวนี้ บุคคลย่อมไม่อาจเชื่อถือหรือไว้วางใจการใช้อำนาจของรัฐได้เลย เมื่อบุคคลไม่อาจเชื่อถือหรือไว้วางใจการใช้อำนาจรัฐได้แล้ว ความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะก็เป็นอันเป็นไปไม่ได้ ในที่สุดแล้วสันติสุขในระบบกฎหมายก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้นในการปกครองตามหลักนิติรัฐ การห้ามตรากฎหมายให้มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายกับบุคคลจึงมีความสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อให้บุคคลสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขปราศจากความหวาดระแวงรัฐ และเพื่อป้องกันมิให้รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจในการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของบุคคล

ในนานาอารยะประเทศ หลักการดังกล่าวนอกจากจะนำไปปรับใช้อย่างเคร่งครัดกับการกระทำที่เป็นโทษในทางอาญาแล้ว ยังได้นำไปปรับใช้อย่างเข้มข้นกับการกระทำที่ไม่ใช่โทษในทางอาญาอีกด้วย เช่น ในสาธารณรัฐฝรั่งเศส คณะตุลาการรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสเคยมีคำวินิจฉัยลงวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1982 เกี่ยวกับกรณีโทษทางภาษีว่า หลักการไม่มีผลใช้บังคับย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายต่อบุคคลของกฎหมาย มิได้ใช้บังคับเฉพาะกับกฎหมายที่บัญญัติกำหนดความผิดและโทษทางอาญาเท่านั้น หากต้องขยายไปใช้บังคับกับกฎหมายที่กำหนดความผิดและโทษทุกประเภท สำหรับประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีก็ได้วินิจฉัยไว้ว่า โดยหลักแล้วการตรากฎหมายย้อนหลังไปใช้บังคับกับข้อเท็จจริงที่จบลงแล้วให้เป็นผลร้ายแก่บุคคลจะกระทำมิได้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เป็นความจริงว่า หลักการห้ามใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายกับบุคคล โดยเฉพาะผลร้ายซึ่งมิได้เป็นโทษในทางอาญา องค์กรตรวจสอบควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายในแต่ละประเทศ จะนำไปปรับใช้อย่างเข้มข้นหรือไม่ อย่างไรนั้น ย่อมถือเป็นดุลพินิจขององค์กรนั้นเองที่จะวินิจฉัยตามความจำเป็นเหมาะสมแล้วแต่สภาพการณ์ แต่ไม่ว่ากรณีใด หากจะต้องใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นโทษต่อบุคคล แม้โทษนั้นจะมิใช่โทษในทางอาญา ก็จำเป็นจะต้องใช้ในลักษณะที่เป็นข้อยกเว้นอย่างยิ่ง เต็มไปด้วยความระมัดระวังอย่างมาก ทั้งยังต้องคำนึงถึงความหนักเบาของโทษและสภาพการณ์อย่างอื่นอย่างรัดกุมรอบคอบประกอบกันอีกด้วย มิอาจอ้างเหตุผลเพื่อประโยชน์สาธารณะลอยๆ ได้ เพราะมิฉะนั้นแล้ว รัฐอาจตรากฎหมายให้มีผลร้ายย้อนหลังกลับไปใช้บังคับกับการกระทำที่จบสิ้นไปแล้วได้ทั้งสิ้น

ปัญหามีว่า การที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เมื่อได้พิจารณาจากหลักการที่ว่า ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยปราศจากกฎหมาย ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในอดีตหลายฉบับ อีกทั้งเมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 แล้วมีความเห็นว่า หลักการห้ามใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายกับบุคคล จะนำไปใช้บังคับเฉพาะแต่เพียงกับการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดในทางอาญานั้น ถือเป็นความเห็นที่ชอบด้วยเหตุผล อย่างสมเหตุสมผล หรือไม่

คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ดังมีรายนามข้างต้น) พิเคราะห์เหตุผลของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบกับหลักในทางตำรา และหลักกฎหมายที่นานาอารยะประเทศยอมรับนับถือแล้ว เห็นว่าการให้เหตุผลดังกล่าวเป็นการให้เหตุผลที่คลาดเคลื่อนในสาระสำคัญ โดยหลักแล้วการห้ามใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายกับบุคคลถือเป็นหลักการที่มุ่งหมายให้ใช้บังคับกับโทษทั่วไปไม่เฉพาะแต่เพียงโทษในทางอาญาเท่านั้น แต่ด้วยเหตุว่าเมื่อโทษทางอาญามีผลกระทบกระเทือนต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคล

ซึ่งในสายตาของกฎหมายนั้นถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงมีการรับรองหลักการ ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยปราศจากกฎหมายในส่วนของโทษทางอาญา ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้หลักการดังกล่าวได้รับการรับรองอย่างชัดเจน และจะกระทำมิได้โดยเด็ดขาด หาได้มีความหมายถึงขนาดว่า หากเป็นโทษอย่างอื่นซึ่งมิใช่โทษในทางอาญาแล้ว รัฐ ย่อมสามารถออกกฎหมายย้อนหลังไปให้เป็นผลร้ายอย่างไรก็ได้ โดยปราศจากเงื่อนไข ตามนัยแห่งการให้เหตุผลของคณะตุลาการ ฯไม่

นอกจากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงในกรณีนี้ซึ่งเป็นเรื่องของการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคล ในเมื่อสิทธิเลือกตั้งดังกล่าวนี้ ได้รับการยอมรับว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกถึงความเป็นพลเมืองของรัฐอย่างสมบูรณ์ ในประเทศเสรีประชาธิปไตย ยิ่งกว่าสิทธิในทรัพย์สินหรือร่างกายบางประการ แม้การออกกฎหมายเพื่อเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลจากเหตุทางกฎหมายในบางกรณีนั้นสามารถกระทำได้จากการให้เหตุผลของคณะตุลาการ ฯ แต่กฎหมายเช่นว่านี้จะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อเอาไปบังคับใช้กับข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นต่อไปในภายหน้าเท่านั้น จะนำไปใช้ย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายกับบุคคลซึ่งได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปแล้ว ก่อนหน้าที่กฎหมายจะมีผลใช้บังคับ ย่อมไม่ได้

อนึ่ง นอกจากเหตุผลทางกฎหมายเกี่ยวกับหลักการห้ามมิให้มีการใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายกับบุคคลแล้ว สิ่งที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญควรนำมาพิจารณาไว้ในใจในขณะปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลก็คือ ข้อเท็จจริงทั้งหมดอันเป็นพฤติการณ์แวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยคดี

เป็นที่รับรู้กันว่าขณะนี้ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหาร และเป็นคณะรัฐประหารคณะนี้เองที่ได้ใช้กำลังอาวุธยึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยผู้ถูกร้องที่ 1 ในคดีนี้

ในสภาวะการณ์ที่ผู้ออกกฎหมายอยู่ในฐานะที่เป็นปรปักษ์กับผู้ถูกร้อง ประกอบกับประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 นั้นได้มีการแสดงออกต่างกรรมต่างวาระจากผู้ออกกฎหมายฉบับนี้ว่ามีความประสงค์อย่างไร

ในขณะที่กฎหมายฉบับดังกล่าวนั้นมิได้ออกโดยรัฐสภา ซึ่งมีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ประกอบกับระบบการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3 ได้ถูกทำลายลงจนหมดสิ้นโดยมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 เมื่อคณะตุลาการฯจะต้องนำประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 ข้อ 3 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลอย่างยิ่ง มาบังคับใช้กับคดี ก็ย่อมมีเพียงเฉพาะคณะตุลาการฯ เท่านั้นที่สามารถยืนยันได้ว่าจะวินิจฉัยคดีโดยยึดถือหลักการ อำนาจคือธรรมหรือ ธรรมคืออำนาจ

การให้เหตุผลของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพียงว่า ประกาศของ คปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3 ย่อมสามารถนำมาใช้ย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายกับผู้ถูกร้องทั้งสามได้ เพราะการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ถือเป็นโทษในทางอาญานั้น นอกจากจะไม่เป็นเหตุผลที่สามารถยอมรับได้ดังที่ได้แสดงให้เห็นมาทั้งหมด ในบทวิเคราะห์ฉบับนี้และการวินิจฉัยในลักษณะดังกล่าวอาจจะกระทบกระเทือนกับการเรียนการสอนในทางนิติศาสตร์อย่างรุนแรงแล้ว

เป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งว่าแนวทางการวินิจฉัยเช่นว่านี้อาจจะถูกนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในการออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของราษฎร และเมื่อคณะตุลาการฯ มีคำวินิจฉัยโดยการให้เหตุผลเช่นนี้ นับจากนี้ไปราษฎรจะเชื่อมั่นและไว้วางใจการใช้อำนาจรัฐได้อีกหรือไม่ วิญญูชนย่อมตรึกตรองได้เองอาศัยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น และด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ดังมีรายนามข้างต้น) ขอแสดงความไม่เห็นพ้องด้วยอย่างยิ่งกับคำวินิจฉัยนี้ ทั้งในผลแห่งคดีและการให้เหตุผลของคดี

นอกจากนั้นผมนำลิงค์นี้มาฝากให้ใช้ดุลยพินิจกันต่อไปครับ วันนี้ตัวใครตัวมันก่อนครับผม

http://www.oknation.net/blog/sunzolo/2007/06/07/entry-1

คำสำคัญ (Tags): #คดียุบพรรค
หมายเลขบันทึก: 101622เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2007 03:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน และคุณบินหลาดง

 

 

เราในฐานะเราคนไทยที่รักและห่วงใย ประเทศและคนในชาติ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดี  

ศ.ดร.บุญทัน ดอกไทสง เคยสอนไว้ว่า "ศิษย์รัก การใส่เสื้อเหลืองอย่างเดียว ช่วยชาติไม่ได้น๊ะ ต้องทำความดีด้วยความมุ่งมั่นด้วย" เพราะระยะนี้ผมใส่เสื้อเหลืองเป็นประจำ อาจารย์ท่านให้ข้อคิด เตือนสติเสมอ ว่าทำอะไร ให้คิด ให้เหนือชั้น ใหมีสติ ให้มีผลดีที่แท้ และยั่งยืน ตามแนวพุทธศาสตร์

 

เรารักประเทศไทย เหมือนกัน คงต้องรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจ ที่เราได้มีโอกาสเผยแพร่ความรู้ ให้มีความรู้ มีปัญญา รู้หลักประชาธิปไตย รู้บทบาท หน้าที่พลเมือง รู้หลักการบริหารบ้านเมือง ในระบอบประชาธิปไตย รู้หลักที่ดีงาม กันให้มากยิ่งขึ้น และปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เราต้องร่วมด้วยช่วยกันตรงนี้

วกกลับมาเรื่องของการตัดสินคดียุบพรรค จากบล๊อคของผมซึ่งมีความไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยฯ ผมมีบทความที่มาสนับสนุนความคิดของผม อีกหนึ่งบทความ ที่ ศ.ดร.อุกฤษ์ มงคลนาวิณ ท่านได้ให้ไว้กับสื่อมวลชน ดังนี้ครับ 

ท่านวิเคราะห์การตัดสินคดียุบพรรค ได้สั้นกระฉับ ลึกซึ้ง เข้าใจหลักนิติธรรม หลักประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี ถือว่าเป็นบทวิเคราะห์ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง สะท้อนให้เห็นถึงอัจฉริยะภาพ ความเฉียบคม และวิสัยทัศน์ทางด้านหลักนิติธรรมของ ศ.ดร.อุกฤษ  ได้เป็นอย่างดี  ถือเป็นบทวิเคราะห์ที่เป็นบทความประวัติศาสตร์ ควรค่าแก่การศึกษา และเก็บไว้ ให้ลูกหลาน ได้คิดพิจารณา  เชิญท่านผู้อ่านติดตามอ่านได้ในตอนท้ายนี้ครับ

  

สัมภาษณ์ : ควันหลงคดียุบพรรค"อุกฤษ”

วิพากษ์"คำวินิจฉัยสวนเลน"[1]

  คัดมาจาก น.ส.พ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2550 

          คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญที่ให้ยุบพรรคการเมือง 4 พรรค รวมทั้งพรรคไทยรักไทยนั้น ยังคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบทุกคน โดยอาศัยบทบัญญัติตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ประกาศ คปค.) ฉบับที่ 27 ข้อ 3 ซึ่งเป็นประกาศที่ออกมาภายหลังการกระทำความผิดของพรรคการเมืองที่ตกเป็นผู้ถูกร้อง

 

          ล่าสุด ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน อดีตประธานรัฐสภา และอดีตประธานคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญหลายสมัย ออกมาวิพากษ์คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ "รุ่นน้อง" อย่างเผ็ดร้อน พร้อมเหตุผลประกอบที่น่าสนใจไม่น้อย

 

          ศ.ดร.อุกฤษ เริ่มต้นที่องคาพยพของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งแตกต่างจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง และนั่นคือปมเหตุแรกที่ทำให้เกิดปัญหา

 

          "จริงๆ แล้วบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอยู่ในรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับของประเทศไทย แต่สมัยก่อนองค์ประกอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะมีประธานรัฐสภาเป็นประธาน และมีกรรมการประกอบด้วยอดีตประธานศาลฎีกา อดีตเจ้ากรมอัยการ และผู้ทรงคุณวุฒิอีกจำนวนหนึ่ง โดยไม่ได้มีอำนาจมากมายเท่าปัจจุบัน ประเด็นที่จะขึ้นสู่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และตรวจสอบการแสดงบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองภายหลังการเลือกตั้งเท่านั้น"

 

          ศ.ดร.อุกฤษ อธิบายว่า การที่องค์ประกอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในอดีตมาจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา มีประสบการณ์สูง และเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เมื่อวินิจฉัยกรณีใดออกมาจึงเป็นที่ยอมรับ เพราะไม่ได้มองประเด็นไปในทิศทางเดียวกันหมด ซึ่งผิดจากตุลาการรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันที่มีเฉพาะตัวแทนจากฝ่ายตุลาการ

 

          "ศาลก็เปรียบเสมือนพระ เชี่ยวชาญด้านพระธรรมวินัย จึงย่อมไม่มีความรอบรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับความเป็นไปในเรื่องการเมือง ที่สำคัญคดีการเมืองต่างจากการพิพากษาอรรถคดีซึ่งเป็นหน้าที่หลักของศาล เพราะคดีทั่วๆ ไปจะพิจารณาไปตามข้อกฎหมาย แต่คดีการเมืองมีมิติที่ต้องพิจารณามากกว่านั้น และสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะถูกวิพาษ์วิจารณ์ เพราะมีทั้งคนถูกใจและไม่ถูกใจ"

 

          ประเด็นที่ดูจะคาใจอดีตประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญผู้นี้มากที่สุด ก็คือการที่ตุลาการรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันวินิจฉัยให้การกระทำผิดของบุคคล เป็นการกระทำความผิดของพรรค และยังลงโทษคณะกรรมการบริหารพรรคทุกคนโดยใช้หลัก "สันนิษฐานว่ารู้เห็นกับการกระทำความผิด"

 

          "จริงๆ แล้วถ้าผู้บริหารพรรคการเมืองคนใดกระทำผิด ต้องถือเป็นการกระทำของบุคคลนั้น เหมือนกรณีบริษัท ถ้ากรรมการบริษัทคนไหนโกง ก็ต้องเอาผิดเป็นรายบุคคล ไม่ใช่ไปยุบบริษัท หรือลงโทษกรรมการบริษัททุกคน เพราะหากกรรมการคนไหนพิสูจน์ได้ว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้องหรือไม่ได้มีส่วนรู้เห็น ก็ไม่ต้องรับผิด นี่คือหลักการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ยึดถือกันมาตลอด" ศ.ดร.อุกฤษ ระบุ และว่า

 

          "การพิจารณากรณีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง ต้องมองไกล และต้องตีความอย่างเคร่งครัดโดยยึดหลักนิติธรรมที่เรากำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับ นั่นก็คือต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาคือผู้บริสุทธิ์ แต่คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญกลับไปสันนิษฐานว่ากรรมการบริหารพรรคทุกคนต้องรู้เห็นกับการกระทำความผิด ซึ่งผมคิดว่าเป็นการพิจารณาที่สวนทางกับหลักนิติธรรม ทุกอย่างจะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานและนักเรียนกฎหมายได้ศึกษากันต่อไป"

 

          ศ.ดร.อุกฤษ ยังย้ำถึงหลักการในระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องตีความเรื่องการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยอย่างเคร่งครัด คืออำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เปรียบเสมือนถนน 3 เลนที่ให้รถ 3 คันวิ่ง ซึ่งรถแต่ละคันต้องไม่วิ่งข้ามเลน

 

          "ฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารเกี่ยวพันกันโดยความเห็นชอบจากเสียงของประชาชนเป็นสำคัญ ฉะนั้นไม่ว่าจะทำถูกหรือผิด ในระบบประชาธิปไตยผู้ที่จะตัดสินลงโทษ ยกย่อง หรือชมเชย คือประชาชน เราจะไปดูถูกประชาชนว่าไม่มีความรู้ และเรามีความรู้มากกว่าจึงไม่ฟังเสียงประชาชนไม่ได้ ยิ่งถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแสดงบทบาทก้าวข้ามเส้นแบ่งที่เหมาะสมระหว่าง 3 อำนาจอธิปไตย ก็เท่ากับฝ่ายนั้นกำลังวิ่งนอกเลน"

 

          "บ้านเมืองเราปกครองในระบอบประชาธิปไตย หัวใจสำคัญของประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ถ้าเรามุ่งกำจัดพรรคการเมืองกับนักการเมือง แล้วหวังว่าจะได้พรรคใหม่ ได้คนรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์ ผมบอกได้เลยว่าไม่มีทาง เพราะการเมืองก็คือการเมือง นักการเมืองก็คือนักการเมือง หากหวังว่าจะได้นักการเมืองในอุดมคติ คงต้องรออีกนาน ฉะนั้นวันนี้เราต้องใช้นักการเมืองเท่าที่มีอยู่ไปก่อน แล้วเร่งให้การศึกษาประชาชนเพื่อให้เข้าใจการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงจะแก้ปัญหาได้ แต่ที่ผ่านมาเราแทบไม่เคยทำในเรื่องเหล่านี้กันเลย"

 

          คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนักการเมืองนับร้อยคนเป็นเวลา 5 ปี เมื่อผนวกเข้ากับกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีเจตนากีดกันและตีกรอบนักการเมืองอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ ศ.ดร.อุกฤษ มองอย่างเป็นห่วงว่า สังคมการเมืองไทยในปัจจุบันกำลังดูถูกพลังของนักการเมืองมากเกินไป จนอาจนำไปสู่ความรุนแรงครั้งใหม่ได้

 

          "นักการเมืองที่เป็นผู้แทนราษฎรได้ อาจจะไม่ใช่คนมีคุณธรรมมากมายนัก เพราะในสนามเลือกตั้งมีการแข่งขันกันสูง แต่พวกเขาก็ไม่ใช่คนเลว เดี๋ยวนี้เรากลับมองผู้แทนราษฎรเป็นคนเลว ทั้งๆ ที่ผู้แทนราษฎรเป็นผู้ที่สัมผัสประชาชนมากที่สุด และรู้เรื่องบ้านเมืองดีที่สุด แต่เรากลับไปสกัดเขาออกไป เปรียบเหมือนผู้แทนเป็นปลาอยู่ในน้ำ รู้หมดว่าในน้ำมีอะไร แต่คนที่นั่งบนตลิ่งบอกว่าปลาพวกนี้ใช้ไม่ได้ ให้เอาออกไป แล้วกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ ผมอยากเตือนว่าอย่าไปดูถูกผู้แทนราษฎร"

 

          "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคนไม่มีความรู้เรื่องการเมือง ส่วนใหญ่ไม่เคยนั่งในสภา และไม่เคยผ่านการเลือกตั้ง จึงมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างสูง กลายเป็นการแก้ปัญหาแบบลิงแก้แห ใช้คนไม่รู้จริงมาแก้ปัญหาบ้านเมือง ไม่รู้จริงแล้วยังไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ และขาดประสบการณ์ ที่สำคัญคือมีอคติกับนักการเมือง เมื่อเป็นอย่างนี้คงหาความสามัคคีไม่ได้ ผมอยากบอกว่าถึงวันนี้ระวังม็อบจะจุดติดขึ้นมา เพราะราดน้ำมันลงไปเรียบร้อยแล้ว"

           "ผมก็ได้แต่ภาวนาว่า อย่าให้เกิดความรุนแรงที่กระทบถึงประชาชนและบ้านเมืองอีกเลย" เป็นคำเตือนส่งท้ายของบุรุษผู้คร่ำหวอดการเมืองไทยที่ชื่อ อุกฤษ มงคลนาวิน! 

ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ  ผมว่าคดียุบพรรคมาถึงวันนี้ นอกเหนือจากคำพิพากษาตัดสินจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้ว ประชาชนคนไทยคงจะตัดสินได้บ้างแล้วว่าใครถูกใครผิด แล้วคนที่ผิดแน่นอน คือ ประชาชนครับ ที่ต้องผิดหวังกับพฤติกรรมของนักการเมืองที่ทำงานการเมือง ให้เป็นเรื่องของการเล่นการเมืองทุกครั้งไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท