ความรู้ในสังคมไม่ได้พัฒนาแบบเป็นเส้นตรง


KM เน้นพัฒนาความรู้จากการปฏิบัติ
ความรู้ในสังคมไม่ได้พัฒนาแบบเป็นเส้นตรง
เช้าวันนี้อากาศเย็นสบาย     มีโอกาสได้นั่งอ่านหนังสืออย่างจิตใจปลอดโปร่ง     โดยเบี้ยวการประชุมมูลนิธิพูนพลังของ “เลขา”     บทความเรื่อง Face – off. Darwin’s theories under attack in US ใน นสพ. เดอะ เนชั่น ประจำวันนี้  ทำให้ผมได้แนวคิดเรื่องนี้   
ความรู้ในสังคมไม่ได้พัฒนาแบบเป็นเส้นตรง      ยิ่งความรู้เชิงกระบวนทัศน์  ที่เปลี่ยนความเชื่อของคน     และเป็น “ความรู้บูรณาการ”  หรือความรู้ที่ซับซ้อนมองต่างมุมได้หลากหลายมุมมอง     ยิ่งไม่พัฒนาอย่างเป็นเส้นตรง      แต่พัฒนาอย่างคดเคี้ยว และมีบางส่วนพัฒนาแบบแกว่งไปแกว่งมา     เพราะมองเชิงการเมือง ความรู้แบบนี้ต้องต่อสู้กัน กับความเชื่อเดิม  ที่มีกลุ่มผลประโยชน์ถือหางอยู่    
ดังนั้น การที่ KM เป็นกระบวนการที่มุ่งเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เปลี่ยนวัฒนธรรม เปลี่ยนวิถีคิด จึงย่อมตกอยู่ภายใต้ความเป็นจริงข้อนี้อย่างเลี่ยงไม่พ้น
ทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ลส ดาร์วิน เป็นข้อเสนอที่ล้มล้างความเชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลกและสร้างมนุษย์เสร็จในวันเดียว     เปลี่ยนเป็นว่ามนุษย์เป็นผลผลิตของวิวัฒนาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่เกิดจากมีการคัดพันธุ์โดยธรรมชาติ     ให้สิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงเท่านั้นที่มีสิทธิอยู่รอดและแพร่พันธุ์    และความแข็งแรงนั้นขึ้นกับสภาพแวดล้อม     สภาพแวดล้อมอย่างหนึ่งต้องการความแข็งแรงอย่างหนึ่ง     เมื่อสภาพแวดล้อมค่อยๆ เปลี่ยนไป สิ่งมีชีวิตก็ค่อยๆ วิวัฒนาการไปสู้รูปแบบ หรือชีวิตที่หลากหลายและซับซ้อนขึ้น     จนในที่สุดเกิดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม    และสายหนึ่งวิวัฒนาการไปเป็น สัตว์จำพวกลิง     และ ลิงสายหนึ่งวิวัฒนาการไปเป็น ไพรเมท หรือลิงใหญ่ ที่สมองส่วนหน้าใหญ่ขึ้นๆ     จนสายหนึ่งวิวัฒนาการมาเป็นคน   
ในเรื่องวิวัฒนาการนี้ คนเรามักเข้าใจผิดอย่างฉกรรจ์อยู่ ๒ เรื่อง
1.        คิดว่าคนเป็นจุดสูงสุดของวิวัฒนาการ    มองสิ่งมีชีวิตสายอื่นเป็น “สิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ”    นี่คือวิธีคิดที่ผิด แบบยึดถือเผ่าพันธุ์ของตนเอง คือมนุษย์ เป็นศูนย์กลาง    ที่เรียกว่า homo – centric     ที่จริงจุดสูงสุดของวิวัฒนาการมีหลากหลายจุด     มนุษย์เราคงจะเป็นจุดสูงสุดของสายที่สมองส่วนหน้าเจริญที่สุด    แต่ยังมีจุดสูงสุดของวิวัฒนาการที่ทำให้ทำให้ทนความร้อนได้เป็นหลายร้อยองศาเซลเซียส ก็มี     ที่ทำให้ฝังตัวอยู่ในดินท่ามกลางความแห้งแล้งเป็นสิบปีโดยไม่ตายสนิท (เหมือนตายชั่วคราว) ก็มี    ที่ทำให้มีชีวิตได้เกือบปกติในสภาพที่อาหารขาดแคลนมาก ก็มี    ฯลฯ   
2.        คิดว่ามนุษย์เราวิวัฒนาการด้วยเผ่าพันธุ์ของมนุษย์เองโดดๆ     โดยที่ ดีเอ็นเอ เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ทำให้สมองเติบโต และซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ     ที่จริงมนุษย์เราวิวัฒนาการร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งโลก     รวมทั้งพืชชนิดต่างๆ   แบกทีเรีย  และไวรัส     และขณะนี้เราก็กำลังวิวัฒนาการร่วมกับไวรัสตัวใหม่ๆ อยู่ เช่น เอ็ช ไอ วี    หวัดนก  เป็นต้น   
เรื่องทฤษฎีวิวัฒนาการไม่ไช่หัวใจของบันทึกนี้     หัวใจคือเรื่องพัฒนาการของความรู้ที่พัฒนาการแบบแกว่งไปแกว่งมา ใช้เวลายาวนานกว่ากระบวนทัศน์หนึ่งจะเข้ามาเปลี่ยนกระบวนทัศน์เก่า     ดังนั้นนักเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาองค์กร พัฒนาสังคม จึงต้องอดทน    ต้องรวมตัวกันสร้างกระแส สร้างถ้อยคำ สร้างเครือข่าย เพื่อต่อสู้    โดยที่เป้าหมายสำคัญคือผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ของชุมชน ของสังคม
ข่าวในบทความดังกล่าวบอกว่ากระแสความเชื่อดั้งเดิม ว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์แบบ “เสกมนตร์เป่าพรวด” ก็เกิดมนุษย์ขึ้นมา กำลังมาแรงอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะมีอยู่ในสังคมที่วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าที่สุดในโลก
การต่อสู้ระหว่างกระแส KM หรือ “กระแส ความรู้ปฏิบัติ”    กับ “กระแส ความรู้เชิงทฤษฎี” ในสังคมไทย คงจะต้องมีต่อไปอีกยาวนาน     แต่ผมไม่มองว่าขั้วใดขั้วหนึ่งถูก และอีกขั้วหนึ่ง ผิด     ผมมองว่า ขบวนการ KM ต้องสร้าง synergy ระหว่าง ๒ ขั้วนี้     คือใช้ทั้ง ๒ ขั้ว    หรือถือหลัก beyond either – or, towards both – and
วิจารณ์ พานิช
๑๘ ธค. ๔๘

หมายเลขบันทึก: 10134เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2005 19:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน ท่าน ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช ที่เคารพยิ่ง

ดิฉันติดตามอ่านงานเขียนเกี่ยวกับ KM ของท่านหลายเรื่อง รู้สึกประทับใจมากค่ะ  เพราะหัวใจของกระบวนการ  ให้คุณค่าความเป็นมนุษย์สูงมาก  (ลงมือทำ บันทึกปัญหา แลกเปลี่ยน ถ่ายทอดเชื่อมโยงประสบการณ์ต่อประสบการณ์ (ที่ต่างเข้าใจตรงกันว่า"ไม่เป็นเส้นตรง") โดยคน   ด้วยใจที่คิดจะให้   เพื่อประโยชน์แก่ชนรุ่นหลัง)  เหมาะสำหรับงานครูมาก

ดิฉันได้นำความรู้ที่ได้จากการอ่านความรู้(ที่ตกผลึกแล้วของท่าน)  ไปลงมือทำให้เกิดผล  โดยได้เขียนร่างขอบเขตการปฏิบัติงานในหน่วยที่ดิฉันสังกัด ผลจากการบันทึก  ทำให้รู้ว่าต้องเพิ่มหรือปรับเนื้องานอะไรบ้าง  ทีมงานทำงานได้ง่ายขึ้น เห็นงานชัดขึ้น งานที่ทำก็ดูมีคุณค่าขึ้น(โดยเฉพาะคุณค่าทางจิตใจ  ซึ่งเกิดจากการตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของผู้อื่น แทนที่จะมองตนเองเก่งคนเดียวเป็นศูนย์กลาง)  ดิฉันได้นำความรู้ที่ได้ไปปรับและฝึกนักศึกษาด้วย  แม้จะเป็นหน่วยเล็กๆในสังคม แต่ดิฉันก็เชื่อ(แบบเกือบจะเป็นเส้นตรง)ว่า  หากหน่วยเล็กๆเพียรพยายามทำให้ดี  สักวันหน่วยรวมใหญ่ก็น่าจะค่อยๆดีไปด้วย

กราบขอบพระคุณอาจารย์มากนะคะ ที่กรุณาสละเวลาให้ความรู้เป็นวิทยาทานอย่างสม่ำเสมอ  ในโอกาสปีใหม่นี้ขอพระอำนวยพรให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรง และประสบแต่ความสุขตลอดไป

ด้วยความเคารพอย่างสูง

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท