กลิ่นคำ...ร่ำใจ


"น้ำคู่เรือเสือยังคู่ป่า ดาวคู่ฟ้า หินผาคู่ภูเขาเขียว พี่เป็นหนุ่มนอนกลุ้มแดเดียว ไร้คู่เกี่ยวกอดเรือเหว่ว้า"

 


แม้ว่ามนุษย์ทุกคนจะเกิดขึ้นมาบนโลกพร้อมกับความกระหายใคร่รู้ แต่ความรักในความรู้เป็นสิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้น เพราะไม่ได้เกิดขึ้นได้เองเหมือนความสามารถในการดื่มกิน สภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้จึงมีความสำคัญยิ่งต่อการดำรงอยู่ของ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งหลาย รวมถึงสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมที่ตัวตนเราอาศัยเติบโตร่วมกับตัวตนของคนอื่นๆ

โดยอาศัยภาษาเป็นสื่อ เราจึงเกิดความเข้าใจในโลกแวดล้อม เข้าใจคนรอบข้าง และเข้าใจใจของเราเอง การทำความเข้าใจโลกต้องอาศัยภาษา โลกของใครจะดีงามแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าเขาใช้ภาษาเช่นไร ใช้ความเข้าใจชนิดไหนอธิบายโลก ตลอดจนถึงอธิบายความเป็นตัวเองว่าเป็นอยู่อย่างไร และสัมพันธ์กับผู้อื่นเช่นไร

คนไทยในยุคปัจจุบันมักใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องราวในชีวิตประจำวัน จึงขาดทักษะที่จะความเข้าใจในความงาม และภูมิปัญญาที่แฝงไว้ในภาษา อันเป็นขุมปัญญาที่มีค่าเอนกอนันต์ เรื่องราวที่กล่าวขานว่า คนไทยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน เพราะภาษาไทยเป็นภาษาของเสียง จึงเป็นเรื่องที่ไกลจากความรับรู้และความเป็นไปได้สำหรับคนไทยในยุคสองพันด้วยเหตุนี้

จากจุดที่เรายืนอยู่ในปัจจุบันนั้นห่างไกลจากยุคทองของวรรณคดีที่ปรากฏอยู่ในแบบเรียนเท่าๆกับที่ภาษามีพัฒนาการจากคำโดดมาสู่ความเป็นร้อยกรอง และกลายมาเป็นร้อยแก้วดังเช่นที่เป็นอยู่นี้

ช่องว่างดังกล่าวนี้ดูจะเลือนหายไปเกือบจะในทันทีที่หูได้สัมผัสกับภาษากวี จากเสียงเพลงลูกทุ่ง ที่มีเนื้อหาสนิทแน่นอยู่กับทุกเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตด้วยความรู้สึกที่งดงาม ...ราวกับว่าสายลม สายน้ำ และทุ่งข้าว จะช่วยขัดเกลาจิตใจให้เข้าถึงความสงบเย็นได้ฉะนั้น


"น้ำคู่เรือเสือยังคู่ป่า ดาวคู่ฟ้า หินผาคู่ภูเขาเขียว พี่เป็นหนุ่มนอนกลุ้มแดเดียว ไร้คู่เกี่ยวกอดเรือเหว่ว้า"



เนื้อหาของเพลงหนุ่มชาวเรือเพียงไม่กี่บรรทัด พาเราย้อนกลับไปสัมผัสกับกลิ่นอายของวรรณคดีรสได้อย่างเข้า (ถึง) ใจ ด้วยภาษาปากที่เกิดขึ้นกับฉากชีวิตชาวบ้านที่พาให้สำนวนน้ำคู่เรือ เสือคู่ป่า ดาวคู่ฟ้ากลับมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง การใช้คำพังเพยที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกถึงธรรมชาติที่มีคู่อิงอาศัย เพื่อให้น้ำหนักของความว้าเหว่ที่มีอยู่นั้นทบทวีมากขึ้น การเล่นคำที่มีทั้งน้ำหนักเสียง และความหมายที่ไพเราะไปในคราวเดียวกัน แสดงถึงความประณีตในการเลือกหาคำจากมรดกวัฒนธรรมที่มีอยู่ อย่างคำว่า น้ำ-เรือ /เสือ-ป่า/ดาว-ฟ้า/ผา-เขา ที่นำมาเรียงต่อกันนั้น เพียงแค่ออกเสียงคำทุกคำให้ชัดเจน เปล่งออกมาให้เต็มอารมณ์ความรู้สึกก็ฟังเพราะเหลือเกินแล้ว ยิ่งซ้อนคำที่เป็นคู่กันลงไปอีกภาพลักษณ์ที่ปรากฏในใจผู้ฟังก็ยิ่งชัดเจนขึ้น จากคำโดดก็กลายเป็นคำคู่ หินผา ภูเขา เกี่ยวกอด และเมื่อช่อของคำทั้งหมดมาเรียงกันเข้า ก็จะเกิดเป็นโครงสร้างของฉันทลักษณ์ที่มีความสมบูรณ์ของคำ และความในรูปของกลอนแปด ที่มีแบบแผนของการเขียนเป็น ๔ วรรค ดังนี้


         "น้ำคู่เรือเสือยังคู่ป่า

ดาวคู่ฟ้าหินผาคู่ภูเขาเขียว

พี่เป็นหนุ่มนอนกลุ้มแดเดียว

ไร้คู่เกี่ยวกอดเรือเหว่ว้า"


เพลงลูกทุ่ง...ยังคงเป็นลมหายใจสุดท้าย ที่แสดงให้เห็นถึงพลังชีวิตของคำไทย และเป็นดั่งสะพานที่ทอดพาเรากลับไปยังสังคมที่ปฏิภาณปัญญายังคงรุ่งเรืองและคนไทยยังรุ่มรวยไปด้วยความประณีตของภาษาที่ปั้นแต่งใจไทยให้งดงามในฉากของชีวิตเมือง เพลงลูกทุ่งก็สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์ ได้อย่างฉับไว และแม่นตรงกับอารมณ์ และความรู้สึกของผู้คนในยุคสมัยปัจจุบัน เนื้อหาของเพลงแสดงเรื่องราวของการใช้โทรศัพท์มือถือส่งข้อความถึงกัน การใช้อีเมลล์บอกรัก และอื่นๆ ได้อย่างทันยุคทันเหตุการณ์ในขณะที่ยังรักษาทั้งสำนวน และสำเนียงภาษาที่ลึกซึ้งกินใจเอาไว้ได้อย่างเฉียบคมเช่นเคย

คุณค่าของสติปัญญาเช่นนี้ เติบโตและแตกตัวขึ้นจากรากเหง้าของเราเอง เป็นสติปัญญาที่มองเห็นความงามของอดีต อันก่อให้เกิด"ทรัพย์" ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เกิดเป็นความสามารถในการเลือกสรรค์สิ่งที่เหมาะสมกับอนาคตได้ โดยไม่ต้องทิ้งความเป็นตัวเอง

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 9909เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2005 18:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ค่ะ บางเพลงได้ยินแล้วทำให้ได้กลิ่นฟางหอมลอย.....มาเลยทีเดียว  แต่ร้อยแก้วก็มีฤทธิ์เดชไม่เบา อย่างเช่น "คนดีศรีอยุธยา" ของ เสนีย์ เสาวพงศ์  ทำให้ครูส้มซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์อยู่ท้องไร่ท้องนา  ได้ทั้งกลิ่น รส สัมผัส แม้จะเป็นเพียงจินตนาการแต่ก็บอกตัวเองได้ว่าของจริงก็คงเป็นแบบนี้

ปล. เพลงอีกชนิดหนึ่งที่แฝงมาในรูปแบบของเพลงลูกทุ่ง  แต่มีเนื้อหาเป็น Hardware มาก  ขออนุญาตไม่เรียกว่าเพลงลูกทุ่ง  น่าจะเรียกว่าเพลงลูกไม่น่ารัก  น่าจะจับมาตีเสียให้เข็ด

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท