Introduction to the community


นำเข้าสู่ชุมชน

         หัวใจของการสอนวิชาการพยาบาลชุมชน สำหรับนักศึกษาพยาบาลปีที่ 4 คือจะทำอย่างไรให้นักศึกษาเห็นเข้าใจและรักการทำงานในชุมชน   วันแรกของการเรียน ก่อนออกชุมชน ครูชวนน.ศ. คุยถึงประสบการณ์การทำงานในชุมชน ว่าสนุกอย่างไร  ให้น.ศ. ได้เล่าความรู้สึกของการไปเข้าค่าย หรือไปทำงานในชุมชนให้เพื่อนๆ ฟัง  เพื่อกระตุ้นความสนใจของน.ศ.

         ครูเล่าลักษณะทั่วไปของชุมชนที่น.ศ จะเข้าไปฝึก  ให้ฟังอย่างคร่าวๆ  ให้เห็นภาพว่าชุมชนที่จะเข้าไปนั้น มีลักษณะอย่างไร ผู้นำชุมชนมีใครบ้าง  ครูถามว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้คนในชุมชนอยากต้อนรับ อยากพูดคุยด้วย ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา น.ศ.จะช่วยกันบอกว่า เราจะต้องแต่งกายสุภาพ เรียบร้อย พูดจาดี มีสัมมาคารวะ  ทำตัวให้น่าเชื่อถือ ฯลฯ โดยที่ครูไม่จำเป็นต้องสอนหรือบอกเลย 

         เทคนิคการทำความรู้จักและเข้าใจชุมชน คือการทำแผนที่เดินดิน การศึกษาปฏิทินชุมชน การศึกษาระบบสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพของชุมชน รวมทั้งลักษณะทางสังคมอื่นๆ  เพื่อให้น.ศ เข้าใจวิถีชุมชน  ไม่ใช่เพียงแค่เดินเข้าไปในชุมชนเพื่อเก็บข้อมูลตามแบบสอบถามให้เสร็จทันเวลา แล้วนำมาวิเคราะห์  แล้วก็อยากจัดโครงการอะไรก็จัดไป แล้วก็จบ       นศ. จะต้องเข้าใจวิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้าน  รู้ว่าชาวบ้านอยู่กันอย่างไร   อะไรเป็นปัญหาหรือความต้องการที่แท้จริง 

        ขั้นตอนแรกของการนำเข้าสู่ชุมชน คือการพาไปรู้จักผู้นำชุมชน  จะต้องให้ความเคารพ นับถือ  ด้วยท่าทีที่จริงใจ โดยเป็นผู้ฟังที่ดี  นศ.จะใช้เวลานี้เพื่อศึกษาประวัติของชุมชน  โครงสร้างองค์กรชุมชน หรือข้อมูลอื่นๆ   หลังจากนั้น ผู้นำชุมชนจะพาไปเดินสำรวจชุมชน เราจะใช้โอกาสเหล่านี้  สังเกตพฤติกรรมประชาชนรวมถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆ  แต่การที่จะได้ข้อมูลที่แท้จริงนั้น  เราต้องเข้าไปสร้างสัมพันธภาพกับชาวบ้านให้ทั่วถึง  ซึ่งครูจะบอกกับนศ.เสมอว่า ขอให้ทำตัวเป็นกลาง  อย่าแสดงท่าทีเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

      กลับจากชุมชน  สิ่งแรกที่ต้องทำทันที คือการถอดบทเรียน  เพราะถ้าช้าเกินไป  ประสบการณ์ต่างๆ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นอาจเลือนลางหายไป    การจัดสถานที่ ควรเป็นห้องที่สงบ เงียบ  ให้น.ศ และครูนั่งล้อมวง โดยไม่ควรมีโต๊ะกั้น  ครูต้องสร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง      บอกนศ.ว่าขอให้พูด ไม่ต้องกลัวผิด  ทุกความเห็นมีคุณค่า  บทบาทของครูคือ facilitator  โดยมอบให้นศ.คนหนึ่งเป็นคุณลิขิต  เพราะหากไม่มีใครเขียนไว้สิ่งดีๆที่ออกมาจากปากเราก็จะหายไปกับสายลมและแสงแดด    ครูจะเริ่มถามว่า วัตถุประสงค์ของการเข้าชุมชนวันนี้คืออะไร  ต่อด้วย นศ. ได้ไปทำอะไรมาบ้าง  ได้รับประสบการณ์อะไร  สิ่งที่ได้รับเป็นไปตามที่คาดหมายหรือไม่  หากจะต้องทำอีกครั้งน.ศ จะปรับปรุงอย่างไร  และสุดท้าย นศ. ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเข้าชุมชนครั้งนี้  หน้าที่ของครูคือ เป็นผู้ฟังที่ดี  ไม่ตำหนิ ไม่ใช้กริยาหรือวาจาที่ทำให้นศ. รู้สึกผิด ต่ำต้อย  สิ่งสำคัญคือ การชม  ดีมากค่ะ  ถูกต้อง  เป็นข้อสังเกตที่ดี  เยี่ยม  ใช้คำพูดกระตุ้น  มีอีกไหมคะ  มีใครอยากจะแสดงความคิดเห็นต่อคำพูดของเพื่อนไหมคะ  

         หลังจากที่คุณลิขิตบันทึกบทเรียนส่งครูแล้ว  ครูจะช่วยต่อเติม  แก้ไข อีกเล็กน้อยเพื่อให้ข้อความสมบูรณ์ขึ้น  โดยที่นศ. ไม่ต้องนำกลับไปแก้ไข ให้เสียเวลา   แล้วครูจะถ่ายเอกสารแจกนศ.ทุกคน  เพื่อเก็บไว้เป็นเครื่องเตือนความจำ

           บันทึกที่แนบมานี้  เป็นบันทึกที่คุณลิขิตส่งมาให้   นี่เป็นบันทึกการถอดบทเรียนครั้งแรกในชีวิตของน.ศ.  ลองอ่านดูค่ะ  

                    ประสบการณ์การเข้าชุมชนครั้งแรก

(4 มิ.ย 50)                                                                              ชุติมา  จั่นบำรุง    ผู้บันทึก

วัตถุประสงค์ของการเข้าชุมชน-          ดูภาพรวมของชุมชน วิถีชีวิต ได้รู้จักผู้นำชุมชน-          แนะนำตัวให้ชุมชนรู้จัก-          สร้างสัมพันธภาพกับประชาชนในชุมชน-          ประเมินว่าครอบครัวไหนต้องการการดูแลเป็นพิเศษ

สิ่งที่ได้ทำในวันนี้                  ตอนเช้าพอไปถึงชุมชน ก็แนะนำตัวกับผู้นำชุมชนบอกวัตถุประสงค์ของการการมาในวันนี้และแยกกันเป็นกลุ่มเพื่อสัมภาษณ์ประธานชุมชน  รองประธานชุมชน  และผู้นำกลุ่มรักสุขภาพ จากนั้นผู้นำชุมชนก็ได้พาพวกเราไปเดินสำรวจชุมชนและค้นหา ครอบครัวที่มีผู้เจ็บป่วยที่ต้องการให้เราเข้าไปช่วยดูแล           สิ่งที่ได้ทำวันนี้ได้แก่   -          รวบรวมรายชื่อครอบครัวที่ต้องการ-          ประเมินชุมชน-          สัมภาษณ์วิถีชีวิตของประชาชนในชุมชน-          เดินดูศึกษาชุมชน-          หาจุดเด่น จุดด้อยของชุมชน จุดเด่นคือ 1.       ประชาชนในชุมชนให้ความร่วมมือดี2.       มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ดูได้จากโครงการเต้นแอโรบิก , คนในชุมชนให้ความเคารพนับถือ  , มีโครงการรักสุขภาพ , มีตำรวจบ้าน , ชุมชนอยู่ภายใต้การพัฒนาให้เป็นชุมชนแข็งแรงตอนเช้า 

ความรู้สึกในการเข้าชุมชนครั้งแรก-          เหนื่อย ร้อน-          ได้ข้อมูลไม่ตรงกัน เช่นผู้นำบอกว่าไม่มีสิ่งเสพติดแต่คนในชุมชนบอกว่าเริ่มมีเข้ามาในโรงเรียน การที่ได้ข้อมูลมาไม่ตรงกันนั้นได้มาอย่าเพิ่งสรุป ต้องวิเคราะห์ก่อน อาจจะเกิดจากการเข้าใจไม่ตรงกัน ไม่รู้ หรือตั้งใจที่จะพูดไม่ตรงกัน-          คนในชุมชนให้การต้อนรับดี ร่วมมือดีเพราะรู้ว่าเราจะไปช่วยเหลือ -          การสื่อสาร คำบางคำที่เราเห็นว่าเป็นสากลต้องรู้โดยทั่วไปแต่คนในชุมชนบางคนอาจไม่รู้ก็เป็นได้ เช่น OTOP อาจเนื่องมาจากการกระจายข้อมูลข่าวสารไม่ดี ไม่ได้รับข่าวสาร หรือ ศูนย์กระจายข่าวได้ยินไม่ทั่วชุมชน การศึกษาในชุมชนอาจมีหลายระดับ  แสดงให้เห็นว่าประชาชนในชุมชนต้องการความรู้จากเราเพิ่มมากขึ้น  ต้องประเมินระดับการศึกษาของประชาชนแล้วใช้คำพูดที่เขารู้เรื่อง เคยได้ยิน  เวลาสื่อสารกับคนในชุมชนต้องใช้ภาษาที่เหมาะสม อย่าพูดเร็ว พูดที่เป็นรูปธรรม ชัดถ้อยชัดคำ-          ชุมชนอยากให้เราไปที่ชุมชนบ่อยๆ เขาชอบ ที่เราไปวัดความดันโลหิตให้-          ผู้นำชุมชนพูดจาเป็นกันเอง  เพราะแรกๆเราเกร็งว่าจะต้องเป็นพิธีการแต่พบว่าเขาทำตัวสบายๆ เป็นกันเอง-          ประชาชนบางคนยังเกร็งไม่รู้ว่าเรามาทำอะไร ลักษณะไหน อาจเป็นเพราะสัมพันธภาพตอนแรกยังไม่ดี แต่พอทราบว่าเราจะมาช่วยเหลือก็ยินดีที่จะพูดกับเรามากขึ้น-          ต้องเข้าไปพบปะประชาชนด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส-          การที่ชาวบ้านต้องการให้เราเข้าไปช่วยเหลือทำให้เราอยากเข้าไปช่วยเขาอย่างจริงใจ 

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากวันนี้-          รู้จริงเกี่ยวกับเรื่องชาวบ้าน สิ่งแวดล้อม สภาพสังคม ว่าเป็นอย่างไร-          รู้กระบวนการในการสร้างสัมพันธภาพ-          รู้จักวิธีการสื่อสาร-          เรียนรู้นอกบทเรียน พบกับประสบการณ์จริง เปิดวิสัยทัศน์-          รู้ว่าชุมชนทำอะไร มาชุมนุมกันที่ไหน-          หาแหล่งข้อมูลได้จากหลายแหล่ง ได้เห็นข้อมูลจริงๆ ได้มากกว่าในเอกสาร-          ทำให้ทราบปัญหาของชุมชน-          ได้ทราบอุปสรรคคร่าวๆของชุมชน-          ก่อนที่เราจะสรุปข้อมูลต้องนำข้อมูลมาคุยกันก่อน   

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 100975เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2007 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท