“เศรษฐกิจพอเพียง” ... รายงานการพัฒนาคน ปี 2550 และข้อคิดของพระไพศาล วิสาโล


หากจะนั่งคิดกันดีๆ จะเห็นได้ว่า ในขณะที่ UNDP มองว่า เศรษฐกิจพอเพียงนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็ง พระไพศาล บอกว่า ชุมชนเข้มแข็งก็เป็นฐานสำคัญที่จะสร้างสังคมพอเพียง ....

ก่อนหน้านี้  หลายฝ่ายพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงคล้ายแผ่นเสียงตกร่อง คือ การท่องเป็นสูตรว่า  3 ห่วง 2 เงื่อนไข   คือ ความพอประมาณ การมีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันในตัว บนเงื่อนไขความรอบรู้และคุณธรรม

  

มาถึงวันนี้  มีการยกตัวอย่างการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น  ในด้านวิชาการ ก็มีความพยายามจะสังเคราะห์องค์ความรู้เหล่านี้ออกมา

    

ใน รายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย ปี 2550”  ของ UNDP หรือ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาติประจำประเทศไทย  เริ่มต้นด้วยการสรุปว่าการพัฒนาคนของประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง  และสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals)  ได้ตามหรือก่อนกำหนดเวลา   อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาเช่น  รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนต่างกันมาก   มีครัวเรือนยากจนเรื้อรังกระจุกตัวอยู่ในหลายจังหวัด  บริการของรัฐในที่ต่างๆมีความแตกต่างอย่างมากทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ  ภัยพิบัติธรรมชาติรุนแรงขึ้น  การอพยพแรงงานของคนชนบท

  

แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาคน เน้นให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและการขยายโอกาสให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น  

แต่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมีส่วนเพิ่มเติม 2 ประการคือ

 1.     กระบวนการในการวิเคราะห์สถานการณ์  กำหนดวัตถุประสงค์  วางแผนและตัดสินใจ

2.     การให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นฐานจิตใจและจิตวิญญาณ  

เศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญในเชิงนโยบายอยู่ 6 ประการ ซึ่งครอบคลุมทุกภาคส่วน

1.     การขจัดความยากจนและลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของคนจน

2.     การสร้างพลังอำนาจของชุมชนและพัฒนาศักยภาพชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศ

3.     ยกระดับความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท

4.     ปรับปรุงมาตรฐานธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐ

5.     สร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบที่จะมีต่อประเทศและปรับปรุงนโยบายต่างๆ

6.     ปรับเปลี่ยนค่านิยมและความคิดที่เอื้อต่อการพัฒนาคน   มิได้เน้นความถูกต้องเชิงเทคนิคแต่เน้น การคิดให้ถูก

  

ผลสำเร็จในระยะยาวของการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นอยู่กับว่าแนวคิดนี้จะสามารถซึมลึกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของประเทศได้มากน้อยเพียงใด

  

**********************

 

และเมื่อถึงการปฏิบัติ  โดยส่วนตัวก็ยังเห็นด้วยกับความคิดของพระไพศาล วิสาโล เป็นอย่างยิ่ง  ท่านบอกว่า  ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การเป็นเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีสองประการ

 

ประการแรก คือ ปัจจัยภายใน ได้แก่  จิตใจที่ ไม่อยากได้มากขึ้นเรื่อยๆ

  

ประการที่สอง  คือ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ปัจจัยทางสังคมแวดล้อมที่จัดเตรียมความจำเป็นขั้นพื้นฐานไว้ให้ และมีความเท่าเทียมกันที่ทำให้ ไม่จำเป็นต้องมีมาก  เพื่อสร้างความมั่นคงให้ชีวิตตนเอง  หรือเพื่อไม่ให้ต่างจากเพื่อน

  

การเน้นปัจจัยภายในจะยังไม่สำเร็จ  จำเป็นต้องมีการสนับสนุนของสังคมเพื่อให้คนมีความมั่นคง จนไม่ต้องสะสมมาก   ท่านบอกว่า  ครอบครัวที่อ่อนแอ  ชุมชนที่อ่อนแอ ไม่สามารถเป็นฐานทางศาสนธรรมที่ลึกซึ้งนำไปสู่ความพอเพียงได้

  

หากจะนั่งคิดกันดีๆ  จะเห็นได้ว่า   ในขณะที่  UNDP มองว่า เศรษฐกิจพอเพียงนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็ง  พระไพศาล บอกว่า  ชุมชนเข้มแข็งก็เป็นฐานสำคัญที่จะสร้างสังคมพอเพียง .... 

ท่านผู้อ่านคิดอย่างไร ?

 
หมายเลขบันทึก: 100152เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2007 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 23:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เรียนคุณปัมาวดีครับ

ขอบคุณสำหรับเรื่องและข้อคิดดีๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงครับ ต้นปีนี้ ผมได้ไปอบรมหลักสูตรผู้นำตามแนวพระราชดำริและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจัดโดยคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม เป็นหลักสูตรที่มีคุณค่าและให้ความรู้กับผู้เข้าอบรมมาก จนถึงขณะนี้ อบรมเป็นรุ่นที่ 8 แล้ว นับพันกว่าคน

หลักสูตรนี้ได้สร้างคนรุ่นใหม่ให้เกิดความสำนึกถึงความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างมาก และหลังการอบรม มีผู้นำไปปฏบัติเป็นจำนวนมาก รายละเอียด ดูได้จากเว็บของคลังสมอง http://www.ndcthinktank.org/  ตัวอย่างหนึ่งก็คือ ผมเอง ได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่หลังจากอบรมเสร็จ (http://www.polpage.com)

ผมเห็นว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงต้องมาจากปัจเจกบุคคลก่อน คือปฏิบัติเลย ทำไปแล้วจึงจะรู้ เหมือนการปฏิบัติธรรม ไม่ทำไม่รู้ เหมือนการจุดเทียน ต้องการแสงเทียน ไม่จุดเทียนก็ไม่ได้แสงเทียน

ถ้าปัจเจกแต่ละคนนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับตัวเอง ก็เจะเกิดผลกับตัวเองเป็นอันดับแรก กับครอบครัวและชุมชนและประเทศในเวลาต่อมา

สิ่งที่ต้องระวังก็คือการเข้าใจว่าการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้คือการอยู่อย่างจนๆ  ผมได้ไปเห็นสังคมของต่างประเทศมาหลายประเทศ ที่เข้าเกณท์สังคมเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกันแต่เขาอยู่อย่างมีความสุข ทันสมัยและพอเพียง ความจริงคือการสร้างสมดุลย์ให้กับชีวิตนั่นเอง.....ซึ่งต้องใช้ความรู้เป็นตัวนำ...

โอกาสหน้าอาจจะคุยกันต่อได้ครับ ก่อนจบ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง (คนทำอาจไม่พูดก็ได้)แต่คนพูดต้องทำครับ

ด้วยความปรารถนาดี

 

ขอบคุณสำหรับข้อมูลและความเห็นที่เป็นประโยชน์มากค่ะ

ดิฉันเห็นด้วยว่า ธรรมะจากภายในและการปฏิบัติจริงด้วยตนเองเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่สุด

แต่ดิฉันยังคิดว่าต้องมีปัจจัยภายนอกช่วยเอื้อด้วย  อยากให้รัฐเห็นความสำคัญของการปรับโครงสร้างสังคมให้เป็นธรรมด้วย  เพื่อให้ขบวนการปรับเปลี่ยนไปสู่สังคมพอเพียง เป็นไปได้ดีขึ้น เร็วขึ้น

หากมองจากสังคมหลายประเทศ คนไม่อวดร่ำอวดรวย   ให้คุณค่ากับชีวิตแบบอื่น   ขณะเดียวกันก็มีการเก็บภาษีมรดก มีระบบขนส่งมวลชนที่ไม่ต้องซื้อรถ มีสวัสดิการพื้นฐานที่เพียงพอ  มีความมั่นคงในชีวิตเพียงพอ   

ในสังคมไทย  ชุมชนที่ดูแลกัน  ก็ทำให้คนมีความมั่นคงในชีวิตและลดความเห็นแก่ตัวได้

ดิฉันอยากให้ทำทั้งสองส่วนค่ะ  จริงๆแล้วคิดว่าสองส่วนมีปฏิสัมพันธ์กันค่ะ

 

เรื่องนี้ผมก็มีความกังวลเช่นเดียวกับหลายอย่างในเมืองไทยครับ ว่าเรามักจะไปติดกับรูปแบบมากกว่าเนื้อหาสาระ

แม้มองจากมุมของเศรษฐศาสตร์ มุมมองต่อเศรษฐกิจ พอเพียง ก็น่าจะเป็นการทำงานที่ให้ผลลัพท์ไม่แย่ไปกว่าเดิม

ไม่ทราบว่าอาจารย์มีเอกสารรายงานของ UNDP ออนไลน์อยู่ไหมครับ

hardwareมีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะภาษีมรดกเพื่อทำให้แต่ละชีวิตเริ่มต้นด้วยทุนที่ไม่ต่างกันมากนักเพราะยังไงก็จบลงด้วยทุนที่เท่ากันตามธรรมชาติคือผืนดินกว้าง1ศอกยาวประมาณ1วา

ผมเคยเขียนบทความลงในมติชนว่าความร่ำรวยที่มาจากความสามารถของบุคคล(ในกรอบของสังคมที่เน้นการกระจายรายได้)เขาควรมีสิทธิ์หาความสำราญ แต่เมื่อตายไป ทรัพย์สินควรตกเป็นของสังคมไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เช่นบริจาคให้สาธารณะหรือเสียภาษีจำนวนมาก ตอนเป็นก็เป็น(ใช้ชีวิต)ให้พอประมาณโดยความช่วยเหลือของรัฐที่วางกรอบควบคุมป้องกันและเอื้อให้เกิดการแบ่งปันทั้งทางภาษีและมาตรการต่างๆ ตอนตายก็ตายให้เป็นคือให้กับสาธารณะเพื่อสร้างความสมดุลของชีวิตและธรรมชาติสำหรับคนที่เหลืออยู่

สำหรับภายในผมเห็นประโยชน์ของการทำจิตภาวนา ซึ่งสังคมของเราสร้างไว้รองรับอยู่ทั่วไป ผมแนะนำสวนโมกข์นานาชาติวันที่19-27ของทุกเดือน เดินเข้าไปลงชื่อรับกุญแจเข้าที่พักได้เลย

  • ขอบคุณมากครับอาจารย์ที่นำมาเล่าให้ฟัง
  • ผมยังเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็งจะนำไปสู่การเศรษฐกิจพอเพียงครับผม
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท