KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : (331) ความรู้เชิงอารมณ์


         ผมพบคำว่า Emotional Knowledge ในหนังสือ Knowledge Creation and Management. New Challenges for Managers.  ซึ่งมี Kazuo Ichijo & Ikujiro Nonaka เป็นบรรณาธิการ   เป็นหนังสือ "KM เล่มใหม่ของโนนากะ" พิมพ์ออกมาในปี 2007 นี่เอง

         ผมรู้สึกมานานแล้วว่า สิ่งที่เรียกว่า tacit knowledge นั้น  ถ้าจะแยกแยะอย่างละเอียดจริง ๆ คงจะจำแนกออกได้เป็นหลายตัว   และตัวหนึ่งน่าจะเป็น "ความรู้เชิงอารมณ์"   เป็นความรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกทางสมองที่เร้นลับ  แต่ใช้อยู่ตามปกติในชีวิตประจำวัน  คือกลไกเชิงอารมณ์   ความรู้แบบนี้จึงมีลักษณะ "ชั่ววูบ"   ถ้าไม่รีบตระครุบจับและจดบันทึกไว้ทันทีมันจะ "ระเหย" หายไปอย่างรวดเร็ว  พออารมณ์นั้นหมดไปแล้ว นึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก   หรือนึกออกก็ไม่ได้ความลึกและความชัดเท่าตอนเกิดเหตุการณ์ใหม่ ๆ

         นั่นเป็นเรื่องอารมณ์กับการ capture ความรู้

         ที่สำคัญกว่านั้น  คืออารมณ์กับการสร้าง (create) หรือยกระดับ (leverage) ความรู้   เราจะเคยประสบมาด้วยตนเองว่า  ในระหว่างที่อารมณ์ดี กำลังสดชื่น กำลังอยู่ในท่ามกลางความชื่นชมยินดีหรือสนุกสนาน   เราจะคิดโครงการ หลักการ วิธีการใหม่ ๆ ออกมาได้อย่างที่ไม่คิดว่าเราจะคิดออก   หรือต่อยอดความรู้กันได้อย่างสนุกสนานและมันในอารมณ์   ที่ สคส. เราเกิดอยู่บ่อย ๆ

         ตัวผมเองจะ "อารมณ์ดี" เวลาอ่านหนังสือที่ชอบ  แล้วจะคิดเรื่องดี ๆ หรือสร้างสรรค์ออกมาได้แบบไม่เชื่อว่าตัวเองเป็นคนคิด   ผมเชื่อว่านี่คือพลังของอารมณ์ดีต่อการสร้างสรรค์

         เราต้องไม่สับสนระหว่างอารมณ์เชิงบวก กับอารมณ์เชิงลบ   พลังของกระบวนการ KM อยู่ที่ทักษะในการสร้างและใช้อารมณ์เชิงบวกที่การรู้จักใช้พลังของอารมณ์เชิงบวก

         และที่น่าจะสุดยอดในเรื่องอารมณ์ กับ "ความรู้ คือ สภาพที่ "ไร้อารมณ์" หรือ "จิตว่าง"   น่าจะเป็นช่วงที่ creative สุดสุด   และสภาพนั้นน่าจะเรียกสภาพ "ปัญญาญาณ" (intuition) เป็นความรู้ที่เกิดจากความว่าง  ว่างจากอารมณ์ ว่างจากการคิด

         เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ "ความฉลาดทางอารมณ์" (emotional intelligence) หรือ EQ นะครับ   EQ เป็นเรื่องของความเข้าใจอารมณ์ของมนุษย์   ทั้งของตนเองและของคนอื่น   แม้ว่า EQ จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการใช้ KM   แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับ Emotional Knowledge

วิจารณ์  พานิช
 31 พ.ค.50
วันวิสาขบูชา

คำสำคัญ (Tags): #emotional knowledge#km วันละคำ
หมายเลขบันทึก: 100034เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2007 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 13:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ อาจารย์ค่ะ

ขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ด้วยนะคะ ในความจริงก็ติดตามผลงานอาจารย์มาโดยตลอด ชื่นชมอาจารย์ กำลังอยากศึกษา เรื่อง KM และการพัฒนาโรงพยาบาลค่ะ ตั้งใจสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกของที่มี  ก็เพราะเหตุผลนี้

ขอบพระคุณค่ะ 

คิดว่าเข้าใจสิ่งที่อาจารย์อธิบายมากๆเลยค่ะ เพราะเคยมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับตัว เพราะการอ่านบันทึกบางชิ้นใน GotoKnow การที่มีที่เขียนสิ่งที่เราคิด ก็เป็นสิ่งที่ดีตรงที่เราสามารถถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นออกมาได้ และเมื่อความคิดนั้นได้รับการพูดคุยต่อยอด ตอบสนอง จะทำให้เราเกิดกำลังใจและพลังอย่างไม่น่าเชื่อค่ะ

เป็นปัจจัยหนึ่งที่คิดว่าอยากให้พวกเราทุกคนหัดเขียน เพราะถ้าไม่ทำก็จะไม่มีทางรู้ได้ด้วยตัวเองค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท