คำเล่า "ทางเลือกหนึ่งในการจัดการความรู้ : blog บน G2K"


หลังจากที่วันนี้ช่วงเช้าได้มีโอกาสไปเล่าเรื่องเกี่ยวกับการใช้บล็อกในการประจำ ให้กับมิตรชาวคณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ และคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏ

หลังจากที่ท่านอธิการบดี มรภ.มค. กล่าวเปิด และตามด้วยอาจารย์ ดร.วรรทณา สินศิริ บรรยายต่อ จากนั้ก็ถึงตาผมทีต้องขึ้นเขียง เลยนำคำบรรยมาฝากครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์บ้างในอีกแง่มุมหนึ่งของผม


คำบรรยายประกอบสไลด์  เรื่อง

อีกทางเลือกหนึ่งในการจัดการความรู้ : การใช้  blog  บน  GotoKnow

โดยนายกัมปนาท  อาชา  ตำแหน่งพนักงานการศึกษา 

สังกัดศูนย์พัฒนาและประกันคุณภาพ  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วันที่  1  มิถุนายน  2550    มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

 

สไลด์ที่  1  (เวลา  97  วินาที)

กราบเรียนคณบดี  คณาจารย์  บุคลากรคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  ร่วมถึงคณะเทคโนโลยีการเกษตร  มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม  ผมนายกัมปนาท  อาชา  ตำแหน่งพนักงานการศึกษา  สังกัดศูนย์พัฒนาและประกันคุณภาพ  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 

ต้องขอบคุณที่ให้โอกาสผมได้มาพัฒนาตนเอง  โดยธรรมชาติของงานประจำผมเกี่ยวกับงานวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศด้านการประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัย  ส่วนมากก็ทำงานอยู่เบื้องหลัง  ไม่ค่อยได้มีโอกาสมาอยู่บนเวทีเช่นนี้เท่าไรนัก  วันนี้ทั้งดีใจและตื่นเต้นควบคู่กันไป  เครื่องมือง่ายๆและได้ผลดีอย่างหนึ่งของการจัดการความรู้  คือ  storytelling หรือ การเล่าเรื่อง  เป็นการดึง  tacit  ความรู้จากตัวบุคคล วันนี้คงไม่ได้อยู่ในฐานะวิทยากร  แต่ขอเป็นเพียง  ผู้เล่า  เล่าถึงประสบการณ์อีกด้านหนึ่งของการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้การจัดการความรู้  น่าจะเข้ากับหัวข้อของการสัมมนาครั้งนี้  คือ  การจัดการความรู้และการบริหารจัดการที่ดี  โดยเรื่องที่ผมจะเล่าคือ  อีกทางเลือกหนึ่งในการจัดการความรู้ : การใช้  blog  บน  GotoKnow”  ซึ่งเป็นการนำเอาหลักการจัดการความรู้  และเทคโนโลยีสารสนเทศ  2  หลักการใน  10 หลักการของการบริหารจัดการที่ดี  ที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว 

ซึ่งอาจารย์หลายท่านอาจเคยใช้  และมีประสบการณ์มากกว่าผม  คงใช้เวลาไม่นาน  ถ้ามีโอกาสผมอยากเห็นบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ 

สไลด์ที่  2  (เวลา  20  วินาที)

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักคำว่า  blog  ความหมายที่เข้าใจง่ายๆก็คือ  การบันทึกบนอินเทอร์เน็ต  นั้นเอง  ไม่ว่าจะเป็นการประกาศข่าวสาร  แสดงความคิดเห็น  หรือเผยแพร่ผลงาน 

สไลด์ที่  3  (เวลา  4  วินาที)

 สำหรับมุมมองส่วนตัวของผม  ผมมองว่า..... 

สไลด์ที่  4  (เวลา  45  วินาที)

เปรียบเหมือนห้องส่วนตัวหรือโชว์รูม  มีกระจกใส  นำเสนอชิ้นงานผลงานอะไรซักอย่างตามแต่เจ้าของห้องนั้นอยากแสดง  โดยผู้ที่สนใจอาจเพียงเดินมองผ่านจากรอบข้างนอก  นั้นถ้าเปรียบกับผู้ที่อ่าน  blog  หรือไม่ก็มีผู้ที่สนใจอีกระดับหนึ่งคือเดินเข้ามาในห้องนี้พร้อมทั้งติชม  คุยกับเจ้าของห้องนั้น  ถ้าเปรียบกับ  blog  แล้ว  คือ  มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นในบันทึก 

สไลด์ที่  5  (เวลา  21  วินาที)

อีกอย่างหนึ่งผมมองว่า  blog  นั้นคล้ายกับไดอารี่  แต่เป็นไดอารี่ที่มีชีวิตบนอินเทอร์เน็ต  ผู้อื่นได้เข้ามาอ่านได้  พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็น  เพื่อการต่อยอดทางความคิด

สไลด์ที่  6  (เวลา  85  วินาที)

ตัวอย่างผู้ให้บริการ  blog  มีทั้งแบบไม่เสียค่าบริการและเสียค่าบริการในไทย  ซึ่งหลายๆคน  ถ้าใครเป็นคอการเมืองแล้วก็  ต้องคิดถึง  blog  ของ  OKnation  เป็นของเครือเนชั่น  คุณสุทธิชัย  หยุ่น  (คลิ๊กตัวอย่างหน้าเว็บ) 

หรือไม่ถ้าเป็นวัยรุ่นๆหน่อย  ชอบเรื่องความรัก  บันเทิง  ก็  blog  ของ  hunsa  หรือ  sanook  ซึ่งในเว็บไซต์เหล่านี้อาจจะให้ใช้ฟรีก็จริงแต่ก็อาศัยการโฆษณาสินค้ารวมอยู่ด้วย  

แต่ถ้าเป็นคนทำงาน  โดยเฉพาะแวดวงอุดมศึกษา  ที่ต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว  ผมขอแนะนำอีกหนึ่งทางเลือก  ที่น่าจะช่วยในการจัดการความรู้ทั้งระดับตัวบุคคล  หรือองค์กรได้ดี  นั้นคือ  blog  ของ  GotoKnow

สไลด์ที่  7  (เวลา  82  วินาที)

ก่อนอื่นผมต้องบอกก่อนเลยนะครับไม่ได้ค่านายหน้าจาก GotoKnow  หรือมีผลประโยชน์ซึ่งกันและกันแต่ประการใดเลยนะครับ  เพราะเว็บนี้ไม่ได้ดำเนินการเพื่อผลทางธุรกิจ  ผมเป็นเพียงผู้ใช้ซึ่งใช้มาระยะเวลาหนึ่งแล้วเห็นว่ามีประโยชน์ทั้งกับตัวเองและหน่วยงานของผม

GotoKnow  ย่อมาจาก  The  Gateway  of  Thailand's  Online Knowledge  Management

อายุตอนนี้ก็  2  ขวบปีเต็ม  สนับสนุนโดยสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  หรือ  สคส.  ผู้อำนวยการปัจจุบันคือ  ท่านศาสตราจารย์  นายแพทย์  วิจารณ์  พานิช

พัฒนาและดูแลโดย  ดร.จันทวรรณ  และ  ดร.ธวัชชัย  คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 

สไลด์ที่  8  (เวลา  66  วินาที)

ลองดูตัวอย่างเว็บของ  GotoKnow  (คลิ๊กตัวอย่างหน้าเว็บ)

คนที่เขียน  blog  เราจะเรียกกันว่า  bloger  นะครับ  ตัวอย่าง  bloger  กิตติมาศักดิ์  เช่น

-  คุณหมอวิจารณ์  ผอ.สคส.

-  ท่านไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  รองนายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  

จะเห็นว่าเว็บนี้บอกเจตนารมณ์ชัดเจน  คือ  คนทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 

ที่ผมเห็นก็มีเช่น  ชาวอุดมศึกษา  (อันนี้จะเยอะหน่อย)  พยาบาล  หมอ  ครู  นักวิจัยท้องถิ่น  พนักงานบริษัท  แม้แต่พระก็มีหลายรูป  

สไลด์ที่  9  (เวลา  98  วินาที)

ที่มาที่ไปทำให้ผมรู้จักเวทีเสมือนแห่งนี้  คือ  ถูกแนะนำจากสมาชิก  UKM  คือ  เครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย  ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามก็เป็นสมาชิกเครือข่ายนี้ด้วย  โดยจะจัดเสวนากันทุกๆ  3  เดือน  เวียนกันไปแต่ละสถาบัน  โดยแต่ละครั้งหัวข้อก็จะแตกต่างกันออกไป 

ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมอยู่  5  ครั้ง  ครั้งล่าสุดก็เมื่อ  27-28  พฤษภาที่ผ่านมาที่จังหวัดนครศรีธรรมราช  เจ้าภาพคือมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  ในหัวข้อ  การบริหารจัดการที่ดี : อะไร  ทำไม  และอย่างไร 

ครั้งแรกจัดที่  มมส.  ยังไม่รู้เลยว่า GotoKnow  คืออะไร  คงกลัวว่าจะเชย คุยกับใครไม่รู้เรื่อง  ผมเลยเริ่มศึกษา  เริ่มใช้เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน  โดยเน้นการแลกเปลี่ยน  ต่อยอด  จากการเข้าร่วม  UKM  แต่ละครั้ง  กับสมาชิกชาวอุดมศึกษา  และเริ่มจะขยายวงขึ้นตามลำดับ 

สไลด์ที่  10  (เวลา  62  วินาที)

บทบาท  3  อย่างที่ผมทำในเวที  GotoKnow  คือ 

1.  เขียนบันทึกใน  blog  ของตัวเอง

2.  อ่านบันทึกของคนอื่น  โดยเน้นหนักไปด้านการประกันคุณภาพการศึกษา  หรืออุดมศึกษา  แต่จริงๆแล้วบันทึกอื่นๆที่ไม่เกี่ยวก็อ่านบ้างเช่นกัน ขึ้นอยู่กับเวลา

3.  แสดงความคิดเห็น  แง่มุมที่แตกต่าง  แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบันทึกของคนอื่นที่ผมพอจะมีภูมิความรู้บ้าง  โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับงาน

คือสรุปว่าในเวทีนี้เราเป็นทั้งผู้ให้ความรู้  และผู้รับความรู้  ตามประสบการณ์ของแต่ละคน  ผมจะได้กำไรมากหน่อยเพราะส่วนมากจะเป็นผู้รับความรู้ซะมากกว่า  เนื่องจากประสบการณ์การทำงานยังน้อย 

สไลด์ที่  11  (เวลา  69  วินาที)

ตัวอย่าง  bloger  ชาวอุดมศึกษาที่มีโอกาสได้  B2B  กันเป็นประจำ

ก่อนที่ผมจะมาเล่าเรื่องในวันนี้  ผมก็ได้ขออนุญาตทุกท่านแล้วว่าจะมาแนะนำตัวให้ในกิจกรรมการเสวนาวันนี้  ขอแนะนำบางท่าน  เช่น

-  ท่านอาจารย์หมอจิตเจริญ  ไชยาคำ  เป็นอาจารย์ประจำภาควิชารังสีวิทยา  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ร่วมทั้งเป็นผู้ประเมินภายนอกของ  สมศ.  ด้วย

-  คุณบอย  สหเวช  เป็นเลขานุการ  คณะสหเวชศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งนำมาใช้ทำ SAR on Blog

จริงแล้ว  bloger  ชาวอุดมศึกษา  ใน  GotoKnow  มีอีกเยอะแยะมากมายนะครับ  ส่วนหนึ่งผมรู้จักกันเห็นหน้ากันจริงๆจาก  UKM  ส่วนหนึ่งก็ไม่เคยเห็นหน้ากัน รู้จักกันแต่ทาง  B2B 

สไลด์ที่  12  (เวลา  22  วินาที)

ลองมาดู  blog  ของผม  ซึ่งผมทำห้องของผมไว้  2  ห้องคือ  งานประจำ  และที่ไม่เกี่ยวกับงานประจำ 

สไลด์ที่  13  (เวลา  85  วินาที)

Blog  แรก  คือ  งานประจำเกี่ยวกับการประกันคุณภาพ  ตอนนี้ก็มีอยู่ประมาณ  120  บันทึก

ลองดูตัวอย่างบันทึกซึ่งก็จะมีอยู่หลายลักษณะ  เช่น

-  เพื่อประกาศ  เผยแพร่  เช่นบันทึก  รางวัลเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จ ซึ่งใครๆก็ต่างชื่นชม (นิสิตและศิษย์เก่า)   (คลิ๊กตัวอย่างหน้าเว็บ) 

-  เพื่อขอคำปรึกษา  เช่นบันทึก  ใบเสร็จลงทะเบียนหาย ทำอย่างไรดี?  (คลิ๊กตัวอย่างหน้าเว็บ) 

-  หรือที่มักบันทึกบ่อยๆ  คือ  การแสดงมุมมอง  แง่มุมความคิดของตัวเองเกี่ยวกับงานด้านการประกันคุณภาพ  ที่ประสบพบเจออยู่ทุกๆวัน  เช่นบันทึก  ข้อคิดเห็นการกำหนด ตัวบ่งชี้เชิงปริมาณ เพื่อวัดคุณภาพหน่วยงาน  หรือบันทึก  “…เกาหลังให้กัน…” หลุมดำของการประเมินคุณภาพ  

สไลด์ที่  15  (เวลา  29  วินาที)

นี้ก็เป็น  blog  อีกห้องหนึ่งที่บันทึกเรื่องจิปาถะไม่เกี่ยวกับงาน  ตอนนี้ก็มีอยู่ประมาณ  20  บันทึก  เป็นบันทึกที่ได้ประสบพบเจอกับตัวเองแล้วนำมาคิดต่อใส่ข้อคิดเห็นส่วนตัวลงไป  เช่น

สไลด์ที่  16  (เวลา  50  วินาที) 

-  บันทึก  ผมได้เป็น เจ้าบ่าวจำเป็น(เทคนิคการเป็นพิธีมืออาชีพ)  (คลิ๊กตัวอย่างหน้าเว็บ) 

สไลด์ที่  17  (เวลา  30  วินาที)

-  บันทึก  พรุ่งนี้ผมจะบวชจูง เพื่อทดแทนบุญคุณผู้ล่วงลับ   (คลิ๊กตัวอย่างหน้าเว็บ)           

สไลด์ที่  21  (เวลา  182  วินาที)

ถามว่าผมหมกหมุ่นกับ  GotoKnow  มากไปหรือไม่  ทำให้เสียการเสียงาน   ก็คงต้องบอกว่าไม่ครับ  และในทางตรงกันข้ามมันสามารถพัฒนา  ยกดับงานประจำของผมได้ดีขึ้นอีกระดับหนึ่ง  โดยผมพยามสร้างวินัยการใช้ให้กับตัวเอง

เช่นกิจวัตรในแต่ละวัน  คือ 

1.  มาถึงที่ทำงานไม่เกินประมาณ  2  โมงเช้า  เปิดเข้าอ่านในบันทึกที่เกี่ยวกับงานเป็นหลัก  ทักทาย  แสดงความคิดเห็น  พร้อมทั้งไปตอบข้อคิดเห็นจากผู้อื่นที่เข้ามาในบันทึกของผมที่เขียนทิ้งไว้ตั้งแต่เมื่อวาน  ถึงประมาณ  2  โมงครึ่ง  ก็เริ่มทำงานตามปกติ 

2.  เที่ยงตรงก็ทานข้าวกล่องไป  อ่านบันทึกไป  เพราะปกติผมไม่ค่อยลงไปทานข้าวข้างล่าง  จะฝากน้องซื้อข้างล่างตึก  นานๆทีจะออกไปข้างนอกบ้าง สำหรับตอนเที่ยงนี้  ถ้างานในช่วงเช้ามีอะไรที่น่าสนใจ  เป็นเคล็ด  เกร็ดความรู้ก็จะบันทึกใน  blog  งานประจำ  ถึงเวลาประมาณบ่ายโมงก็ทำงานปกติ

3.  ประมาณห้าโมงเย็นก็เริ่มเข้า  G2K  ช่วงนี้จะเป็นช่วงเก็บตก  คือเก็บตกทั้งข้อคิดเห็นที่ให้กับบันทึกผู้อื่น  ข้อคิดเห็นของผู้อื่นที่มีในบันทึกผม  ที่มีมาตลอดวัน  จนถึงซักหกโมงเย็นกว่าๆก็กลับบ้าน

บางครั้งกลับไปบ้านแล้วยังมีอะไรที่คาใจ  ไม่สบายใจกับคำตอบ  ก็เข้าไปบันทึกไปอ่านอีกจนถึงดึกๆ

4.  ถ้าเป็นวันหยุด  อยู่บ้านไม่ได้ไปไหน  ก็จะวนเวียนอยู่ใน  G2K  ทั้งวัน  อ่านบันทึกทุกบันทึกไม่เน้นเฉพาะเจาะจง  และเขียนบันทึกใน  blog  ที่ไม่เกี่ยวกับงานประจำ   สำหรับแนวทางในการเขียนบันทึกของผม  คือ

1.  บันทึกอย่างน้อยวันทำการละ 1 บันทึก

2.  เสนอเรื่องเล่า กิจกรรมเกี่ยวกับงานประจำ คือ การประกันคุณภาพ

และก่อนจบในแต่บันทึกจะมีการสรุปทบทวนกิจกรรม (AAR) ข้อคิดเห็น อุปสรรค  แนวทางแก้ไข  หรือพัฒนาที่เกี่ยวกับงาน

3.  ยอมรับความคิดเห็นของท่านอื่น ๆ เปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น โดยไม่ลบ และมีการโต้แย้งกันเชิงวิชาการด้วยเหตุและผลในข้อคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน

ผมว่าเวทีเสมือน  G2K  แห่งนี้ชักเริ่มเป็นส่วนหนึ่งอีกด้านของชีวิตไปแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน  หรือเรื่องส่วนตัวก็ตาม    

สไลด์ที่  22  (เวลา  152  วินาที)

สุดท้ายได้อะไร  จริงๆก็ถือว่ายังไม่สุดท้ายของผม  แต่จากที่เริ่มใช้จนถึงปัจจุบันก็ปีกว่า  ผมได้อะไรบ้าง 

1.  มีคนรู้จักมากขึ้นโดยเฉพาะในแวดวงของอุดมศึกษา  เกิดเครือข่ายทั้งแบบที่เป็นทางการ  และไม่เป็นทางการ  มีการช่วยเหลือกันในด้านวิชาการ  ในรูปแบบต่างๆ  เช่น  เมื่อ  2  เดือนที่แล้วท่านอาจารย์หมอจิตเจริญ  นำทีมศูนย์บริการวิชการ  มข.  มาช่วยกระตุ้นกิจกรรม  KM  ของมหาวิทยาลัย 

2.  รู้จักรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น  ทั้งที่เห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม  ใช้เหตุและผลหักล้างกัน

3.  เกิดนิสัย  AAR  หรือ  After  Action  Review  กับงาน  กับตัวเอง  คือ    มีทบทวนงานตัวเองในแต่ละวัน  หาจุดดี  จุดอ่อน  จุดที่ต้องปรับปรุงในครั้งต่อไป  พร้อมกับบันทึกใน  G2K

4.  blog  หรือห้องที่นอกเหนือจากงานประจำ  เจตนาจริง  ก็เพื่อใช้ระบาย  ใช้บ่นบาง  ในสิ่งที่รู้สึกว่าขัดใจ  ไม่พอใจ  ไม่สบายใจ  ทั้งจากงานและเรื่องส่วนตัว

5.  สคส.  ให้รางวัลที่ชื่อว่า  จตุรพลัง  คุณลิขิต  ประจำเดือนกุมภาพันธ์  50    

สไลด์ที่  23  (เวลา  26  วินาที)

เอกสารที่ท่านอาจารย์ได้รับแจก  ฉบับหนึ่งคือ  คู่มือการใช้  GotoKnow”  ผมได้ขออนุญาต  ท่าน  ดร.อโณทัย  โภคาธิกรณ์  นักเทคนิคการแพทย์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  มาแนะนำด้วย  เผื่ออาจารย์บางท่านจะไปลองเข้าใช้ดู

หมายเลขบันทึก: 100027เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2007 13:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

คำเล่าต่อ

สไลด์ที่  24  (เวลา  92  วินาที)

สุดท้ายผมต้องขอขอบพระคุณมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคามอีกครั้งที่ให้โอกาสผมได้มาเล่าเรื่องในครั้งนี้  ซึ่งช่องทางที่ผมนำเสนอนี้อาจจะไม่ใช่ช่องทางที่ดีที่สุด  แต่อย่างไรผมก็อยากให้ลองเข้าไปดูนะครับ

ลองใช้ดูซักระยะหนึ่งดู  ถ้าใช้แล้วเกิดอาการเบื่อหน่าย  ไม่เห็นผลการพัฒนาตนเองหรือหน่วยงานที่เป็นรูปธรรมอย่างที่ผมพูดแล้วก็  ผมแนะนำเลยนะครับ  เลิกใช้เครื่องมือนี้ซะ  หาช่องทางใหม่ดีกว่า  หรือหันกลับมาทำในสิ่งที่เคยทำอยู่เป็นประจำ

แต่อย่างไรในความคิดของผมนะครับ  เชื่ออย่างแน่นอนว่าต่อไปอีกไม่นานระบบ  blog  จะเข้ามามีผลกระทบ  หรืออิทธิพลต่อเราแน่นอน  ไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง  โดยเฉพาะเรื่องการเรียนการสอนระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา 

ดังนั้นการเตรียมการรับมือไว้  รู้จักไว้ก็คงไม่เสียหายอะไร  ถึงไม่ใช้ก็ไม่เป็นไรครับ 

 วันนี้ผมหวังว่าท่านคณาจารย์  คงพอได้เห็นภาพของความสัมพันธ์ระหว่างการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดการความรู้  ตามแนวทางของหลักการบริหารจัดการที่ดี  (good  governance)  ในอีกมิติหนึ่งนะครับ

        

ขอบคุณครับ    

  รวมเวลาที่ใช้  1,407  วินาทีผู้เล่าเรื่องกัมปนาท  อาชา

 

สวัสดีครับน้องแจ๊ค

          เป็นอย่างไรบ้างครับ บรรยากาศในวันนี้  อย่าลืมเล่าสู่กันฟังนะครับ  และรอต้อนรับ บล็อกเกอร์ หน้าใหม่ อยู่นะครับ

ขอบคุณพี่แป๊ดครับ

P

จากการประเมินเบื้องต้นด้วยสายตาของตัวเอง ก็ถือว่าน่าจะใช้ได้ครับ แต่ถ้าได้มีโอกาสอย่างนี้อีกซักสองสามครั้ง คงจะมั่นใจยิ่งขึ้นครับ

สำหรับคำทักทายจากมิตร g2k ทั้งหมด ผมได้สื่อสารต่อชาว มรภ.มค. แล้วครับ

ขอบคุณอีกครั้งครับสำหรับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท