อนุทิน 172661


Wasawat Deemarn
เขียนเมื่อ

เขียน … ที่บ้าน

“…

นับตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ - ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๕ เป็นห้วงเวลาของการทำค่ายเตรียมความพร้อม (Pre-University) ของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น ๓ ที่มหาวิทยาลัยได้รับทุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

รุ่น ๓ มหาวิทยาลัยได้คัดกรองเด็กที่เข้ามาสู่โครงการฯ จำนวน ๒๘ คน สาขาวิชาการประถมศึกษา จาก ๙ จังหวัดเป้าหมาย ซึ่งคุณสมบัติของเด็กต้องเข้าเกณฑ์ยากจน หรือ ยากจนพิเศษ แต่ส่วนตัวคิดว่า ระบบคัดกรองของมหาวิทยาลัยยังทำได้ไม่ดีนัก คัดกรองได้กลุ่มเป้าหมายแบบไม่จริง เพราะวันที่พ่อแม่มาส่งลูกเข้าหอพักเพื่อมาเข้าค่ายฯ นี้ ส่วนใหญ่ขับรถกระบะมาส่งลูกทั้งนั้น (ไม่น่าจะยากจนจริงเลยนะ)

หลังค่ายคัดกรองฯ ก็เป็นค่ายเตรียมความพร้อม ซึ่งทางคณะผลิตครูได้มอบหมายให้เป็น “ประธานค่าย” เนื่องจากประสบการณ์ส่วนตัวที่มีมาหลายโครงการแล้ว นับสิบปี

ค่ายนี้ถูกกำหนดไว้ ทั้งหมด ๒๑ วัน ๑๘ วันเป็นกิจกรรมทั้งหลายที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า เขาต้องใช้สิ่งเหล่านี้ก่อนเข้าสู่การเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ “ความรู้” แต่เป็น “ทักษะ” หรือ “เจตคติ” ที่พึงมี ผมเป็นคนออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในค่ายนี้ทั้งหมด (ทั้งหมดในช่วงกลางวัน แต่ช่วงกลางคืน มอบให้ทางภาควิชาฯ เขาไปจัดการ)

อุปสรรคในการทำงาน น่าจะมาจาก “คน” คนที่ไม่เข้าใจกระบวนการผลิตครูอย่างแท้จริง บางคนก็มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ บางคนก็อวดเก่ง แบบแก้วน้ำคว่ำในฤดูฝน ทุกคนล้วนแต่ได้ชื่อเป็น “ปัญญาชน” ทั้งนั้น

แต่สิ่งที่ไม่ลืม คือ เพื่อน G2K ที่ผมนับถือในวิธีการคิดถึงรากเหง้า คือ คุณแผ่นดิน แห่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผมเชิญคุณแผ่นดินมาช่วยเสริมแต่งการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยให้มีความสุข การคิดถึงบ้านเกิดของตัวเอง จิตอาสา จิตสาธารณะที่เขาควรมี

พรุ่งนี้เจอกัน คุณแผ่นดิน

…”

๖ มิถุนายน ๒๕๖๕

หลังสองยาม



ความเห็น (2)

ถ้าจยอย่างที่ อ.ต้องการ คงบากยิ่ง ครูที่ส่งมาก็เข้าพิจารณา ก็คงไม่ได้เยี่ยมบ้านอย่างที่สุดหรือไม่ อีกทั้งเด็กที่จนจริงคงขาดโอกาสเข้าถึง ม.ปลาย

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท