อนุทิน 109303


วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๓๒. ภาพสะท้อนของกระบวนการที่เม็ดทรายสร้างหาดทรายและเขาพระสุเมรุในจักรวาล

ผมต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ ของ GotoKnow มอ. และคุณเด่น คุณพัฒนพงศ์ ของ สสค. ที่กรุณาออกปากชักชวนให้ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ไปร่วมประชุมระดมความคิดและปรึกษาหารือเรื่อง Open Education ที่สำนักงาน สสค.(สำนักงานสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาเครือข่ายเยาวชน) ของ สสส. เมื่อเย็นวาน ๘ มิถุนายน ๒๕๕๕ ที่ผานมา

ผมช่วยได้น้อยมาก เพราะเครือข่ายและทีมส่วนใหญ่มีประสบการณ์ร่วมกันในการทำงานพัฒนาเครือข่ายครูเพื่อศิษย์กับครูสอนดี ในขณะที่ผมไม่ได้มีโดยตรงเลย ได้แต่ติดตามอ่านทาง GotoKnow นี้เท่านั้น ดังนั้น ผมจึงมุ่งมองไปยังประเด็นร่วมในภาพรวม ที่จะสามารถเชื่อมโยงตนเองในทุกอย่างที่ทำอยู่และที่ยังคงทำต่อไปเรื่อยๆ ให้สามารถเป็นปัจจัยส่งเสริมและสนับสนุนกันได้ แม้ไม่ได้ทำกิจกรรมภายใต้โครงการเดียวกันหรือมีกลุ่มเป้าหมายจะเพาะร่วมกันโดยตรง กลุ่มที่คุยกันเป็นกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ไม่ถึง ๑๐ คน

แต่ผมก็เห็นถึงความเป็นกลุ่มที่จะมีความหมายมากต่อสังคมไทยผ่านสิ่งที่ทุกท่านต่างทำกันอยู่ มาจากหลายแห่งของประเทศ อาจารย์ ดร.จันทวรรณใช้เป็นเวทีสำรวจและประเมินสภาวการณ์และความจำเป็นเพื่อพัฒนาระบบ GotoKnow ทาง สสค.และมูลนิธิสดศรี-สฤษวงษ์ ผุดประเด็นที่สำคัญหลายอย่างที่อาจจะคิดทำเป็นภารกิจร่วมกันได้ เช่น การถอดบทเรียนหรือประเมินผลที่เกิดขึ้น เพื่อให้การสนับสนุนเครือข่ายครูเพื่อศิษย์กับอีกจำนวนหนึ่งที่ได้เริ่มยกระดับเป็นพื้นที่นำร่อง ๑๕ จังหวัดเป็นเครือข่ายครูสอนดีและพัฒนาเครือข่ายบนระบบออนไลน์ของ Class Start ซึ่งได้ผ่านการอบรมที่ทางดร.จันทวรรณเป็นวิทยากรให้ ๒ รุ่น ๒ ครั้งไปแล้ว

ผมเองนั้น ยังไม่รู้ว่าจะเชื่อมโยงตนเองเข้ากับตรงไหน แต่ก็เห็นประเด็นความสำคัญมาก เลยร่วมระดมความคิดไปด้วยกว้างๆว่าอาจจะใช้ระบบของ Class Start กับ GotoKnow ช่วยทำงานเสริมเข้าไปให้มีบทบาทหลายมิติ ครอบคลุมประเด็นที่ สสค.และเวทีประชุมหยิบยกมาพิจารณาด้วย โดยอาจจะช่วยรีวิว วิเคราะห์ สังเคราะห์ และถอดบทเรียน แล้วก็พัฒนาห้องเรียนเสริมศักยภาพป้อนกลับไปมาผ่านบันทึกออนไลน์ เชื่อมโยงออกไปให้ถึงพื้นที่การทำงานต่างๆที่มีอยู่แล้วในระดับชุมชน โรงเรียน และเครือข่ายพื้นจังหวัด เช่น เวทีคหนองบัว และเครือข่ายพื้นที่การทำงานต่างๆ ที่ทำกันอยู่ เพื่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาในเรื่องสำคัญต่างๆของประเทศด้วย

อีกส่วนหนึ่ง ก็เชื่อมโยงเข้ากับห้องเรียนของผมที่จะทำขึ้นให้เพื่อพัฒนาความเป็นเคือข่ายวิจัยแบบ PAR ซ้อนลงไป โดยทำเป็น Open Education พัฒนาเครือข่ายความเป็นนักวิจัยในชั้นเรียนด้วยการวิจัยแบบ PAR หรืออื่นๆที่ปรับปรุงระเบียบวิธีพัฒนาเป็นโมเดลขึ้นใหม่ให้จำเพาะที่จะทำให้เครือข่ายของคุณครู รวมไปจนถึงวิธีเก็บข้อมูล การบันทึก ซึ่งก็จะสามารถทำการสังเคราะห์ ประเมิน ถอดบทเรียน และแสดงความก้าวหน้า พร้อมกับยกระดับประสบการณ์ ให้สามารถจัดระบบปฏิบัติการร่วมกันได้ดียิ่งๆขึ้น

ผมเห็นภาพของกระบวนการที่จะทำบทเรียนเล็กๆของคนจำนวนไม่มาก ให้มีกระบวนการเรียนรู้บนการปฏิบัติ เพื่อเป็นตัวคูณและยกระดับสู่การสร้างบทเรียน สังเคราะห์เป็นพลังปัญญาจากการปฏิบัติเป็นคลื่นชี้นำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งดีๆขึ้นแก่สังคม จากเครือข่ายต่างๆที่ที่ประชุมกล่าวถึง

อาจารย์ ดร.จันทวรรณก็ได้สรุปประเด็นการพูดคุย และลองนำเสนอกรอบกว้างๆ ที่จะปรับปรุงระบบ GotoKnow และ Class Start ให้ยืดหยุ่นและเชื่อมโยงประเด็นการพูดคุยต่างๆ ไปสู่การริเริ่มและทำสิ่งต่างๆด้วยตนเองไปก่อนได้ ผมเป็นผู้เฒ่าที่สุดของที่ประชุม เลยชื่นชมพลังของคนหนุ่มคนสาวรุ่นใหม่จากหลายสถาบันและหลายองค์กรในเวทีนี้มากจริงๆ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท