จิตใหญ่ ใจกว้าง (ตอน ๓)
(๑)
บ้านที่เราไปขนโคลนออก เป็นบ้านอยู่ริมลำธาร มีถนนโค้งอ้อมจากหน้าบ้านข้ามสะพานปูนเลี้ยวไปทางขวา เป็นบ้านของป้าสวย น้องสาว และลูกชายวัยมัธยมต้นของป้าสวยเอง...หากในยามปกติบ้านยกใต้ถุนสูงหลังนี้ น่าจะเป็นบ้านที่อยู่เย็นเป็นสุข เพราะไม่ใกล้หรือไกลเพื่อนบ้านเกินไป ห่างกันแค่ตะโกนคุยกันได้ รอบบ้านร่มรื่นด้วยสวนทุเรียน สวนมังคุด เหมือนกับบ้านอื่นๆในย่านนั้น
อนิจจังไม่เที่ยง...วันที่เราไป สวนผลไม้ที่เคยเป็นแหล่งรายได้และความร่มรื่น กลับยืนต้นท้าทายให้ขุดตัดทิ้ง ต้นมังคุดโชว์สีน้ำตาลแก่ทั้งใบ ต้น และผล ทุเรียนก็อยู่ในสภาพไม่เพี้ยนผิดกัน แถมบ้านเพื่อนบ้านเยื้องออกไปทางซ้ายมือหลังหนึ่งเหลือแต่เสายืนโด่เด่ท้าทายสายตาทุกข์ระทม
พลังของน้ำท่วมหลากดินถล่มครั้งนี้มันมากมหาศาลจริงๆ
“กว่าจะปลูกเก็บผลได้ก็คงอีกห้าหกปี”... ป้าสวยเอ่ยเล่าให้เราฟัง
(๒)
“เมื่อวาน เราเริ่มทำหลังนี้ครับพี่ พวกเราที่อยู่ที่นี่มาช่วยกันเจ็ดแปดคน”...เอ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ลับแล มูลนิธิกระจกเงา (www.siamvolunteer.com) เล่าให้เราฟัง
“ตอนเริ่มทำ เข้ามาไม่ได้ โคลนท่วมทางเข้าเลยพี่วี”...โอ๊ต ผู้อำนวยการสำนักงานเชียงราย มูลนิธิกระจกเงา (www.bannok.com) ซึ่งเข้ามาเสริมทัพพร้อมเจ้าหน้าที่จากเชียงรายจำนวนหนึ่ง เสริมต่อเอ
วันเสาร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๙ พลพรรคอาสาสมัครส่วนหนึ่งประกอบด้วยพวกที่มาจากกรุงเทพฯเมื่อคืน คนที่อยู่ที่นี่ยาวมาแล้ว และนักเรียนพยาบาลจากในเมืองอุตรดิตถ์ ทั้งชาวต่างชาติ ทั้งชาวไทย ประมาณสี่สิบคนเศษ เริ่มลุยภารกิจ “ขนโคลน” กันที่บ้านป้าสวย
เริ่มแรกเลย อาสาสมัครรุ่นพี่คนที่คุยเก่งๆ เสียงดังๆ ฟังว่า เคยมาช่วงวันหยุดตอนพระราชพิธี แกสั่งเรียงแถว เลย...หยั่งว่าคนเคยงาน หัวแถวก็มีหน้าที่ขุด ส่วนหนึ่งมีหน้าที่จัดกระป๋อง แล้วส่งต่อกันมาเรื่อยๆตามแถว คนท้ายสุดมีหน้าที่เทกองแล้วส่งย้อนกระป๋อง...คล้ายๆงานก่อสร้างนั่นแหละ
ที่เราต้องขนโคลน เพราะว่าน่าจะมีแต่คนและเครื่องมือเล็กเท่านั้น ที่จะเข้าไปทำงานสุดยอดนี้เนื่องจากความเป็นใต้ถุนบ้าน...โคลนจำนวนมากถูกขนมากองเป็นภูเขานอกบ้าน...คาดว่ารอเครื่องมือหนักมาจัดการในวาระต่อไป
หนักมาก งานนี้ หนักสำหรับคนที่ปกติไม่ค่อยได้ใช้แรงกายเลี้ยงชีพ...แต่สนุก เพราะเป็นประสบการณ์ที่นานๆทีจะมีโอกาสทำกัน...โดยส่วนตัวนะ...ตอนนั้นสมาธิจรดจ่ออยู่กับกระป๋อง...ขวารับ ซ้ายส่ง ขวารับ ซ้ายส่ง...
ทำกันสักชั่วโมงกว่าๆ ได้งานพอเห็นว่าโคลนถูกทยอยขนออกไปจำนวนหนึ่ง...ช่วงพักนี้ บางคนล้างมือ บางคนดื่มน้ำ บางคนกินผลไม้ที่เจ้าของบ้านจัดมาให้...หลง ลับแล...ทุเรียนขึ้นชื่อของที่นี่...หอมมากทีเดียว...สำหรับ Durian Fan Club.....
(๓)
“ผมว่าฉีดน้ำดีกว่ามั๊ยพี่”.....ผอ.เอ ถามท่านหนูหริ่งกระจกเงา ขณะที่ ผอ.โอ๊ต มีท่าที่อือๆ ออๆ เห็นด้วย
“ฉีด เหรอ”... คุณหนูหริ่งถาม
พอดีผมอยู่ตรงนั้น เลยช่วยสนับสนุน เพราะคิดว่าน่าจะเร็วกว่า...กระบวนการขนโคลนนี้ ใช้เครื่องปั๊มน้ำ ต่อสายดูดน้ำจากลำธาร แล้วเอาเข้ามาค่อยๆฉีด หน้าโคลนค่อยๆถล่มลงและไหลเลื้อยไปตามทางน้ำที่เราเปิดเอาไว้
บรรดาชาวยกถังที่เริ่มทำกันตอนเช้า ก็เปลี่ยนจากการทำงานก่อสร้าง มาเป็นประชาชนชาวเหมือง พวกที่ฉีด ก็ฉีดไป พลจอบ พลพลั่ว ก็เรียงแถวโกยดินขึ้นจากทางน้ำ เป็นการทำงานที่เร็วมาก เร็วกว่าขุดใส่ถังแล้วทยอยไปเท เร็วกว่าหลายเท่าทีเดียว...พักเที่ยง งานที่ได้ คือเราสามารถจัดการกับโคลนที่อยู่ในห้องเก็บของ เก็บอุปกรณ์การเกษตร ห้องที่หนึ่ง และ พื้นใต้ถุนอีกสักสามในสี่ ได้จนเห็นพื้นปูนที่เคยเป็นอยู่ก่อนอุทกภัยทีเดียว
ผมแอบดีใจ รู้สึกเป็นสุขไปกับป้าสวยเจ้าของบ้านที่เฝ้ามองพวกเราทำงาน...และที่ดีใจมากๆ ก็ตอนที่พวกเราได้นำเครื่องมือทำมาหากินของป้าแกออกมาได้ ชิ้นใหญ่ที่เห็นก็มีไม้ต่อกรรไกรสอยผลไม้ กับถังฉีดปุ๋ย...ที่แอบดีใจเพราะเรานำเครื่องมือทำมาหากินออกมาให้แกได้...
ตอนเที่ยง ป้าสวยแกเลี้ยงข้าวปลาอาหาร...พวกเราชาวลุยโคลนก็ซัดกันซะเต็มคราบ...กินข้าวกับความเหนื่อย (และกับข้าว) นี่มันอร่อยเลอรสเลิสสะแมนแตนจริงๆ...ไม่เชื่อ มาลองใช้แรงอาสาสมัครกันดิ... ที่ (www.siamvolunteer.com)
ตอนบ่าย...เราเริ่มลุยงานกันต่อ เราฉีด เราโกย เราขุด...จนโคลนถูกกำจัดไปจากใต้ถุนบ้านป้าสวย ในส่วนที่มีกำแพงปูน เรียกว่างานเสร็จไปสักสามในสี่ ท่าจะได้...อ้อ ตอนเบรกบ่าย ป้าสวยแกจัดข้าวผัดและผลไม้ มาบำรุงพวกเราอีกนะ
งานที่เหลือก็เป็นจะได้แก่ห้องเก็บของอีกห้องหนึ่ง กับส่วนท้ายของใต้ถุนบ้าน อันนี้ยากหน่อย เพราะในห้องเก็บของมีของวางอยู่เยอะ ซ้อนกันไป ซ้อนกันมา เป็นห้องยาวกว่าห้องแรก ส่วนผนังก็ทะลุได้เพียงด้านหน้าห้องครึ่งเดียว...ที่เราทะลวงก็เพราะน้ำมันทำให้ทะลุอยู่ก่อนแล้ว ส่วนที่ยังดีอยู่เราไม่ทะลายมัน...ไม่งั้นตอนซ่อม เราต้องใช้ต้นทุนอีกมาก
วันรุ่งขึ้น พวกเราก็ไปลุยกันต่อ...วันนี้นักเรียนพยาบาลไม่ได้มา มีนักเรียนอาชีวะมาแทน...เราลุยงานกันตั้งแต่ก่อนติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำ โดยการต่อแถวขุดขน พอได้เครื่องปั๊มน้ำแล้ว เราก็ลุยปั๊มกันต่อ
นึกว่าจะเสร็จวันนี้ เพราะเป็นวันที่อาสาสมัครทางไกลจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของทีม ต้องกลับบ้านกันแล้วเย็นนี้
แต่ที่ไหนได้ เราลุยห้องเก็บของได้หนึ่งห้อง ห้องน้ำหนึ่งห้อง และส่วนท้ายของบ้านที่เต็มไปด้วยกองไม้อัดแน่นหลากขนาด
อันนี้ก็ต้องยกให้เป็นหน้าที่ของอาสาสมัครที่ยังอยู่ต่อกันได้ในวันต่อไป...ทำการปิดงานให้สำเร็จ
(๔)
มีบางหัวข้อสนทนา ที่ได้เห็นได้ยินมา... เลยนำมาเป็นประเด็นในการสำรวจตนเอง...นั่งเงียบๆ หลับตา หายใจเข้า พุงป่อง หายใจออก พุงแฟบ...ป๊อบ แป้บ ๆๆๆ...อยู่สักสีห้าปึด...ได้เรื่องเลย...ได้ยินหยิน คุยกับหยาง เยิบยาบ เยิบยาบ...
ปุจฉา : ทำไมหว่า ทำไมต้องเปลี่ยนจากขุดโคลนใส่กระป๋อง มาเป็นน้ำฉีด
วิสัชชนา : ขุดโคลนใส่กระป๋องช่วยกันเคลื่อนย้ายนี่ก็ดีอยู่ดอก ได้อารมณ์อาสาสมัครดี ได้เรียนรู้การทำงานออกแรง ส่วนใช้น้ำฉีด ก็ดี เสร็จเร็วดี อาสาสมัครทุกคนก็ได้ทำงาน เพียงแต่เปลี่ยนจากจับกัง มาเป็นคนงานเมือง ได้เหงื่อเหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับปัจจัยสนับสนุน หากอยู่ใกล้น้ำ ทำไมต้องใช้กระป๋องตักโคลน...
ปุจฉา : เสร็จเร็วแล้วมันดียังไงอะ
วิสัชชนา : ดูเจ้าของบ้านดิ เขาทุกข์มาตั้งนาน พองานเสร็จเร็ว กำลังใจเขาก็ดีขึ้น มีเวลาที่จะลุยชีวิตไปข้างหน้าต่อไป ไม่ต้องพะวักพะวงยืดเยื้อ
ปุจฉา : แล้วอาสาสมัครล่ะ จะได้ลิ้มรสการใช้แรงงานสักเท่าไหร่
วิสัชชนา : ฉีดน้ำ ก็ต้องใช้แรงไง แรงฉีด แรงโกยโคลนขึ้นจากธารน้ำฉีด...งานอาสาสมัครนี่ มีกลุ่มได้รับประโยชน์มากกว่าหนึ่งกลุ่ม...
กลุ่มแรก...ผู้ได้รับความเดือดร้อน ทุกข์ของท่านเหล่านั้น จำเป็นต้องได้รับการปลดปล่อย ให้เร็วและดีที่สุด เท่าที่อาสาสมัครจะทำได้
.....กลุ่มที่สอง...ตัวอาสาสมัครเอง เมื่อได้ประโยชน์จากการใช้แรงแล้ว ยังได้ประโยชน์จากการช่วยกันคิดค้นทดลองเพื่อการทำงานให้เร็วเข้า ได้เห็นผู้ทุกข์ร้อนยิ้มอย่างมีความสุขได้เร็วเข้า จะได้ไปลงแรงลงใจร่วมกับผู้ทุกข์รายอื่นๆต่อไปได้เร็วเข้า
.....กลุ่มที่สาม...กลุ่มผูจัดการงานอาสาสมัคร...จะได้มีข้อมูลไปปรับใช้ในการบริการทั้งอาสาสมัคร ทั้งผู้ประสบภัย ทั้งสังคม ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
.....กลุ่มที่สี่...สาธารณชน...จะได้รับรู้ข้อมูล เพื่อจะมีส่วนร่วมในจังหวะที่เหมาะสม...พอคนเป็นอาสาสมัครเยอะเข้า พอจิตสำนึกเพื่อการให้ใหญ่ขึ้น พอจิตใจแห่งการเผื่อแผ่กว้างขึ้น...สังคมก็จะงดงามขึ้น ความสุขก็บังเกิดขึ้น.....อะไร อะไร ก็ดีขึ้น
ปุจฉา : ทำไมเราต้องทำบ้านป้าสวยให้เสร็จ เอาแค่พอแกขึ้นบ้านได้ ก็น่าจะพอแล้ว ที่เหลือก็ให้แกทำต่อเองก็แล้วกัน
วิสัชชนา : โธ่ถัง...ทำให้แกให้เสร็จเถ๊อะ...เวลาเราทุกข์ร้อนหนะ หากคนมาช่วยเราด้านกายภาพ มันก็ดี แต่คนทำจนถึงที่สุด มันมีค่ามากกว่านั้น เพราะเป็นเครื่องหมายของกำลังใจ ที่คนมอบให้กับคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่บอบช้ำ ที่สวน ที่ทำกิน วินาศขนาดนั้น
เออ หนอ ได้ยินหยินคุยกับหยาง ฝ่ายจิตข้างหนึ่งมองตนเป็นศูนย์กลาง แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองผู้ทุกข์ร้อนเป็นศูนย์กลางในการพินิจตัดสินใจ...
และแล้ว...สองฝ่ายก็ตกลงกันว่า “เราต้องมองกันด้วยปัญญา เนาะ...พอปัญญาประกอบพอดีกับจิตใจ จิตก็ใหญ่ ใจก็กว้าง...เห็นแต่ความจริงที่เราสัตว์โลกผู้ร่วมเกิด ร่วมทุกข์ทั้งหลายต้องเผชิญอยู่...หลุดพ้น หลุดพ้น...ไม่มีตนหรือผู้ทุกข์ร้อนเป็นศูนย์กลาง ให้วุ่นให้วาย”.....
(๕)
ภายใต้รหัส “จิตใหญ่ ใจกว้าง” นี้ ผู้เขียน พยายามที่จะนำไปสู่การสรุปเรียบเรียงความรู้ เรื่อง “การจัดการอาสาสมัครในภาวะวิกฤติ” เขียนขึ้นโดยไม่มีเคร้า ไม่คำนึงโครง อาศัยเพียงประสบการณ์อาสาสมัครจากเหตุการณ์ ทั้งสึนามิ และ น้ำท่วมภาคเหนือ มาเป็นข้อมูลสำหรับการไตร่ตรอง
อาศัยประสบการณ์ของมูลนิธิกระจกเงา ประสบการณ์อื่น และ/รวมประสบการณ์ส่วนตน เป็นเครื่องมือ เพื่อการรวบรวมเรียบเรียง
เพียงหวังว่าในที่สุด “การจัดการอาสาสมัครในภาวะวิกฤติ” ที่เหล่าสาธุชน ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมทรัพย์ กันก่อให้เกิดขึ้น จะพัฒนาเป็น “ความรู้สาธารณะ”
ณ เวลานี้ไม่รู้ว่าในที่สุด งานชุดนี้จะจบตรงไหน เมื่อใด... อาจจะเร็วๆนี้ หรืออาจจะระยะยาว ก็คงต้องดูๆกันไป เมื่อเหตุและปัจจัยพร้อม
ในชั้นนี้ มีการพูดคุยกันบนเว็ปที่น่าสนใจ เกี่ยวกับสาเหตุในการตัดสินใจเป็นอาสาสมัคร และสิ่งที่ได้รับจากการเป็นอาสาสมัครอยู่...ในฐานะสามัญชน ผู้เขียนอยากเชิญชวนให้ทุกท่านเข้าไปอ่านหรือแลกเปลี่ยนสร้างความรักความรู้...ทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน กัน ที่
http://www.siamvolunteer.com/newwebboard/main.php?board=000086&topboard=6
เจ้าประคู๊ณ...หวังว่านอกเหนือจากมูลนิธิกระจกเงา (www.bannok.com) โดยโครงการฅนอาสา (www.siamvolunteer.com) และศูนย์อาสาสมัครสึนามิ (www.tsunamivolunteer.net) จะเป็นเจ้ากี้เจ้าการในการระดมอาสาสมัครเสนอตัวเข้าไปในภาวะวิกฤติแล้ว จะมีบุคคลหรือองค์กรกลุ่มอื่นๆ จัดการงานลักษณะเช่นนี้ด้วยเถิด...
“จิตใหญ่ ใจกว้าง” ในสังคม กำลังรออยู่.....